23 พ.ค. 2020 เวลา 12:02 • ท่องเที่ยว
รัสเซีย (มอสโคว์ และ เซนต์ปีเตอร์เบิร์ก) ระหว่างวันที่ 28ก.ค. – 4 ส.ค.2559
แนวความคิดหรือความฝันเรื่องการไปเที่ยวยังสถานที่ที่ไม่ใช่ประเทศไทย หลายคนมักนึกถึงเมืองที่เน้นไปทางสถานที่ที่นิยมกัน ไม่ว่าจะญี่ปุ่นหรือฝรั่งเศส น้อยคนนักที่จะนึกถึงอีกหลายประเทศในแถบยุโรป ซึ่งไม่เป็นที่นิยมกันมากนัก ด้วยสื่อหรือข่าวที่ได้รับ ส่วนมากเน้นไปในทางลบเสียมากกว่า หนึ่งในนั้นก็คือประเทศรัสเซีย หลายคนมักโจษขานกันไปว่า รัสเซียนั้นเป็นเมืองคนดุ หรือไม่ก็เป็นเมืองมาเฟีย เมืองคนไม่ยิ้ม ผมอยากจะบอกว่า เมื่อคิดเช่นนั้น คุณลองหันมาถามในเมืองไทยบ้างปะไร คำตอบอาจคล้ายๆกันครับ มิหนำซ้ำยังแย่เสียด้วยซ้ำกว่าเขา รัสเซียเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดของโลกติดทั้งยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ติดกับจีนและเอเชีย พื้นที่ไม่มากไม่น้อย กว่า 10,000,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ที่สามารถอยู่อาศัยของโลกถึงหนึ่งในแปด รัสเซียยังเป็นชาติมีประชากรมากที่สุดอันดับที่ 9 ของโลก โดยมีประชากร 143 ล้านคน รัสเซียปกครองด้วยระบอบสหพันธ์สาธารณรัฐกึ่งประธานาธิบดี ประกอบด้วย 83 เขตการปกครอง ผมบอกได้เลยนะครับว่า ประเทศรัสเซียนั้นทำอะไรเล็กๆ ไม่เป็น ทุกอย่างอลังการมาก ประเทศอื่นๆเช่นอิตาลี แม้จะอลังการ แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนจำนวน ชิดซ้ายไปเลย มีเพื่อนๆถามว่าทำไมถึงเลือกไปเยือนรัสเซีย คำตอบผมง่ายนิดเดียวเองครับ “รัสเซียเป็นประเทศมหาอำนาจ แต่หาได้เป็นอันธพาลครองโลก อีกทั้งยังกล้าลุกขึ้นมาต่อกรกับมหาอำนาจเช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศเล็กๆเช่นประเทศไทยเป็นต้น” ผมเชื่อมั่นว่า รัสเซียเป็นมหาอำนาจของโลกในปัจจุบัน และนั่นจะทำให้ประเทศต่างๆไม่ต้องมากังวลกับเรื่อง “การแทรกแซง” เช่นอเมริกาทำอยู่ในปัจจุบัน จนกลายเป็นความเกียจชัง ที่ทั่วโลกต่างประณามและก่นด่าแทบทุกวัน
แผนการเดินทางครั้งนี้ ผู้จุดประกายคือ คนที่ชื่อปิ๊ก เพราะเธอเป็นคนเกริ่นขึ้นก่อนว่า อยากไปเจอพี่ปูติน55 แต่หลังจากนั้น เธอก็หายเข้ากลีบเมฆ ไม่ถาม ไม่เดินเรื่องใดๆทั้งสิ้น ผมก็คิดว่า สงสัยคงต้องเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวอีกแล้ว (ผมชินกับการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวคนเดียวนานแล้ว) ไม่ใช่คนกลัว แต่ชอบแบบลุยๆ แต่พอโพสต์ขึ้นหน้าเพจ เพื่อหาสมาชิกเดินทางด้วยกัน กลับกลายเป็นว่า ได้น้องสาวผู้ทรหดและอดทนเป็นเลิศ สาวน้อยคนนี้ชื่อว่า “สาวแดงแห่งแดนสะตอ” เธอปรารถนาอยากไปเยือน เพราะเธอใฝ่ฝันมานานแล้วเช่นกัน เธอทำสำเร็จครับ พวกเราแค่เพียงโฉบไปที่ทำเนียบปธน.ปูตินเท่านั้นเอง ก็เอาใจช่วยเธอว่า โอกาสหน้าคงได้พบสักครั้งเป็นแน่ สาวแดงเธอเป็นคนมุ่งมั่นมาก ด้วยสไตล์รักสงบแต่ใจเกินร้อย เธอไม่ค่อยจะสนทนากับใครไม่ว่าจะท้องถนนหรือที่พัก ทั้งมอสโคว์ และเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก ผมเป็นคนดำเนินการทุกเรื่อง เพราะประสบการณ์มีมาก่อน จัดทำรายละเอียดแบบย่อยและลึก ให้เห็นถึงแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายในแต่ละวันว่าเป็นจำนวนเท่าใด เพราะการตระเตรียมเงินที่เพียงพอ แต่ในความเป็นจริง อาจมีการคลาดเคลื่อน ผมใช้เวลาเกือบ 2 เดือนเพื่อการค้นข้อมูล ซึ่งในปัจจุบันการหาข้อมูลทำได้ง่ายด้วยการสื่อสารสมัยใหม่ หามาแล้วก็นำมารวบรวม คัดแยกเป็นข้อๆ อย่างละเอียด ข้อมูลบางท่านเพียงแค่ปีเดียว ตัวเลขเคลื่อนเลยครับ อันนี้จะไปโทษเขาไม่ได้เด็ดขาด เพราะว่า ค่าใช้จ่ายจะขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินในแต่ละวัน จะไม่เท่ากันเสมอไป แต่พอคร่าวๆได้ บางเพจแค่ข้อมูลย้อนหลัง 1 ปีเท่านั้น ยังคลาดเคลื่อนไปไกลเช่นกัน แต่เรามุ่งไปที่สาระของเนื้อหาเป็นหลัก