21 พ.ค. 2020 เวลา 10:00 • ประวัติศาสตร์
ทวะดึงษกรรมกร ๓๒ ประการ - บทลงโทษสุดเหี้ยมโหดในสมัยอยุทธยา
ในสมัยกรุงศรีอยุทธยา มีบทลงโทษที่เรียกว่า “ทวะดึงษกรรมกร ๓๒ ประการ” ซึ่งมีรายละอียดสยดสยองและสร้างความทรมานให้กับผู้ต้องโทษได้อย่างมาก
ทวะ มาจากภาบาลีคือ ทว แปลว่า สอง
ดึงษ มาจากภาบาลีคือ ติํส แปลว่า สามสิบ
กรรมกร ที่ถูกควรเป็น กรรมกรณ์ มาจากภาษาบาลีคือ กมฺม + กรณ แปลว่า อาญา การลงอาญา
ทวะดึงษกรรมกร จึงมีความหมายว่า การลงโทษ ๓๒ ประการ
การลงทัณฑ์ในมหาตาปนรก สมุดภาพไตรภูมิสมัยอยุทธยา เลขที่ ๕ ชื่อ แผนที่ไตรภูมิโลกสัณฐาน (มีภาพประกอบ) ว่าด้วยตอนนิริยกถาถึงเทวกถา พระยานครศรีธรรมราชถวายหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙
“ทวะดึงษกรรมกร” ปรากฏในพระไอยการอาชญาหลวง หมวดหนึ่งของกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุทธยาที่เรียบเรียงขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๑
พระไอยการอาชญาหลวง เป็นหมวดของกฎหมายที่กล่าวถึงความผิดและบทลงโทษของผู้ที่ได้ละเมิดพระราชโองการ พระราชบัญญัติ รวมไปถึงผู้ทำความผิดในราชการอื่นๆ
.
พระไอยการอาชญาหลวงประบุว่า ทวะดึงษกรรมกร ๓๒ ประการ เป็นบทลงโทษที่มีบัญญัติไว้ในพระบาลีคือคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของอินเดีย (ที่ราชสำนักกรุงศรีอยุทธยาใช้เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมาย)
“มีตำเนินเนื้อความตามในพระบาฬีว่า สมเดจ์บรมราชกระษัตรแต่ปางก่อนลงราชทัณแก่ผู้กระทำผิดเปนอุกฤษฐโทษ คะรุโทษ ละหุโทษต่าง ๆ กัน จึ่งมีพระราชโองการมาณพระบันทูลสุรสีหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯว่า ประเพณีโบราณราชกระษัตรสืบมาย่อมกระทำทัณทาณุทัณทโทษน้อยใหญ่ แก่คนอันกระทำโจรกรรมแลล่วงพระราชอาชญากระทำทุจริต ผิดจาดพระราชบรรญัติล่วงพระราชกำหนฎกฎหมาย ควรด้วยอุกฤษฐโทษ มหันโทษ คะรุโทษ มฉิมโทษ ละหุโทษประการใด ก็ลงโทษตามทวะดึงษกรรมกร ๓๒ ประการดุจประเพณีโบราณราชกระษัตรสืบ ๆ มา”
ทวะดึงษกรรมกรแบ่งการลงโทษเป็น ๒ ประเภท คือโทษหนัก ๒๑ สถาน กับโทษเบา ๑๑ สถาน
โทษหนัก ๒๑ สถาน ใช้กับผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงคือผู้ที่
“...ทำใจทนงองอาจมักใหญ่ใฝ่สูงศักดิ์ คิดกระบถประทศร้ายต่อสมเดจ์พระพุทธิเจ้าอยู่หัว จะปลงพระองคลงจากเสวตรฉัตรก็ดี แลโจรคุมพักพวกถือสรรพสาตราวุทเข้าปล้นเมืองเผาจวนก็ดี ปล้นตีพระนครเผาพระราชนิเวศมนเทียรสถานวังคลังฉางก็ดี ปล้นตีอาวาศเผาพระอุโบสถแลสังฆาราม จับพระสงฆ สามเณร แลกระหัถชาวบ้านมัดผูกฟันแทงลนด้วยคบเพลิงปิ้งย่างเอาแหลนหลาวเสียบร้อยกระทำกำสาหัศ เร่งรัดเอาทรัพยสิ่งของโดยทารุณทาระกำหยาบช้า ฆ่าสมณสามเณร แลเจ้าทรัพยด้วยประการใดก็ดี ผู้ใดใจฉกรรจ์ฆ่าบิดามารดาคณาญาติครูอุปัชฌาจารยตายก็ดี แลคนร้ายใจเปนมฤทฉาทิฐิเอาองคพระพุทธรูป พระสธรรม มาทุบตีเหยียบย้ำทำทุราจารการลามกประการใดก็ดี แลโจรลักทารกไป มิได้กลัวแกบาปหยาบช้าสาหัศ ตัดมือเท้าฅอทารก ถอดเอากำไลแลเครื่องประดบก็ดี ท่านว่าจำพวกนี้เปนผู้ร้ายยิ่งโจร ให้ลงโทษกรรมกร ๒๑ สถาน”
.
