22 พ.ค. 2020 เวลา 16:08 • ปรัชญา
“จุลลกเศรษฐีชาดก”
“สมุฏฐาเปติ อัตตานัง อณุง อัคคิงวะ สันธะมัง ......ตั้งตัวให้ได้ เหมือนก่อไฟจากกองน้อย”
ประเดิมเรื่องแรกครั้งนี้ ขอหยิบยก “จุลลกเศรษฐีชาดก” หรือ เศรษฐีจากหนูตาย เพื่อหวังว่าผู้อ่านจะเข้าใจถึงการเริ่มลงมือทำนั้น ไม่จำเป็นต้องจัดใหญ่ หากแต่รู้จักวิธี และโอกาส คนเราก็สามารถพลิกจากจุดต่ำสุดขึ้นมาจุดสูงสุดได้ โดยขอสรุปเล่าแบบให้อ่านง่ายเพลินๆ ไม่ต้องหลับนก หรือซึ้งในรด-พะ-ทำ จนละวางและออกบวชไปเสียก่อน
มาเริ่มกันเลย.....
ครั้งก่อนโน้น มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่า “จูฬเศรษฐี” อยู่ในเมืองพาราณสี แคว้นกาสี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเศรษฐีประจำเมือง ด้วยความที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด อีกทั้งเป็นผู้รอบรู้ฤกษ์ต่ำ ฤกษ์บน และนิมิตดี-ร้ายทั้งปวง จึงได้รับตำแหน่งบัณฑิตนักปราชญ์ประจำวังหลวงจากพระราชาพ่วงมาด้วยอีกตำแหน่ง
อยู่มาวันหนึ่งเศรษฐีได้ออกเดินทางไปเฝ้าพระเจ้าราชา ขณะกำลังเดิน ได้สังเกตเห็นหนูตายตัวหนึ่งที่ถนนก็รู้สึกถึงนิมิต จึงตรวจดูฤกษ์บนจับยาสามตา เห็นว่าจะมีเศรษฐีคนใหม่เกิดขึ้น จึงกล่าวลอย ๆ ขึ้นว่า “ผู้ใดอยากเป็นเศรษฐี ให้เอาหนูตัวนี้ไปทำประโยชน์ ผู้นั้นอาจเลี้ยงลูกเมียได้”
ขณะนั้นชายยาจกคนหนึ่งเดินผ่านมาได้ยินเข้าพอดี จึงคิดว่า “จูฬเศรษฐี” พูดทำนายออกมาเช่นนี้ต้องมีเหตุแน่ จึงเก็บหนูตายตัวนั้นไปขายที่ตลาด ต่อมามีชาวบ้านคนหนึ่งมาซื้อหนูต่อ บอกว่าจะเอาไปให้แมวกิน ชายยาจกจึงขายหนูตายตัวนั้นและได้เงินมา 1 กหาปณะ (กหาปณะ เป็นค่าเงินขั้นต่ำที่ใช้กับประเทศอินเดีย)
เมื่อได้เงินมาอยู่ในมือ ชายยาจก ยังคิดถึงคำพูดของ “จูฬเศรษฐี” จึงตัดสินใจไม่นำเงินที่ได้มาไปใช้ แต่กลับคิดหาหนทางนำเงินน้อยนิดนี้ไปสร้างดอกผลให้เกิดขึ้นกับตัวเองให้มากขึ้น และแล้วเขาก็นึกได้ว่า ที่สวนดอกไม้ชานเมืองนั้น ชาวสวนดอกไม้หลังจากเก็บดอกไม้เสร็จต้องเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน จึงตัดสินใจใช้เงิน 1 กหาปณะนั้นไปซื้ออ้อยมาตัดเป็นท่อน แล้วเอามาทำเป็นน้ำอ้อย จากนั้นก็นำไปให้เหล่าชาวสวนดอกไม้ได้เดื่มกินแก้กระหาย
พวกเก็บดอกไม้เมื่อได้ดื่มน้ำอ้อยก็มีความพอใจในรสชาติ และอยากตอบแทนชายยาจก จึงมอบดอกไม้ที่พวกเขาเก็บคนละเล็กละน้อยเป็นการตอบแทน
