17 พ.ค. 2020 เวลา 13:35 • การศึกษา
กิ้งกือ สัตว์โลกตัวเล็กๆ ที่มีขานับร้อย แม้รูปร่างภายนอกจะดูน่ากลัว แต่กิ้งกือเป็นสัตว์ที่อยู่บนโลกมานานนับร้อยล้านปี และสร้างประโยชน์ให้กับธรรมชาติมากมาย
สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับกิ้งกือ
ผู้ใหญ่มักเตือนเด็กๆว่า อย่าไปจับกิ้งกือนะ เดี๋ยวมันกัดเอา แต่ความเป็นจริงแล้วกิ้งกือกัดได้จริงหรือ ?
คำตอบคือ กัดแต่ไม่เจ็บ เพราะปากของกิ้งกือเป็นเพียงแค่แผ่นแบนๆ ประกบกัน มันไม่สามารถกัดทะลุผิวหนังคนได้เลย และกิ้งกือจึงจะกินได้เฉพาะเศษซากที่เปื่อยยุ่ยเท่านั้น หากโดนกิ้งกือกัดคงรู้สึกได้เล็กๆ เท่านั้นเอง
กิ้งกือวางไข่บนแผลเราได้ ?
คำตอบคือ ไม่จริง เพราะธรรมชาติของกิ้งกือเพศเมีย จะพิถีพิถันในการวางไข่มาก มันจะขุดโพรงลงไปในดิน และสร้างแคปซูลจากเศษดินเล็กๆขึ้นมา เพื่อวางไข่ 1 ใบในแคปซูล 1 อัน กิ้งกือจึงไม่สามารถวางไข่บนผิวหนังคนได้เพราะมันผิดธรรมชาติของกิ้งกือมาก
กิ้งกือมีพิษ ?
คำตอบคือ จริง กิ้งกือจะมีพิษอยู่ในตัวของมันเอง เป็นสารเบนโซควิโนน จัดอยู่ในกลุ่มไซยาไนด์ ที่มีสีเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อถูกอากาศ มีกลิ่นฉุน เมื่อมันตกใจมันจะขดตัวอย่างที่เราเห็นกันบ่อยๆ และจะปล่อยสารตัวนี้ออกมาเพื่อป้องกันตัว แต่สารนี้จะทำร้ายได้เฉพาะมดตัวเล็กๆเท่านั้น และไม่ทำอันตรายต่อคน
แต่จะมีกิ้งกือบางสายพันธุ์ที่พบในต่างประเทศ ที่สามารถพ่นพิษออกมาจากบริเวณข้างลำตัวได้ พิษจะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี เป็นสารกลุ่มไซยาไนด์เช่นกัน
พิษของกิ้งกือที่มีพิษ จะทำให้เกิดรอยด่าง รอยไหม้และปวดแสบปวดร้อนได้ หากสัมผัสควรล้างออกด้วยน้ำสบู่หรือเช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หากเข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบได้
และเคยมีข่าวว่าแถบภาคอีสานนำกิ้งกือไปทำเป็นน้ำยาขนมจีน หรือน้ำยากุ้งบก เพราะจะได้น้ำยาที่มีสีสวย แต่หากพิจารณาสารพิษที่อยู่ในตัวกิ้งกือแล้ว แนะนำว่าไม่ควรนำกิ้งกือมารับประทานจะปลอดภัยมากกว่า
มีเรื่องราวมากมายที่คนยังไม่รู้เกี่ยวกับกิ้งกือ สัตว์โลกตัวเล็กๆที่ถูกผู้คนมองว่าน่าเกลียด เรามาทำความรู้จักกิ้งกือให้มากขึ้นกัน
1. กิ้งกือตัวผู้จะมีอวัยวะเพศอยู่ที่คอ
อวัยวะเพศของกิ้งกือมีลักษณะเป็นช่องอยู่ที่คอ และแน่นอนว่ากิ้งกือมีเพศสัมพันธุ์กันทางคออย่างไม่ต้องสงสัย และเราสามารถดูเพศของกิ้งกือได้ง่ายๆ ด้วยการสังเกตที่คอ หากเป็นกิ้งกือตัวเมียจะไม่มีอวัยวะเพศ
2. โรงงานธรรมชาติเคลื่อนที่
กิ้งกือเป็นนักย่อยสลายชั้นเยี่ยม มันจะกินพวกซากพืช ใบไม้เปื่อยยุ่ย ขอนไม้ผุ และขับถ่ายออกมาเป็นก้อนคล้ายยาลูกกลอนที่มีจุลินทรีย์มากมายกลายเป็นปุ๋ยให้กับดิน
3. กิ้งกือมีประวัติมายาวนานถึง 400 ล้านปี
มันทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายมาโดยตลอด หากไม่มีกิ้งกือคอยช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน คงไม่มีต้นไม้ ไม่มีป่า ให้เราเห็นมาจนถึงทุกวันนี้
4. สัตว์ตัวสีชมพูตัวนี้อาจดูคล้ายกับตะขาบ แต่ความจริงแล้วมันคือ "กิ้งกือมังกรสีชมพู" ที่สถาบัน IISE ประกาศให้กิ้งกือมังกรสีชมพูเป็น สุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ อันดับที่ 3 ของโลกรองจากการค้นพบปลากระเบนไฟฟ้าในแอฟริกาและการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ปากเป็ดอายุ 75 ล้านปี ในสหรัฐฯ และกิ้งกือมังกรสีชมพูสามารถพบได้ตามแถบป่าเขาหินปูนในประเทศไทยเท่านั้น
กิ้งกือเป็นเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เป็นผู้ย่อยสลายตามธรรมชาติ ที่คนไม่ค่อยให้ความสนใจ แต่ธรรมชาติไม่เคยสร้างสิ่งมีชีวิตใดที่ไร้ค่า
เรียบเรียงโดย : เรื่องเล่าคนเข้าป่า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา