16 พ.ค. 2020 เวลา 10:32 • ปรัชญา
ธรรมะแห่งศาสดา
วันนี้พอดีมีเวลาขึ้นมาจึงอยากจะเขียนบทความสักเรื่องในเพจแห่งนี้ ที่จริงก็เขียนไว้แล้วแต่กดไปกดมาลบข้อมูลหายไป ทั้งที่เขียนไว้ได้เกือบจะจบแล้ว เสียเวลาที่จะต้องเขียนใหม่ ตอนนี้จึงเขียนในเวิร์ดแล้วนำไปลงแทน
เนื่องจากที่หลายวันมานี้ผมมีความตั้งใจที่จะเขียนบทความเกี่ยวกับวันอัฐมีบูชา แต่ด้วยกิจธุระที่มีมากและเวลาไม่เพียงพอที่จะเขียนเพราะต้องเขียนบทความลงหลายที่ วันนี้เป็นวันหยุดจึงพอมีเวลาที่จะเขียนบทความลงตามที่ใจตนปรารถนา
วันอัฏฐมีบูชา คือ วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน ถือเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ หรือเดือน 6 นอกจากนั้น วันนี้เป็นวันคล้ายวันที่พระนางสิริมหามายา องค์พระพุทธมารดาสิ้นพระชนม์ (หลังประสูติ) และเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขตลอด 7 วัน (หลังตรัสรู้)
วันอัฐมีบูชาเป็นวันที่พุทธบริษัททั้งหลายได้น้อมรำลึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ อันเป็นคุณที่พระองค์ทรงมีแก่เวไนยสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งวันนี้เป็นวันถวายพระเพลิงของพระองค์ที่ชาวพุทธบริษัทจะต้องเดินทางมากราบไหว้สักการะเป็นครั้งสุดท้าย เป็นวันที่ทุกคนเกิดความโศกเศร้าเสียใจ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ คือ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้บำเพ็ญมาในอดีตชาติ ที่เรียกว่า บารมี 10 ทัศ
สำหรับบารมี 10 ทัศในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) และพุทธรรม (ฉบับเดิม) พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงไว้ว่า บารมี 10 หรือ ทศบารมี ปฏิปทาอันยวดยิ่ง, คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นมหาสาวก เป็นต้น
1. ทาน การให้ การเสียสละ
2. ศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, ความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย
3. เนกขัมมะ การออกบวช, ความปลีกตัวปลีกใจจากกาม
4. ปัญญา ความรอบรู้, ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
5. วิริยะ ความเพียร, ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบากบั่นอุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่
6. ขันติ ความอดทน, ความทนทานของจิตใจ สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประพฤติ ที่ตั้งไว้เพื่อจุดหมายอันชอบไม่ลุอำนาจกิเลส
7. สัจจะ ความจริง คือ พูดจริง ทำจริง และจริงใจ
8. อธิษฐาน ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นแน่วแน่
9. เมตตา ความรักใคร่, ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นและเพื่อนร่วมโลกทั้งปวงมีความสุขความเจริญ
10. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง, ความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้ายชอบชังหรือแรงเย้ายวนยั่วยุใดๆ
ดังนั้น การที่เราทั้งหลายในฐานะผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาควรที่จะเข้าใจว่า ธรรมะที่พระศาสดาทรงสั่งสอนนั้นมีปรากฏในบารมี 10 ทัศ แม้ว่าพระองค์จะไปได้อยู่แล้วก็ตามแต่หลักธรรมคำสอนของพระองค์จะเป็นตัวแทนได้เป็นอย่างดี เหมือนดังที่พระองค์ทรงตรัสกับ พระอานนท์ที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นเรา” แม้เราจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่พระธรรมคำสอนของเราจะยังคงอยู่กับพุทธบริษัทตลอดไป วันอัฐมีบูชาจึงเป็นวันที่เราทั้งหลายควรน้อมนำพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ฝากกด like
ฝากกด share
ด้วยนะครับ
โฆษณา