23 พ.ค. 2020 เวลา 05:59 • ศิลปะ & ออกแบบ
ตุงคืออะไร?
ครั้งหนึ่งหากใครได้มีโอกาส เดินทางมาพื้นที่ภาคเหนือ เมื่อขับรถผ่านทางมายังพื้นที่ เช่น จังหวัดลำปาง ลำพูนและเข้าเชียงใหม่ ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ในช่วงสถานการเวลาปกติ (ไม่นับรวมช่วง “สถานการณ์โควิด-19”ของปี 2563 นี้นะครับ )
หลายๆท่าน จะพบเห็นว่า บางช่วงของเส้นทางจะมีตุงเรียงราย เป็นระยะ สองข้างทาง มีตุงสีสรรค์สวยงาม ทำให้เกิดคำถามในใจว่า เขาทำขึ้นมาเพื่ออะไรนะ มันคืออะไร ธงอะไรนะ บางคนที่รู้ว่าเป็นตุง ก็อาจมีคำถามว่า ตุงจริงๆคืออะไรกันนะ คำถามนั้นบางครั้งเมื่อเวลาผ่านไปเราก็ลืมมันไป วันนี้ ทาง โคม ตุงล้านนา สินค้าพื้นเมืองเชียงใหม่ จะได้นำเสนอข้อมูลความรู้จากผู้รู้ ที่ได้ศึกษาข้อมูลมา นำมาฝากให้ทุกท่านนะครับ เป็นเรื่องราว ข้อมูลที่อาจจะช่วยตอบโจทย์ในใจที่เราได้ลืมมันไปและย้อนภาพจิตใจวันนั้นกลับมาอีกครั้งนะครับ
ตุง ในภาษาถิ่นล้านนา หมายถึง “ธง” ในภาษากลาง ตรงกับธง ประเภท “ปฏากะ” ของอินเดีย คือมีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุส่วนปลายแขวนติดกับเสา ห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา จุดประสงค์ของการทำตุงล้านนาก็คือ การทำถวายเป็นพุทธบูชา ชาวล้านนาถือเป็นการทำบุญอุทิศให้แก้ผู้ล่วงลับไปแล้วหรือเพื่อถวายเป็นปัจจัยส่งกุศลให้แก่ตนไปในชาติหน้า วันที่ถวายตุงนั้นนิยมกระทำกันในพญาวัน ซึ่งวันสุดท้ายของวันสงกรานต์ โดยประมาณจะเป็นวันที่ 15 เมษายน ของทุกปีจะสังเกตุได้จาก การไปวัดในช่วงวันพญาวัน ชาวบ้านจะนำตุงกระดาษที่ผูกกับไม้ไผ่เล็กๆ ยาวประมาณ 1 เมตร จะมีตุงปีใหม่เมือง ตุงใส้หมู ตุงช่อ (ตุงจ่อ) ตุงไชย (ตุงจัย) ตุงใย (ตุงที่ทอด้วยด้าย ไหมหรือแพร) ตุงเทวดา ตุง 12 นักษัตร (หรือตุง 12 ราศี) หรือตุงประเภทต่างๆผูกกับไม้ไผ่ยาว 2-3 เมตร นำตุงไปปักไว้ที่เจดีย์ทราย ในบริเวณวัด ชาวบ้านจะทำบุญกันในช่วงเช้าและถวายตุง (ตานตุง) กันในวันพญาวันนี้ ทุกวันนี้ การถวายตุง สามารถ ถวายในงานบุญต่างๆ ตามศรัทธาของผู้ที่มีจิตกุศล
ปัจจุบันชาวล้านนาส่วนใหญ่ยังนิยมสร้างตุงเพื่อใช้ในพิธีการต่างๆ ทั้งทางศาสนา ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ประเพณี งานเทศกาลและงานเฉลิมฉลองต่างๆ หรืองานที่เกี่ยวกับความตาย นอกจากนั้นยังมีความเชื่อว่าวิญญาณผู้ตายนี้สามารถยึดหรือปีนป่ายตุงขึ้นสวรรค์ได้ ดังเรื่องเล่าว่า “กาลครั้งหนึ่งมีนายพรานซึ่งเข้าป่าล่าสัตว์ในป่านานหลายสิบๆปี ผ่านไปที่วัดเห็นตุงที่แขวนโบกสะบัดสวยงามมาก เมื่อกลับถึงที่บ้านจึงได้ทำตุงขึ้นเพื่อที่จะไปถวายที่วัดบูชาพระประธาน ครั้นเมื่อเขาตายไป ถูกตัดสินส่งลงนรกเนื่องจากไม่เคยทำความดีเลย มีแต่ฆ่าสัตว์ ยกเว้นทำตุงถวายวัดเท่านั้น เมื่อถูกตัดสินลงนรก ตุงผืนที่เขาทำขึ้นนั้นได้มาพันดึงเขาให้พ้นจากนรก นำขึ้นสู่สวรรคได้” นอกจากนี้ตุงยังเป็นสื่อธรรมทางพระพุทธศาสนาหลายประการ
ประวัติของตุง
