22 พ.ค. 2020 เวลา 10:34 • ปรัชญา
ชีวิตคืออะไร
"ชีวิตคืออะไร" คำถามนี้ผลักให้เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากพระราชวังเพื่อแสวงหาสัจธรรม จนกระทั่งเวลาเช้ามืดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ณ ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งเป็นปีที่หกของการออกแสวงหา เจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ตรัสรู้ความจริงข้อนี้
ผ่านมาอีก 2,600 ปี มนุษย์ยังคงถามคำถามข้อเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ แม้พระพุทธเจ้าจะประกาศสัจธรรมไว้อย่างแจ่มชัด แต่เราก็ยังคงไม่พบคำตอบในใจของตัวเอง
ชีวิตของคนเรานั้นมีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายเรื่องราว จนบางครั้งก็อดย้อนถาม หรือแสวงหาคำตอบไม่ได้ว่า ชีวิตคืออะไรกันแน่ โดยหลงลืมไปว่า ได้มีผู้ตอบคำถามนี้มาสองพันกว่าปีแล้ว เพียงแต่เราหลงลืม หรือไม่ได้สนใจกันไปเอง
หลักศาสนาพุทธเราได้แสดงถึงความเป็นไปของชีวิต ที่ทันสมัยอยู่เสมอ เพราะขนาดเวลาที่ล่วงเลยมานับพันปี หลักธรรมคำสอนก็ยังใช้ได้อยู่เสมอ เพราะหลักธรรม คือก็กล่าวที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัย และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไปตราบเท่าที่ยังมีสิ่งมีชีวิตอยู่
มีผู้รู้สรุปหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า พุทธธรรม โดยแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ชีวิตคืออะไร ชีวิตเป็นอย่างไร ชีวิตเป็นไปอย่าง และชีวิตควรเป็นไปอย่างไร ดังนี้
ส่วนที่ ๑ ชีวิตคืออะไร
สิ่งมีชีวิต นั้นประกอบด้วย ปัจจัย ๕ อย่าง (ซึ่งรวมเรียกปัจจัยเหล่านี้ว่า ขันธ์ ๕ ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) คือ
รูป ร่างกาย หรืออวัยวะต่างๆ
นาม ๔
- เวทนา ความรู้สึกต่าง ๆ เช่น สุข ทุกข์ ร้อน หนาว อบอุ่น สบาย เมื่อยล้า ชอบ ไม่ชอบ เฉยๆ เป็นต้น
- สัญญา การจดจำ
- สังขาร ความคิด ความรู้ การตัดสินใจ และ สัญชาติญาณ
- วิญญาณ ประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น การมองเห็น ได้กลิ่น ได้ยิน รู้รส เป็นต้น
ปัจจัยเหล่านี้แหละที่เป็นต้นเรื่องของชีวิต เพราะการยึดติดกับปัจจัยทั้ง ๕ เช่น ฉันต้องสวยต้องสาว ต้องดูดีอยู่เสมอ ฉันถึงจะมีความสุข เป็นต้น
ส่วนที่ ๒ ชีวิตเป็นอย่างไร
ชีวิตเรานั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เช่นร่างกายที่เปลี่ยนจากเด็กเป็นหนุ่มสาวแล้วก้าวสู่วัยชรา ความสุขความทุกข์ที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป วันละร้อยละพันหน ความจำที่มีบ้าง ลืมบ้าง เลอะเลือนบ้าง สับสนบ้าง ตามสภาวะอารมณ์และวัย ความคิดการตัดสินใจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการรับรู้สิ่งต่างๆ อยู่เสมอ โดยไม่สามารถจดจ่ออยู่เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ตลอดชีวิต
การเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา ความทุกข์ที่สูญเสียสิ่งที่รักที่ชอบ ที่เปลี่ยนแปลงไป การไม่ได้อยู่กับสิ่งที่ต้องการ รวมถึงการต้องอยู่กลับสิ่งที่ไม่ชอบ และการที่ทุกอย่างต้องดับสูญไปตามกาลนั้น รวมเรียกว่า ไตรลักษณ์ คือความจริงของชีวิต (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) คือ ความไม่เที่ยง ความทุกข์ และความไม่มีตัวตน
ส่วนที่ ๓ ชีวิตเป็นไปอย่างไร
ชีวิตดำเนินไปตาม โดยอาศัย ร่างกาย ความรู้สึก ความจำ ความคิด และประสาทรับรู้ของชีวิตต่างๆ เดินเรื่องไปตามความไม่เที่ยง ความทุกข์ และความไม่มีตัวตน ในกระบวนการเป็นไปของชีวิต ดังนี้
เพราะชีวิตไม่มีความเข้าใจในหลักธรรมชาติ หรือมีความเข้าใจผิดว่าความสุขล้วนได้จากความพึงพอใจในรูปรส กลิ่นเสียง สัมผัส และความบันเทิง จึงทำให้ขาดสติควบคุมประสาทสัมผัสต่างๆ ให้สำรวม หรือรู้เท่าทัน เมื่อมีสิ่งเร้าผ่านนอกเข้ามากระทบ ทั้งจากการมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การสัมผัส จึงปล่อยให้สิ่งเร้าต่างๆเข้ามาทำให้เกิดความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ แล้วก็เกิดการจดจำว่าสิ่งไหนที่ชอบ ก็ต้องการแสวงหาาปนเปรอตนเอง สิ่งไหนไม่ชอบก็พยายามหลีกหนี ซึ่งเมื่อไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ก็พยายามเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้เป็นไปตามใจตน
ทำให้เกิดการยึดมั่นว่าสิ่งที่ต้องการต้องเป็นของตน จนทำให้เกิดการก่อกรรม ทั้งความคิด คำพูด และการกระทำ แต่ไม่ว่าจะสมหวัง หรือผิดหวัง ทุกอย่างก็สิ้นสุดลง และเริ่มใหม่เป็นวงจรซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้จะเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติไปนานแค่ไหนก็ตาม ตราบที่ยังปล่อยชีวิตไปตามความลุ่มหลงในสิ่งต่างๆอยู่ ชีวิตก็คงจมอยู่ในกองทุกข์ไม่รู้จักจบจักสิ้น (เพราะตามหลักโลกธรรมนั้น มีสุข ย่อมมีทุกข์ มียศ ก็มีเสื่อมยศ มีลาภ ก็มีเสื่อมลาภ มีสรรเสริญ ก็ย่อมมีนินทา) พระพุทธองค์เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ปฏิจจสมุปบาท
ส่วนที่ ๔ ชีวิตควรเป็นไปอย่างไร
เมื่อเห็นชีวิตที่เวียนว่ายอยู่ในความลุ่มหลงนั้นเป็นทุกข์ ก็ควรหันกลับมาดูว่าชีวิตของเราควรเป็นไปอย่างไร ซึ่งพระพุทธองค์ได้ ชี้ทางแห่งการพ้นทุกข์ไว้แล้ว อันประกอบด้วยปัจจัย ๘ ประการ (ที่เรียกว่า มรรค ๘) คือการทำให้รู้ว่าสิ่งใดทำให้เกิดทุกข์ สิ่งใดทำให้เกิดความสุขความสงบ แล้วตั้งใจที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งไม่ดีทั้งหลาย คือ กามราคะ ความเคียดแค้นพยาบาท และความอยากได้นทำให้ต้องเบียดเบียนตนเอง หรือผู้อื่น โดยเปลี่ยนมาคิดกับผู้อื่นอย่างดี กล่าววาจาที่ดี ไพเราะ ความจริง และมีประยชน์ ทำตน และการงานที่ไม่ก่อให้เกิดโทษกับผู้ใด แล้วพยายามคิด พูด และทำสิ่งต่างๆเหล่านี้อยู่เสมอด้วยความเพียร ในการต่อสู้กับกิเลสตัณหาความลุ่มหลง และความโกรธแค้นต่างๆ โดยใช้สติเป็นตัวควบคุม การกระทำ ความรู้สึก ความคิด และการเท่าทันสิ่งเร้าต่างๆที่เข้ามากระทบชีวิต โดยตั้งมั่นในสิ่งที่เป็นกุศลธรรม คือความดีงาม หากทำได้อย่างนี้ ความสุขความสงบก็จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกภพทุกชาติตราบจนถึงกาลหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งมวล
บทสรุป
พุทธรรมนั้น ต้องการให้เห็นการใช้ชีวิต การดำเนินชีวิตตามหลักพุทธให้กับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไรในรูปแบบชีวิตทั้ง ๔ ประการ เมื่อนำมาคิดคนเรามีอะไรนอกจาก กิน ขี้ ปี้ นอน..เอาให้สุภาพก็ กิน ใช้ ถ่าย นอนในส่วนการแพทย์แผนโบราณ กล่าวไว้เหมือนกันเลย คือ ธาตุวินิจฉัย เมื่อนำสิ่งเหล่านี้(เมื่ออ่านเพิ่ม) จะประมวลไ้ว่า นิยาม๕ และกรรม คือสาเหตุการป่วยไข้ที่เราเรียก ฉทิโรค(สมุฏฐาน)นั่นเอง นี่จึงเป็นเหตุผลที่อ.นำพุทธศาสนามาเสริมเพิ่มความเข้าใจลงไปในการแพทย์สายพุทธ..เจ้าค่ะ
แต่เรื่องชีวิตแบบพุทธต้องทำมรรค ๘ และฝึกจิต แต่การฝึกจิตนั้นเป็นปัจจัตตังต้องฝึกเอง อาศัยการอ่านหรือการบอกของใครไม่ได้ ที่สำคัญ กาลามาสูตร ๑๐ มั่นจงดี
ดาวน์โหลดฟรี
พุทธธรรม ฉบับเดิม (.pdf) – http://bit.ly/2H9FIjm
พุทธรรม ฉบับปรับขยาย (.pdf) – http://bit.ly/2Jb7jnI
แอพพลิเคชั่น พุทธธรรม ฉบับดิจิทัล
Google Play – http://bit.ly/2PUdRaM
โฆษณา