และก็ไม่ทำให้ผมผิดหวังแม้แต่น้อย ผมกับสาวแดงนั้นมีข้อตกลงก่อนจัดทริปว่า ผมจะทำทริปให้มีราคาถูกที่สุด(แต่ไม่ได้หมายถึงการประหยัด) เมื่อมีการคลาดเคลื่อนใดๆ ต้องไม่มาตำหนิกัน ส่วนเรื่อง Leader ผมทำหน้าที่เองครับ เพราะการสื่อสารภาคภาษาอังกฤษ สำคัญมากๆในบางครั้ง สาวแดงยอมตกลง คาดว่าก่อนตกลง ใจของเธอไปอยู่ที่ทำเนียบเครมลินนานแล้ว 555 ผมกับเธอนั้นไม่เคยได้ร่วมแจมทริปต่างประเทศมาก่อน จึงไม่รู้ทั้งพฤติกรรม และอุปนิสัยซึ่งกันและกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดามากๆสำหรับ คำแนะนำ และผลการวิเคราะห์ ส่วนสาวแดงจะพอใจหรือไม่นั้น ผมไม่อาจทราบได้ แต่ก่อนจบทริป ผมได้สรุปให้เธอฟัง ว่าด้วยพฤติกรรมการท่องเที่ยวแบบ world heritage ของเธอ และเมื่อนำไปเทียบเคียงกับผลวิจัยอื่นๆจะพบว่า พฤติกรรมของสาวๆสำหรับการท่องเที่ยว จะต่างกันมากเช่นเดียวกับผู้ชายทั่วไป ส่วนผมนั้นชอบใช้เวลานานพอสมควรในการศึกษาของจริงที่ไปได้พบ(ได้ศึกษาก่อนล่วงหน้า) จึงทำให้ ความเหมาะสม”ด้านเวลา” อาจไม่สมดุลกันสักเท่าใด แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา ผมนั้นต้องคอยสังเกตตลอดเวลาว่า แค่ไหนเหมาะสม ไม่เช่นนั้น จะทำให้ทริปนั้นๆ กลายเป็นน่าเบื่อ หรือน่ารำคาญไปได้ แต่มีเรื่องชวนเม้าท์สำหรับสาวแดง เธอมักจะนอนหลังผมหลับ เธอบอกว่า ผมกรน เธอบอกว่า “เหนื่อย” ซึ่งปกติผมไม่ใช่คนนอนกรน แต่แอบแปลกใจเหมือนกัน แต่รู้สึกเจ็บข้อเท้าที่แพลงมากกว่า เสียวแป๊บๆอยู่เรื่อย แต่ผมก็ถามสาวแดงว่าเหนื่อยไหม เธอตอบแบบไม่เต็มเสียงว่า “เหนื่อยแต่คงไม่มาก จากการสังเกต” พอวันต่อมา ผมกลับนอนหลับหลังสาวแดง ปรากฏว่า สาวแดง กรนซะงั้น55 พอรุ่งขึ้น ผมก็บอกสาวแดงไปว่า เมื่อคืน นอนกรนนะ แสดงว่า สาวแดง เหนื่อยแน่ๆ 555 เรา 2 สองคนนั้นจัดโปรแกรมแบบแน่นครับ กะว่าไปทั้งทีต้องให้คุ้มค่าสิ สรุปว่า เราไปเกือบครบตามแพลนที่วางไว้ ให้เพื่อนบางคนดู หน้าตา
เหรอหรา บอกว่า เฮ้ย..จริงดิ...บอกไปว่า ทำมาแล้ว สำเร็จด้วย แล้วทุกพิพิธภัณฑ์เข้าหมดนะครับ ไม่มีการยกเว้นนอกเหนือจาก
แพลนครับ บางครั้ง เที่ยวเพลินจนลืมทานข้าวกัน พอนึกขึ้นได้ก็นั่งทานกัน แต่สาวแดงไม่ค่อยจะทานเท่าไหร่ สงสัยคงอยู่ระหว่างการบริหารส่วนเกิน555
ผมทำแพลนอย่างละเอียด(ดังในภาพ) แต่ตัวเลขไม่ตรงนะครับ ส่วนมากจะเกินที่จัดทำไว้ สภาพอากาศก็เช่นกัน แทบไม่ค่อยตรงเลยครับ เซนต์ปีเตอร์เบิร์ก ใครได้ไป บอกได้เลยครับว่า อากาศดีปลอดโปร่ง สักพัก ครึ้มฟ้าครึ้มฝน เดี๋ยวมา เดี๋ยวไป เดี๋ยวตก ตลอดทั้งทริป ทำให้การเดินทางมีอุปสรรคบ้างพอสมควร ประกอบกับข้อเท้าแพลง เมื่อหลายเดือนก่อน พอเดินมากๆกลับเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง เพราะเส้นทางที่ไปนั้น มีทั้งไกลและใกล้จะใช้วิธีการเดินเสียมากกว่า เพราะสาวแดงเธอเอ่ยว่า “จะได้สำรวจเส้นทางเบื้องต้น55” พวกเราไม่ได้พกร่ม ดังนั้นใครที่จะไปเซนต์ปีเตอร์เบิร์กนั้น แนะนำว่าควรพกร่ม เนื่องจากพื้นที่ของเซนต์ปีเตอร์เบิร์กนั้นอยู่ติดทะเลบอลติก ถ้าใครไปพระราชวังฤดูร้อน Peterhof จะมองเห็นเกาะฟินแลนด์อยู่ลิบๆ ไม่ไกลกันเท่าไหร่ครับ สาวแดงกับผมนั้นใจตรงกันคือ เมื่อได้เดินทางไปเห็นด้วยตาตนเอง ถึงกับอุทานว่า “อลังการงานสร้าง สมคำร่ำลือจริงๆ” ใครที่คิดไว้แล้วไม่ได้ไปชมของจริง บอกได้เลยครับ “ท่านจะเสียดายไปตลอดกาล”
