1 ส.ค. 2020 เวลา 05:02
การเดินทางของชีวิต
# เรือเล็กควรออกจากฝั่ง
Credit Unsplash.com
🎵 "...เสียงลมคำราม ฟ้าครามพลันมืดมัว
หัวใจสั่นระรัว ฉันกลัวอะไร
ทะเลเอาจริง หรือเพียงจะวัดใจใคร
เหมือนคำขู่ท้าทาย ให้ยอมจำนน
พายุ ถั่งโถม อยู่ในใจ
"จะออกไปแตะขอบฟ้า แต่เหมือนว่าโชคชะตาไม่เข้าใจ
มองไปไม่มีหนทาง ชีวิตฉันต้องล่มลงใช่ไหม..."🎵
+++++
🎵 "คำตอบอยู่กลางคลื่นลม
ชีวิตแม้ต้องล่มลงตรงไหน แต่ฉันก็ยังยืนยันที่จะไป จะออกไปแตะขอบฟ้า...".🎵
+++++
ฟังพยากรณ์อากาศช่วงนี้ รวมทั้งข่าวสารต่างๆ เพลงของบอดี้สแลมนี้คงเข้ากับสภาพและความรู้สึกของหลายคนในเวลานี้ที่ต้องอยู่ท่ามกลางกระแสของความไม่แน่นอนต่างๆ
เมื่อเกิดความไม่แน่นอนและความไม่แน่ใจในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร หลายคนอาจมีคำถามว่า เราควรจะทำอย่างไรต่อไปดี?
สำหรับนักเดินเรือ...การได้แล่นเรือออกไปท่ามกลางผืนทะเลกว้างใหญ่ ในยามที่ท้องทะเลสีครามสงบนิ่งตัดกับขอบฟ้าสีฟ้าสดใส ได้สัมผัสลมทะเลที่พัดมาปะทะร่างกายตลอดเส้นทาง คือความสุขอย่างที่ใจนักเดินเรือต้องการ
แต่บางครั้งเส้นทางของเรือที่แล่นไปก็ต้องพบกับอุปสรรคเล็กใหญ่ที่อาจคาดเดาไม่ได้ นักเดินเรือจึงต้องมีความพร้อมทั้งกาย ทั้งใจ และทั้งเรือ โดยเฉพาะหากเป็นเรือขนาดเล็กที่ทานคลื่นลมได้น้อยกว่าเรือขนาดใหญ่
1. ต้องเตรียมพร้อม...ก่อนเรือเล็กจะออกจากฝั่ง
เมื่อแล่นเรือออกไปกลางผืนน้ำอันกว้างใหญ่ทุกอย่างก็อยู่ในมือของเราที่จะต้องกำหนดเส้นทางเดินทางและบังคับเรือไปยังจุดหมายที่กำหนดไว้ การออกเรือแต่ละครั้งต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกเดินทาง ต้องทำการบ้านศึกษาเส้นทาง กำหนดจุดพักระหว่างทาง เตรียมพร้อมหากพบปัญหาอุปสรรคระหว่างทาง เตรียมสัมภาระสำรองสำหรับการเดินทางให้พอดีกับจุดพักแต่ละจุด
Credit : Unsplash.com
2. เรือเล็กต้องคำนึงถึงความปลอดภัยมากกว่าเรือใหญ่
ปัญหาคลื่นและลมเป็นอุปสรรคสำคัญของการเดินเรือ กระแสน้ำ กระแสลม และคลื่นจากเรือที่ใหญ่กว่าก็จะมีผลต่อเรือเล็ก เรือต้องมีความยาวอย่างน้อย 3 เท่าของความสูงคลื่นจึงจะสามารถฝ่าคลื่นไปได้ บางครั้งก็อาจต้องมาใช้เครื่องยนต์แทนใบเรือ นักแล่นเรือเล็กจึงต้องเรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ ที่จำเป็นในการรับมือกับปัญหาคลื่นและลม ทั้งการบังคับใบเรือ และการบังคับเครื่องยนต์
ที่สำคัญเรือเล็กมีความมั่นคงน้อยกว่าเรือใหญ่ จึงต้องสวมชูชีพเวลาที่อยู่บนเรือและคล้องสายเซฟตี้ที่ข้อมือเผื่อเกิดการตกน้ำโดยไม่คาดฝันเรือก็จะหยุด
3. เมื่อคลื่มลมไม่เป็นใจ ควรเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยให้เหมาะกับความชำนาญและสมรรถนะของเรือ
เส้นทางเดินเรืออาจมีมากกว่า 1 เส้นทาง เลือกให้เหมาะกับสถานการณ์ บนเส้นทางหากพบคลื่นลมแรง นักแล่นเรือที่ชำนาญมักขับชิดฝั่งด้านต้นลมเมื่อมีคลื่นจากลมแรง และลดความเร็วลงให้เรือแล่นไปได้อย่างปลอดภัย เมื่อเจอคลื่นจากเรือใหญ่ก็ควรออกห่างให้มากที่สุด ไม่ขับขนานกับคลื่นเพราะจะถูกคลื่นซัดเรือจนเอียงคว่ำ หากต้องแล่นสู้คลื่น เมื่อคลื่นมาถึงหัวเรือต้องเบาเครื่องเมื่อหัวเรือมุดต่ำลง และเร่งเครื่องเมื่อหัวเรือเชิดขึ้น เบาและเร่งเครื่องสลับกับตามจังหวะคลื่นจนผ่านคลื่นไปได้
Credit : Unsplash.com
4. ในสภาวะที่ไม่ปกติ เราไม่สามารถหวังพึ่งเครื่องมือหรือผู้ช่วย หากไม่อยากให้เป็นไปตามโชคชะตาก็ต้องควบคุมด้วยตัวเราเอง
แม้เรือสมัยใหม่มีระบบ Radar ที่ช่วยเตือนเมื่อมีสิ่งกีดขวาง และ ระบบ Auto Pilot ที่ช่วยรักษาทิศทางในสภาพลมทั่วไป แต่เมื่อเกิดสภาพการเปลี่ยนทิศทางของลมอย่างรุนแรหรือต้องการปรับเส้นทางและความเร็วของเรือ นักเดินเรือต้องบังคับและปรับเครื่องยนต์ด้วยตัวเอง
นักเดินเรือต้องเข้าใจเรื่องสภาพอากาศ และศึกษาสภาพอากาศเพื่อการปรับเส้นทางและการเลือกเวลาออกเดินทาง ที่สำคัญต้องรู้ความชำนาญของตนเอง / รู้สัญญาณอันตรายของตนเอง และรู้จักเรือของเรา
4 ข้อนี้ เป็นหลักในการเดินเรือที่นักเดินเรือถูกถ่ายทอดกันต่อ ๆ มา เพื้อให้นักเดินเรือมีความรู้ความชำนาญในการเดินเรือ ดังคำกล่าวที่ว่า ”การเดินเรือเป็นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด”
ชีวิต กับ เรือ
"มีบางคนกล่าวว่า ชีวิต กับ เรือ มีเหมือนและแตกต่างกันในความหมาย สำหรับเรือบางลำ “เลือกที่จะจอดอยู่กับที่บนฝั่ง” เพราะความกลัว กลัวลม กลัวฝน กลัวอันตราย ที่จะเกิดขึ้นกับเรือ แต่สำหรับเรือบางลำ “เลือกที่จะออกเดินทางสู้ท้องทะเลอันกว้างใหญ่ เพราะความอยากรู้ อยากรู้ว่าท้องทะเลอันกว้างใหญ่นี้มีอะไรที่น่าค้นหา มีอะไรที่น่าสนใจ เรือลำนี้เลือกที่จะไปแม้รู้ว่าทางข้างหน้าจะมีอันตราย"
"หากจะเปรียบชีวิตเหมือนกับเรือสองลำนี้ สำหรับชีวิตของใครบางคน เขาเลือกที่จะอยู่กับที่....เพราะความกลัว กลัวอันตรายที่เกิดจากการเดินทางไปข้างหน้า กลัวทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เขาจึงเลือกที่จะอยู่กับที่ เพราะอย่างน้อย เขาคิดว่ามันปลอดภัยที่สุดสำหรับเขาตอนนี้"
