16 พ.ค. 2020 เวลา 16:33 • สุขภาพ
เตรียมตัวตาย
ครั้งนึง แม่ของผู้เขียนเคยเปรยขึ้นมา
กับผู้เขียนในบทสนทนาขณะที่กำลัง
คุยกันอยู่ในเรื่องทั่วไปว่า
.
.
.
"ถ้าต้องเลือกใส่เครื่องช่วยหายใจ
เจาะคอ หรือให้อาหารทางสายยาง
แม่ขอเลือกว่าไม่ต้องยื้อแม่นะ
แม่เห็นตอนที่ตาเข้าโรงพยาบาลแล้ว
แม่สงสารตามาก และถ้าเป็นแม่
แม่ขอไปอย่างสงบตามธรรมชาติดีกว่า"
ได้ฟังแล้ว ใจผู้เขียนก็กระเพื่อมหวั่นไหว
สมองที่จินตนาการตามคำพูดนั้นก่อ
ให้เกิดความเศร้าฉับพลันขึ้นมาในใจ
.
.
.
จริงด้วยสินะ ร่างกายของแม่ที่เราเห็น
ในเวลานี้กำลังเสื่อมไปตามเวลา
แม้ว่าแม่จะแข็งแรงอยู่มาก ทำกิจวัตร
ประจำวันได้ตามปกติ แต่ตอนนี้แม่ก็อายุ
ย่างเข้าปีที่ 72 แล้ว
แม่จะอยู่กับเราได้อีกนานแค่ไหนกัน
...แล้วใครจะรู้ถึงความตาย แม้เป็นวันพรุ่งนี้
ในทางพุทธศาสนามีหลักคำสอนในเรื่อง
"มรณานุสติ" เพื่อให้คนไม่ประมาทกับ
การใช้ชีวิต และเพื่อลดความยึดมั่นถือมั่น
ในสิ่งต่างๆลง
ซึ่งผู้เขียนทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางครั้ง
การนึกถึงว่าชีวิตไม่ใช่สิ่งยืนยาว ก็ช่วย
ให้คลายความทุกข์ที่กำลังเผชิญ หรือ
ลดการสะสมสิ่งอันควรสละออกไป
อย่างได้ผล แต่หลายครั้งที่นึกถึง
ความตายในแง่ของการต้องพลัดพราก
จากกัน ก็ก่อให้เกิดทุกข์ในใจไม่น้อย
ทำให้นึกถึงความตอนหนึ่งในบทสวด
"สังเวคปริกิตตนปาฐะ" ที่กล่าวถึงทุกข์
ประการหนึ่งในหลายประการของการ
เกิดเป็นมนุษย์ว่า
ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข
(ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข)
.
.
"การพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์"
ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com
บทสนทนาครั้งนั้นยังทำให้ผู้เขียนกับแม่
และคนในครอบครัวตกลงกันด้วยว่า
ต่อไปในอนาคต หากใครคนใดคนหนึ่ง
ต้องเจอกับเหตุการณ์อันไม่คาดฝันขึ้น
โดยเฉพาะสาเหตุที่เกิดจากความเจ็บป่วย
หรืออุบัติเหตุ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเราอาจไม่มีสติสัมปชัญญะเพียงพอที่จะแจ้งถึงเจตนา
ในการได้รับการรักษาพยาบาลของตัวเองได้
อีกแล้ว เราจึงต้องพูดคุยกันไว้ก่อนใน
ข้อตกลงแบบเดียวกันนี้
ผู้เขียนยังพบข้อมูลว่า ในทาง
กฎหมาย ปัจจุบันเราสามารถแสดง
เจตนาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็น
ลายลักษณ์อักษรได้แล้ว เรียกโดยทั่วไป
ว่า เป็น "สิทธิในการปฏิเสธการรักษา"
หรือ "พินัยกรรมชีวิต" หรือ Living Will
อันเป็นคนละส่วนต่างหากจากเรื่อง
ของการทำพินัยกรรม หรือเรื่องของ
"การุณยฆาต" ที่กรณีหลังนี้ยังไม่มี
กฎหมายของประเทศเรารองรับนะคะ
โดยสิทธินี้เป็นไปตาม
พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
และกฎกระทรวงที่ออกตามความของ
พ.ร.บ ดังกล่าว ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ความว่า
-เรามีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธ
การรักษาหรือบริการทางการแพทย์
(1) ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระ
สุดท้ายของชีวิต หรือ
(2)เพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
-"วาระสุดท้ายของชีวิต" ตามความหมายนี้
จะต้องเป็นกรณีที่เกิดจากการบาดเจ็บ
หรือโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ โดยแพทย์วินิจฉัยว่า จะนำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยง
ไม่ได้ในระยะเวลาอันใกล้จะถึง และรวมถึง