อุปนิสัยของคนรัสเซีย.....หลายคนมักตัดสินคนโดยการดูจากภายนอกทั้งที่ไม่ได้เคยสัมผัส เป็นเรื่องที่น่าเศร้านะ ผมกลับไม่คิดเช่นนั้น คนเรานั้นต้องถามตัวเองก่อนว่า คุณเป็นคนประมาท คุณเป็นคนมักง่าย คุณเป็นคนไม่รู้จักกฎระเบียบ คุณเป็นคนที่เห็นแก่ตัวหรือไม่? สำหรับผมและสาวแดง เมื่อได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดแล้ว กลับพบว่า คนรัสเซียนั้นน่ารัก มีมนุษยสัมพันธ์ดีมากๆ การช่วยเหลือเพื่อนต่างแดนนั้นทำอย่างเต็มใจ พวกเราไปเที่ยวครั้งนี้ไม่หลงแม้แต่ครั้งเดียว มีเพียงครั้งเดียวที่คนรัสเซียชี้ทางผิด แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร กลับมาตั้งหลักใหม่ได้ เชื่อหรือไม่ คนรัสเซียนั้นเมื่อคุณต้องการข้อมูล พวกเขาเหล่านั้นจะหยิบมือถือแล้วทำการเสิร์จจาก GPS ตอนนั้นเลย พร้อมกับบอกทางที่จะไป แต่คุณต้องเลือกถามหน่อยก็แล้วกัน พวกผมนั้นเลือกถามเด็กรุ่นๆ การสื่อสารภาษาอังกฤษทั้ง St.Petersburg และ Moscow ล้วนแล้วแต่ใช้ภาษาอังกฤษได้เกือบทั้งสิ้น และยิ่งถ้าคุณรู้หลักของการโดยสาร ไม่ว่าจะประเภทไหน ไม่มีทางที่จะหลงอย่างแน่นอน อันนี้คนเที่ยวต้องแบบ back packers นะครับ พวกคุณหนูๆ อาจทำไม่ได้ หรือพวกดัดจริตทำไม่ได้เด็ดขาด เพราะบางแห่ง ต้องใช้เท้าทั้งสิ้น เพื่อการชมทัศนียภาพตลอดทาง พูดง่ายๆก็คือ การรับเอาอรรถรสระหว่างทาง ก่อนถึงสถานที่ที่จะไปนั่นเอง
วิธีการเตรียมตัว
1.หาข้อมูลแล้วเลือกเอาเท่าที่ต้องการเฉพาะที่สำคัญๆ(ให้เวลามากหน่อย โอกาสพลาดน้อยมาก)
2.พาสปอร์ตต้องไม่หมดอายุก่อน 6 เดือน(ตรวจสอบก่อน)
3.จัดหาที่พัก ส่วนผมใช้บริการของ www.hostelworld.com ครับ(ทั้งSt.Petersburg and Moscow) ลักษณะคล้ายกับหอพัก นอนห้องละ 6 – 8 เตียงครับ ยิ่งเตียงนอนมากเท่าใด ในหนึ่งห้อง ราคายิ่งถูก มีทั้งแยกชาย กะหญิงครับ ผมเลือก mixed ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เพราะใช้แค่นอนเท่านั้นเอง สำคัญสุดคือ ต้องดู accommodation/facility ให้ดีๆ ผมเลือกคนที่เคยเข้าพักแล้ว views สำหรับคะแนนความปลอดภัยต้อง 9 % ขึ้นไปครับ มี locker ,wi-fi ไหม ต้องตรวจดูให้ละเอียดก่อนทำการลงทะเบียนจอง และหรือมีปัญหาก็สามารถส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์สอบถามไปได้ จำไว้อย่างหนึ่งว่า พวก Hostel ต่างๆ ลักษณะโดยรวม มักจะต้องเข้าไปด้านในตัวอาคาร ด้านนอกจะดูไม่ออก ถ้าเปรียบบ้านเรา ก็คล้ายๆกับตึกแถวนั่นเอง ข้างนอกจะดูทรุดโทรมมากๆ เสมือนไม่เคยทำความสะอาดหรือปรับปรุง แต่พอเข้าไปด้านใน คนละเรื่องกันเลยครับ สะอาด น่าอยู่ ห้องไม่ทึบ อากาศถ่ายเทได้สะดวก พวกเรากว่าจะหาป้ายพบ เล่นวนไปมาเป็น 10 นาที แล้วก็วนอยู่หน้าทางเข้านั่นแหละ การเข้าตัวอาคาร ก็ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ระบบป้องกันภัยของรัสเซียนั้นถือว่าสุดยอดมากครับ ใครจะเข้าจะออก ต้องมีกุญแจเท่านั้น คนอื่นหมดสิทธิ์เข้าอย่างแน่นอน แล้วกล้อง CCTV ผมบอกได้เลยครับ ไม่โจ่งแจ้งแบบบ้านเราครับ กล้องนั้นจะถูกซ่อนอยู่ทั่วไป มองเผินๆ ไม่วันจะมองเห็นได้อย่างแน่นอน(ครั้งแรกของสาวแดงเมื่อเข้าไปเห็น สีหน้าคงจะวิตกและกังวล ในใจคิดว่า เดี๋ยวเธอคงจะชินไปเอง อาจเป็นครั้งแรกของเธอก็ได้55)
4.จองตั๋วเครื่องบิน(ควรจองก่อน 2 เดือนแต่อย่าเพิ่งออกตั๋ว) ผมใช้บริการ www.skyscanner.co.th สายการบินแอร์แอสทานาของคาซัคสถาน แต่จองโดยตรงกับ airline โดยให้ไปลงที่ St.Petersburg ปกตินักท่องเที่ยวที่วิวดู พบว่า ไปลงที่มอสโคว์แล้วต่อรถไฟนอน 1 คืนไป St.Petersburg ผมให้เขาเปลี่ยนตั๋วไปลงที่ St.Petersburg แทน เพิ่มเงินอีกเกือบ 2,000 บาท แต่คุ้มครับ
5.จองตั๋วรถไฟ ผมใช้บริการ https://pass.rzd.ru/ ไม่ใช่ของการรถไฟรัสเซียแต่เป็น agency แพงหน่อย เพราะเราเข้าไปทำจองเวปของการรถไฟรัสเซีย ไม่ประสบความสำเร็จ
6.ดูอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินรูเบิล ผมแลกที่ http://www.sia-moneyexchange.com ทุกที่ราคาเดียวเหมือนกันหมด เว้นธนาคารครับ (เว่อร์เกิน) 1 รูเบิล ใช้เงินไทยเพียง 0.55 บาทคุ้มครับ แต่ค่าครองชีพ(cost of living) สูงกว่าบ้านเรา เว้น infrastructure ถูกกว่าบ้านเรามากครับ
7.การประกันภัยการเดินทางต่างประเทศ ผมเลือก www.bangkokinsurance.com ต้องดูให้ดีๆ ถ้าคุณเลือกกรณีกระเป๋าสูญหาย ราคาจะเพิ่มขึ้น แต่ผมใช้บริการแค่ 435 บาท ไม่ได้ประกันกระเป๋าสูญหายแต่อย่างใด (Loss of baggage and personal effects therein)
