21 พ.ค. 2020 เวลา 10:45 • ธุรกิจ
[สรุปEvent🎈] คณะบัญชีฯ จุฬาฯ ได้จัดสัมมนา CBS Dean’s Distinguished Lecture Series: The Master Class โดย “คุณธนินท์ เจียรวนนท์” - ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ Charoen Pokphand Group - C.P. Group We are CP
.
.
แน่นอนว่าผมก็ไม่พลาดที่จะไปฟังแบบสด ๆ และขออาสาสรุปให้ทุกคนได้อ่านกันครับ โดยสัมมนาในครั้งนี้เริ่มด้วยการถามคุณธนินท์ว่า
“คุณธนินท์มีมุมมองอย่างไรกับวิกฤตในครั้งนี้บ้าง?”
.
.
1.การที่จะช่วยประเทศไทยให้พ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ พวกเราทุกคนต้องสนับสนุนแพทย์และพยาบาลให้เต็มที่ เพราะพวกเขาอยู่ในสนามรบและมีความเสี่ยงสูงสุดและในอนาคตประเทศไทยควรจะผลิตแพทย์และพยาบาลมากขึ้นเพราะตอนนี้ยังขาดแคลนอยู่มาก บุคลากรทางการแพทย์เป็นอาชีพที่มีค่ามาก ๆ สามารถต่อยอดไปยังการผลิตงานวิจัยได้อีกเยอะ
.
.
2.คุณธนินท์มองว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ยกตัวอย่างเช่นการศึกษา การสอนออนไลน์จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อาจารย์เก่ง ๆ จากเดิมสอนเด็กได้ครั้งละไม่กี่คน เมื่อมาสอนออนไลน์ก็จะสามารถสอนได้พร้อม ๆ กันเป็นล้านคนก็ยังได้ และการเรียนรู้จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในมหาวิทยาลัย
.
.
3.คนจะทำงานที่บ้านมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานก็จะมากขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องเสียเวลากับรถติดบนท้องถนน และบริษัทก็ไม่ต้องเสียค่าเช่าออฟฟิศที่มีราคาแพง อนาคตคนจะทำงานที่ไหนก็ได้ คนจะมีความสุขมากขึ้น เที่ยวไปทำงานไปก็ยังได้! การท่องเที่ยวก็จะดีขึ้นด้วย
.
.
4.อนาคตการท่องเที่ยวต้องเน้นเรื่อง “ความสะอาดและความปลอดภัย” มากขึ้น เพื่อให้คนกล้าที่จะมาเที่ยว ร้านอาหารก็เหมือนกันต้อง “อร่อยและปลอดภัย” และในอนาคตรถขนส่งจะ “ไม่มีคนขับ” โลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง
หลังจากนั้นผู้ดำเนินรายการ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล - ประธานหลักสูตร MBM ได้ถามถึง หลัก"3 ประโยชน์ 4 ประสาน” ของคุณคุณธนินท์ซึ่งก็ได้อธิบายดังนี้
.
🌱 “3 ประโยชน์”
คุณธนินท์เกริ่นก่อนว่าหลักการนี้ใช้ได้กับธุรกิจทุกขนาดตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดจิ๋วนั้นก็คือ
.
เมื่อคุณจะทำอะไรคุณต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติมาเป็นอันดับ 1 และประชาชนต้องได้ประโยชน์เป็นอันดับ 2 แล้วบริษัทของคุณถึงจะค่อยได้ประโยชน์เป็นลำดับสุดท้าย ถ้าเราทำธุรกิจแล้วประเทศเสียประโยชน์ประชาชนเดือดร้อน บริษัทของเราจะอยู่ได้อย่างไร
.
.
🤝“4 ประสาน”
นั้นคือการประสานกันของ รัฐบาล เอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร ในอนาคตไม่ว่าธุรกิจอะไรก็ต้อง Integrated โดยพื้นฐานแล้วเกษตรกรยังต้องการเงินทุน ความรู้ และตลาด เราต้องไปช่วยเขาเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพ ต้องช่วยเขาขายในประเทศและต่างประเทศ
.
CP สามารถช่วยเกษตรกรได้ในเรื่องของตลาดและเทคโนโลยี รัฐบาลต้องมาสนับสนุนให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้นเนื่องจากอนาคตเกษตรกรจะน้อยลง ส่วนลูกหลานเกษตรกรก็ควรส่งเสริมเข้าในอาชีพต่าง ๆ เช่น การเปิดร้านอาหาร
.
คุณธนินท์เสริมว่า “4 ประสาน” นั้นเป็นการแบ่งงานกัน ไม่มีฝ่ายใดสามารถฮุบไปทั้งหมดได้ ทุกคนต้องอยู่รอด
ดร.เอกก์ได้ขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากคุณธนินท์ในเรื่องของธุรกิจที่โดนผลกระทบจาก COVID-19 จนถึงกับต้องลดคนบ้าง เอาคนออกบ้าง
.
.
คุณธนินท์ตอบว่าถ้าเป็นเรื่อง COVID-19 "ไม่มีใครผิด” และอนาคตก็อาจจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยขึ้นก็ได้
.
รัฐบาลควรกู้เงินมาช่วยนักธุรกิจที่เดือดร้อน ให้เค้าดอกเบี้ยถูกๆให้กับเค้าเพราะไม่มีใครผิด ถ้าเปิดเมืองเมื่อไหร่คนจะออกมาจับจ่ายแน่นอน แต่ตอนนี้ต้องไม่ให้ธุรกิจตายก่อนที่จะได้เปิดเมือง ถ้าทุกคนอยู่รอดอนาคตเราจะดีขึ้นแน่นอน
.
คุณธนินท์ยังเสริมอีกว่าในอนาคตต้องทำให้สินค้าเกษตรสูงขึ้น เมืองไทยยังมีโอกาสอีกเยอะ การเพาะปลูกควรเปลี่ยนจากการปลูกข้าวราคาถูก เป็นข้าวหอมมะลิ หรือเป็นผลไม้ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น
.
.
.
ดร.เอกก์ได้ถามความเห็นถึงเรื่อง “ถ้าเด็กจบมาจะตกงาน 40% ควรทำอย่างไร”
.
คุณธนินท์ตอบว่า เราต้องเอาคนเก่ง ๆ ในโลกนี้มาที่ประเทศไทยสัก 5 ล้านคน หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าคนเหล่านั้นจะมาแย่งงานเรา แต่ผมคนกลับกัน คนเก่ง ๆ เหล่านั้นจะมาสร้างงานให้เราต่างหาก คนเก่งเขาไม่อยู่เฉย แต่ละคนก็ต้องการผู้ช่วยงาน ถ้าคนนึงต้องการคนทำงานเพิ่ม 2 คน เราก็จะมีตำแหน่งงานเพิ่ม 10 ล้านคนแล้ว
.
.
รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร - คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้เสริมว่าเมื่อโลกนี้ยังเต็มไปด้วยโอกาส ในช่วงเวลานี้เราต้องปรับตัวให้อยู่รอดให้ได้ อย่ากลัวว่าเราจะตกงานถ้าเราเก่งมากพอ ดังนั้นเราต้องพัฒนาทักษะของเราให้ดีขึ้น
.
📌ทักษะที่มีความสำคัญในยุคนี้
1.ทักษะในเรื่องของวิชาชีพ (Technical Skill) เช่น ทางด้านเทคโนโลยี หรือทางการแพทย์ ที่ยังขาดแคลน
2.ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล (Analytical Skill)
3.ทักษะการคิดรวบยอด การขมวดปม (Conceptual Skill)
4.ทักษะการปรับตัว (Adaptability Skill)
5.ทักษะในการใช้ชีวิต (Life Skill) มองว่าโลกนี้ต้องการอะไรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และรู้ว่าต้องพัฒนาตัวเองอย่างไร
.
.
และคุณธนินท์ได้ทิ้งท้ายว่า
“ตอนมืดให้วางแผนสำหรับตอนสว่าง เมื่อสว่างก็เตรียมการเผื่อตอนมืด ผมดีใจแค่วันเดียว กลุ้มใจก็แค่วันเดียว เราเตรียมพร้อมรับวิกฤตทุกวัน"
ในช่วงท้ายสุด รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ได้ขมวดแนวคิดของคุณธนินท์ให้ทุกคนดังนี้
“คิดต่าง เปลี่ยน ลงทุน วางแผน”
.
1.“คิดต่าง” อย่างสร้างสรรค์ นักธุรกิจต้องคิดเยอะ ๆ ลงให้ลึก นึกถึงลูกค้าว่าเขาอยากได้อะไร มากกว่าคิดว่าเราจะผลิตอะไร
.
2.“เปลี่ยน” หมายถึงการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์
.
3.”ลงทุน” อย่างชาญฉลาด รายได้ของธุรกิจไม่ได้เกิดจากเงินที่ลูกค้าจ่าย แต่รายได้นั้นแปรตามความสุขที่ลูกค้าจะได้รับ
.
4.”วางแผน” วางแผนระยะยาวมากขึ้น มองให้ไกล มองให้กว้าง มองให้ลึก
.
"ถ้าคุณเป็นผู้บริหารหรือเจ้าขององค์กร ประโยชน์ของประเทศ ประโยชน์ของพนักงานต้องมาก่อนนี่คือวิสัยทัศน์ อยากให้มองไกล ๆ ทำยังไงให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ ถือเอาความสำเร็จของคู่ค้าเป็นความสำเร็จของเรา"
.
สุดท้ายอาจารย์วิเลิศบอกอีกว่า
"กำลังใจจะเกิดขึ้นได้ เมื่อคุณมองเห็นโอกาส"
"โอกาสคือ การเห็นในสิ่งที่คนอื่นยังมองไม่เห็น ถ้าคุณเห็นโอกาสเร็วกว่าและทำได้เร็วกว่า ไกลกว่า คุณก็จะมีกำลังใจ และหวังว่างานในวันนี้จะทำให้ทุกคนมีกำลังใจมากขึ้น"
.
.
หลักจากฟังงานสัมมนาในครั้งนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังสือ "ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว" ของคุณธนินท์ ที่ผมเคยสรุปไว้ ซึ่งยังมีแนวคิดดี ๆ มากมายในหนังสือเล่มนี้ ผู้ที่สนใจสามารถอ่านได้ที่ : http://bit.ly/CPbookreview
.
.
หวังว่าใครหลาย ๆ คนจะได้ประโยชน์จากการสรุปในครั้งนี้
หรือสนใจดูคลิปย้อนหลังได้ที่ CBS Academy
.
ขอบคุณคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ที่จัดงานดี ๆ แบบนี้ขึ้นมาครับ 😊🙏
by krittamate
#CBSDeanSeries #CBSspace #CBSacademy
#TheConclusion #อาสาสรุป
กลุ่มอาสาสรุป : http://bit.ly/TheConclusionGroup
สารบัญ อาสาสรุป : http://bit.ly/SarabunTheConclusion
โฆษณา