ต่อมาชายยาจกก็เอาดอกไม้ที่ได้รับไปขายในตลาด แล้วเอาเงินที่ขายได้กลับไปซื้ออ้อยและนำกลับไปทำเป็นน้ำอ้อยมาแจกแก่บรรดาชาวสวนดอกไม้อีกคำรบในวันต่อมา นั่นทำให้เหล่าชาวสวนดอกไม้ดีใจ จึงมอบดอกไม้ที่พวกตนเก็บให้แก่ชายยาจกเพิ่มขึ้น จนเงินที่ได้จากการขายมียอดเพิ่มขึ้นเป็น 8 กหาปณะ
จากจุดเริ่มต้นกลยุทธ์เงินต่อเงิน เริ่มทำให้ยาจกหนุ่ม มีความคิดสร้างสรรค์และมีมุมมองด้านการค้าขายที่เพิ่มขึ้น อยู่มาวันหนึ่ง เกิดมีพายุฝนอย่างรุนแรง ลมพัดกิ่งไม้ในสวนหลวงหักลงเป็นอันมาก เรียกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างปัญหาแก่คนเฝ้าสวนหลวงอย่างมาก เพราะเขาจำเป็นต้องเก็ยกวาดสวนให้เรียบร้อย แต่กับยาจกหนุ่ม พอได้รู้ข่าวกลับยินดี เขากลับแสดงความนอบน้อมเข้าไปให้คนเฝ้าสวน แล้วพูดว่า “นายครับ กิ่งไม้พวกนี้ ข้าจะขอท่านไปทำประโยชน์ได้ไหม ?”
ชายเฝ้าสวนได้ตอบว่า “ให้หมดทั้งสวน โดยไม่คิดอะไรเลย กลัวจะเอาไปไม่หมดมากกว่า”
เมื่อ ชายยาจกได้ฟังดังนั้นก็ดีใจมาก จึงไปหาพวกเด็กเลี้ยงโคให้ช่วยขนกิ่งไม้ออกไปวางกองไว้นอกสวนหลวง โดยให้น้ำอ้อยเป็นค่าตอบแทน เมื่อเด็ก ๆ ช่วยเขาขนกิ่งไม้ออกมาจากสวนหลวงได้เสร็จ สักพักมีช่างปั้นหม้อเดินผ่านมาพอดีจึงขอซื้อฟืนเหล่านี้ทั้งหมด ชายยาจกขายกิ่งไม้ฟรีๆเหล่านี้ ได้เงินมาอีก 16 กหาปณะ รวมเป็น 24 กหาปณะ
แต่นั่นยังไม่เพียงพอที่จำให้ยาจกหนุ่มกลายเป็นเศรษฐี เขาตัดสินใจไม่ใช้เงินที่ได้กำไรจากการค้าขาย แต่กลับคิดใช้ความอ่อน น้อมถ่อมตน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของตน สร้างความั่งคังให้ตัวเองพอกพูนขึ้น โดยเข้าไปตีสนิทเหล่าพ่อค้าหาบหญ้า โดยการเอาน้ำใส่โอ่งไปบริการฟรีที่ใกล้ประตูเมือง พอพวกหาหญ้าขายทาบหญ้ามาถึงตอนเย็น ก็จะร้องเรียกด้วยเสียงไพเราะและจริงใจให้มาดื่มน้ำแก้เหนื่อยฟรี ทำให้เหล่าพ่อค้าพอใจจนถึงกับเอ่ยว่า “เจ้าช่างเป็นผู้ที่มีน้ำใจดีแท้ ภายภาคหน้าถ้าท่านมีอะไรให้พวกเราช่วย ท่านก็บอกพวกเราได้เลยนะ” และจากวันนั้นเขากลายเป็นคนที่ร่ำรวยในมิตรสหาย
จนวันหนึ่งโอกาสก็มาถึง มีข่าวว่า จะมีพ่อค้าม้า นำม้ามาขาย 500 ตัว ในเมือง พอรู้ข่าวยาจกหนุ่มจึงกลับไปหาเหล่าพ่อค้าหญ้า พร้อมกับพูดว่า “วันนี้จงให้หญ้าแก่เราคนละฟ่อน ๆ แล้วพรุ่งนี้ขอให้ท่านอย่าเพิ่งแบ่งขายหญ้าก่อนที่เราจะขายหมด ไม่อย่างนั้นเราจะขายไม่ได้ เพราะว่าเพิ่งขายครั้งแรก” พวกเพื่อนพ่อค้าขายหญ้าก็นำหญ้าไปทิ้งไว้ในบ้านของเขาคนละฟ่อน ๆ (รวมเป็น500 ฟ่อน) รวมทั้งรับปากว่าจะช่วยเหลือเขา โดยไม่ขายหญ้าให้พ่อค้าม้าก่อนเขา
พอ พ่อค้าม้านำม้ามาถึงเมืองพาราณสี ปรากฏว่าไม่สามารถหาหญ้าให้ม้ากินได้เลย จนกระทั่งไปเจอชายยาจกนั่งขายหญ้าอยู่ จึงขอซื้อหญ้าทั้งหมดจากเขา เขาก็ขายได้ 1,000 กหาปณะ (ตอนนี้มีเงินเก็บประมาณ 1,024 กหาปณะ) เรียกได้ว่าคุ้มค่ากับน้ำพักน้ำแรงที่เขาลงทุนไปอย่างยิ่ง
เท่านั้นยังไม่พอ ต่อมาเขารู้ว่า จะมีสำเภา 500 ลำมาถึงเมืองในเร็วๆนี้ เขานำเงิน ๘ กหาปณะไปเช่ารถเศรษฐี พร้อมกับบริวารลงไปที่ท่าเรือสำเภา ได้วางมัดจำสินค้าเรือสำเภาทั้ง 500 ลำไว้สิ้นในราคาที่ถูก ทำให้เขากลายเป็นพ่อค้าใหญ่ที่สุดในกรุงพารณสี เพราะทุกคนต้องมาซื้อของกับเขา) แล้วจัดสำนักงานง่าย ๆ เพื่อสะดวกในการติดต่อ วันรุ่งขึ้น เรือสำเภาเทียบท่า ชายยาจกก็แต่งตัวและวางตัวให้เหมาะสมกับเป็นพ่อค้าใหญ่ แล้วเข้าไปนั่งอยู่ภายในม่านมีบริวารห้อมล้อม สักพักก็มีพวกพ่อค้ามาขอเข้าหุ้นด้วย จากความเชื่อถือในตัวเขา ผ่านการวางตัว การแต่งตัว การพูดเจรจาต่อรองที่ถูกตามกาลเทศะ โดยแต่ละคนยอมให้เงินคนละ 1,000 กหาปณะเพื่อขอเข้าร่วมหุ้น รวม 70 คน เป็นเงิน 70,000 กหาปณะ
ไม่เพียงเท่านี้ เหล่าพ่อค้าทั้งหลายยังขอร้องให้เขาปล่อยหุ้นทั้งหมดพร้อมทั้งยินดีช่วยเพิ่มให้อีกคนละ 1,000 กหาปณะ หรือเป็นเงิน 70,000 และเมื่อรวมของเก่าที่ยาจกหนุ่มมีอยู่ ทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีด้วยเงิน 140,000 กหาปณะ เมื่อเขาตกลงยอมรับข้อเสนอจากเหล่าพ่อค้าวาณิชย์ทั้ง 70 ราย
ต่อมาเมื่อเขาร่ำรวยแล้ว เขาคิดว่าควรจะไปตอบแทนคุณ“จูฬเศรษฐี” ผู้มีบุญคุณจุดประกายให้สร้างเนื้อสร้างตัวได้ จึงเดินทางไปกราบขอบคุณและนำเงินมอบให้ครึ่งหนึ่งมอบให้ ขณะที่ท่านจูฬเศรษฐีถามว่า ได้มาอย่างไร ? เขาก็เล่าเรื่องราวชีวิตทั้งหมดของตนให้ฟัง ส่วน“จูฬเศรษฐี” เห็นว่าเศรษฐีหนุ่มคนนี้เป็นคนดีมีปัญญา มีความเพียร จึงยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย ภายหลังจากจูฬเศรษฐีตายแล้ว ตำแหน่งเศรษฐีและทรัพย์สมบัติ (ดูแลกิจการทั้งหมด) ก็สืบทอดมาเป็นของอดีตยาจกหนุ่มผู้นี้ทั้งหมด
สำหรับเนื้อหาส่วนถัดมา มีการกล่าวอ้างว่า ยาจกหรือเศรษฐีหนึ่งผู้นี้ ต่อมาคือ ได้เกิดมาเป็นพระจูฬปันถกองค์อรหันต์ ส่วนเศรษฐีพ่อตาผู้รู้ฤกษ์ยามได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า
นิทานเรื่องนี้ในทางธรรมนั้นได้ให้แง่มุมว่า
คนที่สามารถหาเงินโดยใช้วิธีอย่างนี้ได้ ต้องมี
1. มีวิสัยทัศน์กว้างไกล 2. มีคุณธรรม 3.ทำการค้าไม่ผิดศีลธรรม 4.มีน้ำใจไมตรี
หรือ “ผู้มีปัญญาเฉียบแหลมย่อมตั้งตัวได้ด้วยทรัพย์เพียงเล็กน้อย” หรือ “ผู้มีกตัญญูกตเวที ย่อมเจริญ”
และ “หมั่นเรียนมาก รู้มาก ซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวที เป็นทางสู่ทางเจริญ”
แต่สำหรับพ่อค้า กลับมองว่า ยาจกหนุ่มมีความฉลาดและอดทน อีกทั้งรู้ถึงโอกาส และจังหวะเวลาที่จะไขว่คว้าโอกาสเหล่านี้มาเป็นของตัวเอง อาจเพราะเขาเคยเป็นยาจก หรือคนยากจน จึงรู้ว่าสิ่งที่คนยากจนปรารถนาหลังจากเวลาเหนื่องานคือน้ำเย็นๆ หวานๆ เพียงสักแก้วก็ชื่นใจ และยาจกหนุ่มกับนำน้ำใจเล็กๆน้อยของคนชั้นล่างร่วมกันมาแปรเป็นทรัพย์ หรือเป็นทุนให้แก่ตัวเองได้อย่างดีเลิศ
ขณะเดียวกัน จากนิทานนี้ มันสะท้อนให้ว่าชีวิตจริงในทุกวันนี้ ระหว่างข้าราชการกับเหล่านายวาณิชย์ยังเกื้อกูลกันไปมาอย่างต่อเนื่อง เขารู้ว่าปัญหาที่ยุ่งยากจะสร้างความเหนื่อยล้าให้เหล่าข้าราชการ แต่หากเขานำปัญหานี้มาแก้ไขได้ เขาก็จะได้รับความเชื่อถือ และได้รับกำไรจากการลงทุนลงแรงอย่างงดงาม
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการของ ยาจกหนุ่มนั่นคือ ความอ่อนน้อมถ่อนตน ที่ช่วยให้เขาชนะใจผู้อื่น และการนำข้อมูลข่าวสารมาสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง รวมถึงเข้าใจว่า วงการค้าขายจำเป็นต้องมีมิตรสหายเพื่อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และยาจกหนุ่มก็สามารถใช้ศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ ก่อให้เกิดดีลการค้าขนาดใหญ่ จนนำไปสู่ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้น
อ่านนิทานและย้อนดูตัวเอง .... แล้วท่านล่ะ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีไมตรี กับมิตรสหายมากน้อยเพียงใด? ท่านสามารถนำปัญหาของผู้อื่นมาสร้างเป็นประโยชน์ของตัวเองได้หรือไม่ ? ท้ายที่สุดจงอย่าลืมพินิจ ว่าการจะลงมือทำสิ่งใด ไม่มีอะไรการันตีว่าความสำเร็จต้องมาจากการลงทุนใหญ่เท่านั้น
One Profiteer ^_^
โฆษณา