18 พ.ค. 2020 เวลา 13:05 • การศึกษา
- ชีวิตสัมพันธ์ (4) -
"3 สิ่งนี้ถ้ายิ่งทำ...ก็ยิ่งแย่"
ต่อเนื่องมาจากตอนที่ 1 ถึงตอนที่ 3 ก็จะทราบและเข้าใจหลักของธรรมชาติ เข้าใจความสัมพันธ์ของแบคทีเรีย รา อะมีบา โปรโตซัว ไส้เดือนฝอย ไร ไส้เดือน แมงมุม และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อื่นๆ อีกมากมายในดินกับการได้มาซึ่งธาตุอาหารของพืช ในปริมาณ สัดส่วน รูปฟอร์ม ตามที่พืชต้องการ แม่ธรณีได้ออกแบบ จัดการ เรื่องนี้แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย แบบ "มัลติฟังก์ชัน" อย่างชาญฉลาดและน่าอะเมซิ่งยิ่งนัก...
หากเรารู้และเข้าใจ และสามารถทำงานร่วมกับธรรมชาติได้ สร้างความหลากหลาย สมดุลของจุลชีพในดินให้พร้อมทำงาน สิ่งที่เราจะได้คือ...
+ ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ ในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องซื้อ เช่นปุ๋ยเคมี สารกำจัดแมง/เชื้อรา/วัชพืช ฮอร์โมน สารเร่ง หรือแม้กระทั่งน้ำหมัก หรือจุลินทรีย์บางอย่าง ฯลฯ
+ ได้อาหารปลอดภัย ไร้สารเคมีสังเคราะห์ มีสารอาหารครบตามที่พืชนั้นๆ ควรจะมี (healthy soil, healthy foods)
+ ทำงานน้อยลง ให้ biology ทำงานให้เรา (เกษตรกรสายขี้เกียจตัวจริง) รากพืชลงได้ลึกขึ้น ให้น้ำน้อยลง พืชแข็งแรง โรคและแมลงรบกวนน้อย ผลผลิตสูงขึ้น ต้นทุนลดลง...
หลักฐานเหล่านี้ได้ถูกสร้างและพิสูจน์ไว้ก่อนที่จะมีมนุษย์เราบนโลกนี้เสียอีก นึกภาพในป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ครับ นี่แสดงประจักษ์ให้เห็นว่า แต่ไหนแต่ไรแม่ธรณีอยู่ได้โดยไม่มีเรา เราต่างหากที่ต้องอาศัยแม่ธรณี...
แต่สิ่งที่เรากำลังทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม เมื่อปี 2504 เป็นต้นมานั้น เรากำลังทำสวนทางกับที่แม่ธรณีทำ 1) เราใช้ปุ๋ยเคมี 2) เราพ่นสารเคมีเป็นพิษ และ 3) เราไถทำลายโครงสร้างดิน เรากำลังเปลี่ยน "ดินที่มีชีวิต" ให้กลายเป็น "ฝุ่นธุลี"...
มาดูกันครับว่า 3 สิ่งที่เราทำอยู่นี้ ทำไมถึง "ยิ่งทำจะยิ่งแย่"...
1) ถ้าเราใช้ปุ๋ยเคมี...ปุ๋ยเคมีทุกสูตรมาในรูปของสารประกอบเกลือ ไม่ว่าจะเป็นแอมโมเนียมไนเตรท, ฟอสเฟส, โพแตสเซี่ยมซัลเฟส, แม็คนีเซี่ยมซัลเฟส, และอื่นๆ ฯลฯ...ซึ่งการที่มันจะละลายได้นั้น จะต้องดูดเอาความชื้นจากสิ่งต่างๆ รอบตัวมัน รวมทั้งในสิ่งมีชีวิตจำพวกแบคทีเรีย รา อะมีบา สัตว์เล็กๆ เซลล์เดียว (ที่เคลื่อนที่ได้น้อย) และสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะตายในที่สุด ดังนั้นแต่ละเม็ดของปุ๋ยเคมีที่เราหว่านลงไปจะไปฆ่าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เหล่านี้...และบ่อยครั้งนานวันเข้า โครงสร้างดินก็จะค่อยๆ ถูกทำลาย เพราะไม่มีแบคทีเรีย และเชื้อราที่คอยยึดเกาะโครงสร้างเอาไว้ หน้าดินก็จะแข็ง แน่น (compaction) และจะเกิดภาวะขาดออกซิเจน (anaerobic condition) ขึ้น และเมื่อดินนั้นอยู่ภายใต้สภาวะขาดออกซิเจน กลุ่มจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนก็จะเข้ายึดครอง ผลผลิตที่ได้จากจุลินทรีย์เหล่านี้ก็คือสารที่เป็น "กรด" เมื่อนานวันเข้า ดินของเราก็จะมีสภาพเป็นกรด (ph ต่ำกว่า 7)ในที่สุด