โทษทั้ง ๒๑ สถาน มีดังต่อไปนี้ (ปริวรรตเป็นคำอ่านอย่างปัจจุบัน)
๑. ให้ต่อยกบาลศีรษะให้เลิกออกเสียแล้ว เอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใหญ่ลง ให้มันสมองศีรษะพลุ่งฟูขึ้นดั่งหม้อเคี่ยวน้ำส้ม
๒. ให้ตัดแต่หนังจำระเบื้องหน้า ถึงไพรปากเบื้องบนทั้งสองข้างเป็นกำหนด ถึงหมวกหูทั้งสองข้างเป็นกำหนด ถึงเกลียวคอชายผมเบื้องหลังเป็นกำหนด แล้วให้มุ่นขมวดผมเข้าทั้งสิ้น เอาท่อนไม้สอดเข้าข้างละครโยกถอนคลอนสั่น เพิกหนังทั้งผมออกเสียแล้ว เอากรวดทรายหยาบขัดกบาลศีรษะชำระให้ขาวเหมือนพรรณศรีสังข์
๓. ให้เอาขอเกี่ยวปากให้อ้าไว้ แล้วตามประทีป (จุดไฟ) ไว้ในปาก นัยหนึ่งเอาปากสิ่วอันคมนั้นแซะแหวะผ่าปากจนหมวกหูทั้งสองข้าง แล้วเอาขอเกี่ยวให้อ้าปากไว้ให้โลหิตไหลออกเต็มปาก
๔. ให้เอาผ้าชุ่มน้ำมันพันให้ทั่วกาย แล้วเอาเพลิงจุด
๕.ให้เอาผ้าชุบน้ำมันพันนิ้วมือสิ้นทั้ง ๑๐ นิ้ว แล้วเอาเพลิงจุด
๖. เชือดเนื้อให้เป็นแร่งริ้วอย่าให้ขาด ให้(ต่อ)เนื่องด้วยหนังตั้งแต่ใต้คอลงไปถึงข้อเท้า แล้วเอาเชือกผูกจำให้เดินเหยียบย้ำริ้วเนื้อหนังแห่งตน ให้ฉุดคร้าตีตำเดินไปกว่าจะตาย
๗. เชือดเนื้อให้(ต่อ)เนื่องด้วยด้วยหนังเป็นแร่งริ้วแต่ใต้คอลงมาถึงเอว แล้วเชือดเอาแต่เอวให้เป็นแร่งริ้วลงมาถึงข้อเท้า กระทำเนื้อเบื้องบนนั้นให้ตกเป็นริ้วตกปกคลุมลงมาเหมือนนุ่งผ้าคากรอง
๘. เอาห่วงเหล็กสวมข้อศอกทั้งสองข้าง ข้อเขาทั้งสองเข่าให้มั่น แล้วเอาหลักเหล็กสอดลงในวงเหล็กแย่งขึงตรึงลงไว้กับแผ่นดิน อย่าให้ไหวตัวได้ แล้วเอาเพลิงลนให้รอบตัวกว่าจะตาย
๙. เอาเบ็ดใหญ่มีคมทั้งสองข้างเกี่ยวทั่วกาย เพิกหนังเนื้อแลเอ็นน้อยใหญ่ให้หลุดขาดออกมา(จน)กว่าจะตาย
๑๐. ให้เอามีดที่คมเชือดเนื้อให้ตกออกมาจากกาย แต่ทีละตำลึง(จน)กว่าจะสิ้นมังสา
๑๑. ให้แล่สับฟันทั่วกาย แล้วเอาแปรงหวีชุบน้ำแสบกรีดครูดขุดเซาะหนังแลเนื้อแลเอ็นน้อยใหญ่ ให้ลอกออกมาให้สิ้น ให้อยู่แต่ร่างกระดูก
๑๒. ให้นอนลงโดยข้างๆ หนึ่งแล้ว ให้เอาหลาวเหล็กตอกลงไปโดยช่องหูให้แน่นกับแผ่นดิน แล้วจับเท่าทั้งสองหันเวียนไปดังบุคคลบังเวียน