เรื่องราวเกี่ยวกับตุง หรือ ธง ที่ปรากฏพุทธประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อในพุทธศาสนานั้น ระบุไว้อย่างชัดเจนในคัมภีร์พุทธศาสนาทั้งฝ่ายมหายานและหินยาน ธงในคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายหินยานมีคัมภีร์ที่กล่าวถึงธง ได้แก่ คัมภีร์พระสุตันปิฎก สังยุตนิกาย สคาถวรรค สักสังยุต ชื่อ ธชัคคสูตร เล่าให้เป็นข้อมูลสรุปสั้นๆพอเข้าใจดังนี้ ธชัคคสูตร คือพระสูตรที่แสดงถึงยอดธง อันท่านแสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงเรื่อง “เทวาสุรสงคราม” คือสงครามแห่งเทวดากับอสูร ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยมีมาแล้ว โดยตรัสเล่าเมื่อเทพดาทั้งหลายรบกับอสูร ความกลัวบังเกิดกับเทพดาทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทวดา จึงได้ตรัสแนะนำให้หมู่เทพแลยอดธง หรือชายธงของพระองค์ หรือว่า ธง ของเทวราชที่รองลงมา แล้วความกลัวก็จะหายไป
จากที่ยกกล่าวมาแสดงให้เห็นว่าธง และรูปแบบของธงนั้น ได้ปรากฎอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนามาแต่ครั้งสมัยพุทธกาล การที่สังคมพุทธถือว่า ธง เป็นเครื่องสักการะที่ศักดิ์สิทธิ์ และนำมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในงานพุทธพิธี พิธีกรรม ความเชื่อและยังได้รับการพัฒนารูปแบบและการตกแต่งอย่างวิจิตร สวยงาม มาจนถึงปัจจุบัน
ภูมิหลังประวัติความเป็นมาของตุง พระพุทธศาสนามีอิทธิพล ความเชื่อของคนเมืองเป็นอย่างมาก คนเมือง คนยอง คนลื้อ คนเขิลและมอญ ต่างนับถือศาสนาพุทธเดียวกัน มีวิถีชีวิตเดียวกัน คือวิถิชาวพุทธที่เชื่อว่า การทำตุงถวายเป็นพุทธบูชาเป็นสิ่งปรารถนาสูงสุด ได้บุญกุศลยิ่งใหญ่ ซึ่งจะนำพาตนเองขึ้นสวรรค์เพราะตุงเป็นปฐมเจดีย์แห่งแรกในล้านนาหรือคนเมืองเหนือ
“ ในสมัยพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ (ปัจจุบันคืออำเภอแม่จัน) พระมหากัสสปะได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) แล้วมอบให้แก่ พระเจ้าอชุตราช ได้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นไว้บนดอยแห่งหนึ่ง จึงได้ให้ทำ ตุงไชย มีความยาว 1,000 วาปักบนยอดเขา หากตุงปลิวไปถึงที่ใดก็กำหนดให้เป็นฐานของพระเจดีย์ ทั้งนี้พระองค์ได้พระราชทานทองคำให้พวก ลาวจก เป็นค่าที่ดิน และให้พวก มิลักขุ 500 ครอบครัวดูแลรักษาพระธาตุ ต่อมาในสมัยพญามังรายแห่งราชวงศ์มังราย พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย พญามังราย จึงให้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม จึงได้มีเจดีย์สององค์ ณ สถานที่แห่งนี้ คนทั้งหลายพากันเรียก “พระธาตุดอยตุง” จนถึงวันนี้
ตุง นับเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชาวล้านนา หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง การมีชัยชนะ ในวัดจะมี รอยปักตุง เป็นรอยแยกบนพื้น ยาวประมาณ 1 ฟุต อยู่ด้านหน้าพระธาตุ เชื่อกันว่าเป็นรอยแยกที่ใช้ปักฐานตุงบูชาพระธาตุ สร้างมาประมาณ 1,000 ปีแล้ว พระบรมธาตุดอยตุง เป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนา ทุกปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน 3 ยังถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีกุน ที่นิยมมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล การนำตุงขึ้นไปบูชาพระธาตุ นับเป็นการจุดประกายการเชื่อถือและศรัทธาความเชื่อความคิดเกี่ยวกับ “ตุง” ของพุทธศานิกชนทั่วภาคเหนือ
ตุง กำเนิดขึ้นมาพร้อมกับความเชื่อทางวัฒนธรรมและประเพณีพื้นบ้านท้องถิ่นที่ชาวล้านนา สร้างขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนคติความเชื่อและนำไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆทางพุทธศาสนา ตุงล้านนาจึงมีรูปแบบหลากหลายทั้งทางรูปทรงและรายละเอียด
