27 พ.ค. 2020 เวลา 05:07 • ประวัติศาสตร์
คอนสแตนติโนเปิล ราชินีแห่งนครทั้งปวง
วันที่ 11 พฤษภาคม คือวันครบรอบ 1690 ปีสถาปนากรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) มหานครอันรุ่งโรจน์ของจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือจักรวรรดิไบแซนไทน์ ที่ได้รับสมญานาม ‘ราชินีแห่งนครทั้งปวง’ เพราะทั้งผู้รุกราน ชนต่างถิ่น ต่างต้องตกตะลึงไปกับความงดงามและอลังการอันเกินพรรณาของนครแห่งนี้
.
.
1
1.ต้นกำเนิดกรุงโรมใหม่
.
ช่วงต้นศตวรรษที่ 4 ในขณะที่กรุงโรมเก่ากำลังเสื่อมสภาพลงทุกวัน ผังเมืองที่เป็นปัญหานั้นแก้ได้ยากเพราะตัวเมืองได้ขยายไปเกินควบคุม จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช (Constantine I The Great) จึงเสาะหาทำเลใหม่เพื่อก่อตั้งมหานครโรมแห่งใหม่ (Nova Roma) ที่จะปกครองจักรวรรดิอันกว้างใหญ่ได้ แล้วก็ได้พบกับเมืองท่ากรีกแห่งหนึ่งชื่อ ’ไบแซนเทียน’ (Byzantion) ในช่องแคบบอสฟอรัส (Bosphorus)
.
เมืองท่าแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลอีเจียน และทะเลดำ เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างยุโรปกับเอเชียไมเนอร์พอดี เหมาะเป็นศูนย์กลางการค้าขาย ชัยภูมิของนครยังเป็นแหลมที่ยื่นเข้าไปในทะเล ทำให้ข้าศึกปิดล้อมได้ยากลำบาก
.
นครคอนสแตนติโนเปิลเริ่มการก่อสร้างขึ้นบนตัวเมืองไบแซนเทียนตั้งแต่ปี 324-330 ตัวเมืองใหม่มีขนาดใหญ่กว่าไบแซนเทียนเดิมถึง 4 เท่า มีพื้นที่โดยรวม 14 ตารางกิโลเมตร เพียบพร้อมไปด้วยรัฐสภา หอสมุด ลานจัตุรัส ตลาดขนาดมโหฬาร โรงอาบน้ำ และสนามกีฬาไม่แพ้กรุงโรมเก่า ผังเมืองยังมีการจัดระเบียบไว้ดีกว่ากรุงโรม ตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นนครหลวงแห่งใหม่ของจักรวรรดิโรมันและจักรวรรดิโรมันตะวันออกเรื่อยมา
ประชากรที่อาศัยในนคร ณ จุดสูงสุดช่วงศตวรรษที่ 6 มีมากกว่า 5 แสนชีวิต ช่วงศตวรรษที่ 4-7 ประชากรในเมืองจะได้รับปันส่วนธัญพืชฟรี แต่ด้วยโรคระบาดครั้งใหญ่และสงครามหลายครั้ง ทำให้จำนวนประชากรต้องลดลงเรื่อยๆ และนโยบายปันส่วนธัญพืชต้องยกเลิกไปในที่สุด
.
.
2.นครหลากชื่อ
.
ชื่ออย่างเป็นทางการตั้งแต่เริ่มสถาปนาของคอนสแตนติโนเปิลคือ ‘โนวา โรมา’ (Nova Roma) ) ซึ่งแปลว่า ‘โรมใหม่’ และยังมีอีกชื่อว่า ‘โรมา คอนสแตนติโนโปลิตานา’ (Roma Constantinopolitana) ที่แปลว่า ‘กรุงโรมของคอนสแตนติน’ แต่ชื่อที่เรียกติดปากผู้คนส่วนใหญ่คือ ‘คอนสแตนติโนเปิล’ แปลว่า ‘นครแห่งคอนสแตนติน’
ชาวโรมันตะวันออกยังมีอีกหลายชื่อเล่นสำหรับนครแห่งนี้ ไม่ว่าจะ ‘ราชินีแห่งเหล่านคร’ (Basileuousa) หรือ ‘มหานคร’ (Megalopolis) และ ‘นครแห่งจักรพรรดิ’ (Vasileos Polis)
.
