17 พ.ค. 2020 เวลา 04:25 • การศึกษา
การแบ่งมรดก
มีลูกความโทรมาปรึกษาว่าลูกยังเล็ก สามีมีทรัพย์สินมาก มีความกังวลว่าหากสามีเสียชีวิตแล้วพี่น้องของสามีจะเข้ามารับมรดกทำให้ไม่ตกถึงลูกจะทำอย่างไร
นอกจากนี้ยังมีคนสอบถามกันมามากเรื่องทายาทตามกฎหมายเรื่องบุตรว่าหมายรวมถึงบุตรนอกกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมด้วยหรือไม่ แล้วจะรวมถึงหลานด้วยหรือไม่ จึงขอแบ่งปันความรู้เรื่องทายาทตามกฎหมายให้ผู้อ่านได้ทราบ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 1603 ได้วางหลักว่ากองมรดกย่อมตกทอดแก่
1.ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า "ทายาทโดยธรรม" หรือ
2.ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมเรียกว่า "ผู้รับพินัยกรรม"
จะกล่าวถึง "ผู้รับพินัยกรรม" ก่อน จะเป็นใครก็ได้ขอเพียงเจ้ามรดกทำพินัยกรรมที่ถูกต้องตามแบบของกฎหมายระบุไว้ก็มีสิทธิเป็นทายาทตามพินัยกรรมได้ ดังนั้นเราอาจเคยเห็นกรณีเศรษฐีชราทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้พยาบาลที่ดูแลตนเองในวาระสุดท้ายของชีวิตและทำในขณะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายมีพยานลงนามถูกต้อง ส่วนบุตรไม่ได้ถูกระบุเป็นทายาทในพินัยกรรมเลยแล้วก็มาร้องต่อศาลว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะ เป็นต้น
ส่วนทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า "ทายาทโดยธรรม" นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ได้วางหลักว่าทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับเท่านั้น แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้
1.ผู้สืบสันดาน
2.บิดามารดา
3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4.พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
5.ปู่ ย่า ตา ยาย
ุ6.ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรมภายใต้ ปพพ.มาตรา 1635
สำหรับเรื่องคู่สมรสนี้อยู่ในย่อหน้าท้ายๆ
ในส่วนแรกนี้จะเล่าถึงทายาทโดยธรรมลำดับที่1 คือผู้สืบสันดาน
ผู้สืบสันดาน หมายรวมถึง (ปพพ.มาตรา 1627)
1.บุตรชอบด้วยกฎหมาย (คือบิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน หรือบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันแต่บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร)
2.บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว เช่นบิดายอมให้ใช้นามสกุล, บิดาส่ง เสียเล่าเรียน ให้ค่าเลี้ยงดู เป็นต้น
3.บุตรบุญธรรม
ส่วนหลานจะได้รับมรดกในฐานะผู้รับมรดกแทนที่เท่านั้น (ปพพ.มาตรา 1631) เช่นบุตรเสียชีวิต บุตรของบุตรก็คือหลานจึงจะเข้ามาเป็นผู้รับมรดกแทนที่ หากหลานเสียชีวิต บุตรของหลานคือเหลนก็จะเข้ามาเป็นผู้รับมรดกแทนที่ เป็นต้น
หากคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย อยากให้มรดกหลานก็ต้องไปให้โดยทำพินัยกรรมแล้วระบุชื่อหลานเป็นทายาทในพินัยกรรม
ส่วนต่อไปจะเล่าในส่วนบิดามารดา และคู่สมรส
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (2) ทายาทโดยธรรมลำดับ2 บิดามารดา หมายถึงบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่าหากเจ้ามรดกเป็นบุตรซึ่งบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสและบิดามิได้จดทะเบียนรับรองบุตร บิดานั้นจะไม่มีสิทธิในมรดกของบุตรเลย (ซึ่งจะต่างจากกรณีที่เจ้ามรดกเป็นบิดา แม้บิดามิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา และบิดามิได้จดทะเบียนรับรองบุตร แต่ได้รับรองว่าบุตรเป็นบุตรของตนจริงเช่นยอมให้ใช้นามสกุล ยอมส่งเสียค่าเลี้ยงดู เป็นต้น บุตรนอกกฎหมายผู้นั้นก็ยังมีสิทธิในมรดกของบิดา)