ภาวะที่สมองส่วนใหญ่สูญเสียความสามารถ
ในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างถาวร
เหลือเพียงปฏิกิริยาสนองตอบอัตโนมัติเท่านั้น
-"การทรมานจากการเจ็บป่วย" ที่สามารถ
ปฏิเสธการรักษาได้ ต้องเป็นความทุกข์ทรมานทางกายหรือจิตใจอันเกิดจากการบาดเจ็บหรือจากโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้เท่านั้น
- ผู้ป่วยที่ทำหนังสือแสดงเจตนายังมีสิทธิ
ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง
-เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติ
ตามเจตนาของบุคคลนั้นแล้วถือว่า
ไม่มีความผิดและความรับผิดตามกฎหมาย
ซึ่งการรักษาพยาบาลหรือบริการทาง
การแพทย์ที่เราสามารถระบุในหนังสือ
ดังกล่าวได้ อย่างเช่น การให้สารอาหาร
และน้ำทางสายยาง การใช้ยากระตุ้นหัวใจ
การใส่หรือถอดท่อช่วยหายใจ การใช้
หรือหยุดเครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
เนื่องจากมีข้อมูลว่า การพยายามยื้อ
ชีวิตของผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยหนัก
ในวาระสุดท้าย บางครั้งอาจเป็นการ
สร้างความทรมาน และความลำบาก
ให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
บ่อยครั้งผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่ได้เพียง
ด้วยการอาศัยเครื่องช่วยหายใจ
แต่ร่างกายและอวัยะอย่างอื่นไม่มี
การตอบสนองอีกแล้ว ซึ่งก็เป็น
สถานการณ์ที่ญาติของผู้ป่วยยาก
จะตัดสินใจได้ว่า จะยังให้มีการรักษา
ต่อไปหรือยุติการรักษานั้น หลายกรณี
ญาติอาจมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน
การทำหนังสือแสดงเจตนาเอาไว้
ล่วงหน้าดังกล่าว จึงอาจเป็นทางเลือก
อันเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง เพื่อให้
บุคลากรทางการแพทย์ และญาติ
สามารถปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนา
ได้ตรงตามความประสงค์ของผู้ป่วย
ควบคู่ไปกับการทำพินัยกรรมอันเป็น
การแสดงเจตนาเกี่ยวกับการจัดการ
ทรัพย์สินต่างๆก็เป็นได้
บ่อยครั้ง คนเราแก่งแย่ง แข่งขัน
กอบโกย สะสม และเกลียดชังกัน
อย่างเกินความจำเป็น จนลืมไปว่า
ชีวิตเป็นของที่มีเวลาจำกัด ซึ่งควร
ใช้มันอย่างคุ้มค่า และควรเป็นไป
เพื่อการสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเอง
และผู้อื่น มากกว่าจะใช้แต่ละวัน
ให้หมดไปอย่างเปล่าประโยชน์
ความไม่เป็นนิรันดร์ในทุกสรรพสิ่ง
บางครั้งก็เป็นบทเรียนอย่างดีให้ได้
เรียนรู้ถึงความพอเพียง รู้จักพอใจ
ในสิ่งที่มี และใช้มันเหล่านั้นให้เกิด
คุณค่าอย่างสูงสุด
เพราะสิ่งต่างๆรอบตัวที่เกิดขึ้น
กำลังบอกเราอยู่ในทุกขณะว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลง
ไม่มีสิ่งใดคงอยู่อย่างคงทนถาวร
และไม่มีสิ่งใดเป็น
ของเราได้ตลอดไป
.
.
สุดท้ายแม้แต่ร่างกายและลมหายใจนี้
ป.ล.ถ้าผู้อ่านท่านไหนอ่านแล้ว รู้สึกไม่สบายใจ
ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ🙇🏻‍♀️🙇🏻‍♀️
เจตนาของผู้เขียนมีเพียงการแบ่งปัน
ประสบการณ์ และข้อมูลที่คิดว่าน่าจะ
เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อ่านได้บ้างเท่านั้น
เองค่า🙇🏻‍♀️🙇🏻‍♀️
แหล่งข้อมูล:
📖พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
.
.
📖ตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนา
ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขของโรงพยาบาลศิริราช
.
.
โฆษณา