1
ชาวสลาฟที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในบอลข่านต่างเรียกคอนสแตนติโนเปิลว่า ‘ซาริกราด’ (Tsarigrad) มีความหมายว่า ‘นครแห่งซีซาร์/ซาร์’ ไม่เพียงแค่นี้ พวกเขายังรับเอาตำแหน่ง ‘ซีซาร์’ ของจักรพรรดิของโรมันไปใช้ตามว่า ‘ซาร์’ (Tsar) เช่นกัน หรือชาวนอร์สจากศตวรรษที่ 9-11 ผู้ตื่นตาไปกับความใหญ่โตอลังการของนครต่างเรียกมันว่า ‘มิคลาการ์ด’ (Miklagard) แปลว่า ‘นครใหญ่’
.
แม้ปัจจุบันเราจะเรียกคอนสแตนติโนเปิลด้วยชื่อ ‘อิสตันบูล’ (Istanbul) แต่ความจริงแล้วชื่อนี้น่าจะมาจากวลีติดปากในภาษากรีกยุคกลางว่า ‘อิสตินโปลิน’ (Eis tin Polin) ที่มีความหมายว่า “เข้ากรุง” ชาวเติร์กที่ปกครองเมืองนี้ก็ได้รับเอาวลีนี้ไปเรียกคอนสแตนติโนเปิลมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นชื่อ ‘อิสตันบูล’ ในปัจจุบัน
.
.
3.ป้อมปราการไร้เทียมทาน
.
นครคอนสแตนติโนเปิลเปรียบเสมือนปราการขนาดยักษ์ใหญ่ที่ล้อมรอบด้วยกำแพงใหญ่โต กำแพงที่คอยป้องกันตัวเมืองให้พ้นจากศัตรูคือ ‘กำแพงธีโอโดเซียน’ (Theodosian Walls) ทำจากหินปูนสีขาว หินอ่อน อิฐสีส้มแดง ความพิเศษของแนวป้องกันนี้คือเป็นคูน้ำและกำแพงเตี้ยด้านนอกกับแนวกำแพงหนา 2 ชั้นด้านในที่ไล่ระดับความสูงขึ้นเรื่อยๆ หากนับรวมแล้ว ผู้รุกรานต้องผ่าแนวป้องกันหลัก 4 ชั้นด้วยกันจึงจะเข้าไปในนครได้
.
ภายนอกตัวเมืองจะมีคูน้ำขนาดกว้าง 20 เมตรและลึกราว 10 เมตรล้อมรอบ มีระบบท่อส่งน้ำใต้ดินคอยลำเลียงน้ำมาเติมในคู่ตลอดเวลา ติดกับคูน้ำด้านในจะมีกำแพงเตี้ยสูง 1.5 เมตรสำหรับพลธนูคอยยิงศัตรูที่พยายามข้ามน้ำเข้ามา ถัดจากแนวกำแพงเตี้ยคือกำแพงชั้นนอก วัดความสูงได้ราว 9 เมตรและหนา 2 เมตร มีหอคอยมากกว่า 70 หอ แต่ละหอห่างกันราว 50-60 เมตร ถัดมาคือกำแพงชั้นในที่สูง 12 เมตร และหนาถึง 6 เมตร มีหอคอยสูง 15-20 เมตรมากถึง 96 หอ แต่ละหอจะตั้งสลับฟันปลากับหอคอยกำแพงชั้นนอกเพื่อไม่ให้บังวิถีการยิงกัน เมื่อวัดระยะจากแนวคูน้ำจนถึงกำแพงชั้นในจะมีความยาว 60 เมตร ส่วนความต่างของระดับพื้นตั้งแต่แนวคูน้ำไปจนถึงกำแพงชั้นในคือ 30 เมตร
.
.
4.สถาปัตยกรรมอันงดงามอลังการ
.
.
หากคุณได้ย้อนเวลาไปท่องเที่ยวมหานครแห่งนี้ นี่คือแลนด์มาร์กของเมืองที่พลาดไม่ได้
.
