18 พ.ค. 2020 เวลา 14:02 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สงครามเย็น 2.0 : หัวเหว่ยกับภัยความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา
สงครามเย็น 2.0 ที่ยังไม่มีจุดจบ
ความบาดหมางระหว่างสหรัฐอเมริกา - จีน ไม่ใช่แค่การทำสงครามการค้าอย่างเดียว แต่มันกลายเป็นสงครามเย็น 2.0 (Cold War 2.0) อย่างเต็มรูปแบบไปแล้ว และ COVIDー19 เป็นส่วนที่ทำให้สงครามปะทุขึ้นอย่างดุเดือด มันคือสงครามจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่ต่างฝ่ายต่างตอบโต้กันด้วยวิธีการทูตบ้าง ผ่านสื่อบ้าง กีดกันทางการค้าบ้าง สุดท้ายจะนำมาสู่สงครามกองกำลังหรือไม่นั้น ก็ยากที่จะคาดเดาได้
ความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีน มีทีท่าจะรุนแรงขึ้น เหริน เจิ้งเฟย ประธานกรรมการบริหารของ Huawei ย่อมรู้ดีว่าโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คงไม่ปล่อยไปง่าย ๆ แน่นอน แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ด้วยสิ ทรัมป์ได้สั่งขยายระยะเวลาห้ามทำการค้ากับ Huawei ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2021
อย่างไรก็ตาม Huawei เตรียมจะเปิดตัวรุ่นอัพเกรดใหม่ P30 Pro New Edition เพื่อกู้สถานการณ์ยอดขายสมาร์ทโฟนในต่างประเทศ ซึ่งรุ่น P30 series ยังสามารถใช้ Google Mobile Service (GMS) ได้ตามปกติ แต่รุ่นหลังจาก P30 series จะไม่สามารถใช้บริการได้ และไม่สามารถอัพเดตเป็นเฟิร์มแวร์ตัวล่าสุดที่รองรับ GMS ได้เช่นกัน ดังนั้นการอัพเกรดจากรุ่น P30 Pro เป็นรุ่น P30 New Edition เป็นกลยุทธ์การแก้เกมการค้าชั่วคราวเท่านั้น แต่รายได้หลักของ Huawei ก็มาจากการขายอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมและบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
The Huawei logo is seen on a communications device in London, Britain, January 28, 2020. REUTERS/Toby Melville
ถามว่าอุปกรณ์โทรคมนาคมของ Huawei สามารถดักจับข้อมูลได้หรือไม่นั้น ต้องบอกก่อนว่า อุปกรณ์ของทุกค่ายก็สามารถทำได้เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับว่าเขาจะดักจับข้อมูลของผู้ใช้หรือป่าว ทว่าความกังวลของสหรัฐฯ คือ Huawei เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนอย่างมาก และกฎหมายจีนระบุว่า "บริษัทจะต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาล..." ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม รัฐบาลจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ได้อย่างง่ายดาย
1
บริษัทเอกชนใหญ่ ๆ ของจีนอย่าง Alibaba, Tencent เป็นบริษัทเอกชนที่มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคทุกด้าน มักจะถูกรัฐบาลแทรกแซงเสมอ เช่น ควบคุมการเผยแพร่สื่อสารบน WeChat เป็นต้น และข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ใช้เป็น Big data ที่สำคัญที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกด้วย ผู้ใช้ต่างชาติที่ใช้อุปกรณ์ของจีนหรือประเทศอื่น ๆ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ก็ควรรู้เท่าทัน แต่มันก็อยู่กับเราว่า...เราจะไว้วางใจกับอุปกรณ์เหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน
การกีดกันทางการค้าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร รัฐบาลจีนเก็แบนการใช้งาน Google, YouTube, Facebook, Twitter, Instagram และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ของสหรัฐฯ เช่นกัน
Huawei เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ อย่างไร?
ถ้าคุณเข้ามาแข่งชันด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว ถ้าคุณจะเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ คุณเอาชนะด้วยวิธีใดบ้าง?
อย่างที่กล่าวมาข้างต้น Huawei มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นอย่างมาก สี จิ้นผิงเคยกล่าวว่า "การที่เราจะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าจะต้องมี Big Data เข้ามาเกี่ยวข้อง" หลายคนคงทราบดีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา - จีนไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่นัก หากสหรัฐฯ ยอมรับอุปกรณ์โทรคมนาคม 5G ของ Huawei แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าความลับด้านเทคโนโลยีการทหารก็ดี การขโมยนวัตกรรมก็ดี รวมถึงความลับของประเทศจะไม่รั่วไหลไปยังรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน แน่นอนว่า อุปกรณ์เหล่านี้ย่อมเป็นหนอนไซเบอร์และสามารถแฮ็คข้อมูลได้อยู่แล้ว
สิ่งที่ทำให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ของ Huawei สามารถดักจับข้อมูลได้ เพราะสหรัฐฯ เคยอาบน้ำร้อนมาก่อน อย่าลืมว่าสหรัฐฯ มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากที่สุดในโลกก่อนที่จีนจะเข้ามาโลดแล่นในวงการนี้ อุปกรณ์เทคโนโลยีของสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ของสหรัฐฯ ยังสามารถดักจับข้อมูลสื่อสารของต่างประเทศได้ แล้วยิ่งเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราอย่างอุปกณ์ 5G และเครื่องมือสื่อสารของ Huawei ทำไมจะดักจับข้อมูลไม่ได้ ถึงแม้ก่อนหน้านี้ทาง Huawei จะออกมาบอกว่า จะให้ลิขสิทธิ์แก่ประเทศที่ซื้ออุปกรณ์ 5G สามารถปรับแก้ไขโค้ดได้ตามต้องการ แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าอุปกรณ์ 5G ของ Huawei จะไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
สำหรับสหรัฐอเมริกาแล้ว ความมั่นคงของชาติถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากที่สุด แม้แต่ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง ยังไม่ล่วงรู้ความลับทุกอย่างของประเทศ บางเรื่องสามารถเปิดเผยได้ บางเรื่องไม่สามารถเปิดเผยได้ เว้นแต่กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็น ประธานาธิบดีถึงจะสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ นี่แหละคือ ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาที่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจ ซึ่งจีนเองก็รู้ดีว่า การที่รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง การล่วงรู้ความลับของศัตรูย่อมเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต
ถ้าประเทศไทยยืนอยู่จุดสูงของการเป็นมหาอำนาจของโลก ไทยก็อาจมองความมั่นคงของชาติเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเช่นกัน
โฆษณา