Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Introverted reader
•
ติดตาม
19 พ.ค. 2020 เวลา 16:07 • ไลฟ์สไตล์
วัฒนธรรมญี่ปุ่นกับแนวคิดวะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi)
“สุนทรียภาพแบบญี่ปุ่น” (Japanese Aesthetics) ที่ผู้เขียนได้เกริ่นนำไปแล้วในบทความชิ้นแรกซึ่งได้รับอิทธิพลจากปรัชญาเซน (Zen) นั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนทุกเพศวัยและทุกชนชาติในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลและแรงบันดาลใจด้านการส่งผ่านทางวัฒนธรรม อาหารการกิน การแต่งกาย แนวคิด ความเชื่อ วิถีชีวิต งานออกแบบสร้างสรรค์ ศิลปะ บทกวี ละคร ดนตรี และสถาปัตยกรรม เราอาจกล่าวได้ว่าสุนทรียภาพแบบญี่ปุ่นนั้นสามารถแทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และสามารถปรับใช้ได้กับทุกบริบททุกสภาพทางสังคมทั้งตะวันตกและตะวันออก แต่แน่นอนว่าไม่มีพื้นที่แห่งใดบนโลกใบนี้ที่ “สุนทรียภาพและความงาม” ดังกล่าวจะผลิดอกเบ่งบานได้เท่ากับต้นกำเนิด “วะบิ-ซะบิ” เอง พื้นที่แห่งนั้นคือ “ประเทศญี่ปุ่น”
JR Ueno station, Tokyo, Japan, ที่มา: บดี บุดดา, 2018
เมื่อกล่าวถึง “วะบิ-ซะบิ” สำหรับผู้คนทั่วไปมักยากที่จะอธิบาย แม้แต่ชาวญี่ปุ่นชนชาติต้นกำเนิดแนวคิดดังกล่าวเองก็ตาม ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เข้าใจถึงความรู้สึก แต่ยากที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้สึกนั้นให้เป็นที่เข้าใจได้ ภาษาญี่ปุ่นนั้นมีความพิเศษในการสื่อสารถึงเรื่องละเอียดอ่อนของสภาวะอารมณ์ความรู้สึก ความคลุมเครือ แต่กลับยากเย็นในการใช้ภาษาเพื่ออธิบายถึงตรรกะ ความเป็นเหตุเป็นผล อาจเป็นเพราะความเข้าใจในเชิงเหตุผลเกี่ยวกับ “วะบิ-ซะบิ” ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ถูกทำลายลงด้วยความจงใจเสมอมา จริงๆแล้วเราสามารถพูดได้อีกเช่นกันว่า วะบิ-ซะบิ ถือเป็นหนึ่งใน “มโนทัศน์ที่สำคัญของวัฒนธรรมญี่ปุ่น”
หากอ้างอิงตามประวัติศาสตร์แล้ว “วะบิ และ ซะบิ” เป็นภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายพิเศษเฉพาะตัวแตกต่างกัน แต่มักถูกใช้ร่วมกันเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกทางสุนทรียภาพแบบญี่ปุ่น เช่น ความเศร้าหมอง โดดเดี่ยว และความสงบเงียบ แต่เดิมนั้น “วะบิ : Wabi” มาจากรากศัพท์คำกริยาว่า “วะบุ : Wabu” หมายถึง ความรู้สึกโดดเดี่ยว ความกังวล สับสน น้อยจนขาดแคลน การละทิ้ง และยอมรับเพลิดเพลินกับความเงียบสงบ ให้ความสำคัญกับความธรรมดา ความงามที่สง่า ความสงบ และความเงียบขรึม ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรานำไปใช้อ้างอิง บางกรณี วะบิ ไม่ได้มีความหมายเชิงสุนทรียภาพเพียงอย่างเดียว แต่ถูกใช้พรรณนาถึงสภาวะเงื่อนไข (Condition) ที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่เหมาะสม เช่น ภาวะความท้อถอย ท้อใจ ความวิตกกังวล และภาวะแห่งการสูญเสีย ลักษณะของความรู้สึกหรือห้วงอารมณ์อันโดดเดี่ยวเศร้าหมองเช่นนี้ ชนชาวญี่ปุ่นมักเอ่ยถึงบรรยากาศในภาพรวมว่า “วะบิ-ซะบิ”
Ueno, Tokyo, ที่มา: บดี บุดดา, 2018
“วะบิ” คือความทนทุกข์ของการใช้ชีวิต ชวนให้นึกถึงความท้อแท้ ซึมเศร้าและหดหู่ใจ เป็นการสร้างความรู้สึกในเชิงปรัชญา คือความธรรมดาเรียบง่าย ปราศจากความเย่อหยิ่ง รู้จักการให้คุณค่ากับความสงบเสงี่ยม ถ่อมตัว มีความสุขกับสิ่งเล็กๆน้อยๆในชีวิต พอใจในสิ่งที่ตนมี นอกจากนี้ตามพจนานุกรมศัพท์ทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นได้กล่าวถึง “วะบิ” ว่าคือความความนิยมเกี่ยวกับความเหินห่าง ความโดดเดี่ยว
ในส่วนของคำว่า “ซะบิ : Sabi” นั้นเป็นคำนามเช่นกันโดยมีคำกริยาว่า “ซะบุ : Sabu” คือการสะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะของความโดดเดี่ยวอ้างว้าง การยอมจำนน ความสงบเงียบ การเก็บข่มอารมณ์และสงวนท่าที บางกรณีแสดงถึงความมีรสนิยม ความสง่างามจากการเสื่อมถอยตามกาลเวลา ตามหลักฐาน “ซะบิ” อาจถูกใช้เป็นครั้งแรกในงานวรรณกรรมญี่ปุ่นที่พรรณนาถึง “ความงามที่นิ่งเงียบและนุ่มนวล” ของบทกวีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 โดยให้ความรู้สึกถึงความร่วงโรย อารมณ์สลัว หดหู่เจ็บปวด สามารถประยุกต์ใช้กับจินตภาพของปรากฏการณ์ที่ไม่ยั่งยืน การเปิดเผยถึงบางสิ่งที่ทรุดโทรมตามกาลเวลา
Akihabara, Tokyo, ที่มา: บดี บุดดา, 2018
ความหมายที่ได้รับความนิยมในการอธิบายถึง “ซะบิ” มากที่สุดคือ “ความไม่สมบูรณ์แบบ” เป็นความรู้สึกปลื้มปีติที่เกิดขึ้นในใจต่อบางสิ่งที่มีความบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน “ความไม่สมบูรณ์คือความสมบูรณ์รูปแบบหนึ่ง” ความงดงามจึงไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ ประเด็นนี้เป็นแนวคิดที่สำคัญและนิยมมากในหมู่ศิลปิน นักสร้างสรรค์ชาวญี่ปุ่น การให้ความงามกับสิ่งดั้งเดิม ความเรียบง่าย มีธรรมชาติเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์
จะสังเกตได้ว่าคำนิยามของ “วะบิ และ ซะบิ” มีความเกี่ยวพันและไขว้กันไปมาอย่างมาก จนทำให้เส้นแบ่งแยกระหว่างสองคำนี้เลือนลางหายไป คนญี่ปุ่นในปัจจุบันเมื่อพูดถึง “วะบิ” พวกเขาก็จะหมายถึง “ซะบิ” ด้วย ประกอบกับลักษณะที่คลุมเครือ คำอธิบายถึงความหมายที่ไม่ชัดเจน ทำให้มีความเข้าใจในหมู่ผู้คนต่อคำนี้มากมายที่ทั้งสอดคล้องและแตกต่าง สิ่งที่สอดคล้องกันคือลักษณะเชิงสุนทรียภาพอันแสดงถึงความรู้สึกที่มีต่อศิลปะของชาวญี่ปุ่น รวมถึงเป็นหลักปฏิบัติหรือวิถีทางนำไปสู่ความสุขของชีวิต “วะบิ-ซะบิ” ครอบครองสถานภาพอันเป็นศูนย์กลางแห่งคุณค่าทางสุนทรียภาพของญี่ปุ่น ความหมายนัยหนึ่งคือ “วิถีชีวิต” อีกนัยหนึ่งคือ “ความงามที่มีลักษณะเฉพาะตัว”
Taito-ku, Tokyo, ที่มา: บดี บุดดา, 2018
Shibuya, Tokyo, ที่มา: บดี บุดดา, 2018
แม้ยากที่จะอธิบาย แต่ “วะบิ-ซะบิ” นั้นแทรกซึมอยู่ในคุณค่าความงามของศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้ง เสมือนล่องลอยอยู่ในมวลอากาศ เคารพในความแปลกประหลาด ความธรรมดา ความไม่สมบูรณ์ ความแปลกแยกจากธรรมเนียมปฏิบัติ แนวคิด “วะบิ-ซะบิ” แฝงอยู่ในศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นแทบทุกประเภท ทั้งในแง่ของวัตถุ พฤติกรรม อารมณ์ความรู้สึก จิตวิญญาณ อภิปรัชญา และกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างกลมกลืน แฝงนัยยะต่างๆอันลึกซึ้ง เช่น พิธีชงชา (Japanese tea ceremony) การจัดดอกไม้ (Flower arrangement) บทกวีไฮกุ (Japanese poetry) จิตรกรรมเซน (Zen painting) เครื่องปั้นดินเผา (Japanese pottery) และการจัดสวนเซน (Zen gardens)
การจัดสวนเซน ณ วัดเรียวอันจิ (Ryoan-ji Temple), Kyoto, ที่มา:Architecture Lab, 2019
สวนเซนภายในบริเวณวัดคอนโกะบุจิ (Kongobu-ji Temple), Wakayama, ที่มา: Architecture Lab, 2019
ถ้วยชาดินเผาชำรุดซึ่งถูกซ่อมแซมด้วยกาวและทอง นำเสนอความงามของสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ, ที่มา: Becky Camilleri, 2017
พิธีชงชาของชาวญี่ปุ่น (Japanese tea ceremony) นำเสนอความเรียบง่าย สงบเงียบ, ที่มา: Why Kyoto, 2016
สุดท้ายหวังว่าบทความชิ้นนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจถึงความเป็นมาของ “ความงามแบบญี่ปุ่น” ที่หลายๆคนหลงใหล และเคยสงสัยว่าเหตุใดประเทศญี่ปุ่นและชาวญี่ปุ่นถึงได้มีอัตลักษณ์อันน่าดึงดูดที่แตกต่างจากชนชาติอื่นๆ และบทความนี้อาจตอบคำถามคาใจของใครหลายคนรวมถึงในฐานะนักท่องเที่ยวอย่างเราๆได้บ้างเมื่อได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนดินแดนแห่งนี้ คำตอบที่ท่านผู้อ่านได้จากบทความชิ้นนี้คงเป็นไปในลักษณะทางอารมณ์ความรู้สึกที่ยากจะอธิบายด้วยคำพูดและตัวหนังสือ แต่ผู้เขียนเชื่อว่าหากเราได้รับรู้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์หรือรากฐานทางวัฒนธรรมนั้นจะส่งผลให้การรับรู้ของท่านผู้อ่านเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นมา
Ginza, Tokyo, ที่มา: บดี บุดดา, 2018
อย่างน้อยเมื่อเราไปเยือนญี่ปุ่นอีกครั้ง หากได้ยินคำกล่าวทักทายของพนักงานเวลาเดินเข้าร้านอาหาร ได้เห็นผู้คนยื่นรอข้ามทางม้าลายทั้งๆที่ไม่มีรถยนต์ขับผ่าน ได้เห็นครอบครัวชาวญี่ปุ่นพากันต่อแถวเข้าชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะในเช้าวันเสาร์ ได้เห็นตู้กดน้ำหยอดเหรียญที่มีอยู่ทุกหัวมุมถนน ได้เห็นรถไฟที่ออกจากสถานีอย่างตรงเวลาไม่ขาดไม่เกินแม้สักนาทีเดียว ได้เห็นการรวมกลุ่มกินดื่มสังสรรค์หลังเลิกงาน หรือแม้กระทั่งได้ยินเสียงหวานหูประกาศบอกเลขชั้นภายในลิฟต์โดยสาร นั้นจะสามารถทำให้เราปรับตัวและอิ่มเอมไปกับวัฒนธรรมที่แสนอ่อนโยนแฝงความโดดเดี่ยวอยู่นัยที ซึ่งทำให้เราซึมซับประสบการณ์ทางวัฒนธรรมได้อย่างลื่นไหลลึกซึ้ง มุมมองต่อการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในครั้งต่อไปของท่านผู้อ่านคงจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่น่าจดจำ แล้วกลับมาแบ่งปันประสบการณ์ดีๆกันบ้างนะครับ
Ginza, Tokyo, ที่มา: บดี บุดดา, 2018
เอกสารอ้างอิง
โคเรน เลนนาร์ด. (2550). วะบิ-ซะบิ สำหรับศิลปิน นักออกแบบ กวี และนักปรัชญา. (พิมพ์ครั้งที่2). แปลโดย กรินทร์ กลิ่นขจร. กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา.
วนัสนันท์ ขุนพล. (2553). แนวคิดเรื่อง วะบิ-ซะบิ ในปรัชญาเซน. (ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.
ไดเซตซ์ สุสุกิ. (2518). เซนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น. แปลโดย จำนงค์ ทองประเสริฐ. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.
Brown, S. G. (2007). Practical Wabi Sabi. London: Corroll & Brown Publisher Limited.
Davies, R., & Osamu, I. (1949). The Japanese Mind : Understanding Contemporary Japanese Culture. Tokyo: Tuttle Publishing.
Gold, T. (2004). Living Wabi Sabi : The True : Beauty of your life. Singapore: Lion stead Press.
Powell, R. (2005). Wabi Sabi Simple : Create beauty. Value imperfection. Live deeply. Massachusetts: Adams Media.
8 บันทึก
12
9
7
8
12
9
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย