17 พ.ค. 2020 เวลา 09:08 • ธุรกิจ
#เปิดห้างวันแรก วันนี้คุณอยู่บ้านหรือออกไปห้าง? แล้วมันเหมือนหรือต่างจากการต่อคิวซื้อไอโฟนหรือคริสปี้ครีม หรือไม่? เรื่องราวมันเป็นยังไง #เดี๋ยวสรุปให้ฟัง
1
1) ขณะนี้ แอดมินนั่งเขียนบทความอยู่ที่ร้านกาแฟในห้างแถวบ้าน คุณลุงโต๊ะข้างๆ กำลัง video call หาลูกสาว พร้อมแพนกล้องให้ดูคนจำนวนมากที่กำลังเดินเล่นอยู่ เนื่องจากวันนี้ (17 พ.ค 63) เป็นวันแรกที่ห้างกลับมาเปิดบริการหลังจากปิดมานานเกือบ 2 เดือน หลายคนคงเห็นข่าวคนออกไปต่อคิวเข้าห้างกันตั้งแต่เช้า ไม่ว่าจะเป็นทั้ง สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ หรือห้างใกล้บ้านเราก็ตาม นี่เป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นหรอ…? เปล่าเลย วันนี้แอดมินจะพาไปพบกับเหตุการณ์คล้ายๆ กันที่เคยเกิดขึ้นในอดีตพร้อมกับทฤษฎีที่น่าจะอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้
2) เหตุการณ์นี้น่าจะใกล้เคียงกับการ “ต่อคิวซื้อ iPhone” รุ่นใหม่ล่าสุด” “ต่อคิวซื้อคริสปี้ครีม” “ต่อคิวซื้อตั๋วหนังดูอเวนเจอร์ภาคใหม่” หรือแม้กระทั่งต่อคิวเกือบครึ่งค่อนวันเพื่อกิน “ชาบูหม่าล่าเจ้าใหม่” ทั้งหมดนี้ก็เพราะว่าเราต้องการเป็น “กลุ่มคนแรกๆ” ที่จะสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ (แต่ “เก่า” ในกรณีห้างนี้) นั่นเอง
3) ทั้งหมดนี้ อาจจะอธิบายด้วยทฤษฎี FOMO และ JOMO คุณอยู่ฝั่งไหนของทฤษฎี อ่านบทความนี้จบแล้วลองคอมเมนต์บอกเพื่อนๆ กันนิดนึงนะครับ
4) ลองจินตนาการตาม สมมติวันนี้เป็นวันแรกที่คริสปี้ครีม ขนมโดนัทที่หวานจนน้ำตาลเรียกพี่เข้ามาขายเป็นวันแรก คุณจะรีบตรงดิ่งไปที่ร้านเพื่อต่อคิวซื้อเลยมั้ย? ถ้าใช่ ยินดีด้วยครับ คุณ “อาจจะ” เป็นกลุ่ม FOMO (Fear Of Missing Out) ซึ่งก็คือการกลัวที่จะพลาดสิ่งที่สำคัญไป และกลัวที่จะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง
5) ทีนี้เอาใหม่… สมมติว่าคุณเป็นคนที่ชื่นชอบกล้องฟิล์มด้วยความที่มันไม่ตามกระแสโลกดิจิตอลและเทคโนโลยีล้ำสมัยของกล้องสมัยใหม่ ยินดีด้วยครับ คุณอาจจะเป็นกลุ่ม JOMO (Joy Of Missing Out) ซึ่งก็คือการมีความสุขที่ได้พลาดสิ่งที่กำลังเป็นกระแสอยู่
6) ช้าก่อน…ช้าก่อน… แล้วถ้าเกิดกล้องฟิล์มกลายมาเป็นเทรนด์ที่ทุกคนย้ายมาเล่นกันล่ะ? คุณจะยังชอบเล่นกล้องฟิล์มอยู่รึเปล่า? ถ้าคำตอบคือ “ไม่ใช่” แล้วคุณเลิกเล่นกล้องฟิล์มไปเลย ยินดีด้วยอีกครั้งครับ คราวนี้คุณเป็น “JOMO” ตัวจริงเสียงจริงแล้วแหละครับ เพราะอาการ JOMO นี้มันไม่ได้ผูกติดกับสิ่งของ แต่มันเป็นวิธีคิดที่พร้อมจะเปลี่ยนไปเสมอเมื่อเริ่มมีคนสนใจมากเกินไป และเปลี่ยนไปสนใจสิ่งใหม่แทน
7) กลับมาที่ทฤษฎี FOMO ถ้าเรานึกดูดีๆ คนที่ไปต่อคิวปักหลักซื้อ iPhone รุ่นใหม่หน้าร้าน Apple Store เป็นเพราะเค้าอยากได้ตัวสินค้าใหม่จริงๆ รึเปล่า? มันคุ้มค่าหรือไม่กับการอดหลับอดนอนไปต่อยืนต่อคิว 10 กว่าชั่วโมงที่หน้าร้าน ก็เลยมีคนเคยไปสัมภาษณ์คนที่ต่อคิวมา แล้วก็พบว่าจริงๆ เค้าไม่ได้เข้าคิวเพื่อ “ซื้อโทรศัพท์” แต่มันคือการเข้าคิวเพื่อ “ซื้อการมีส่วนร่วมกับแบรนด์” เพื่อให้คนอื่นๆ ที่มองเข้ามารู้สึกว่า “เค้าคนนั้น” เป็นตัวแทนของ Apple ซึ่งหมายถึงภาพลักษณ์ความมีรสนิยม ความเป็นคนสนใจเทคโนโลยี และอื่นๆ อีกมากมายที่ติดมากับแบรนด์นั้นๆ
8) เช่นเดียวกับการต่อคิวซื้อสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนกับคนไทย เพราะการได้รู้สึกว่าเราเป็น "คนแรก" เป็นคน "ทันสมัย" มันเย้ายวนใจสำหรับคนจำนวนมาก มากเสียจนว่าเรายอมที่จะเสียเงินหรือเวลาไปกับสิ่งที่เราอาจจะไม่ได้ต้องการ “การใช้งานหลัก” (functional benefit) ของมันด้วยซ้ำไป
#สุดท้ายแล้ว กลับมาที่เรื่องห้างสรรพสินค้า ทำไมคนจำนวนมากต้องต่อคิวกันเพื่อได้เข้าไปวันนี้? เค้าต้องการไปซื้อของรึเปล่า? ก็อาจจะใช่ แต่ของอะไรหรอที่เราซื้อไม่ได้ในออนไลน์? ก็คงจะมี แต่เรียกได้ว่าน้อยมากๆ ใช่มั้ยล่ะ คนส่วนมากที่ไปเดินห้างวันนี้ (รวมถึงแอดมิน) ก็คงมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะเข้าไปซื้อของจริงๆ บางคนอาจจะเข้าไปแค่ได้รู้สึกถึงการเดินห้างอีกครั้ง บางคนอยากเป็นคนแรกๆ จะได้มีเรื่องไปคุยกับเพื่อนในเช้าวันพรุ่งนี้ หรือบางคน (อย่างคุณลุงโต๊ะข้างๆ) ก็อาจจะแค่กาแฟที่บ้านหมด เลยออกมากินข้างนอก ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นเลย ใครจะรู้…
โฆษณา