จากนั้นมาจัดทำแพลน โดยมีรายละเอียดอยู่เบื้องหน้า การจะเอาอะไรใส่ในแต่ละวัน ต้องละเอียดให้มากครับ เพราะถ้าคาดหวังมากแล้วไม่ได้ จะผิดหวัง ซึ่งผมกับสาวแดงตกลงกันว่า ถ้าไม่เป็นไปตามแพลน จะไม่มีการตำหนิกัน สาวแดงรับทราบ สรุปว่า แต่ละวันแพลนหลักคงอยู่ แต่แพลนรองลงมา มีการสับเปลี่ยนไปมา เช่นมาเก็บเอาวันหลังก็มีครับ สรุปว่าได้ไปครบเว้น NOVODEVICHY CONVENT โบสถ์แม่ชี และถนนอาบัต(พวกเราตัดออกเพราะเราได้ครบเกือบทุกสถานที่) ตลอด4วันที่ St.Petersburg เปียกฝนรัสเซียเหมือนกันครับ แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคแต่อย่างใด ทนได้เพราะมาถึงแล้วนี่หว่า555
วันเดินทาง 28 กรกฎาคม 2559
-เราเลือกใช้สายการบิน air astana โดย departure(Suvarnabhumi) 10:30 a.m. ไปtransit ที่ Almaty (Kazakhstan) ใช้เวลาบิน 6 ชั่วโมง รอต่อเครื่อง 1.45 ชั่วโมง ต่อเครื่องไปยัง St.Petersburg ใช้เวลาบิน 2.30 ชั่วโมง ผมให้เขาจัดเที่ยวบินถึง St.Petersburg เลย โดยปกติที่พบจะบินไปลงที่ Moscow แล้วนั่งรถไฟไป St.Petersburg เป็นส่วนมาก เนื่องจากเป้าหมายของเราคือเที่ยว St.Petersburg ก่อนอันดับแรก ราคาตั๋วไป-กลับ 25,580 บาท บางท่านอาจเลือกบินตรงไปMoscow ได้โดยไม่ต้อง transit ราคาจะต่างกัน แต่สายการบิน KC ดีมากๆคือไม่มีชาวจีนเดินกันขวักไขว่ อาหารเสริฟจัดว่าพอใช้ ดูเหมือนว่าทำจากครัวการบินไทย นอกนั้นเรียบร้อย
-St.Petersburg(PULKOVO INT.) เวลา 20:40 ต้องปรับเวลา -4 ชม. (คือ 16:40) นั่งบัสสาย 39 เมื่อออกจากประตูขาออก ขึ้นรถได้เลยครับสะดวก ราคาค่าตั๋วคนละ 30 รูเบิลเท่านั้น รถบัสจะไปส่งสถานีรถไฟใต้ดินหรือที่เราเรียกว่า Metro ต่อจากนั้น ก็นั่ง subway ไปลงสถานีที่เราจองที่พัก ตอนถึงสถานี subway เราตัดสินใจซื้อตั๋วแบบเหมา ราคาตกที่เกือบ 400 รูเบิล ใช้ได้เกือบ 4 วัน/2คน แต่ข้อเสียคือเมื่อสแกนบัตรเข้าไปคนแรกแล้ว และส่งต่อคนที่2 ผมต้องรอเกือบ 10 นาที เสียเวลามาก ตอนซื้อ ผมไม่ได้ซื้อจากสถานี Subway ใหญ่ จึงทำให้การสื่อสารไม่สัมฤทธิ์ผล จึงได้แบบนี้มา ต่างกับ subwayที่มอสโคว์ วันสุดท้ายพวกเราจะซื้อเหรียญแบบหยอดแค่ 2 ครั้ง(เหรียญละ 35 รูเบิล/เที่ยว) การเดินทางโดยรถไฟใต้ดิน คุณสามารถต่อได้หลายสายโดยที่ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม(ต่างจากบ้านเราซื้อสถานีไหน ลงสถานีนั้น ลงก่อนไม่เป็นไรแต่ถ้าเกิน เครื่องจะเตือนและไม่สามารถออกจากstation ได้) พูดง่ายๆซื้อแค่ครั้งเดียวเดินทางสู่จุดหมายปลายทางได้แน่นอนไม่ว่าจะใกล้หรือไกล การเดินทางโดยรถไฟใต้ดินที่ St.Petersburg สะดวกครับแม้ว่าตัวรถไฟจะเก่าไปหน่อย เสียงก็ดัง เพราะทุกสถานีจะมีป้ายกำกับทั้งภาษารัสเซียและภาอังกฤษคู่กัน ก่อนขึ้นจะมีสัญลักษณ์หรือรายละเอียดบอกว่า รถไฟที่คุณกำลังจะขึ้นนั้น จะไปที่สถานีใดบ้าง ผม 2 คนไม่หลงแม้แต่ครั้งเดียว ลักษณะของทางขึ้น ลง ต้องชิดขวาเสมอ ลักษณะการออกแบบโดยใช้บันไดเลื่อน นับว่าลึกเอาการครับ แต่การออกแบบของไทย ให้ไปซื้อตั๋วด้านใน แต่St.Petersburg ซื้อข้างบน ก่อนลงไปที่ตัวรถไฟ ทางลงลึกมาก ถ้าลิฟท์เสีย คงเพลียน่าดูครับ
เมื่อขึ้นจาก subway ก้อเดินตาม direction ที่ที่พักให้มา ไม่ไกลมาก แต่กว่าจะหาที่พักพบ เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน (Traveller’s Palace ,St Petersburgห่างจากถนนหลัก Nevsky Prospekts ประมาณ 500 เมตร)ไม่หลงระหว่างทาง แต่หลงระหว่างจะเข้าที่พัก55 ป้ายเท่าแมวดิ้นตาย ตัวอาคารเก่ามากยุคไหนก็ไม่รู้ เดินคนเดียวอาจหลอนได้ อยู่บนชั้น3 ระบบความปลอดภัยเยี่ยมครับ พอเข้าไปด้านในที่พัก ใช้ได้ สะอาด สิ่งต่างๆที่แจ้งไว้ครบถ้วน สมบูรณ์ ก่อนจะถึงพวกเราอาศัยว่า ถามคนมาตลอดทางว่าไปทางไหน คนรัสเซียที่พบโดยเฉพาะวัยรุ่นหน่อย จะพูดภาษาอังกฤษได้ ถามปุ๊บ หยิบมือถือเปิด GPS เลยครับ (สวดยอด) ก่อนออกจากสนามบินผมได้ซื้อ sim ของรัสเซียพร้อมอินเตอร์เนต ราคา 365 รูเบิล ใช้ได้ตลอดทั้งทริป เพียงแค่ต้องไปลงทะเบียนกับ google ก่อน ผมเปิดบ้างไม่เปิดบ้าง บางแห่งก็ไม่พบสัญญาณให้บริการ ต้องทำใจหน่อย เมื่อถึงที่พัก ทำการ register เขาคิดค่าบริการคนละ 200 รูเบิล ส่วนค่าที่พัก ต่อคนต่อเตียง 4 คืน ทั้งหมดคือ 1,506 บาท(เงินไทย) ทานอาหารเสร็จ รื้อกระเป๋านิดหน่อย หลับเลยครับ สรุปค่าใช้จ่ายของวันที่ 28 กรกฎาคม คือ(ค่าเครื่องบิน 25,580 + ค่าที่พัก 1,506 + ค่าซิมรัสเซีย 196 + ค่ารถบัสเข้าเมือง 17 + ค่า register 110 รวมทั้งสิ้น(บาท) 27,409 .- (เฉพาะผมเท่านั้น)
-29 กรกฎาคม 2559
พวกเราตื่นกันแต่เช้า เพราะฟ้าสว่างเร็วมาก พวกเราก็อยากไปถึงจุดหมายปลายทางเร็ว(คือพระราชวังฤดูหนาว (Hermitage) เพื่อจะได้ไม่ต้องต่อคิวซื้อตั๋วนานเกินไป ก่อนออกพวกเราดื่มกาแฟ ขนมปัง ข้าวเหนียวหมูทอดรองท้องกันก่อน พวกเราใช้วิธีเดินเท้ากัน เพราะที่พักไปออกถนน Nevsky Prospekts ไม่ไกล แต่ที่ไกลคือ ไปถึงพระราชวัง Hermitage ไกลโข แนะนำว่า สามารถนั่งรถราง(Tram) ได้ครับ เดินจนเมื่อยเลยครับ แต่ตลอดระยะทาง เราสามารถชมความงามของถนนได้ตลอดสาย เมื่อถึงที่หมาย ปรากฏว่า ยังไม่เปิดจำหน่ายตั๋ว ต่อคิวซิครับ ลานกว้างหน้าทางเข้ามี “เสาอเล็กซานเดอร์” ที่สร้างถวายพระเกียรติแด่กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ทรงชนะสงครามเหนือโปเลียนของฝรั่งเศส เรารอราวชั่วโมงเศษ ประตูถึงเปิด เข้าไปต่อคิวด้านในต่อครับ(มีตู้จำหน่ายตั๋ว แต่หลายคนทำไม่สำเร็จ ผมเลยเลือกไปต่อคิวซื้อด้านใน ก็สะดวกครับ เพียงแต่เขาจะปล่อยให้เข้าตามจำนวนที่กำหนดเท่านั้น รอเรียกเข้าซื้อตั๋วก็ประมาณคิวที่ 4 เห็นจะได้ ราคาตั๋วคือ 600 รูเบิล การเข้าพิพิธภัณฑ์ของยุโรปนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายครับ ผ่านกระบวนการสกรีนละเอียดมาก จุดแรกพวกเราได้ชมเป็นทางขึ้นก็ประทับใจแล้วครับ อะไรมันจะอลังการงานสร้างจริงๆ แต่ละสถานที่จะมี map เพื่ออำนวยความสะดวก ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยห้องต่างๆกว่า 1,000 ห้อง หากจะให้ชมงานศิลปะทุกชิ้น คงต้องใช้เวลาเป็นเดือนและถ้าไม่อยากหลง หรือต้องการชมให้ครบ เดินตามที่เขาแจกให้นะครับ บางจุดถ่ายรูปได้ แต่บางจุดต้องห้าม โดยเฉพาะรูปภาพน้ำมันของลีโอนาโด และอีกหลายศิลปินที่มีชื่อเสียงในอดีต คนจะแน่นมาก ดังนั้นการถ่ายรูปเซลฟี่ทำได้ยากครับ ต้องไว ต้องเร็ว ผมก็เช่นกัน ถ่ายไปก่อนแล้วค่อยมาคัดเอาทีหลังครับ ในอดีตพระราชวังแห่งนี้ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 (กษัตริย์องค์สุดท้ายของรัสเซีย) พระสหายของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 ได้ส่งพระราชโอรสไปศึกษาที่ประเทศรัสเซียโดยพระองค์ยินดีที่จะอุปการะเสมือนพระญาติวงศ์แห่งพระราชวงศ์โรมานอฟด้วยผู้หนึ่ง พระราชโอรสองค์นั้นคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ นั่นเอง สิ่งสำคัญสุดคือผมอยากไปชม เครื่องราชบรรณาการที่ร.5 ทรงมอบเป็นที่ระลึกสำหรับพระเจ้าซาร์ฯ เมื่อชมในพระราชวังเสร็จ ผมชวนน้องแดงเดินออกจากตึกไปยังตึกตรงข้ามชื่อว่าตึก General Building Staff (ทางเข้าไม่มีป้ายบอก)ต้องถามเจ้าหน้าที่ และผมมีภาพติดตัวไปด้วย จึงให้เจ้าหน้าที่ดู เค้าแนะนำว่าอยู่ชั้นไหน ปีกไหนของตึก จึงใช้เวลาไม่นาน(ชมได้ในภาพประกอบ) สำหรับมื้อเที่ยงเรากินอาหารที่เตรียมกันมาในสวนสาธารณะ ฟินฟุดๆ สวนสาธารณะหน้ากองทัพเรือ ถ้าใครอยากเข้า St.Isaac ก็ทำได้นะครับ อยู่ตรงข้ามกันเลยครับ อิ่มแล้วก็ชวนน้องแดงไปต่อกันที่ Peter & Paul Fortress เราใช้ subway ไปไม่กี่ป้ายครับ สะดวกดี ไปถึงเดินอีกประมาณ 200 เมตร ซื้อตั๋ว 600 รูเบิล เป็นราคาตั๋วที่ชมได้ทั้งหมดเว้นที่ขังคุกของนักโทษ ป้อมปราการ พิพิธภัณฑ์แห่งที่ Hilight อยู่ที่หลุมฝังพระศพของราชวงศ์โรมานอฟ ถูกตบแต่งด้วยหินอ่อนทั้งหมด อยู่ในพระวิหารด้านใน จะมีไม่กี่จุดเท่านั้นที่น่าสนใจครับ ชมจนอิ่ม ถามน้องแดงว่า เดินกลับไหม เพราะเราเห็นอีกฝั่งเหมือนไม่ไกล แต่ที่ไหนได้ไกลเอาการ แต่เรา backpack นี่หว่า กลัวอะไร ขากลับแวะซื้อ Hamburger 1 ชิ้น ราคาประมาณ 300 รูเบิล(แพงเหมือนกันนะ) ถึงที่พัก เล่นเอาเปียกไปตามๆกัน เพราะที่นี่ฝนนึกอยากจะตกก็ตก แต่สีก็ทนได้นี่นา 55 หลับกันไวมากเพราะเรามีแพลนในวันรุ่งขึ้นครับ