"แต่สำหรับใครบางคน...เขาเลือกที่จะเดินแทนที่จะยืนอยู่กับที่ ใช่...เขาเดินตามความฝันของตัวเขาเอง ถึงแม้ว่าจะยังมองไม่เห็นจุดหมายอย่างชัดเจนก็ตาม แต่อย่างน้อย...เขาคิดว่า..การเดินทางออกไปสู้โลกกว้าง คงจะดีกว่าการที่เขายืนหยุดอยู่กับที่ แม้ว่าเขาจะรู้อยู่แก่ใจว่าข้างหน้ามีอันตรายอย่างมากมาย"
โดย พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี สิทธิพล
แม้เราจะไม่ได้เป็นนักเดินเรือ แต่เราคือนักเดินทางชีวิตที่ต้องเลือกลงเรือลำใดลำหนึ่ง ชีวิตจึงไม่ต่างจากการเดินทางของเรือที่อยู่ท่ามกลางผืนน้ำอันกว้างใหญ่ เราต้องมีการวางแผน กำหนดเป้าหมายและจุดแวะต่างๆ โดยเฉพาะเส้นทางที่เรากำลังจะเดินทางผ่านไปในอนาคตอันใกล้ ที่เราทราบกันดีว่าไม่ใช่ผืนน้ำสีครามอันสงบนิ่งอีกต่อไป
คนส่วนใหญ่ต้องวางแผนการเงินการลงทุนควบคู่ไปด้วย ความรู้ด้านการเงิน เปรียบเหมือนความรู้ในการเดินเรือ ที่จำเป็นต้องใช้และต้องพัฒนาตลอดเวลา การเดินทางต้องกำหนดจุดเป้าหมาย และหาข้อมูลแนวโน้มต่าง ๆ เปรียบเหมือนการเดินเรือที่ต้องศึกษาเส้นทาง ศึกษาสภาพอากาศ เรือที่เราใช้ก็เปรียบเหมือน สินทรัพย์ที่เรามีที่เราต้องสร้างสะสม เราทุกคนคงอยากมีเรือใหญ่ แต่ในความเป็นจริงส่วนใหญ่ต้องเริ่มจากเรือขนาดเล็ก จึงต้องเตรียมพร้อมด้านต่างๆ เพื่อให้เราเดินทางบนเส้นทางชีวิตไปถึงเป้าหมายด้านต่างๆ อย่างที่ใจต้องการ
ชูชีพและสายคล้อง คงเปรียบได้กับการติดตามผลการดำเนินงานและติดตามข้อมูลเพื่อใช้ในการทบทวนไม่ให้แผนการเงินของเราผิดพลาดจนเกิดอันตรายได้
เสบียงอาหารและน้ำสำรองบนเรือ เปรียบเหมือนสภาพคล่องและกระแสเงินสดที่เราต้องเตรียมให้มีสำหรับระะยะเวลาขั้นต่ำที่เราจะแบกรับได้ อย่างน้อยควรมี 3-6 เดือน ช่วงพายุโหมกระหน่ำ เราอาจต้องนำเรือเข้าจอดหลบภัยรอให้สามารถแล่นเรือต่อไปได้ จะจอดรอได้นานแค่ไหนอยู่ที่เสบียงที่เรามี
การเดินทางของคุณ คุณเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ไว้หรือเปล่าครับ
Credit : Unsplash.com
🎵 "พายุ ถั่งโถม สักเพียงไหน
จะไม่ยอมแพ้คำขู่ เรียนรู้ และสู้ไป
จะออกไปแตะขอบฟ้า ภายในใจยังคงเรียกร้อง
มองไปไม่มีหนทาง แต่รู้ว่าฉันต้องไปต่อไป
ตรงเส้นขอบฟ้าสีคราม ให้อุปสรรคเปลี่ยนผันเป็นพลัง
คำตอบอยู่กลางคลื่นลม ชีวิตแม้ต้องล่มลงตรงไหน
แต่ฉันก็ยังยืนยันที่จะไป..." 🎵
ขอบคุณความรู้เกี่ยวกับการเดินเรือจากแหล่งข้อมูลต่างๆ
และขอบคุณ Body Slam เจ้าของเพลงเรือเล็กควรออกจากฝั่ง ใครอยากฟังเพลง เชิญได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=VmNs1McZtg4

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา