17 พ.ค. 2020 เวลา 17:08 • ท่องเที่ยว
กาดกองต้า..วิถี ตรอกโบราณที่ลำปาง
by ภู เชียงดาว
“เธอเห็นฉันเป็นทางผ่านใช่ไหม...”
จริงสิ, ถ้าเมืองลำปางพูดได้ แกคงจะพร่ำบ่นนึกน้อยใจอยู่อย่างนั้น ในยามที่ผู้โดยสารมากหน้าหลายตา ที่นั่งอยู่เต็มขบวนรถไฟสายเหนือ เคลื่อนขบวนมาหยุดนิ่งตรงสถานีรถไฟนครลำปางเพียงไม่กี่นาที ก่อนจะเคลื่อนตัวช้าๆ ออกไปให้ไกลห่างทุกครั้งๆ ไป เพราะว่านักเดินทางส่วนใหญ่ ร้อยทั้งร้อยที่เดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ มักจะมุ่งหน้าไปเมืองกรุงเมืองใหญ่ หรือไม่ก็ไปเยือนเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย โดยไม่ค่อยให้ความสำคัญสนใจลำปางเท่าใดนัก
ใช่หรือไม่ว่า, บางครั้งเรามักมองเห็นความงามก็เมื่อผ่านเลย...
เหมือนกับการเดินทางครั้งนี้ของผม...ที่ทำให้ได้พบสิ่งที่งดงามล้ำค่าในความรู้สึกโดยบังเอิญ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น- -เคยเดินทางมาลำปางก็บ่อยครั้ง แต่มักมองข้ามหรือผ่านไป
ทว่าครั้งนี้ผมมีโอกาสได้สัมผัสต้องจริงๆ
เป็นการสัมผัสความงามของตรอกโบราณ บ้านเก่า “กาดก้องต้า” หรือตลาดท่าจีน
ซึ่งก่อนหน้านั้น เมื่อพูดถึงลำปาง เราจะนึกถึง รถม้าลำปาง อุโมงค์ลอดถ้ำขุนตาน และพระธาตุลำปางหลวง ก่อนเป็นอันดับต้นๆ แต่น้อยคนนักที่จะรู้จัก กาดกองต้า ริมฝั่งแม่น้ำวัง ทั้งๆ ที่มีตรงนั้น เราจะมองเห็นประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ลอยวนไปมาอยู่อย่างนั้น
แท้จริงแล้ว- -ลำปางยังมีอะไรดีๆ อยู่อีกเยอะ โดยเฉพาะวิถีชีวิตที่ง่ายงามของชาวบ้านร้านถิ่น อีกทั้งความเป็นอยู่อันเก่าแก่ที่ควรแก่การจดจำ หากเราเสาะหาเรียนรู้ให้ละเอียดลึกซึ้ง เราจะมองเห็นตำนานประวัติศาสตร์ซุกซ่อนไปทั่วทุกแห่งหน ไม่เว้นแต่ในตรอกซอกซอยเล็กๆ หรือบางมุมใดมุมหนึ่งที่สงบนิ่งมาช้าเนิ่นนาน
ตึกโบราณรูปทรงยุโรปผสมล้านนา พม่า จีน
บ่ายวันนั้น, เรานัดพบกันที่ร้านกาแฟเล็กๆ กลางเมืองลำปาง
เป็นการเดินทางที่พบกันโดยมีการนัดหมาย- -เพราะไม่เช่นนั้น เราคงต้องพลัดหลงกันแน่นอน เนื่องจากผมเดินทางออกจากเชียงใหม่ลงไป ส่วนผองเพื่อนนั้นเดินทางจากกรุงเทพฯ ขึ้นมา ซึ่งจริงๆ แล้ว เรา-ห้าชีวิตมุ่งหน้าท้าฝนกันมาเพื่อทำงานเฉพาะกิจ แต่ก็อย่างว่า เพราะทุกคนต่างมีหัวใจของนักเดินทางอยู่เต็มเปี่ยม สังเกตดูจากกลุ่มเพื่อนๆ ที่เดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึงลำปางก่อน ยังไม่ทันหายเหนื่อย ต่างรีบโบกไม้โบกมือเรียกรถม้าให้จอด ก่อนกระโจนขึ้นควบอาชา ไม่ใช่... กระโจนขึ้นนั่งรถม้าเพื่อชมความแปลกเปลี่ยนแปลกใหม่ไปรอบๆ เมืองลำปางก่อนเป็นอันดับแรก
“ไม่งั้น เดี๋ยวจะหาว่ามาไม่ถึงลำปาง” เธอเอ่ยออกมาด้วยสีหน้าเปี่ยมสุข
“ลำปาง มีพื้นที่อาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงกี่จังหวัด!?” เพื่อนคนหนึ่งเอ่ยถามเหมือนลองภูมิ ทว่าทุกคนส่ายหน้าไปมา ไม่มีใครตอบได้
“งั้นเฉลยนะ...ลำปางติดต่อพื้นที่ถึง 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ตาก สุโขทัย และแพร่”เพื่อนคนเดิม วางท่าทางเหมือนเป็นครูประถม
ลำปาง คือต้นกำเนิดของแม่น้ำวัง หนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลไปหลอมรวมกันเป็น แม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเทือกเขาขุนตาลเป็นฉากกั้นเขตระหว่างลำปางกับลำพูนทางทิศเหนือ แน่นอน...ลำพูนกับลำปาง นั้นมีความสัมพันธ์กันมาก่อนอย่างมิต้องสงสัย
ว่ากันว่า ประวัติศาสตร์ของลำปางนั้น ได้กล่าวเอาไว้ว่า เริ่มตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ทรงขึ้นครองนครหริภุญไชย หรือเมืองลำพูน ครั้นต่อมา เมื่อทรงมอบราชสมบัติให้เจ้ามหันตยศ พระโอรสองค์โต ให้ครองนครหริภุญไชยแทน ส่วนเจ้านันตยศ โอรสองค์รองนั้น ได้ไปสร้างเมืองใหม่ และขนานนามเมืองนี้ว่า “เขลางค์นคร” พร้อมทั้งได้ราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองเขลางค์นครเป็นพระองค์แรก ทรงพระนามว่า “พระเจ้าอินทรเกิงการ”
หลังจากนั้น พระองค์ทรงครองเมืองอยู่ไม่นาน ก็ทรงรำลึกถึงพระราชมารดา จึงทูลเชิญพระนางจามเทวี เสด็จยังเมืองเขลางค์นคร และได้ทรงสร้างเมือง “อาสัมภางค์นคร” ให้เป็นที่ประทับ โดยเหตุที่ทั้งนครเขลาค์นคร และ อาลัมภางค์นคร มีอาณาเขตใกล้เคียงติดต่อกันประดุจเป็นเมืองเดียวกัน ซึ่งต่อจากนั้น คนทั้งหลายจึงมักเรียกรวมกันว่า “นครเขลางค์อาลัมภางค์” จนสุดท้ายได้กลายเปลี่ยนเป็น “นครลำปาง” ในที่สุด
นั่น,คือบางชิ้นส่วนของเมืองประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งทำให้เรารู้จักรากเหง้าและใบหน้าของเมืองลำปางมากยิ่งขึ้น
ลวดลายรูปทรงที่ลงตัวของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว
ค่ำคืนนั้น, เราพักกันที่บุญมาเกสเฮาส์ อยู่ในย่าน “กาดกองต้า” ริมแม่น้ำวังฝั่งซ้าย
ผมนึกขอบคุณในใจ ที่เพื่อนที่มาจากเมืองกรุงได้เดินเที่ยวเสาะค้นหาที่พักไปจนทั่วทุกมุมเมือง และมาสะดุดตาสะกิดใจเลือกทำเลที่พักเอาในย่านนี้
“ขรึมขลัง และเงียบสงบ...” ผมเอ่ยกับเพื่อน
“ใช่...และที่สำคัญ ราคาถูกด้วย...” เสียงของยุ้ย ลากเสียงหวานพร้อมกับเสียงหัวเราะ แน่ละ,เธอเป็นคนเลือกเอง และเธอเป็นคนควบคุมดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งนี้ด้วย
เป็นเรือนไม้สักทองหลังใหญ่ อายุเก่าแก่กว่าร้อยปี
ผมเดินดูรอบๆ บริเวณบ้าน เฉพาะบ้านเรือนไทยหลังนั้น มีเสากลมอยู่ทั้งหมดถึง 24 ต้น มีห้องหับชั้นบน 2 ห้องใหญ่ พร้อมชุดรับแขก โต๊ะเตียงเครื่องนอนเครื่องใช้ที่พร้อมสรรพ ที่ดูแลตกแต่งด้วยลวดลายล้านนาโบราณ ส่วนด้านล่างมีอีก 2 ห้องนอนเล็ก สำหรับคนที่ต้องการอยู่อย่างชีวิตพอเพียง และสมถะ