๑๓. ทำมิให้เนื้อพังหนังขาด เอาลูกศิลาบดทุบกระดูกให้แหลกย่อย แล้วรวบผมเข้าทั้งสิ้น ยกขึ้นหย่อนลงกระทำให้เนื้อกองเป็นลอม แล้วพับห่อเนื้อหนังกับทั้งกระดูกนั้นทอดวางไว้ ทำดังตั่งอันทำด้วยฟางซึ่งวางไว้เช็ดเท้า
๑๔. เคี่ยวน้ำมันให้เดือดพลุ่งพล่าน แล้วรดสาดลงมาแต่ศีรษะ(จน)กว่าจะตาย
๑๕. ให้กักขังสุนัขร้ายทั้งหลายไว้ให้อดอาหารหลายวันให้เต็มอยาก แล้วปล่อยออกมาให้กัดทึ้งเนื้อหนังกินให้เหลือแต่ร่างกระดูกเปล่า
๑๖. ให้เอาขวานผ่าอกทั้งเป็น แหกออกดั้งเป็นโครงเนื้อ
๑๗. ให้แทงด้วยหอกทีละน้อย ๆ (จน)กว่าจะตาย
๑๘. ให้ขุดหลุมฝังเพียงเอว แล้วเอาฟางปกลงคลอกด้วยเพลิงพอหนังไหม้ แล้วไถด้วยไถเหล็กให้เป็นท่อนน้อยใหญ่ เป็นริ้วน้อยใหญ่
๑๙. ให้เชือดเนื้อล่ำออกทอดด้วยน้ำมันเหมือนทอดขนม ให้กินเนื้อตนเอง
๒๐. ให้ตีด้วยไม้ตะบองสั้นยาวเป็นต้น
๒๑. ให้ทวนด้วยไม้หวายทั้งหนาม
การลงทัณฑ์ในมหาตาปนรก สมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข ๖
สันนิษฐานว่าวิธีการลงทัณฑ์เหล่านี้ ได้อิทธิพลมาจากการลงทัณฑ์สัตว์นรกตามคติไตรภูมิทางพุทธศาสนา ทั้งนี้เมื่อศึกษาเนื้อหาไตรภูมิสมัยอยุทธยา ฉบับของหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส ก็พบรูปแบบการทรมานที่ใกล้เคียงกันหลายตอน เช่น
การลงทัณฑ์บรรพชิตทุศีลในกาฬสูตนรกที่ใกล้เคียงกับโทษเอาเบ็ดเกี่ยวเนื้อเอ็น ความว่า “เมื่อสัตว์ยืนอยู่แลดู จึ่งแผ่นเหล็กที่ก็ได้แสนหนึ่ง อันมากก็ร้อน อันลุกเป็นเปลวไฟก็เกี่ยวตัวสัตว์นั้นก็ไหม้ผิวหนัง เนื้อ เอ็นทั้งปวง ๚”
โทษแล่เนื้อเถือหนังจนเหลือแต่กระดูก ก็ใกล้เคียงกับการลงทัณฑ์ในสญชีพนรกที่ว่า “นิรยบาลทังหลายจึ่งจะให้สัตว์อันเกิดในสญชีพนรกนั้นนอนลงแล้วก็ถากด้วยขวานแลจอบ มีคมอันใหญ่ประมาณเท่าหลังคาเรือนข้างหนึ่ง แลนิรยบาลทังหลายนั้น จึ่งจับเอาตีนสัตว์นั้นขึ้น แล้วเอาหัวปรำลง แล้วก็ถากด้วยพร้า มีคมอันใหญ่เท่าด้งอันใหญ่ ให้ปราศจากเลือดแลเนื้อ เหลือแต่ร่างกระดูกแล”
การลงโทษด้วยสุนัข ใกล้เคียงกับ “อันนรกชื่อ สนุกขนั้นเต็มไปด้วยหมาอันมีพรรณห้าประการคือ หมาดำ หมาเขียว หมาแดง หมาเหลือง หมาด่าง อันมีใหญ่ประมาณเท่าช้าง แลพลึกพิงกลัวยิ่งนัก ก็ไล่สัตว์นครในแผ่นอันลุกเปนเปลว แล้วก็เหยีบหัวอกสัตว์นรกนั้นด้วยตีนหน้าทั้งสอง แล้วก็ขบทึ้งกดูกทังหลายนั้นออกกินแล”
.
