16 พ.ค. 2020 เวลา 13:40 • ประวัติศาสตร์
"พระเจ้าเหา” เขาคือใคร? เหตุใดจึงอยู่ใน “วังพระนารายณ์ฯ”
1
จำได้ว่าเมื่อสมัยเด็กๆ เวลาที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสิ่งใดที่ย้อนกลับไปยาวนานให้ฟัง มักจะพูดว่า “มันนานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาโน่นแหละ" พอถามว่า พระเจ้าเหาเป็นใคร? ก็ได้คำตอบกลับมาว่า ไม่รู้สิ! ในเมื่อไม่ได้คำตอบจากที่บ้าน เลยมุ่งไปหาคำตอบจากคุณครูที่โรงเรียน
คุณครูท่านว่า จากการค้นคว้า “พระเจ้าเหาหรือเสียวเหา เป็นพระโอรส อันดับที่ 2 ของพระเจ้าหว่างตี้ กษัตริย์องค์แรกของจีน พระองค์เป็นต้นตระกูลไทย” ดังนั้นก็เลยคิดไปเองว่า อ๋อ คนไทยสืบเชื้อสายมาจากประเทศจีนนี่เอง
2
ครั้นได้รับทุนจากรัฐบาล ให้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ในจังหวัดลพบุรี จึงได้ไปพบกับสถานที่หนึ่ง วิทยากรผู้เชี่ยวชาญท่านเรียกว่า “ตึกพระเจ้าเหา"
1
ตึกพระเจ้าเหานี้ ตั้งอยู่ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ หรือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2209 บนพื้นที่ 41 ไร่ ณ เมืองลพบุรี เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง
ฟังบรรยายเกี่ยวกับกำแพงแก้ว และกำแพงพระราชฐาน
ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระนารายณ์ราชนิเวศน์ถูกทิ้งร้าง จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้บูรณะพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ในปีพ.ศ. 2399 พระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” และในปี พ.ศ. 2504 จึงได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์”
บริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอก
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ส่วนคือ
1.เขตพระราชฐานชั้นนอก
ประกอบด้วยอาคารเก่า ที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้แก่– อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก ผลงานระบบการจ่ายทดน้ำของชาวฝรั่งเศสและอิตาลี น้ำที่เก็บในถังเป็นน้ำที่ไหลมาจากอ่างซับเหล็ก
– สิบสองท้องพระคลัง สันนิษฐานว่าเป็นคลังเก็บสินค้าหรือเก็บสิ่งของเพื่อใช้ในราชการเลี้ยงแขกเมือง บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่ามีคูน้ำล้อมรอบตึก ภายในมีคูน้ำ มีสายน้ำพุขึ้น
4
- ตึกพระเจ้าเหา สถาปัตยกรรมของตึกพระเจ้าเหา จะเห็นว่ามีกำแพงแก้วล้อมรอบและมีฐานชุกชี เพราะฉะนั้นน่าจะตรงกับที่ฝรั่งเศสระบุไว้ คือเป็นหอพระประจำพระราชวัง คำว่า “เหา” เป็นชื่อพระพุทธรูป ซึ่งน่าจะตรงกับคำว่า “หาว” ซึ่งแปลว่าสวรรค์หรือท้องฟ้า เนื่องด้วยสมัยต้นรัชกาล สมเด็จพระนารายณ์ฯได้เสด็จไปตีดินแดนล้านนา ก่อนที่จะมาสถาปนาเมืองลพบุรี แล้วได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากล้านนา ชื่อ “พระเจ้าเหา” พระพุทธรูปสำคัญมาประดิษฐานในหอพระแห่งนี้
1
ฟังวิทยากรผู้เชี่ยวชาญบรรยายเกี่ยวกับ "ตึกพระเจ้าเหา"
มีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า คำว่าเหา มาจากคำว่า “House” ที่ฝรั่งอาจเรียกหอพระว่า God’s House หรือมาจากรากศัพท์ภาษาเขมร แปลว่า รวมเข้ามาหากัน เสมือนหนึ่งเป็นที่ประชุม เป็นที่สำหรับขุนนางประชุมปรึกษาราชการ แปลเป็นภาษาฝรั่งว่า “Convocation Hall”
ในสมัยปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์์ได้กระทำรัฐประหารในตึกนี้ ขณะที่ขุนนางทั้งปวงประชุมกันอยู่ ทหารได้เอาหอก ดาบ และปืนสอดเข้าไปตามช่องหน้าต่างประตูโดยรอบ แล้วให้ขุนนางทั้งหลายกระทำสัตย์สาบาน ณ สถานที่นี้ ในการเข้าร่วมอัญเชิญพระเพทราชาขึ้นปกครองบ้านเมือง
– ตึกรับรองคณะทูตต่างประเทศตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ตึกหลังนี้อยู่กลางอุทยาน ซึ่งแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส รอบตึกมีคูน้ำล้อมรอบ ภายในคูน้ำมีน้ำพุพุ่งเรียงรายได้ระยะยาว 20แห่ง
-โรงช้างหลวง มีทั้งหมด 10 โรง
บรรยายเกี่ยวกับเขตพระราชฐานชั้นกลาง
2. เขตพระราชฐานชั้นกลาง
มีพระที่นั่งที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ 2 องค์ และสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่
- พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน สูง 3 ชั้น สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ และจัดแสดงหลักฐานโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่พบจากแหล่งโบราณคดีลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ห้องจัดแสดงหลักฐานโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์
- พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นท้องพระโรงสำหรับประชุมเสนาบดีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีห้องจัดแสดง 2 ห้อง
กล่าวขอบคุณวิทยากรเกี่ยวกับการบรรยายหัวข้อ "พระที่นั่งจันทรพิศาล"
3.เขตพระราชฐานใน
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯมีพระที่นั่งเพียงพระองค์เดียว
– พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นพระที่นั่งที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ฯ และพระองค์ก็ทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้
– หมู่ตึกพระประเทียบ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นที่พักของข้าราชบริพารฝ่ายใน มีทั้งหมด 8 หลัง
จากเขตพระราชฐานชั้นกลาง สู่เขตพระราชฐานชั้นใน
นอกจากนี้ ยังมีบ้านตึกเขียว หรือ สำนักงานพิพิธภัณฑสถานฯ ซึ่งเคยเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดหลังแรกของลพบุรี และเป็นสถานที่เก็บหนังสือจินดามณีเล่มที่ 2 (เล่มแรกเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุ)
ห้องจำหน่ายสินค้าที่ระลึก
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 8.30-16.00 น.
ส่วนของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานด้านนอก ปิด 18.00 น.(หยุดวันจันทร์-วันอังคาร และวันหยุนักขัตฤกษ์)
อัตราค่าเข้าชม ชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท
ผู้ที่สนใจ สามารถเดินทางสู่จังหวัดลพบุรีได้ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และรถตู้
อ้างอิงเนื้อหาจาก : วิทยากรผู้ชำนาญการประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
เครดิตภาพ : คลังภาพมัคคุเทศก์ ม.นเรศวร รุ่นที่8
โฆษณา