‘มหาวิหารอาเยียโซเฟีย’ (Hagia Sophia) เริ่มสร้างในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียนตั้งแต่ปี 532-537 เพื่อทดแทนวิหารเก่าที่พังทลายไป พระองค์ต้องการมหาวิหารหลังใหม่ที่ยิ่งใหญ่และอลังการที่สุดในจักรวรรดิ สถาปนิกและวิศวกรถูกรวบรวมมาเพื่อสร้างวิหารรูปแบบใหม่อันไม่ซ้ำใคร วิหารดังกล่าวจะต้องมีพื้นที่ภายในอันกว้างขวางโอ่โถง ไม่ดูเทอะทะเหมือนวิหารโรมันแบบเก่า และมีหลังคาโดมขนาดใหญ่ดูสง่า ยอดโดมสูงจากพื้นถึง 55 เมตร
กล่าวกันว่าเมื่อสร้างวิหารเสร็จสมบูรณ์ จัสติเนียนได้เข้าไปในฮาเยียโซเฟียพร้อมประกาศด้วยความภาคภูมิว่า “โซโลมอนเอ๋ย ข้าได้เอาชนะท่านแล้ว” เพื่อเปรียบเทียบกับวิหารของกษัตริย์โซโลมอนในไบเบิล แต่ภายหลังถูกเปลี่ยนเป็นมัสยิดหลังชาวออตโตมันพิชิตนครได้
.
ลำดับต่อมา กีฬาแข่งรถม้าเป็นสิ่งที่ชาวโรมันขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม ‘ฮิปโปโดรมแห่งคอนสแตนติโนเปิล’ (Hippodrome of Constantinople) คือสนามกีฬาสำหรับแข่งรถม้า ตัวสนามกีฬามีความยาว 450 เมตร และกว้างถึง 130 เมตร ภายในมีทางวิ่งเป็นรูปตัว U มีสเตเดียมรองรับผู้ชมได้มากถึง 1 แสนคน
1
ตามแนวกำแพงรอบสนามม้าประดับประดาไปด้วยรูปปั้นสำริดของจักรพรรดิ เทพเจ้า หรือบุคคลสำคัญจากเทพปกรณัมกรีก-โรมันมากมาย สุดทางแข่งยังเคยมีรูปหล่อม้าสำริด 4 ตัว แต่ปัจจุบันถูกขโมยไปตั้งในมหาวิหารเซนต์มาร์คที่เมืองเวนิสระหว่างสงครามครูเสดครั้งที่ 4 ตัวฮิปโปโดรมยังอยู่ติดกับวังหลวง จึงมีช่องทางลับใต้ดินที่เชื่อมไปหาวังหลวงเพื่อให้จักรพรรดิเสด็จมาชมการแข่งขันได้อย่างรวดเร็ว
.
‘ออกุสไทออน’ (Augustaion) เป็นลานจัตุรัสที่ตั้งระหว่างฮิปโปโดรมกับวังหลวงและอาเยียโซเฟีย มีซุ้มโค้งประดับด้วยรูปปั้นหินอ่อนรายล้อมจตุรัส จุดเด่นของจตุรัสแห่งนี้คือเสาแห่งจัสติเนียน (Column of Justinian) ขนาดใหญ่ มีความสูงถึง 50 เมตร ตัวเสาทำจากอิฐแล้วปิดด้วยทองเหลืองด้านนอกทั้งแท่ง ฐานของเสาเป็นขั้นบันไดหินอ่อน 7 ขั้น บนยอดเสามีรูปปั้นสำริดขนาดใหญ่ของจักรพรรดิจัสติเนียนบนหลังม้าสวมชุดเกราะและหมวกประดับขนนกยูงดูสง่า ในมือซ้ายมีลูกโลกประดับกางเขนเด่น ส่วนมือขวาผายไปทิศตะวันออก
แต่เดิมจัตุรัสนี้เคยใช้เป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับซื้อขายอาหาร ต่อมาจึงกลายเป็นสถานที่สำหรับดำเนินพิธีสำคัญของจักรพรรดิและพิธีทางศาสนาจากวังไปยังมหาวิหาร
.
'ทางส่งน้ำวาเลนส์' เดิมทีคอนสแตนติโนเปิลมีทางส่งน้ำอยู่แล้ว แต่เมื่อนครขยายใหญ่ขึ้น ทางส่งน้ำใหม่ก็ต้องใหญ่ขึ้นเช่นเดียวกัน การขยายทางส่งน้ำครั้งใหญ่เสร็จสิ้นในสมัยจักรพรรดิวาเลนส์เมื่อปี 368 ทางส่งน้ำแห่งนี้จึงได้ชื่อตามจักรพรรดิองค์นี้ (Valens Aqueduct) ตัวทางส่งน้ำเป็นท่อยาวรับน้ำหนักด้วยซุ้มโค้งสองชั้น มีความสูงถึง 30 เมตร ความยาวของมันนั้นมากถึง 250 กิโลเมตร เป็นการทำลายสถิติความยาวทางส่งน้ำในโลกโบราณ โดยมีจุดเริ่มต้นน้ำในเขตชนบทไกลออกไปและส่งต่อยาวจนถึงกรุงคอนสแตนติโนเปิล
ไม่น่าเชื่อว่าแม้เวลาจะผ่านไปนับพันปีจนจักรวรรดิโรมันตะวันออกสิ้นสลายไป แต่ทางส่งน้ำนี้ยังคงใช้การได้ดี ชาวออตโตมันก็ยังใช้ทางส่งน้ำต่อมาจนกระทั่งระบบประปาสมัยใหม่เข้ามาแทนที่เพียงไม่กี่ปีก่อนสงครามโลกครั้งแรก ปัจจุบันในอิสตันบูลยังคงมีทางส่งน้ำวาเลนส์ที่อยู่ในสภาพดีทอดยาวไปตามตัวเมือง
.
5.เมืองที่เหล่าศัตรูต่างหมายปอง
.
ทำเลที่ดีและเมืองอันงดงามทำให้ศัตรูล้วนแต่หมายปองนครแห่งนี้ ตั้งแต่สถาปนากรุงขึ้นในศตวรรษที่ 4 คอนสแตนติโนเปิลก็ถูกปิดล้อมและโจมตีเป็นเวลานับพันปี
.
คอนสแตนติโนเปิลเคยถูกปิดล้อมโดยศัตรูที่หลากหลาย ไม่ว่าจะชาวกอธ ชาวอวาร์ ชาวสลาฟ ชาวเปอร์เซีย ชาวอาหรับ ชาวบัลแกเรีย ชาวรัส ชาวยุโรปตะวันตก และชาวออตโตมัน รวมไปถึงผู้ท้าชิงบัลลังก์และชาวโรมันที่พยายามพิชิตนครแห่งนี้คืน ต่างเคยกรีฑาทัพเข้าปิดล้อมคอนสแตนติโนเปิลมาแล้วไม่ต่ำกว่า 22 ครั้ง และชาวโรมันยังต้องเสียนครแห่งนี้ไป 2 ครั้ง
.
1
การเสียกรุงครั้งแรกเกิดในปี 1204 ระหว่างสงครามครูเสดครั้งที่ 4 นักรบครูเสดจากยุโรปตะวันตกกลับหันมาปล้นสะดมคอนสแตนติโนเปิลแทนและเข้าปกครองดินแดนโดยรอบอยู่นานจนชาวโรมันยึดนครหลวงเก่ากลับมาได้ในปี 1261
.
การเสียกรุงครั้งที่ 2 เกิดในปี 1453 เมื่อสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 แห่งจักรวรรดิออตโตมันนำกองทัพใหญ่ 5-8 หมื่นนายเข้าปิดล้อมกรุงอยู่นาน 7 สัปดาห์ ปืนใหญ่ออตโตมันที่ยิงถล่มเป็นเวลานานทำให้แนวกำแพงที่เคยยืนยงต้องทลายลงมา จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 11 ได้นำทหารออกไปสู้กับกองทัพออตโตมันจนสิ้นพระชนม์ในสนามรบ กองทัพของเมห์เหม็ดเข้าไปในตัวเมืองสำเร็จ ภายหลัง 3 วันจากการปล้นสะดม นครคอนสแตนติโนเปิลก็ได้รับสถาปนาเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของจักรวรรดิออตโตมันตั้งแต่นั้นมา.
.
.
1
เรื่อง อันโตนิโอ โฉมชา
ภาพประกอบ เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
.
.
อ้างอิง
.
#คอนสแตนติโนเปิล #จักรวรรดิโรมันตะวันออก #จักรวรรดิไบแซนไทน์ #จัสติเนียน #คอนสแตนตินมหาราช #อิสตันบูล # gypzyworld
////////////////
โฆษณา