21 พ.ค. 2020 เวลา 08:04 • ท่องเที่ยว
ตอนที่ ๒ ชื่นชมทุกครั้งที่ได้ไปเยือน : สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง สองนครา
 
วันที่สองในหลวงพระบางเป็นวันสำคัญครับ เพราะเป็นวันที่คณะจาก อพท. เลย และคณะ เข้าเยี่ยมผู้หลักผู้หญ่ของลาวเพื่อปรึกษาหารือแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว และรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องในการวิเคราะห์ศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เส้นทางเชื่อมโยง คือเชียงคานและหลวงพระบาง
วันวานซึ่งเป็นวันเดินทางถึงหลวงพระบางนั้น คณะได้แวะไปเที่ยวน้ำตกตาดกวงสี กินอาหารเย็นแล้วก็นอน เช้าวันรุ่งขึ้นก่อนไปปฏิบัติภารกิจสำคัญ ก็ไปทำบุญตักบาตรข้าวเหนียวกันก่อน
 
คงเป็นเพราะตื่นเช้าเกินไปน้ำที่โรงแรมจึงยังไม่ไหล ต้องใช้น้ำในขวดน้ำดื่มมาใช้แปรงฟันก่อน แปรงฟันเสร็จเรียบร้อยน้ำไหลพอดี จึงได้อาบน้ำ โล่งอกไปทีนึกว่าต้องซักแห้งเสียแล้ว
เดินทางไปที่วัดแสนสุขาราม เพื่อตักบาตรเข้าเหนียว แม้เคยไปตักบาตรข้าวเหนี่ยวที่นี่แล้ว ๒ ครั้ง แต่ก็ชอบครับ
ก่อนตักบาตรก็ถ่ายภาพกันก่อน
แล้วก็ทำบุญตักบาตรข้าวเหนียว มีเรื่องที่น่าสนใจครับ เพิ่งทราบว่าพระที่รับบิณบาตรนี้ไม่ได้ฉันข้าวเหนียวที่ชาวบ้านตักบาตรหรอก เมื่อกลับวัดจะมีสำรับฉันต่างหาก ข้าวเหนียวที่ได้รับจะนำไปบริจาคให้กับคนจน ขออนุโมทนาบุญครับ
ตักบาตรแล้ว ก็เดินชมบริเวณวัดแสนสุขาราม
ภาพเหล่านี้เป็นภาพหน้าวัดแสนสุขาราม
เสร็จแล้วก็ไปชมหน้าบ้านมรดกโลก
ไปเที่ยวตลาดเช้าหลวงพระบางกันครับ มีของขายเกือบทุกชนิด สังเกตรังผึ้งดูน่ากิน ปลาก็ตัวโตดีจัง เป็นที่น่าสังเกตว่ามีป้ายติดเป็นระยะๆ ครับว่า ห้ามขายสัตว์ป่า
ไปหลวงพระบางตอนเช้าต้องไปกินกาแฟที่ร้านกาแฟประชานิยม ซึ่งอยู่ริมโขงครับ
เช้าๆ ที่ริมฝั่งโขง นอกจากทิวทัศน์สวยงามแล้ว อากาศยังดีด้วยครับ อ้อ ไม่ว่าที่ไหนครับ ริมแม่น้ำลำคลองอากาศดีเสมอครับ
กลับไปที่โรงแรม เพื่อกินอาหารเช้าครับ ชมชุดสาวลาวในห้องอาหารของโรงแรมสะดานะครับ
วันนั้นแต่งตัวหล่อเป็นพิเศษ เพราะคณะซึ่งนำโดยคุณประเสริฐ ได้เข้าพบรองเจ้าแขวงหลวงพระบาง (ท้าวสายสมร โขมทะวงศ์) เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ในการเดินทางมาสำรวจศักยภาพเส้นทางท่องเที่ยว จังหวัดเลย - สปป. ลาว
และเพื่อหาทางพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน โดยการสำรวจและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวให้มากขึ้นต่อไป ซึ่งรองเจ้าแขวงหลวงพระบาง ได้ชี้แจงศักยภาพการท่องเที่ยวของหลวงพระบาง โดยเน้นการรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมอันดีงาม
 