วิธีการลงโทษส่วนใหญ่มีความพิสดารชวนสยดสยองและน่าจะสร้างความเจ็บปวดทรมานให้กับผู้ต้องโทษอย่างแสนสาหัส จนน่าเชื่อว่าน่าจะเสียชีวิตไปตั้งแต่ยังทรมานไม่เสร็จเนื่องจากทนความเจ็บปวดไม่ไหว บางวิธีนั้นเหลือเชื่อว่าจะมีการใช้งานจริงๆ เพราะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นกุศโลบายให้ผู้คนเกรงกลัวการทำความผิดมากกว่า
แต่มีหลักฐานว่ามีการใช้งานวิธีการทรมานอีกหลายวิธี เช่น การถลกหนัง เชือดเนื้อ และบังคับให้กินเนื้อตนเอง มีตัวอย่างดังนี้
- พงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Vereenigde Oost-Indische Compagnie; VOC) ประจำกรุงศรีอยุทธยาในสมัยพระเจ้าปราสาททองได้ระบุว่าสมเด็จพระนเรศวร “ตรัสสั่งให้เชือดเนื้อบุคคล (แม้แต่ขุนนาง) ที่กระทำผิดแม้ว่าจะน้อยนิดเสมอ แลทรงให้บุคคลผู้นั้นกินเนื้อของตนเองเฉพาะพระพักตร์”
- จดหมายเหตุของ ฌาคส์ เดอ คูทร์ (Jacques de Coutre) พ่อค้าชาวเฟลมิชซึ่งเดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุทธยาเมื่อ พ.ศ.๒๑๓๙ และเคยเข้าเฝ้าสมเด็จพระนเรศวร ได้กล่าวว่าเขาเคยเห็นสมเด็จพระนเรศวรทรงให้จับนางกำนัลเด็กหญิงอายุ ๘ ปี ๒๘ คน กับหญิงชราหลังค่อมที่ทำความผิดขโมยของหลวง มาควักลูกตา ถลกหนังบริเวณมือ ถอดเล็บออก ให้เฉือนเนื้อที่หลังแล้วบังคับให้กิน จากนั้นจึงนำทุกคนลงไป “ทอด” กระทะเฉพาะของแต่ละคน
นับว่าใกล้เคียงกับการลงทัณฑ์ในนรกภูมิเช่นเดียวกัน
เดอ คูทร์ยังระบุว่า พระองค์ทรงให้นำหญิงสาวที่ทำความผิดคือผิดประเวณีและสามีของนางเคยกล่าวถึงพระองค์ในแง่ลบ จับเปลื้องผ้าแล้วให้สุนัขเข้ามาเพื่อที่จะกัดกิน แต่สุนัขไม่ยอมกัด จึงบังคับให้นางขว้างก้อนหินใส่สุนัข จนสุนัขเข้าขย้ำที่หน้าอก จากนั้นจึงให้เสือเข้ามากัดกินนางต่อจนตาย ใกล้เคียงกับการทรมานด้วยสุนัขในนรก
ในรัชกาลพระเพทราชา ก็พบหลักฐานร่วมสมัยของบาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศระบุถึงการลงโทษบรรดาแม่ทัพในกองที่ไปตีเมืองนครราชสีมาใน พ.ศ.๒๒๔๓ ว่า
“วิธีที่ลงพระราชอาญานั้นได้ทำกันดังนี้ คือในตอนเช้าวัน ๑ เจ้าพนักงานได้เอาหลักไปปักไว้ในที่ประชุมชนแล้วจึงได้พาพวกนักโทษซึ่งจำโซ่ตรวนไว้แน่นหนาและมีไม้อุดปากไว้ด้วยมาณที่นั้น เจ้าพนักงานได้บังคับให้นักโทษเหล่านี้นั่งขัดสมาธิตรงกับหลักๆ ละคน แล้วได้ผูกมัดตรึงไว้กับหลักอย่างแน่นหนา จึงมีเจ้าพนักงานเอามีดมาสับศีรษะ ๗ แห่ง แล้วเอามือจับคอไว้จึงเอามีดเชือดเนื้อตั้งแต่บั้นเอวจนหัวไหล่ และได้ตัดเนื้อออกจากแขนเปนชิ้นๆ บังคับให้นักโทษกินเนื้อของตัวเอง บางคนได้ถูกตัดนิ้วเท้านิ้วมือ บางคนถูกเอาเงินบาทละลายกรอกใส่ปาก”