2) เมื่อธาตุอาหารที่ละลายออกมาจากเม็ดปุ๋ยและแพร่โดยตรงเข้าสู่เซลล์เนื้อเยื่อพืชผ่านระบบราก พืชก็จะมีการเติบโตอย่างผิดปรกติ (แต่เราเห็นว่ามันงามทันตา ทันใจ) เช่นการใส่ปุ๋ยยูเรีย (ไนเตรท) ให้กับพืช เซลล์พืชจะขยายเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่แม่ธรณีมองว่าเป็นเรื่องที่ผิดปรกติ ก็เลยส่งแมลงศัตรูต่างๆ และเชื้อโรคพืชบางอย่าง (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบคทีเรีย และราที่อยู่ได้โดยไม่ใช้ออกซิเจน) เข้าทำลาย เพื่อจำกัดการขยายพันธ์ุออกไปในธรรมชาติ แต่มนุษย์เราก็คิดจะเอาชนะธรรมชาติ เมื่อมีโรค แมลงเข้าทำลาย ก็คิดสารเคมีกำจัดโรคและแมลงขึ้นมา โดยรู้หรือไม่ก็ตาม สารเคมีพิษเหล่านี้จะทำลายทั้งแมลง แบคมีเรีย เชื้อรา สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มีประโยชน์ ในห่วงโซ่อาหารของดินด้วย ยิ่งเป็นการทำลายโครงสร้างดินเข้าไปอีก ดินก็ยิ่งแน่น เชื้อโรคสาเหตุพืชก็ยิ่งมากขึ้น และรุนแรงขึ้น วนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ พอความสัมพันธ์ของพืชและห่วงโซ่อาหารถูกทำลาย วิธีเดียวที่จะปลูกพืชก็ต้องอาศัยสารเคมีสังเคราะห์เหล่านี้ และอีกครั้ง ยิ่งใช้ยิ่งทำลาย ยิ่งใช้ ยิ่งต้องเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ
3) เมื่อหน้าดินแน่น คนเราก็ไปคิดวิธีการทำให้มันกลับมาร่วนซุยอีกครั้ง ด้วยการ "ไถ" หรือการ "ปั่นดิน" เชื่อไหมครับว่า การไถ หรือการปั่นดินนี้ เป็นการทำลายโครงสร้างดินที่เร็วกว่าการใช้สารเคมีเสียอีก...เมื่อเราไถ นึกถึงขนาดของแบคทีเรีย รา ไร ไส้เดือน หรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในดินครับ ถ้าเปรียบกับคนเรา มันก็คงจะเหมือนกับแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 8 ริกเตอร์กระมัง ทุกอย่างพังเสียหาย ปรกติถ้าดินมีโครงสร้างที่ดี แบคทีเรีย รา จุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เขาจะสร้างที่อยู่ตามสภาพแวดล้อมที่เขาชอบ สร้างทางน้ำ ทางอากาศแทรกอยู่ระหว่างเม็ดดิน เช่นบางชนิดชอบแสงมากหน่อย ก็จะอยู่ที่ผิวดิน ที่ไม่ชอบก็จะไปสร้างที่อยู่ใต้ผิวดิน บางชนิดอึดหน่อยทนกับภาวะออกซิเจนต่ำได้ (แต่ต้องมีออกซิเจน) ก็จะลงไปในชั้นดินได้ลึกกว่า เป็นต้น แต่เมื่อเราไปไถปั่นดิน ทำลายทุกอย่าง (แถมยังมีคำแนะนำให้ตากดิน ไว้อีก) ก็จะยิ่งเข้าทางเกษตรเคมีล้วนๆ ครับ...อ้าว! แล้วไม่ไถแล้วจะปลูกยังงัย?..จริงอยู่ว่าวันแรก อาทิตย์แรกหลังการไถปั่นนั้น หน้าดินจะร่วนซุ่ย แต่หลังจากผ่านการรดน้ำไปซักสองอาทิตย์ ดินที่ไม่มีโครงสร้างก็จะกลับมาแน่นมากกว่าเดิม อย่าว่าแต่รากพืชเลยครับ บางที่จอบเสียมยังขุดลงไม่ได้เลย...นานแค่ไหนแล้วที่เราทำให้วัฏจักรนี้เกิดขึ้น ถ้ามองไปในป่าที่สมบูรณ์ ไม่มีการไถ ไม่มีการให้ปุ๋ยเคมี ไม่มีการพ่นสารเคมีใดๆ แต่พอลองขุดดูโครงสร้างดิน ดินเขาจะซุย มีช่องว่างให้อากาศและน้ำเข้าถึงได้ แม้ช่วงฤดูแล้งเดือนมีนา-เมษา พืชที่เติบโตในนั้นก็ไม่มีอาการเหี่ยวให้เราเห็น และมีพืชพรรณงอกขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา...
"ถ้าอยากทำเกษตรแล้วรอด" ต้องถอยห่างจากสิ่งที่ได้เล่าให้ฟัง และหาแนวทางที่ไปในทางเดียวกันกับที่แม่ธรณีได้ทำมา ดินที่อุดมสมบูรณ์ที่ว่านี้เราสร้างได้ครับ แล้วเราจะได้สิ่งดีๆ กลับมา ในตอนหน้าจะมาบอกว่าหลักการฟื้นฟูดินให้มีชีวิตนั้น ทำอย่างไรได้บ้าง...ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้นะครับ...
โฆษณา