20 พ.ค. 2020 เวลา 15:41 • ปรัชญา
พระมหายันต์สามยาม (สามกษัตริย์) สุดยอดพระยันต์ชั้นสูงในศาสตร์ล้านนา
ครั้งหนึ่งผมเคยกราบขอความเมตตาจากพระอาจารย์ทุ่ง (หรือ พระอาจารย์เถียร) ในการจัดสร้าง "พระมหายันต์สามยาม" เพื่อหาเงินทำบุญทอดกฐินกับหลวงปู่บุญมา ตโมนุโท ครั้งนั้นจัดทำได้ไม่เยอะเท่าใดนัก ได้มอบให้แก่ประธานในสายกฐิน เงินที่ได้มีจำนวนเท่าใดก็นำเข้ากองกฐินจนหมด
พระอาจารย์ทุ่ง (หรือ พระอาจารย์เถียร)
พระมหายันต์สามยามชุดนั้นมีประสบการณ์เป็นอย่างมาก หลายท่านมีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น หลายท่านเคยประสบอุบัติเหตุแต่ก็ไม่เป็นอะไรเลย มีข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้รับไปตอนที่ช่วงดวงตกสุด ๆ เป็นหนี้สินจนจะถูกล้มละลาย แต่ก็หลุดมาได้อย่างเหลือเชื่อ ผมเคยได้ข่าวถึงขั้นข้าราชการผู้ใหญ่ท่านนั้นจะต้องถูกออกจากราชการ แต่ท้ายสุดก็มีผู้ใหญ่มาอุปถัมภ์และยังคงได้รับราชการมาจนถึงทุกวันนี้
พระมหายันต์สามยาม (สามกษัตริย์) - (ภาพจาก ครูอนุพงษ์ แก้วมา)
จากประสบการณ์เหล่านี้ ผมเชื่อว่าพระมหายันต์สามยามนี้ไม่ธรรมดาแน่นอน ซึ่งผมจะขอเล่าความเป็นมาของวิชานี้ต่อไป
เรื่องนี้ต้องกล่าวย้อนไปตั้งแต่ผมยังไม่เกิด จากคำบอกเล่าของยายของผมเอง คือ เจ้าศรีมอย ณ เชียงใหม่
เมื่อ 60 ปีก่อน มีญาติของยายท่านหนึ่ง ผมเรียกท่านว่า น้าบุญมี ณ เชียงใหม่ ได้เจอพระธุดงค์รูปหนึ่งที่จังหวัดลำปาง ท่านเดินธุดงค์มาจากทางภาคกลาง พระรูปนี้มีชื่อว่า หลวงพ่อจินดา
น้าบุญมีเมื่อพบเจอหลวงพ่อจินดาก็ได้กราบสนทนากับท่าน จึงทราบว่าท่านเดินธุดงค์มาจนถึงจังหวัดลำปาง เมื่อได้สนทนากันจึงถูกจริตและเกิดความเลื่อมใส น้าบุญมีจึงนิมนต์ท่านมาเชียงใหม่และยังได้พาหลวงพ่อมายังบ้านยายของผม เมื่อยายพบหลวงพ่อจินดาก็เกิดความเลื่อมใส จึงไปกราบเรียนเจ้าอาวาสวัดเชียงมั่นในสมัยนั้น ขอฝากหลวงพ่อจินดาให้จำพรรษาอยู่ที่วัดเชียงมั่น จากนั้นทั้งยายและแม่ของผมจะแวะเวียนส่งข้าวปลาอาหารถวายหลวงพ่อจินดาในทุก ๆ วัน
อันพระธุดงค์นามว่าหลวงพ่อจินดารูปนี้มิใช่พระธรรมดา ท่านเก่งเรื่องเวทมนต์คาถา เคยหุงน้ำมันมนต์เดือด ๆ แล้วนำกรอกปากคนโดยไม่ร้อนมาแล้ว และท่านยังสำเร็จวิชาสาลิกาใส่เปลือกตา รวมถึงวิชาจระเข้อาคม
แต่ที่เป็นสุดยอดวิชาของท่านนั้น คือ วิชาพระมหายันต์สามยาม (สามกษัตริย์) เวลาจะทำยันต์นี้ จะต้องลงในวันพระเท่านั้น ท่านจะปิดวิหารเพื่อลงวิชาโดยไม่หลับทั้งคืน การลงยันต์ก็จะลงสามช่วงเวลาด้วย เมื่อจนถึงรุ่งเช้าตะวันทอแสง จะต้องถักยันต์นี้ด้วยด้ายพรหมจารีย์เจ็ดสี
ก่อนที่หลวงพ่อจินดาจะธุดงค์กลับภาคกลาง ท่านได้ลงพระมหายันต์สามยาม (สามกษัตริย์) ไว้สองชุด โดยชุดแรกได้มอบให้แม่ของผมเป็นการตอบแทนที่แม่อุปัฏฐากคอยส่งข้าวน้ำถวายตลอดทั้งพรรษา ส่วนอีกชุดหนึ่งท่านได้มอบให้ยายอ่อน ภรรยาของเจ้าสมบูรณ์ ณ เชียงใหม่
แม่ของผมได้เล่าว่า พระมหายันต์สามยาม (สามกษัตริย์) ของหลวงพ่อจินดานี้วิเศษอัศจรรย์ยิ่งนัก โดยหลวงพ่อได้บอกว่า ให้รักษาให้ดี อาตมาไม่ทำให้ใครง่าย ๆ
พระมหายันต์นี้มีคุณมาก ฝอยท่วมหลังช้างทีเดียว ยามสู้ให้เอาไว้ข้างหน้า ยามถอยหนีให้เอาไว้ข้างหลังก็จะพ้นภัย ยามเข้าหาผู้ใหญ่ให้เอาแช่น้ำมันทาหรือพกไว้เบื้องขวา แม้นยามอดยากให้จุดธูปภาวนา "นะชาลิติ" จนธูปหมดดอก ภายในสามวันเจ็ดวันจะมีลาภลอยทางใดทางหนึ่ง
แม่บอกผมว่า แม่ลองแล้วได้ผลทุกครั้งตามหลวงพ่อบอก เสียดายภายหลังพ่อของผมได้พกพระมหายันต์นี้ไปในที่อโคจร จึงได้หายไปอย่างน่าเหลือเชื่อ
จนต่อมาผมได้มาเป็นลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์บุญเลิศ วัดบ้านอ้อย ด้วยท่านพระอาจารย์บุญเลิศเป็นพระที่แก่กล้าในวิชาอาคม ปรากฏว่าท่านก็มีวิชานี้เช่นกัน ท่านบอกผมว่า เราเคยทำพระมหายันต์สามยาม โดยท่านจะนำแผ่นเงินมาลงอักขระแล้วปลุกเสก ซึ่งท่านเคยทำไว้เพียงไม่กี่ดอกเท่านั้น ท่านบอกผมว่า พระมหายันต์สามยามนี้วิเศษนัก มีคุณสารพัดช่องใช้
พระอาจารย์บุญเลิศ วัดบ้านอ้อย
พระมหายันต์สามยาม (สามกษัตริย์) ของหลวงพ่อจินดากับของพระอาจารย์บุญเลิศนั้น มีความแตกต่างกันที่วัสดุที่ใช้ทำ คือ สายของหลวงพ่อจินดาท่านใช้ทองคำแท้ เงินแท้ และนาคแท้ในการทำ ส่วนของพระอาจารย์บุญเลิศจะใช้เงินบริสุทธ์ในการทำ
อักขระที่ลงนั้นเพียงสั้น ๆ แค่สามคำ แต่เหนือพระยันต์ทั้งปวง ความหมายของอักขระที่ลง คือ
ยามที่หนึ่ง - การระลึกชาติหนหลังของพระสัมมาพุทธเจ้า
ยามที่สอง - การรู้การเกิดและตายของสัตว์ทั้งหลาย
และยามที่สาม - การรู้เหตุที่ทำให้สิ้นกิเลส
จากนั้นจะมีคาถาเสกหนุนตามตำราเพื่อสมโภชน์พระมหายันต์ และนอกจากนี้ยังต้องรู้ถึงกลเม็ดเคล็ดลับในการลงยันต์
สำหรับผมแล้ว พระมหายันต์สามยาม (สามกษัตริย์) ถือเป็นพระยันต์ที่สูงสุดในสายวิชาที่ผมค้นคว้าและผ่านสายตามา
อัครบุญ
ติดต่อพวกเราได้ตามที่อยู่ด้านล่างนี้ (FB Fanpage : อัครบุญ)
โฆษณา