สำหรับโทษเผาทั้งเป็นสามารถพบได้บ่อย ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ได้ระบุว่าใน พ.ศ.๒๑๓๖ มีพระราชพิธีเถลิงพระมหาปราสาท สมเด็จพระนเรศวรทรงพระพิโรธมอญ จึงโปรดให้เอามอญประมาณ ๑๐๐ คนไปเผา
“ศักราช ๙๕๕ มเสงศ่ก วัน ๒ ๕+ ๑๐ คำเสดจ่เถลีง พรมหาประสาท ครังนันทร่งพระโกรดแกมอน ใหเอามอนเผาเสียประมานณะ ๑๐๐”
ใกล้เคียงกับฟาน ฟลีตที่ระบุว่าในพระราชพิธีราชาภิเษก ทรงมีรับสั่งให้เผาฝีพายเรือหลวงไปทั้งหมด ๑,๖๐๐ และเดอ คูทร์ก็กล่าวว่าพระองค์โปรดให้เผาคน ๘๐๐ คนทั้งเป็นในความผิดที่ไม่ยอมให้ความช่วยเหลือพระองค์ขณะทรงทำยุทธหัตถีเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ก็ยังพบในรัชกาลอื่นอีก เช่นในปลายสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเกิดคดีลักเงินในท้องพระคลัง โปรดให้เอาเจ้าจอมโนรีชาวคลัง “ย่างเพลิง” จนตาย หรือในตอนเกิดคดีพันศรีพันลาที่จำเลยจำนวนมากถูก “เฆี่ยนขับผูกถือตบต่อยติดไม้แลย่างเพลีง” ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เจ้าจอมมารดาคุ้มกับทาสของเจ้าจอมส้มเทศคบคิดจะลอบวางเพลิงในพระราชวัง ก็โปรดให้เอาตัวไป “คลอกเพลิง” เช่นเดียวกัน
โทษผ่าอกทั้งเป็น พบในหลักฐานของฟานฟลีต ระบุว่าพระเจ้าปราสาททองคือโปรดให้ลงโทษนางกำนัลของพระมารดาสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ด้วยการผ่าอกไปถึงปาก แล้วให้ถ่างขากรรไกรไว้จนตาย พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงให้ประหารหม่อมเจ้าฉิม หม่อมเจ้าอุบลที่คบชู้กับมหาดเล็กด้วยการ “ผ่าอกเอาเกลือทา ตัดมือตัดเท้า”
กาลสูตรนคร สมุดภาพไตรภูมิกรุงธนบุรี ฉบับกรุงเบอร์ลินที่มาภาพ : https://www.deutsche-digitale-bibliothek.de/
สำหรับโทษเบา ๑๑ สถานใช้สำหรับผู้ที่ “ล่วงพระราชอาชญาพระราชบัญญัติแลพระราชกำหนฎบทพระไอยการกฎหมายประการใดก็ดี แลเปนโจรปล้นบ้านเรือนสะกดสะดมย่องเบาตีชิงล้วงลักสรรพโตรลักฉกสิ่งของประการใด ๆ ก็ ดี ท่านให้ลงโทษกรรมกร ๑๑ สถาน”
โทษ ๑๑ สถานได้แก่ ทวนด้วยหวาย ตัดนิ้ว ตัดเท้าทั้งสองข้าง ตัดมือตัดเท้าทั้งสองข้าง ตัดหูทั้งสองข้าง ตัดจมูก ตัดจมูกตัดหูทั้งสองข้าง ตัดปากแหวะออก เสียบทั้งเป็น ตัดศีรษะ จำห้าประการไว้ในคุก
เมื่อเทียบกับโทษ ๒๑ ประการที่กล่าวมา โทษเหล่านี้ดูธรรมดามาก และปรากฏว่าใช้เป็นบทลงโทษบังคับใช้ในกฎหมายอาชญาหลวงทั่วไป แต่ถ้ามองด้วยสายตาคนยุคปัจจุบันก็ยังนับว่าเป็นการลงโทษที่รุนแรงอยู่มาก
.
