19 พ.ค. 2020 เวลา 18:05 • การศึกษา
พระประวัติเสด็จเตี่ย
หลังพระองค์เจ้าอาภากร ทรงเสด็จกลับประเทศไทย ทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ในตำแหน่งผู้บังคับการเรือปืน ที่กำลังเจรจาซื้ออยู่ขณะนั้น คือเรือรบหลวงพาลีรั้งทวีป กับอีกลำคือ เรือรบหลวงสุครีพครองเมือง พระองค์เมื่อแรกรับราชการกองทัพเรือ ทรงครองยศเรือโท และรั้งตำแหน่งนายธงของผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นก่อน คือพลเรือโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปะคม พระองค์ทรงเริ่มฝึกพลอาณัติสัญญานสำหรับทหารเรือก่อนเมื่อเริ่มแรก ด้วยทรงเห็นว่าทหารเรือยามฝั่งกับบนเรือ ขาดความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างกัน ทรงนำอาณัติสัญญาณสากล ที่ได้ทรงเรียนมา มาถ่ายทอดให้กับทหารเรือ
ต่อมาทรงได้รับพระราชทานยศเรือเอก และได้ตามเสด็จพรพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่5 เสด็จประภาสชวา บนเรือพระที่นั่งจักรี พระองค์ได้รับพระราชทานยศทางทหารเรือขึ้นตามลำดับ จนทรงดำรงค์ตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารเรือ ในยศพลเรือตรี และได้รับโปรดเกล้าสถาปนาพระอิสริยศเป็น กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่5 ทรงได้ทูลขอพระธิดาองค์โตของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช คือ หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ให้อภิเษกสมรสกับเสด็จเตี่ย และโปรดให้มีงานมงคลพิธี ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมพระราชทานวังใหม่ให้ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม แม้ว่าต่อมา ชีวิตการครองเรือนของพระองค์ กับหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์จะไม่ราบรื่น เป็นเหตุให้หม่อมเจ้าหญิงทรงน้อยพระทัยในพระองค์ ทรงดื่มยาพิษจนสิ้นชีพิตักษัย ยังความทรงสลดพระทัยต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นอย่างมาก และทรงโปรดเกล้าตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่ของเสด็จเตี่ยกับหม่อมเจ้าหญิงขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในชีวิตสมรส พระองค์ทรงมีพระโอรสที่เกิดจากหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ 2 พระองค์คือ พลโท พลเรือโท พลอากาศโท พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ พลอากาศโท หม่อมเจ้ารังษิยากร นอกจากนี้ยังมีพระโอรสและพระธิดา ที่เกิดจากหม่อมในพระองค์ท่านอีก 7 พระองค์ ได้แก่ หม่อมเจ้าหญิงจารุพัตรา อาภากร หม่อมเจ้าหญิงศิริมาบังอร อาภากร หม่อมเจ้าสมรบำเทอง อาภากร หม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พันเอกหม่อมเจ้าดำแคงฤทธิ์ อาภากร พลเรือเอกหม่อมเจ้าครรชิต อาภากร และหม่อมเจ้ารุจยากร อาภากร
ในปี พ.ศ. 2448 พระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดเกล้าให้กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงทำการในตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ หลังทรงรับตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ทรงได้แก้ไข ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการศึกษาในโรงเรียนนายเรือทุกอย่าง รวมถึงระเบียบการต่างๆ ให้ทัดเทียมอารยประเทศ เพื่อให้มีความรู้ความสามารถ ทำงานแทนทหารเรือต่างชาติ ที่เข้ามารับราชการในขณะนั้น ทรงทูลขอที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนนายเรือ จากพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้า และพระองค์ได้ทรงพระราชทานที่ดินบริเวณพระราชวังเดิม ฝั่งธนบรี และได้ดัดแปลงเป็นโรงเรียนนายเรือ เมื่อปี พ.ศ. 2448 และหลังการปรับปรุงเสร็จ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเสด็จมาเปิดโรงเรียนนายเรือด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2449 และทรงได้มีพระราชหัตถเลขา ในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนนายเรือ ความว่า
“ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๕ เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบไป ในภายน่า”
