20 พ.ค. 2020 เวลา 11:58 • ปรัชญา
ผู้เป็นพราหมณ์ รับประทานเนื้อสัตว์ได้ไหม?
เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ - (ที่มา : thailibrary)
เคยได้ยินคำพูดที่ว่า พราหมณ์แท้ ๆ ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นพราหมณ์ด้วยการสืบเชื้อทางสายเลือด หรือได้เข้าพิธีบวชเป็นพราหมณ์ หรือแม้ผู้ที่ถือศีลเฉพาะกาลเพื่อประกอบพิธีกรรม ก็มักจะมีข้อกำหนดว่าต้องรับประทานมังสวิรัติ
อันที่จริงคำพูดนี้ก็ถือว่าถูก แต่ถูกเพียงแค่ครึ่งเดียว
เพราะพราหมณ์ในประเทศอินเดีย ได้แบ่งออกเป็น 2 นิกายสำคัญใหญ่ ๆ คือ ไศวนิกาย และ ไวษณพนิกาย (ทราบมาว่ามีมากกว่านี้ แต่เป็นเพียงนิกายเล็ก ๆ)
พราหมณ์ในลัทธิไศวนิกาย เป็นพราหมณ์กลุ่มที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย พราหมณ์กลุ่มนี้นับถือพระศิวะเป็นใหญ่สูงสุด
ส่วนพราหมณ์ในไวษณพนิกาย เป็นพราหมณ์กลุ่มที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย พราหมณ์กลุ่มนี้นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่สูงสุด
มีการสังเกตความแตกต่างอย่างง่าย ๆ จากลักษณะการเจิมบนหน้าผาก คือ ถ้ามีการเจิมหน้าผากเป็นรูปเส้นแนวนอน ก็มักจะเป็นแบบ ไศวนิกาย
ลักษณะการเจิมหน้าผากแบบไศวนิกาย - (ที่มา : wikipedia)
แต่ถ้าหากมีการเจิมเป็นเส้นรูปเส้นแนวตั้งหรือตัว U ก็มักจะเป็นแบบ ไวษณพนิกาย
ลักษณะการเจิมหน้าผากแบบไวษณพนิกาย - (ที่มา : wikipedia)
ส่วนเรื่องของการรับประทานเนื้อสัตว์ได้หรือไม่นั้น
สำหรับพราหมณ์ในไศวนิกาย จะรับประทานมังสวิรัติ คือไม่มีการรับประทานเนื้อสัตว์เลย
ส่วนทางด้านพราหมณ์ในไวษณพนิกาย สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้ครับ
เรื่องนี้ ท่านพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) ได้เคยเล่าเผยแพร่ข้อมูลเอาไว้ จึงอาจพอสรุปได้ว่า การเป็นพราหมณ์ที่จะสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้หรือไม่นั้น ต้องดูที่นิกายเป็นสำคัญ
เจ้าน้ำเงิน
โฆษณา