ในสมัยหลังๆ ก็ไม่พบวิธีการลงทัณฑ์ขึ้นรุนแรงอย่างโทษ ๒๑ ประการที่กล่าวมาอีก แต่ก็ยังคงปรากฏร่องรอยอยู่ โดยในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อคราวที่จับเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์พร้อมทั้งครอบครัวลงมากรุงเทพฯ โปรดให้จับใส่กรงเหล็กประจานไว้ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ และมีเครื่องกรรมกรณ์วางตั้งอยู่หลายชิ้น ตามที่พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ระบุว่า
"มีเครื่องกรรมกรณ์คือ ครก สาก สำหรับโขลก มีเบ็ดสำหรับเกี่ยวแขวน มีกระทะสำหรับต้ม มีขวานสำหรับผ่าอก มีเลื่อยสำหรับเลื่อยไว้ครบทุกสิ่ง แล้วตั้งขาหยั่งเสียบเป็นเวลา..."
อย่างไรก็ตามในครั้งนั้น นอกจากขาหยั่งก็ไม่ปรากฏการใช้เครื่องลงทัณฑ์ชนิดอื่น ซึ่งเข้าใจว่าในอดีตได้ใช้จริง ดังที่ปรากฎการใช้ขวาน กระทะในหลักฐานที่ยกมาด้านบน และในกฎหมายตราสามดวง แต่ภายหลังสันนิษฐานว่าเสื่อมความนิยมลงไปจึงไม่ได้ลงทัณฑ์ด้วยวิธีดังกล่าวอีก เครื่องกรรมกรณ์เหล่านี้จึงไม่ได้มีการใช้งาน และน่าจะมีไว้เพื่อ "ขู่" เท่านั้น
เมื่อสยามให้หันมาใช้ระบบกฎหมายของชาติตะวันตกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีการออกประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ บทลงโทษในกฎหมายตราสามดวงจึงทยอยถูกยกเลิกไปในที่สุด
เอกสารอ้างอิง
- กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๒. (๒๕๔๘). กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
- กรมศิลปากร. (๒๕๕๔). ไตรภูมิ เอกสารจากหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (ร.ศ. ๑๒๘).พระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ). พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ.
- ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. (๒๕๔๗). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓. พิมพ์ครั้งที่ ๗. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
- ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๖ เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเพทราชา ภาค ๓. (๒๔๗๐). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรื่อง ลำดับศักราชสมัยกรุงศรีอยุธยา (พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์). (ม.ป.ป.). [หนังสือสมุดไทยดำ]. (เลขที่ ๓๐ หมวดจดหมายเหตุกรุงศรีอยุธยา). เส้นหรดาล. หอสมุดแห่งชาติ. กรุงเทพ.
- พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. (๒๕๕๘). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
- Baker, C., Dhiravat na Pombejra, Kraan, A. van der and Wyatt, D. K. (Eds). (2005). Van Vliet's Siam. Chiang Mai: Silkworm Books.
- Peter Borschberg (Ed.). (2013). The Memoirs and Memorials of Jacques de Coutre: Security, Trade and Society in 16th- and 17th-century Southeast Asia. (R. Roy, Trans.) Singapore: NUS Press.
- Royal chronicle of Ayutthaya พระราชนิพลพงศาวดาร กรุงสยาม. (n.d.) Retrived from http://www.bl.uk/manuscripts/FullDisplay.aspx?index=20&ref=Or_11827
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ในเฟสบุ๊คที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา