19 พ.ค. 2020 เวลา 07:53 • ประวัติศาสตร์
ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร สองวีรสตรี ผู้ปกป้องเมืองถลาง
ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร (ย่าจัน และ ย่ามุก)
หากใครได้เคยมาท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ตจะต้องเคยเห็นอนุสาวรีย์ของท้าวเทพกระษัตรี และ ท้าวศรีสุนทร เด่นตระหง่านอยู่บนถนนเทพกระษัตรี ซึ่งเป็นถนนหลักของจังหวัดภูเก็ต
วันนี้ผู้เขียนจะนำผู้อ่านทุกท่านไปรู้ถึงประวัติของ สองวีรสตรี ผู้ปกป้องเมืองถลาง (จังหวัดภูเก็ต) กันครับ
ท้าวเทพกระษัตรี (ย่าจัน) มีนามเดิมว่า ท่านผู้หญิงจัน
ท้าวศรีสุนทร (ย่ามุก) มีนามเดิมว่า ท่านผู้หญิงมุก เป็นน้องสาวของท่านผู้หญิงจัน
ทั้งสองท่านเกิดในช่วงปลายของสมัยอยุธยา (ประมาณปี พ.ศ. 2280) และ ทั้งสองท่านเป็นบุตรีของ จอมร้างบ้านตะเคียน ซึ่งเป็นเจ้าเมืองถลางในขณะนั้น
ท้าวเทพกระษัตรี (ย่าจัน) มี บุตรชายและหญิงรวมกัน 5 คน คือ ปราง เทียน ทอง จุ้ย และ เนียม ส่วนสามีของท่าน คือ พระพิมล ซึ่งเป็นอดีตเจ้าเมืองกระชุมพร พัทลุง และ เมืองถลาง ในเวลาต่อมา
ท้าวศรีสุนทร (ย่ามุก) นั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าท่านสมรส และ มีบุตร หรือไม่
เรื่องราววีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรี และ ท้าวศรีสุนทร นั้น เริ่มขึ้นในช่วงต้นของสมัยรัตนโกสินทร์ (สมัยรัชกาลที่ 1)
ในช่วงปี พ.ศ. 2328 ได้เกิดสงครามเก้าทัพขึ้น โดยพม่าได้ยกทัพใหญ่จำนวนเก้าทัพเข้าตีตามหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ หัวเมืองผ่ายเหนือ หัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตก และ กรุงเทพฯ เพื่อหวังจะตีราชธานีที่เพิ่งสถาปนามาได้ไม่นาน ให้แตกผ่าย
ทางด้านของหัวเมืองปักษ์ใต้ หลังจากที่พวกพม่ายกทัพมาตีเมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งจนแตกผ่ายแล้ว ก็ได้ยกทัพมาตีเมืองถลาง (จังหวัดภูเก็ต) ต่อในทันที ซึ่งนำทัพโดยแม่ทัพยี่วุ่น
ในขณะนั้น พระพิมล เจ้าเมืองถลาง ซึ่งเป็นสามีของท่านผู้หญิงจัน เพิ่งถึงแก่อนิจกรรมไปเมื่อไม่นาน ทำให้เมืองถลางขาดผู้บัญชาการในการรบ...
แต่ทว่าท่านผู้หญิงจัน ท่านผู้หญิงมุก และ พระยาทุกขราช (เทียน) ก็ไม่ได้ยอมแพ้ ทั้งสามท่านได้ออกมาเป็นผู้นำในการสู้รบกับพวกพม่า ได้สร้างขวัญ และ กำลังใจให้กับชาวบ้าน และ รวบรวมชาวบ้านส่วนหนึ่งมาเป็นกองกำลังในการรบ
ถึงแม้ว่ากองกำลังของท่านผู้หญิงจันจะมีน้อยกว่าพวกพม่าที่ยกทัพมามากนัก แต่ด้วยความชาญฉลาด และ มีไหวพริบของท่านผู้หญิงจัน จึงได้ออกอุบาย ให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งแอบออกไปนอกเมืองถลางตอนกลางคืน และ ตั้งทัพกลับเข้ามาในตอนรุ่งสางของทุกวัน ประหนึ่งว่าเมืองถลางมีกองกำลังทัพยกมาสนับสนุนทุกวัน
เมื่อกองทัพพม่าเห็นดังนั้น จึงเกิดความระส่ำระส่ายขึ้น บ้างก็เสียขวัญ และ กำลังใจไป ทำให้ในการรบครั้งนั้นกองทัพของท่านผู้หญิงจัน เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะไป และ แม่ทัพยี่วุ่นของพม่าก็ได้ถอยทัพไปใน วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2328
จากวีรกรรมในครั้งนั้นทำให้เมืองถลางรอดพ้นจากการรุกรานของพม่า ในสงครามเก้าทัพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ ท่านผู้หญิงจัน เป็น ท้าวเทพกระษัตรี
ท่านผู้หญิงมุก เป็น ท้าวศรีสุนทร
พระยาทุกขราช (เทียน) ได้เป็น พระยาถลาง ในปี พ.ศ. 2331
อนุสรณ์สถาน "ทุ่งถลางชนะศึก"
ในปัจจุบันนี้สถานที่ที่ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ใช้สู้รบกับพม่า ก็ได้ถูกสร้างเป็นอนุสรณ์สถาน "ทุ่งถลางชนะศึก"
ในวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี ถือ เป็นวันถลางชนะศึก จะมีการจัดงานบวงสรวง และ มีการจัดการแสดงละคร แสง สี เสียง เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมของเหล่าวีรชนเมืองถลางทั้งหลาย ที่ครั้งนึงเคยได้เสียสละ เพื่อปกป้องบ้านเมือง ไม่ให้ต้องตกไปเป็นของชาติอื่น
ขอบารมีของย่าทั้งสองจงปกป้องลูกหลานชาวภูเก็ต และ พี่น้องผู้เข้ามาอาศัย และ ทำงาน ในจังหวัดภูเก็ต ได้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้โดยเร็วด้วยเถิด
เป็นกำลังใจให้ทุกคนสู้ไปด้วยกันนะครับ ถ้าทุกคนร่วมมือกันไม่ว่าวิกฤติไหน หรือ อุปสรรคใด เราก็จะผ่านมันไปได้ครับ
#savephuket
#wewillsurvivetogether
โฆษณา