รวมทั้งวิถีชีวิตของประชาชนชาวลาวและของชาวหลวงพระบาง ท่านกล่าวว่าบางอย่างอาจล้าหลังไปบ้าง เช่น การนับถือผี แต่ก็ต้องรักษาไว้
 
การร่วมมือการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวนั้นต้องสนับสนุนซึ่งกันและกันและต้องหาจุดเชื่อม ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน
 
หลังจากนั้น มีพิธีมอบของที่ระลึกและถ่ายภาพร่วมกัน วันนั้นสื่อมวลชนมาทำข่าวกันพอสมควร อ้อ เจ้าแขวงหลวงพระบางไม่ได้มาต้อนรับด้วยตนเอง เพราะเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็น รมต. กระทรวงแรงงานของลาว
หลังพิธีการแล้ว ก็ถ่ายภาพห้องประชุมแขวงหลวงพระบางไว้เป็นที่ระลึก
ต่อจากนั้นก็เดินทางไปแผนกแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยว แผนกของลาวคือกรมของไทยนะครับ
คณะซึ่งนำโดยคุณประเสริฐ ได้เข้าพบคุณสุดาภรณ์ โขมทะวงศ์ รองหัวหน้าแผนกแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยว เป็นลูกสาวรองเจ้าแขวงหลวงพระบาง ขณะนั้นเธอกำลังศึกษาขั้นปริญญเอกที่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเลยครับ
คุณสุดาภรณ์ ชี้แจงว่าคนไทย ๔๐% มาเที่ยวหลวงพระบางเป็นอันดับ ๑ จีนอันดับ ๒ กำลังประสานกับน่านและอุตรดิตถ์เพื่อเชื่อมเส้นทางเดินทาง ส่วนกับเลยนั้นกำลังศึกษาอยู่ และต่อไปจะได้ทำ MOU ร่วมกัน อาจดำเนินการโดยการสำรวจใน ๓ ด้าน คือประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม
หลวงพระบาง มีแหล่งท่องเที่ยว ๒๒๘ แห่ง รับนักท่องเที่ยวได้ ๖,๐๐๐ คนต่อวัน โดยมีค่าใช้จ่าย ๗๕-๙๐ ดอลล่าร์สหรัฐต่อคนต่อวัน ปีก่อนนั้นมีรายได้ ๑๖๓ ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
 
มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า ๓๐๐,๐๐๐ คน โดย ๖๐% มาทางรถ นอกนั้นทางเรือและเครื่องบิน ปี ๒๕๖๓ คือปีนี้ ได้ตั้งเป้านักท่องเที่ยวไว้ถึง ๕๐๐,๐๐ คน เสียดายที่เกิดการระบาดของโควิด-19 เป้าหมายที่ตั้งไว้คงไม่อาจทำได้ พูดคุยกันเรียบร้อยแล้วก็มอบของที่ระลึกตามธรรมเนียม
อาหารกลางวันวันนั้น คือเฝอครับ
เห็นมะพร้าวอ่อนก็อดเข้าไปถามไถ่ไม่ได้ ที่ลาวลูกละ ๔๐ บาท ราคาแพงหากเทียบลูกต่อลูก แต่พรรคพวกบอกว่าถูกกว่าที่ไทยเพราะลูกโตกว่า และอร่อยกว่า เสียดายครับไม่ได้ลองดูว่าอร่อยอย่างไร
หลังอาหารกลางวันก็ไปวัดเชียงทอง เป็นครั้งที่ ๓ เช่นกันครับที่ได้ไปวัดนี้ และคราวนี้ได้ชมทั่งวัดอย่างละเอียดละออ ทราบว่าวัดนี้เป็นแม่แบบของหอคำหลวงที่เชียงใหม่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๐๓
ชมอาคารราชรถก่อนครับ เป็นที่เก็บโกฎิของสมเด็จพระมหาชีวิตลาว
แล้วไปชมอุโบสถ วัดเชียงทอง ซึ่งภาษาลาวเรียกอุโบสถว่า “สิม” นะครับ สังเกตนกหัสดีลิงค์ ซึ่งเป็นพาหนะที่นำพระพุทธเจ้าขึ้นสู่สวรรค์ อยู่ที่ประตูหลังของสิม (อุโบสถ) วัดเชียงทอง
ชมหอพระพุทธไสยาสน์ วัดเชียงทอง ต่อครับ
เดินชมรอบๆ สิม (อุโบสถ) วัดเชียงทอง
ชมต่อนะครับ ผู้เขียนชอบและประทับใจ
ต่อด้วยหอวิปัสสนา วัดเชียงทอง
หลังจากชมวัดเชียงของทั่วแล้ว ก็ไปชมหอพระบาง ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบาง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำ ๙๐% หนัก ๕๔ กก. สูง ๘๓ ซม. น้องของพระแก้วมรกต ๖๑ ปี มีประวัติอันยาวนานจากศรีลังกา ไปเขมรและมาลาว มีอายุรวม ๒,๑๐๐ กว่าปี เสียดายถ่ายภาพไม่ได้ครับ
เข้าไปชมพิพิธภัณฑ์เจ้ามหาชีวิต แม้ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ แล้ว แต่ก็ประทับใจโดยเฉพาะภาพวาด ๓ ภาพ ที่ให้ความรู้สึกว่าเคลื่อนไหวตามนักท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลา ส่วนของเก่าแก่มากมาย โดยเฉพาะพระพุทธรูปทองคำเป็นร้อยองค์นั้น หาค่าบ่มิได้นั้น เสียดายที่ถ่ายภาพทั้งหมดนี้ไม่ได้
จุดท่องเที่ยวสุดท้ายคือศูนย์ผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านผานม ซึ่งขายผ้าฝ้ายและผ้าไหมหรือผ้าผสมทอมือ สวยๆ ทั้งผ้าและคนขาย ก็ต้องอุดหนุนกันหน่อย ไม่อุดหนุนได้อย่างไรละครับ ก็มีใบสั่งนี่ครับ เลือกสีและ ลายทางไลน์วีดิโอคอลล์เสียด้วยซิครับ
มื้อเย็นวันนั้นที่ร้านปากห้วยมีไช อาหารลาวแท้ๆ ครับ ประกอบด้วยต้มไก่ ก้อยปลา ส้มตำ (อร่อยครับไม่หวาน) ไก่ทอด ไข่เจียว ตำหมี่ (กินไม่ไหวเพราะกลิ่นกะปิ) และสุดท้าย สาหร่ายจิ้มแจ่วบองใส่หนังควาย
กินกันเพลินเลยครับ
กลับถึงโรงแรมก็ต้องเรียกหาหมอนวดมานวด เพราะเดินมาปวดเมื่อยไปทั้งตัว หมอนวดเป็นเด็กสาว อายุแค่ ๑๖ ปี จบชั้น ม. ๕ แล้วไม่ได้เรียนต่อ เพิ่งนวดมาได้เพียง 2 เดือน ฝีมือหรือครับ เด็ก ๑๖ ปี + ๒ เดือน ก็น่าจะเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดี เสียค่านวดไปแสนกว่า...โชคดีที่หน่วยเป็นกีบ ครับ
เธอพูดไทยได้คล่องแคล่วโดยไม่ต้องเสียเงินจ้างครูสอนภาษาไทย ทั้งนี้ เพราะเธอดูทีวีไทยโดยเฉพาะละครไทยทุกวัน ละครไทยก็เป็นสื่อให้ประเทศเพื่อนบ้านได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่งครับ
 
นวดแล้วก็นอนครับ พรุ่งนี้ต้องจากหลวงพระบางแล้ว ไปไหนกันก็ขอได้โปรดติดตามนะครับ
 
พุธทรัพย์ มณีศรี
 
อ่านชุด “สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง สองนครา” ตอนที่แล้วได้ที่
ตอนที่ ๑ เพียงแค่สัมผัส
โฆษณา