19 พ.ค. 2020 เวลา 06:30 • ปรัชญา
ยันต์หนีบ : เครื่องรางของชาวล้านนา
ยันต์หนีบ เป็นเครื่องรางชนิดหนึ่งที่พบมากในวัฒนธรรมล้านนา และอาจถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ค่อยพบเห็นในวัฒนธรรมอื่น ๆ เท่าใดนัก นอกจากนี้ยังมีหลักฐานเอกสารโบราณ (ในรูปแบบพับสา) ที่บันทึกถึงยันต์หนีบไว้ด้วยอักษรธรรมล้านนาเป็นจำนวนมาก
ยันต์หนีบ
ที่เรียกว่า "ยันต์หนีบ" เพราะเป็นการเขียนยันต์ลงบนแผ่นโลหะ แล้วนำมาพับทบกันให้เป็นลักษณะแผ่นพับ ซึ่งมีความแตกต่างจากตะกรุด ที่ทั่วไปจะเป็นการนำแผ่นโลหะมาม้วนให้ออกมาเป็นรูปทรงกระบอก
ชาวล้านนามักนำยันต์หนีบพกพาติดตัวเมื่อเดินทางไปที่ต่าง ๆ ก็เพื่อให้มีสรรพคุณทางด้านเมตตาต่อผู้ที่พบเจอ ด้านเสน่หาต่อผู้ที่หมายปอง และด้านโชคลาภในการเดินทางไปค้าขาย
โดยมีวิธีการใช้ที่นิยม คือ มักจะนำใบไม้ที่เชื่อว่ามีความอาถรรพ์หรือมีชื่อพ้องไปกับสิ่งที่ปรารถนา หรือถ้าหาไม่ได้ก็จะใช้กระดาษแทน นำมาเขียนชื่อผู้ที่เราปรารถนาลงไป แล้วนำมาสอดไว้ในช่องของยันต์หนีบ เพื่อเป็นการหนีบชื่อผํ้นั้นเอาไว้ คล้ายเป็นการหนีบจิตใจผู้ที่เราปรารถนาเอาไว้ให้เกิดความเมตตายินดีในตัวเราซึ่งเป็นผู้ใช้ยันต์หนีบ
สรรพคุณและวิธีใช้ยันต์หนีบอาจมีความพิสดารที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ละสายวิชาของครูบาอาจารย์ที่ท่านได้กำหนดไว้ ส่วนเรื่องของผลลัพธ์ในการใช้ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับศรัทธาของผู้สร้างและผู้นำไปใช้เป็นสำคัญ
เจ้าพิธี
โฆษณา