23 พ.ค. 2020 เวลา 09:39 • ธุรกิจ
วันละเรื่อง ตอน FOBO
ในยุค Work From Home เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้การนั่งไถแอพลิเคชั่นฟู้ดแพนด้า สลับกับแกร็บฟู้ด สลับไลน์แมน แล้วกลับไป GET กลายเป็นเรื่องปกติ
ถ้ารู้ว่าอยากกินอะไรแล้ว จะเทียบโปรระหว่างสามสี่แอพเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้ายังไม่รู้จะกินอะไรดี จะเสียเวลามากในการไถ เลื่อนแล้วเลื่อนอีก กลัวว่าสั่งแล้วจะไม่อร่อย ไม่คุ้มเงิน อาการแบบนี้เกิดขึ้นเหมือนกันเวลาเปิดเน็ทฟลิกซ์เพื่อหาอะไรดูสักอย่าง แต่ลงท้ายด้วยการเสียเวลาหาหนังหรือซีรีส์ดูมากกว่าเวลาที่ใช้ในการดูเสียอีก
อาการที่ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวเสียเวลา หรือเสียเงิน รู้สึกไม่คุ้มค่าถ้าเลือกไป หรือกลัวว่าตัวเลือกที่เราเลือกจะทำให้เรารู้สึกผิดที่เลือกอันนี้ แต่ไม่เลือกอีกอัน
อาการแบบนี้มีนักศึกษา MBA จากฮาร์วาร์ดชื่อ Patrick McGinnis เป็นผู้ค้นพบ เขาเรียกอาการกลัวไม่กล้าตัดสินใจเพราะเผื่อมีตัวเลือกที่ดีกว่าว่า FOBO หรือ Fear of Better Option ซึ่งอาการนี้พบได้มากขึ้นเมื่อลูกค้าเข้าถึงอินเตอร์เน็ท สามารถเสิร์ชหาทุกสิ่งได้ผ่าน Google
อ้าว มีตัวเลือกหลากหลายไม่ดีกับคนซื้อกับคนขายหรือเนี่ย
ในการศึกษาเรื่องของ “แยม” ของ Sheena Iyengar และ Mark Lepper จากมหาวิทยาลัย Columbia และ Stanford เปรียบเทียบการประสบความสำเร็จในการขายแยมให้กับลูกค้า โดยลูกค้าเป็นคนเลือกซื้อแยม 1 ขวด จากตัวเลือก 24 ชนิด หรือเลือก 1 ขวดจากแยม 6 ชนิด
ลูกค้า 60% หรือ 60 คนจาก 100 คนให้ความสนใจจะซื้อแยมจากตัวเลือก 24 ชนิด เมื่อเทียบกับ 6 ชนิดที่มีคนสนใจซื้อเพียง 40% หรือ 40 คน จาก 100 คน
แต่จาก 60 คนนั้น มีแค่ 2 คนเท่านั้นที่ซื้อจริงๆ ขณะที่กลุ่ม 40 คนที่เลือกแยมจาก 6 ชนิด มีลูกค้ามากถึง 12 คนที่ซื้อจริง เพราะการที่มีตัวเลือกน้อยกว่าจะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
สิ่งที่ผู้ขายต้องทำคือการช่วยลดตัวเลือกให้กับลูกค้า แบบที่เน็ทฟลิกซ์มี Match หรือสปอติฟายที่เลือกเพลงที่ตรงใจให้โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งต้องใช้เวลาสักพักในการเรียนรู้เรา
แต่ถ้าเป็นฝั่งลูกค้าที่ผู้ขายไม่ช่วยเลยล่ะ
เมื่อวานถกเถียงกับพี่น้อง เลือกเกมที่จะเล่นไม่ถูกเพราะต่างคนต่างกลัวเสียเงินค่าเกมและเสียเวลาอันมีค่าที่อยู่กันพร้อมหน้า 4 คนวันละไม่กี่ชั่วโมง จนสุดท้ายต้องใช้ระบบโหวตจากตัวเลือกนับ 10 เหลือแค่สองอัน เมื่อเหลือแค่สองตัวเลือกก็เลือกได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องเปิดโหวตรอบสองด้วยซ้ำ
เพราะเกมที่ว่าคือ เกมที่สามคนมีแล้วและกำลังลดราคา กับเกมที่ทั้งสี่คนไม่มีและต้องซื้อเต็มราคาทั้งสี่คน ในเมื่อเราไม่อยากจ่ายเยอะและแค่ต้องการลองเล่นดูก่อน การเลือกเกมแรกที่กำลังลดราคาอยู่เป็นเรื่องที่ไม่เลว
ถ้าเรากำลังงงไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร ให้ตั้งคุณสมบัติที่เราต้องการจากสินค้านั้น เช่น เกมที่อยากเล่นคือเกมแอคชั่นที่เล่นได้หลายคนและไม่ใช่เกมยิงปืนโดยไม่เกิน 1000 บาท หรืออยากได้โทรศัพท์มือถือใหม่ ก็ให้ตั้งงบว่าเอาไม่เกินกี่พันกี่หมื่นบาท ต้องการไปถ่ายรูป ไปเล่นเกม หรือใช้ดูหนังฟังเพลง แล้วค่อยไปหาเลือกดูว่าเอาอะไร
แต่บางครั้งถ้าเราไม่รู้ว่าต้องการอะไรเช่นว่าเย็นนี้กินอะไรดี “การตัดสินใจ” จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคนโดยเฉพาะเมื่อมีตัวเลือกที่ “มากเกินไป” กองอยู่ตรงหน้า
โฆษณา