ส่วนมารดานั้นไม่มีปัญหาเพราะหญิงที่ให้กำเนิดบุตรถือเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรเสมอ
โดยปกติทายาทลำดับแรกจะตัดทายาทลำดับหลัง ยกเว้นทายาทชั้นบิดามารดา แม้ว่าเจ้ามรดกจะมีบุตร แต่หากบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ทายาทชั้นบุตรก็ไม่ตัดทายาทชั้นบิดามารดา เพราะวัฒนธรรมไทยถือเรื่องความกตัญญูกตเวที ดังนั้นกฎหมายจึงเขียนขึ้นโดยคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย ดังนั้นหากเจ้ามรดกมีแต่บุตรขณะที่บิดามารดาเสียชีวิตแล้ว มรดกจะตกแก่บุตรเท่านั้นไม่ตกไปถึงพี่น้องของเจ้ามรดก
การนับส่วนแบ่งในกองมรดก บิดามารดานับเป็น 2 คน เช่นเจ้ามรดกมีเงิน 1,000,000 บาท ไม่มีคู่สมรส มีแต่บิดา มารดา บุตร 2 คน ดังนั้นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกมี 4 คน ได้คนละ 250,000 บาท
บิดามารดาบุญธรรมไม่ใช่ทายาทตามกฎหมายของบุตรบุญธรรม
ดังนั้นหากบุตรเป็นเจ้ามรดกและต้องการยกมรดกให้บิดาที่มิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือต้องการยกมรดกให้บิดามารดาบุญธรรมก็ต้องทำพินัยกรรมยกให้จึงจะมีผลตามกฎหมาย
จำง่ายๆว่า “บุตรนอกกฎหมายมีสิทธิรับมรดกของบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรนอกกฎหมาย”
รู้อย่างนี้แล้วคู่สามีภริยาใดที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสและไม่ประสงค์จะจดก็ขอให้บิดาไปจดทะเบียนรับรองบุตรโดยเร็วจะได้ไม่เสียสิทธิทางกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่จะเสียสิทธิเพียงเรื่องมรดกแต่ยังเสียสิทธิอีกหลายประการ เช่น หากบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายถูกรถชนเสียชีวิต บุตรนอกกฎหมายไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้ขับรถชนบิดาตนเองได้ เป็นต้น
กรณี "คู่สมรส"
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635 ได้วางหลักไว้ว่าคู่สมรสที่มีชีวิตมีส่วนในกองมรดกดังนี้
หากเจ้ามรดกมีบุตร ให้คู่สมรสมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตร
ตัวอย่าง เจ้ามรดกมีสินสมรส 2,000,000 บาท ไม่มีสินส่วนตัวเลย ก็เป็นส่วนของคู่สมรสครึ่งหนึ่งคือ 1,000,000 บาท ที่เหลืออีก 1,000,000 บาทเป็นกองมรดก มีทายาทตามกฎหมายคือ คู่สมรส บิดา มารดา บุตร 2 คน ดังนั้นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกมี 5 คน ได้คนละ 200,000 บาท
หากเจ้ามรดกไม่มีบุตรแต่มีบิดามารดา ให้คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง
ตัวอย่าง เจ้ามรดกมีสินสมรส 2,000,000 บาท ไม่มีสินส่วนตัวเลย ก็เป็นส่วนของคู่สมรสครึ่งหนึ่งคือ 1,000,000 บาท ที่เหลืออีก 1,000,000 บาทเป็นกองมรดก มีทายาทตามกฎหมายคือ คู่สมรส บิดา มารดา ดังนั้นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกมี 3 คน คู่สมรสได้กึ่งหนึ่งคือ 500,000 บาท บิดามารดาได้ 500,000 บาท มาแบ่งกันโดยบิดาและมารดาได้คนละ 250,000 บาท
หากเจ้ามรดกมีทายาทเฉพาะพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ให้คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง
ตัวอย่าง เจ้ามรดกมีสินสมรส 2,000,000 บาท ไม่มีสินส่วนตัวเลย ก็เป็นส่วนของคู่สมรสครึ่งหนึ่งคือ 1,000,000 บาท ที่เหลืออีก 1,000,000 บาทเป็นกองมรดก มีทายาทตามกฎหมายคือ คู่สมรส พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน ดังนั้นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกมี 5 คน คู่สมรสได้กึ่งหนึ่งคือ 500,000 บาท พี่น้อง 4 คนได้ 500,000 บาท มาแบ่งกันโดยพี่น้องแต่ละคนได้คนละ 125,000 บาท
หากเจ้ามรดกมีทายาทเฉพาะพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน หรือเฉพาะปู่ ย่า ตา ยาย หรือเฉพาะลุง ป้า น้า อา ให้คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกสองในสาม
ตัวอย่าง เจ้ามรดกมีสินสมรส 2,000,000 บาท ไม่มีสินส่วนตัวเลย ก็เป็นส่วนของคู่สมรสครึ่งหนึ่งคือ 1,000,000 บาท ที่เหลืออีก 1,000,000 บาทเป็นกองมรดก มีทายาทตามกฎหมายคือ คู่สมรส ปู่ ย่า ลุง ป้า ดังนั้นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกมี 3 คน คือคู่สมรสได้สองในสามคือ 666,666 บาท ปู่ย่าได้ 333,334 บาท มาแบ่งกันโดยปู่และย่าได้คนละ 166,667 บาท ส่วนลุง ป้า ไม่ได้เนื่องจากถูกทายาทชั้นปู่ย่าตัดไปแล้ว
จะเห็นว่าคู่สมรสได้ในฐานะส่วนแบ่งจากสินสมรสครึ่งหนึ่งแล้ว ยังได้ในฐานะทายาทโดยธรรมด้วยเสมอ และได้มากขึ้นเรื่อยๆถ้าญาติห่างออกไปเรื่อยๆ
รู้อย่างนี้แล้วเจ้ามรดกก็ต้องตัดสินใจให้ดีว่าจะจดทะเบียนสมรสหรือไม่ หากจดทะเบียนแล้วอยากให้ครอบครัวเดิมของตนได้รับมรดกในส่วนของตนด้วยแทนที่จะเป็นคู่สมรสมามีส่วนแบ่งด้วย เจ้ามรดกก็ต้องทำพินัยกรรมไว้
จำไว้ว่า "ทรัพย์มรดก" หมายถึงทรัพย์สินของเจ้ามรดกที่มีอยู่ก่อนหรือในขณะถึงแก่ความตายเท่านั้น ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินส่วนตัวหรือสินส่วนตัว ยังรวมถึงสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ด้วย
บางคนไม่เข้าใจกฎหมายครอบครัว ไปจำว่าเมื่อสามีตาย ภรรยาจะได้สมบัติครึ่งหนึ่งทันทีทั้งที่ความจริงสามีภรรยาคู่นี้ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้นเมื่อไม่ได้จดทะเบียนสมรสจึงไม่มีเรื่องสินส่วนตัวหรือสินสมรสมาเกี่ยวข้อง หากสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนตาย เมียก็ไม่ได้มรดกเลยในฐานะทายาทโดยธรรม (หากสามีอยากให้เมียไม่จดทะเบียนคนนี้ได้มรดกก็ต้องใช้วิธีระบุในพินัยกรรม) แต่หากสามีภรรยาไม่จดทะเบียนสมรสมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สิน กรณีนั้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งสามารถร้องขอแบ่งมรดกในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้แต่ไม่ใช่ในฐานะทายาทโดยธรรม
ภรรยาบางคนก็ไม่รู้ว่าอะไรคือสินส่วนตัวอะไรคือสินสมรส ไปเข้าใจว่าที่ดินที่สามีได้มรดกมาหลังจดทะเบียนสมรส ตัวภรรยาเองจะได้ครึ่งหนึ่งทันทีในฐานะสินสมรสหากสามีตาย ทั้งๆที่ความจริงกฎหมายเขียนไว้ใน ปพพ.มาตรา 1471 ว่าทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกเป็นสินส่วนตัว
ตัวอย่างตามกรณีตอนเกริ่นนำเข้าเรื่องที่ภรรยากังวลว่าหากสามีเสียชีวิตแล้วมรดกจะตกแก่พี่น้องสามีนั้น ไม่ต้องกังวลเลยเพราะบุตรเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ไม่ตกถึงพี่น้องของสามีแน่นอน ยกเว้นแต่สามีจะทำพินัยกรรมยกให้พี่น้องเท่านั้น
ดังนั้นหากต้องจัดการมรดกขอให้ปรึกษานักกฎหมายหรือทนายความ
ขอบคุณภาพจาก https://www.pexels.com/th-th/photo/101808/
โฆษณา