วิธีการเดินทาง สามารถนั่งsubwayป้าย Gostiny Dvor แล้วไปลงสถานี Nevsky Prospekt เดินอีกนิดหน่อยครับ ส่วนพวกผมใช้เดินทางไปกันครับ
สรุปค่าใช่จ่าย (Hermitage 600RUB + Peter&Paul 600RUB + Hamburger 300RUB)x0.55 = 825 บาท
30 กรกฎาคม 2559
ตื่นแต่เช้าครับ เราสองคนกินอาหารเช้าที่นำมาจากเมืองไทย ต่อจากนั้นก็ออกจากที่พักใช้ subway เช่นเคย วันนี้เรามีแพลนจะไปเยี่ยมพระราชวังฤดูร้อน Peterhof แปลตามตัวคือพระราชวังของปีเตอร์ เป็นพระราชวังฤดูร้อน สร้างโดยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช แห่งราชวงศ์โรมานอฟ ทรงย้ายเมืองหลวงมาที่ St Petersburg และสร้างวังแห่งนี้ขึ้นที่อ่าวติดทะเลบอลติก ห่างจากตัวเมืองมาประมาณ 29 กม โดยระดมช่างมีฝีมือจากยุโรปมาออกแบบก่อสร้างเป็นศิลปะแบบผสมผสาน คลาสสิก บาร็อกและเรอเนอซอง มีห้องรับรองที่ประดับประดาสวยงาม มีสวนที่กว้างใหญ่ และด้านหน้าของวังมีน้ำพุและรูปปั้นที่สวยงาม เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ในบริเวณสวนยังมีน้ำพุอีกหลายจุด หากนับรวมกันมีจำนวนมากถึง 150 แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยประทับที่พระราชวังแห่งนี้ เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 และได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ โดยมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายคู่กับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่วังแห่งนี้ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เองก็เคยเสด็จประพาสเมืองสยามตามคำเชิญของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งที่ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ และด้วย พระเนตรอันยาวไกลของ รัชกาลที่ 5 ความสนิมสนมกับราชวงศ์โรมานอฟในยุคนั้น ทำให้เราไม่ตกเป็นเมืองอาณานิคมในยุคล่าอาณานิคม และยังเป็นเหตุผลที่ทำให้ ชาวไทยไม่ต้องขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศรัสเซียในปัจจุบัน การเดินทางง่ายจากสถานีรถไฟใต้ดิน Baltiskaya เดินออกมาขึ้นมินิแวนสีขาว ออกมาจะเห็นป้ายรถเลย เลือกขึ้นสาย 404 ค่ารถคนละ 70 RUB ขึ้นปุ๊บจ่ายเงินคนขับเลยครับ นั่งประมาณ 30 นาที อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 29 กม. ค่าตั๋วเข้า Peterhof นั้นจะแยกกัน ระหว่างสวนชมน้ำพุคือ 700 รูเบิล ส่วนในตัวพระราชวังนั้นมาต่อคิวหลังจากเปิดให้ซื้อ 11.00 น.น้ำพุจะเปิด มีการบรรเลงเพลงอย่างอลังการ ความสูงของน้ำพุแม้จะไม่มาก มีนักท่องเที่ยวพากันถ่ายรูปไม่ขาดสาย นอกจากนั้นยังเดินทอดยาวลงจากบันไดไปจนถึงทะเลบอลติกได้ ห่างไม่มากครับ หลังจากชมจนอิ่มใจ ก็มาเข้าแถวเพื่อซื้อตั๋วด้านใน คนละ 600 รูเบิล ตัวอาคารจะมีลักษณะเป็นตัว I คือเดินตรงเพื่อชมแต่ละห้องง่ายกว่าบางพระราชวังครับโดยเฉพาะพระราชวัง Hermitage ตัวอาคารด้านในจะเป็นบล็อกๆ ก่อนเข้าเราต้องสวมที่คลุมรองเท้าที่ทางพระราชวังจัดให้ครับ (ดูในรูปประกอบ) เมื่อเดินขึ้นตัวชั้น2 แล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดคอยดูแล จะปล่อยให้แต่ละกลุ่มทยอยกันไป ไม่อนุญาตให้เดินตามอำเภอใจ ทุกห้องอลังการทั้งสิ้น ใช้เวลาครึ่งวันเห็นจะได้ พวกเราไม่ลืมมาเก็บภาพโบสถ์ออร์โธดอกซ์ที่ห่างจากพระราชวังประมาณ 200 เมตรก่อนที่จะถึงพระราชวัง Peterhof แต่เสียดายอยู่ระหว่างการบูรณะและมีพิธีฉลองสมรส จึงได้ชมแค่ภายนอกเท่านั้น