19 พ.ค. 2020 เวลา 04:26 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
แพรัลแลกซ์คืออะไร
แพรัลแลกซ์ (Parallax) เป็นการวัดระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวฤกษ์ โดยใช้หลักการของสามเหลี่ยมคล้าย โดยกำหนดให้รัศมีวงโคจรโลกรอบดวงอาทิตย์เท่ากับ 1 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 1 astronomy unit (AU) เป็นเส้นฐานของสามเหลี่ยม แล้วรอให้โลกโคจรไปทำมุมฉากระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวฤกษ์ที่ต้องการวัด ก็จะมองเห็นดาวฤกษ์ที่ต้องการวัดปรากฏตำแหน่งเปลี่ยนไปเป็นมุมเล็กๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มดาวที่อยู่ฉากหลังไกลออกไป ระยะทางที่ทำให้มุมแพรัลแลกซ์มีค่า 1 ลิบดา (1/3600 องศา) เท่ากับ 1 พาร์เซก “Parsec” ย่อมาจาก Parallax Angle of 1 Arc Second อย่างไรก็ตามถ้ามุมแพรัลแลกซ์เล็กกว่า 0.01 ฟิลิบดา ก็จะขาดความเที่ยงตรง ดังนั้นการวัดระยะทางด้วยวิธีแพรัลแลกซ์จึงใช้กับดาวที่อยู่ห่างไม่เกิน 100 พาร์เซก
ภาพที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบมุมแพรัลแลกซ์ของดาวสองดวง ดาวในภาพที่ 1 ก มีมุมแพรัลแลกซ์กว้างกว่าดาวในภาพที่ 1 ข เนื่องจากดาวอยู่ใกล้โลกมากกว่า
ภาพที่ 1 ดาวที่อยู่ใกล้มีมุมแพรัลแลกซ์ใหญ่กว่าดาวอยู่ไกล
สูตร การหาระยะทางด้วยมุมแพรัลแลกซ์
d = 1/p
d = ระยะทางถึงดวงดาว (distance) หน่วยเป็นพาร์เสค (pc)
p = มุมแพรัลแลกซ์ (parallax angle) หน่วยเป็นฟิลิบดา (arc second)
โดยที่ 1 องศา = 60 ลิบดา (arc minute), 1 ลิบดา = 60 ฟิลิบดา (arc second)
ตัวอย่างที่ 1 ดาวหัวใจสิงห์ (Regulus) ในกลุ่มดาวสิงโต มีมุมแพรัลแลกซ์ 0.04 ฟิลิบดา มีระยะทางห่างจากโลกเท่าไร
d = 1/p = 1/(0.04) ฟิลิบดา
= 25 พาร์เซก
= 25 x 3.26 = 81.5 ปีแสง
เกร็ดความรู้:
หน่วยดาราศาสตร์ (au) และ พาร์เซก (parsec) เป็นหน่วยระยะทางที่เก่าแก่ นักปราชญ์ในยุคโบราณใช้หลักการเรขาคณิตและตรีโกณมิติวัดระยะทางระหว่างโลกกับดวงดาว พวกเขาทราบสัดส่วนของระยะทางจากโลกไปยังดวงอาทิตย์และดวงดาวต่างๆ แต่ยังไม่ทราบว่า หน่วยดาราศาสตร์และพาร์เซกมีค่าคิดเป็นระยะทางเท่าใด จึงติดค่าทั้งสองนี้ไว้ จนกระทั่งยุคปัจจุบันเราทราบว่า ระยะทาง 1 หน่วยดาราศาสตร์ (au) เท่ากับ 149.6 ล้านกิโลเมตร และ 1 พาร์เซก คิดเป็นระยะทาง 206,265 au หรือ 3.26 ปีแสง (1 ปีแสง หมายถึงระยะทางที่แสงใช้เดินทางนาน 1 ปี หรือ 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร)
นักดาราศาสตร์สร้างกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่ให้ภาพรายละเอียดสูง เพื่อให้สามารถทำการวัดมุมแพรัลแลกซ์ของดาวที่อยู่ห่างไกลได้ เราเรียกกรรมวิธีถ่ายภาพตำแหน่งของดาวเพื่อวิเคราะห์หาระยะทางว่า "กระบวนการแอสโตรเมทรี" (Astrometry)
เเหล่งข้อมูลอ้างอิง
โฆษณา