“นอนห้องเล็กนี่นะ...ราคาถูกดี ร้อยห้าสิบเอง...” เธอยิ้ม ด้วยความรู้สึกที่คงรู้และเข้าใจดีว่าชีวิตผมนั้นสมถะจนเคยชิน
บ้านไม้ทรงไทยท่ามกลางตึกโบราณห้อมล้อม
ลุงบุญมา ที่นำบ้านทรงไทยมาปรับเป็นเกสเฮ้าส์ในย่านกาดกองต้า
ใครกันหนอ...ที่บอกว่า บางครั้งชีวิต เมื่อเราถอยห่างออกมาและหันไปมอง เราจะเห็นอะไรได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น
เป็นจริงเช่นนั้น- -เมื่อผมเดินออกมาข้างนอก ออกมายืนอยู่กลางตรอกซอยหน้าบ้านพักหลังนั้น ผมต้องตะลึงในความงามที่มิอาจบรรยายได้หมดสิ้น ผมกับบัณฑิต หนุ่มผมยาวเชื้อสายจีนที่ร่วมทางด้วยกัน ต่างรีบกดรูปเก็บบรรยากาศที่อยู่รายรอบนั้นกันอย่างมิรอช้า แข่งกับแสงแดดและเวลาที่กำลังเคลื่อนผ่าน
มองออกไปเบื้องหน้า จะเห็นภาพในวงกว้าง...เป็นการผสมผสานของสถาปัตยกรรมที่ลงตัวอย่างยิ่ง- -บ้านไม้ทรงไทยทำด้วยไม้สักทองตั้งอยู่ระหว่างกลาง ท่ามกลางบ้านเก่าตึกโบราณรูปทรงยุโรปผสมลวดลายล้านนา พม่าและจีน
ตั้งตระหง่านนิ่งอยู่ตรงนั้น จนต้องแหงนมองคอตั้งบ่า ยลโฉมความงามในรูปทรงที่ลงตัว
ชุมชนแห่งนี้ ชาวบ้านที่นี่เรียกขานกันว่า “กาดกองต้า”
“กาดกองต้า หมายถึงอะไรหรือ!?...” เชื่อว่าหลายคนเอ่ยถาม ด้วยความสนใจใคร่รู้
“กาดกองต้า เป็นภาษาคำเมืองเหนือ หมายถึง ตลาดจีน” แม่อุ้ยวัยเกือบ 70 ปี เจ้าของเกสเฮ้าส์บอกกับเรา
และตรงหัวมุมของตึกโบราณหลังใหญ่นั้น มีป้ายอธิบายถึงความหมายของกาดกองต้าเอาไว้อย่างน่าสนใจ
กาด หมายถึง ตลาด
กอง หมายถึง ตรอก
ส่วนคำว่า ต้า นั้นหมายถึง ท่าน้ำ
กาดกองต้า จึงหมายถึง ตลาดตรอกท่าน้ำ ซึ่งเคยเป็นตลาดขายสินค้าที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอดีต ซึ่งมีความคึกคักกันมากที่สุดตามแนวริมแม่น้ำวังฝั่งซ้าย ในยุคของเจ้านรนันชัยชวลิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง ในระหว่างปี พ.ศ.2430-2440 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 5
ลวดลายรูปทรงที่ลงตัวของสถาปัตยกรรมเก่าแก่
อีกรูปทรงสถาปัตยกรรมของบ้านโบราณยุค ร.5
จากร่องรอยอดีตของกาดกองต้าและบ้านโบราณในย่านนี้ จะรู้และเข้าใจในทันทีเลยว่า นครลำปาง แต่ก่อนนั้น เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าและการทำไม้สักที่สำคัญของภาคเหนือ ซึ่งแต่เดิมนั้น การขนส่งสินค้าทางภาคเหนือจะนิยมใช้ทางเรือ เนื่องจากเมืองต่างๆ จะอยู่ติดกับลำน้ำ และการขนส่งทางเรือนั้นประหยัดและสะดวกด้วย ย่านการค้าจึงมักเกิดขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำใหญ่ๆ
นอกจากนั้น จากร่องรอยอารยธรรมอันเก่าแก่แห่งนี้ ได้เกิดชุมชนที่เข้ามาทำธุรกิจการทำไม้และการค้าขายกันไปมาระหว่างชาวอังกฤษ พม่า และชาวจีน ซึ่งได้อพยพมาทำมาค้าขายอาศัยอยู่กันเป็นจำนวนมาก จนในที่สุด,กลายเป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ขึ้น ชาวบ้านที่นี่ จึงเรียกขานย่านนี้กันว่า “ตลาดจีน” นับแต่นั้นมา