นอกจากจะทรงตั้งโรงเรียนนายเรือแล้ว พระองค์ยังทรงตั้งโรงเรียนนายช่างกล ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นนายช่างกลบนเรือเดินทะเลด้วย ในยุคแรกก่อนมีการตั้งโรงเรียนนายเรือ ผู้ที่ทำงานบนเรือส่วนใหญ่ จะอาศัยประสบการณ์การเดินเรือ ไม่ได้มีหลักวิชาการมาอ้างอิง ทรงวางหลักสูตรการเรียนใหม่หมด ทรงเพิ่มวิชาต่างๆ เข้าไปไว้ในหลักสูตรอีกมาก เช่น วิชาตรีโกณมิติ พีชคณิต เรขาคณิต การเรือ ดาราศาสตร์ แผนที่ ภาษาอังกฤษ ช่างกล และวิชาอื่นๆ ที่ทรงเห็นว่าสำคัญอีกหลายวิชา โดยเฉพาะวิชาตรีโกณมิติ พีชคณิต เรขาคณิต ดาราศาสตร์ เดินเรือ และแผนที่ พระองค์ทรงสอนด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ทรงใช้การปกครองบนเรือ มาใช้จัดระเบียบการปกครองในโรงเรียนนายเรือโดยแบ่งออกเป็นตอนๆ และทรงจัดนักเรียนชั้นสูงปกครองนักเรียนชั้นต่ำกว่า ตามลำดับชั้นลงมา เพื่อฝึกหัดการปกครอง จนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในโรงเรียนนายเรือ มาจนทุกวันนี้
ทรงนำนักเรียนนายเรือทั้งหมด ออกฝึกภาคทะเลด้วยพระองค์เอง ด้วยเรือกลไฟขนาดกลางชื่อเรือ ยงยศอโยชฌิมา เป็นเรือที่มีเสากระโดง ดังนั้นนักเรียนจะได้ฝึกวิชาการเรือทุกอย่าง รวมทั้งการเมาคลื่นด้วย นอกจากนี้ยังทรงตั้งกองดับเพลิงขึ้นในโรงเรียนนายเรือ เพื่อช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ด้วย นอกจากนี้ ทรงตั้งโรงเรียนพลทหารเรือ เพื่อฝึกพลทหารที่จะเข้ามารับราชการทหารเรือด้วย โดยมีการตั้งกองโรงเรียนทหารเรือที่จังหวัดสมุทรสงคราม กองโรงเรียนทหารเรือจังหวัดสมุทรสาคร กองโรงเรียนทหารเรือตำบลบางพระจังหวัดชลบุรี กองโรงเรียนพลทหารเรือตำบลบ้านแพจังหวัดระยอง กองโรงเรียนทหารเรือจังหวัดจันทบุรี กองโรงเรียนทหารเรือจังหวัดสมุทรปราการ และกองโรงเรียนทหารเรือจังหวัดพระประแดง
คำเรียกขานของกรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สำหรับในหมู่ทหารเรือในขณะนั้นจะเรียกว่า “ เจ้าพ่อ ” ในที่นี้หมายถึงเจ้านายผู้ใหญ่ ผู้เป็นเสมือนพ่อ ตามบันทึกของนายทหารเรือสมัยเก่า แต่ต่อมาคำนี้ก็เพี้ยนเป็นไปเรียกผู้มีอิทธิพลไปเสียนี้
พระองค์ทรงนำนักเรียนนายเรือ ออกฝึกภาคทะเลต่างประเทศ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ อวดธงเรือ “ เพราะสำหรับธงเรือแล้ว หมายถึงแผ่นดินของประเทศนั้นๆ การที่นำเรือที่ชักธงของประเทศตน ไปแสดงให้ชาวต่างชาติ ในดินแดนต่างประเทศ เป็นการแสดงออกถึงศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในเอกราชและอธิปไตยของประเทศ ในปี พ.ศ. 2450 ทรงนำคณะนักเรียนนายเรือและนักเรียนนายช่างกลประมาณ 100 นาย ออกฝึกภาคทะเลต่างประเทศ โดยเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ไปยังประเทศ สิงคโปรค์ ปัตตาเวีย และชวา พระองค์ทรงเป็นผู้บังคับการเรือเองอีกด้วย ในการฝึกนักเรียนของพระองค์ พระองค์ทรงกำกับด้วยพระองค์เองตลอด แม้บางก็ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ทรงใช้ชีวิตเช่นเดียวกับข้าราชการทหารเรือและนักเรียนฝึก ทั้งอาบน้ำ ทรงเสวยร่วมกับนักเรียน ทรงปฎิบัติเหมือนคนอื่นๆ ทรงไม่ถือพระองค์ว่าเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้ทหารเรือทุกคนรู้สึกเหมือนพระองค์คือพ่อ ไม่ใช่เจ้านายหรือเชื้อพระวงศ์ คำว่า “ เจ้าพ่อ “ และคำว่า “ เสด็จเตี่ย “ จึงเป็นศัพย์ที่ทหารเรือใช้เรียกพระองค์มาตั้งแต่ครั้งนั้น
พระองค์ทรงเปลี่ยนสีเรือรบ จากสีขาวเป็นสีเทาหมอก ให้เหมือนกับเรือรบอังกฤษ เพื่อพรางตา และกลายเป็นสีเรือรบไทยมาจนทุกวันนี้ ทรงนำทหารเรือออกซ้อมรบที่อ่าวสัตหีบ ทรงฝึกให้รู้จักและทดลองใช้อาวุธสมัยใหม่อย่างตอปิโด ทรงโปรดให้ทหารเรือฝึกมวยไทย กระบี่กระบอง การแล่นเรือใบ และทรงแต่งเพลงเพื่อปลุกใจทหารเรือไว้หลายเพลง อย่างเพลงดอกประดู่ เพลงเดินหน้า เพลงดาบของชาติ รวมถึงทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ พุทธประวัติไว้ที่ผนังโบถ์ของวัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นภาพพระพุทธเจ้าทรงพบพระปัญจวัคคีย์ ยังปรากฎมาจนถึงทุกวันนี้
( มีต่อ )
โฆษณา