ตุง มีความสัมพันกับพิธีกรรม ความเชื่อในพระพุทธศาสนาตลอดถึงประเพณีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของชาวล้านนา โดยมีความเชื่อว่าตุงเป็นสัญลักษณ์ของความดี ความเป็นศิริมงคลและเป็นสื่อการนำวิญญาณของผู้ถวายตุงและวิญญาณของผู้ล่วงลับที่มีผู้ถวายตุงให้ได้ไปสู่สวงสวรรค์ นอกจากนั้นยังใช้ตุงเป็นเครื่องสักการะถวายไว้ในพุทธศาสนา การถวายตุงดังกล่าวนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาวล้านนาและยังสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพชนที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน โดยผ่านการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งมายังอีกรุ่นหนึ่ง
ประเภทของตุง
ตุงที่ใช้ในงานพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของชาวล้านนา นักปราชญ์โบราณในล้านนา ได้จำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ 2 ประเภท คือ ตุงที่ใช้ในงานมงคล ถือเป็นตุงทำบุญ และ ตุงที่ใช้ในงานอวมงคล ถือเป็นตุงทำทาน ซึ่งแต่ละประเภทประกอบไปด้วยตุงชนิดต่างๆมากมาย
ตุงที่ใช้ในงานมงคล เป็น ตุงที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางศาสนาหรือตามความเชื่อ ในงานประเพณี พิธีการรม ต่างๆ ซึ่งเป็นไปในทางดี เป็นเป็นบุญกุศล แก่ผู้กระทำ ประเพณีทางภาคเหนือจะพบเห็นตุงเป็นส่วนประกอบงานต่างๆ เสมอในงานมงคลจะพบตุงนานาชนิดร่วมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นงาน ทำบุญปีใหม่ สงกรานต์ งานเทศกาลต่างๆ รวมถึงงานปอยหลวง (งานฉลองโบสถ์ วิหาร หอฉันท์ กุฏิ หรือการสร้างถาวรวัตถุต่างๆในวัดสำเร็จแล้ว จะมีการทำบุญใหญ่ของวัดนั้นๆ เรียกว่างานปอยหลวง) ซึ่งงานปอยหลวงนี่เองที่เราขับรถผ่าน เราจะพบเห็นตุงเรียงราย เป็นทิวแถวสองข้างถนน นั่นหมายความว่า ณ แห่งหนตำบล นั้น จะมีการทำบุญปอยหลวง นั่นเอง
ตุงมงคล ที่จะแนะนำให้รู้จักกันก่อน ในคราวนี้ จะยังไม่ลงลึกในรายละเอียด เดี๋ยวเราจะมาเล่าสู่กันฟัง คราวหน้าแบบลึกๆนะครับ วันนี้เราแนะนำเป็น ชื่อตุงมงคลแต่ละแบบกันก่อนนะครับ
ตุงมงคล ประกอบด้วย (ตุงช่อทางเหนือเรียกจ้อ) จ้อนำตาน,จ้อช้าง,จ้อร้อยแปดจ้อน้อย ,ตุงค่าคิงหรือตุงสืบชะตา,ตุงไจย,ตุงพญายอ,ตุงใย,ตุงซาววา,ตุงตั๋วเปิ้งหรือตุง12นักษัตร,ตุงราว,ตุงพระบฏ,ตุงกระด้าง,ตุงใช้ประกอบการเทศน์ เป็นต้น
ตุงที่ใช้ในงานอวมงคล เป็นตุงที่สร้างขึ้นในพิธีศพ หรือถวายทานให้แก่ผู้ตายเนื่องจากประสบอุบัติเหตุหรือถวายทานเพื่อเป็นอานิสงค์แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ตุงอวมงคลประกอบด้วย ตุงสามหาง,ตุงแดง,ตุงผีตายโหง,ตุงค้างแดง,ตุงเหล็ก/ตุงตอง,ตุงขอนนางผาน,ตุงขอนก๋ม,ตุงเรือ,ตุงใบไม้ เป็นต้น
ชาวล้านนายังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพิธีกรรมทางพุทธศาสนาและประเพณีอันเกี่ยวข้องกับชีวิต เป็นสัญลักษณ์แห่งความดี เป็นสิริมงคล ตุงเป็นงานพุทธศิลป์ ทำจากผ้าเป็นส่วนใหญ่ ที่ชาวบ้านล้านนาทำขึ้นเพื่อบูชาลม ใช้เป็นเครื่องสักการะถวายเป็นพุทธบูชาและประกอบพิธีทางพุทธศาสนา ดังนั้นจึงแตกต่างจาก ธง ในดินแดนอื่นๆ เช่นนี้เราๆ ท่านๆ ก็จะยังพบเห็นความงดงามทางวัฒนธรรม เห็นตุงสีสรรสวยงามผ่านประเพณี ที่ยังคงสืบทอดกันมา เมื่อได้มาเยือน ดินแดนล้านนาในครั้งต่อไป ทาง โคม ตุง ล้านนา สินค้าพื้นเมืองเชียงใหม่ จะได้นำข้อมูลความรู้ดีๆ มาเล่าสู่กันฟังอีกนะครับ ยังไงก็ขอฝากไว้เป็นข้อมูลเกร็ดความรู้ เพื่อการเรียนรู้เรื่องราวของตุง กันต่อไปนะครับ
โฆษณา