ว่ากันว่า ความโดดเด่นและงดงามผสมผสานกันอย่างลงตัวของบ้านเรือนและตึกโบราณที่ตั้งอยู่กันตามตรอกซอกซอยริมฝั่งน้ำแม่วังนั้น ทำให้หลายคนที่มีโอกาสเดินทางเข้ามาพบเห็นโดยตั้งใจ หรือว่าพลัดหลงเข้ามาโดยไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ก็จะต้องรู้สึกคล้ายกำลังหลงใหลต้องมนต์กับเสน่ห์บางอย่างโดยไม่รู้ตัว
เนื่องจากย่านนี้ มีหลากหลายผู้คน หลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ อย่างที่ว่านั่นแหละ เราจะมองเห็นอาคารบ้านเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมระหว่างยุโรป พม่า และจีน ผสมผสานกันอย่างลงตัว จนทำให้กาดกองต้า หรือตลาดจีน ในตัวเมืองลำปาง กลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นขรึมขลังและงดงามของชาวลำปางมายาวนานกว่า
100 ปี
ลวดลายบนกรอบหน้าต่าง
ทางเข้าวัดเกาะวาลุการาม ติดริมฝั่งแม่น้ำวัง
อีกทั้งยังคงสภาพสมบูรณ์และตั้งเด่นอยู่สองรายทาง เช่น อาคารสีแดง ร้านบุญส่ง บ้านแม่แตง อาคารหม่องง่วยลิ่น อาคารกวงฮั่วหลีเก่า
จริงสิ, จึงไม่แปลกนัก ที่ในห้วงเวลาสองสามวันที่เราพักอยู่ในย่านกาดกองต้า ตลาดจีนนั้น เราพบเห็นคณะผู้ถ่ายทำหนังสารคดี พวกเขากำลังสาละวนตกแต่งฉากกันบริเวณตรอกโบราณย่านตลาดจีนกันยกใหญ่
กองถ่ายทำหนังสารคดี ใช้ฉากบ้านโบราณบริเวณกาดกองต้า
“เพราะที่อื่น ตอนนี้มันไม่หลงเหลือ ไม่มีบ้านเรือนโบราณแบบนี้อีกแล้ว และเข้าใจว่าเรือนไม้โบราณแบบจีนดั้งเดิม คงเหลือที่นี่ที่เดียวเท่านั้น” พ่อบุญมา เจ้าของเกสเฮ้าส์ บอกผม
เคยไหม...ที่คนเรามักโหยหาอดีตกันอีกครั้ง...เมื่อบางสิ่งบางอย่างเริ่มสูญหาย
ทำให้ผมนึกย้อนไปนึกถึงเมืองเก่าเมืองแก่อีกหลายหนแห่ง ไม่ว่าเมืองไหนๆ เราจะมองเห็นและรู้สึกได้เลยว่า วัฒนธรรมอันงดงามที่มีคุณค่าควรแก่การรักษานั้น นับวันยิ่งทรุดหายสลายไปอย่างน่าใจหาย ไม่ใช่เพียงเพราะกาลเวลาเท่านั้น ที่ทำให้สิ่งเหล่านี้สูญหายไป
บางที...ความคิด การกระทำของคนเราที่ไร้จิตสำนึก ไม่ลึกซึ้งเข้าใจ ไม่มองเห็นคุณค่าของอดีต อาจเป็นตัวเร่งให้สิ่งดีงามอันเก่าแก่ที่บรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้นั้น ต้องแตกทรุดและเสื่อมสลายหายไปเร็วขึ้นยิ่งกว่า...
ผมเชื่อเช่นนั้น....ว่าแท้จริงแล้ว กาลเวลาเป็นเพียงตัวประกอบ แต่คนเรานั่นสิเป็นตัวกระทำ ขึ้นอยู่กับว่าจะรักษา หรือทำลาย.
การเดินทาง
จ.ลำปาง อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 600 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถโดยสารประจำทาง รถไฟ และเครื่องบิน การไปย่านกาดกองต้า หรือตลาดจีน หาไม่ยาก ไปมาสะดวก เนื่องจากตั้งอยู่ริมแม่น้ำวังฝั่งซ้าย ในตัวเมืองลำปาง มีเกสเฮ้าส์บ้านโบราณ พร้อมร้านอาหารที่สามารถมองเห็นแม่น้ำวังได้เด่นชัด
โฆษณา