ส่วนภายในมีการทำพิธีแต่งงาน หลังจากนั้นพวกเราต้องไปที่อื่นกันต่อ นั่นก็คือ โบสถ์ที่มีหลังคาสีฟ้าเด่นสง่า Trinity Monastery of St Sergius อยู่ไม่ไกลจากพระราชวังเท่าไหร่ นั่งรถบัสคนละ 30 รูเบิล แล้วต่อ subway เนื่องจากวันนี้ฝนตก จึงไม่ได้เข้าไปข้างใน แค่ถ่ายรูปมาให้ชมกันครับ สวยครับ เสร็จก็นั่ง subway ไปยัง Church of the Savior on Spilled Blood อยู่ในเมือง โบถส์แห่งนี้สร้างในสมัยพระเจ้า Alexander III เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงการสวรรคตของพระเจ้าซาร์ Alexander II พระราชบิดาซึ่งถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยระเบิดในจุดนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ on Spilled Blood เนื่องจากพระเจ้าซาร์ Alexander II ได้รับบาดเจ็บเสียพระโลหิตจำนวนมาก ก่อนจะถูกนำกลับไปที่พระราชวังฤดูหนาว (Hermitage ) และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ค่าเข้าชมคนละ 250 รูเบิล พอเข้าเมืองฝนก็ตก เปียกกันเล็กน้อยครับ ข้างในอีกเช่นกันครับ อลังการงานสร้างครับ (ดูรูปประกอบ) เนื่องจากเป็นสถานที่ใหญ่โตเช่นพระราชวัง จึงใช้เวลาไม่มากนักประกอบกับนักท่องเที่ยวมีเป็นจำนวนมาก การหาโอกาสเซลฟี่ทำได้ยากครับ ชมความอลังการแล้วเสร็จ ก็ เดินกลับ ขาลาก ถึงที่พักอาบน้ำ ทานข้าว(ที่ยังคงเหลือ) นอน สรุปค่าใช่จ่าย (Peterhof 600 RUB+ 700RUB + (Church of the Savior on Spilled Blood) 250RUB+(ค่ารถบัส)100)x0.55 = 907.50 บาท (น้องเลี้ยงกาแฟร้อน 1 แก้วอร่อยมาก รสชาติเข้มได้ใจครับ)
31 กรกฎาคม 2559
ตื่นเช้าเช่นเคย ทานอาหารที่นำมาจากเมืองไทย(ยังไม่หมด) ออกจากโฮสเตล นั่ง subway นั่งคราวนี้ต้องซื้อเหรียญหยอด ตกคนละ 35 รูเบิล นั่งไปไหนก้อได้ จากนั้นต่อบัส(เหมือนรถตู้บ้านเราแต่กว้างกว่า) หมายเลข 342 วันนี้ไปพระราชวัง Catherine ที่เมือง Pushkin ห่างจากตัวเมือง St Petersburg 25 กม. (ไปกลับคนละ 80 รูเบิล) พระราชวังแคทเธอรีน เริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ. 1717 โดยพระนางแคทเธอรีนที่ 1 พระมเหสีของปีเตอร์มหาราช ซึ่งได้ครองราชย์หลังจากปีเตอร์มหาราชเสด็จสวรรคต ทรงประสงค์สร้างวังแห่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นพระราชวังฤดูร้อน โดยสถาปนิกชาวเยอรมันแต่ได้รับการต่อเติมและตกแต่งใหม่ในหลายยุคหลายสมัย ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดว่ากันว่าทั้งพระราชวังและรูปปั้นตกแต่งประดับประดาด้วยทองคำกว่า 100 กิโลกรัม ถึงขนาดมีข่าวลือว่าหลังคาของวังเป็นทองคำแท้ๆเลยทีเดียว แต่พระราชวังก็ได้ถูกทำลายโดยกองทัพเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับความเสียหายอย่างมาก เราไปถึงกันแต่เช้า แต่เขาขายตั๋วประมาณ 09.00 น.เปิดปุ๊บซื้อตั๋วปั๊บ แต่ได้แค่เข้าสวนนะครับ คนละ 120 รูเบิล ต่อจากนั้น ไปต่อแถวเพื่อซื้อเข้าชมในพระราชวังด้านใน อีกคนละ 1,000 รูเบิล (รอนานมาก) รอเกือบ 2 ชั่วโมงเห็นจะได้ วิธีการเข้าชมด้านใน ก็เหมือนพระราชวังอื่นๆ และเนื่องด้วยตัวอาคารเป็นรูปตัว I แน่นอนว่าไม่หลง เพราะเขาจะปล่อยให้เข้าเป็นกะ มีเจ้าหน้าประจำทุกห้องครับ ห้องที่สวยที่สุดและเป็นไฮไลท์คือห้อง ห้องอำพัน (อังกฤษ: Amber Room หรือ Amber Chamber, รัสเซีย: Янтарная комната Yantarnaya komnata, เยอรมัน: Bernsteinzimmer) ตั้งอยู่ภายในพระราชวังแคทเธอรีนที่หมู่บ้านซาร์สโคเยอเซโล เป็นห้องที่ผนังที่ทำด้วยอำพันทั้งห้องตกแต่งด้วยทองคำเปลวและกระจก ความงามของห้องนี้ทำให้บางครั้งได้รับสมญาว่าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์ที่แปดของโลก” การชมจะใช้เวลาไม่นานนักเพราะต้องเดินตามกันไป เสร็จจากนั้น เรานั่ง subway(คนละ 35 รูเบิล) เพื่อไปชม Chesma Church (Chesmenskaya Tserkov) โบสถ์สีชมพูสลับขาวเล็ก ๆ ที่สุดแสนจะโรแมนติกในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ต่อด้วยการไปเยี่ยมชม Smolny Cathedral (เสียดายที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง) จากนั้นไปต่อกันที่ St Isaac Cathedral เป็นโบสถ์ออร์โธดอกซ์ที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สวย
งามมากๆ ควรพลาด เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ถึงที่พักอาบน้ำ ทานข้าว(ที่ยังคงเหลือ) เพื่อเดินทางต่อไปยังมอสโคว์ด้วยรถไฟ เนื่องจากเราได้ทำการจองซื้อตั๋วระบบ on line ในไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตกคนละ 2,676 รูเบิล ไปนั่งรอรถไฟออกประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง เตียงนอนปูกันเอง ไม่ยุ่งยากคล้ายๆบ้านเรา แต่บ้านเรามีเจ้าหน้าที่มาปูให้ ระวังเรื่องการใช้ห้องน้ำสักนิดคือว่า น้ำจะไหลเป็นเวลานะครับ
สรุปค่าใช่จ่าย (Catherine Palace 1,120RUB + 2,676RUB(Train) 80RUB+(ค่ารถบัส) + 105RUB (ค่าsubway)x0.55 = 2,189.55 บาท
วันที่ 1 สิงหาคม 2559
รถไฟมาถึงสถานีรถไฟ Leningradsky Railway Station มอสโคว์ 10:30น. แต่ไม่สามารถเข้าพักโรงแรมที่จองได้เพราะเค้าระบุชัดเจนว่า ให้เข้าเช็คอินได้ 13.00น.เป็นต้นไป ดังนั้นเราไม่รอช้า รีบนำกระเป๋าไปฝากที่สถานีทันที ค่าฝาก 570 รูเบิล เราตกลงกันว่า หลังฝากกระเป๋าแล้วจะไป Sergiyev Posad (Russian: Сергиев Посад) อยากจะไปโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ที่คนรัสเซียนับถือมากๆ และต้องไปโบสถ์นี้เท่านั้นคือ เซรากีเยฟ ปาสาท ถือว่าเป็นโบสถ์
นิกายออร์โธดอกซ์แห่งรัสเซียที่เก่าแก่อย่างมาก สร้างขึ้นสมัยศตวรรษที่ 14 โดยนักบวช St. Sergii of Radonezh ท่านถือว่าเป็นนักบุญที่ศักดิ์สิทธิ์ เรื่องสุขภาพร่างกาย จะมีคนขอพรมากมายในทุกๆวัน โบสถ์นี้อยู่รอดพ้นจากสงครามในรัสเซียและจากยุคคอมมิวนิสต์ข้อห้ามไม่เชื่อในศาสนา แนะนำให้ไปเช้าครับ เพราะว่าช่วงบ่ายเริ่มคนเยอะเดินทางโดยรถไฟของรัสเซีย ไปลงที่สถานีใต้ดิน Komsomolskaya (Koltsevaya Line) ตัดกันอยู่ของสายแดงและสายน้ำตาล(วงแหวน) ทางออกสถานีเลนินกราดและสถานียาโรสลาฟ สถานีนั้นจะอยู่ด้านหลัง เดินออกหน้าตึกเลี้ยวซ้าย เห็นคนเดินกันแยะๆ ไปต่อคิวซื้อตั๋วได้เลย ราคาตั๋วรถไฟไป-กลับ คนละ 328 รูเบิล ใช้เวลาเดินทาง 1.45 ชั่วโมง เมื่อถึงแล้ว ต้องดูตารางเดินทางกลับให้ดีเพื่อการวางแผนเวลาเที่ยว หลังจากนั้นเราใช้วิธีเดินไปหลังลงจากรถไฟ ประมาณสัก 1 กม.เห็นจะได้ เป็นทางเดินลงเนิน เมื่อถึง ต้องซื้อตั๋วก่อน คนละ 350 รูเบิล ผมตั้งใจมากและได้นำน้ำศักดิ์สิทธิ์มา 1 หลอดด้วย อีกทั้งยังเจอนักท่องเที่ยวชาวไทยอีกกลุ่ม เห็นว่าทำงานที่มอสโคว์แต่ไม่ได้ถามอะไรเพราะคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว คุยกันไม่เท่าไหร่ เพราะเอาแต่เข้าชมสถานที่ เนื่องจากมีหลายโบสถ์ สวยจริงๆครับ ถ้าไปมอสโคว์ควรหาเวลาไปชมให้ได้กันนะครับ ได้เวลากลับเที่ยวเวลา 16.20น. ขากลับรู้สึกดีมากๆเพราะขบวนรถไฟแทบไม่มีผู้โดยสาร สบายมากๆ เมื่อมาถึงสถานีแล้ว จึงรีบไปรับกระเป๋าคืน เพราะถ้าเกินเวลา 18.00 น.อาจถูกปรับได้ แต่ก็ทันเวลาพอดี ต่อจากนั้นไปยังสถานีรถไฟใต้ดินเพื่อซื้อตั๋วแบบเดียวกับที่เซนต์ปีเตอร์เบิร์ก แต่ราคาไม่เหมือนกัน พวกเราได้รับการชี้แนะอย่างดีจากเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟใต้ดิน เราเอาเที่ยวและจำนวนที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ดู เค้าบริการเขียนเป็นภาษารัสเซีย แล้วนำไปซื้อช่องขายตั๋ว ราคา 650 รูเบิล(แพงกว่าที่ศึกษาในบางเพจ) แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า ราคามีการเปลี่ยนแปลง เข้าใจได้ครับ สำหรับตั๋วรถไฟใต้ดินที่มอสโคว์จะต่างกับ เซนต์ปีเตอร์เบิร์กคือ คนแรกสแกนแล้วส่งให้คนหลังโดยไม่ต้องรอ 10 นาที ไม่ทำให้เสียเวลาครับ ต่อจากนั้นก็เดินทางไปที่พัก ขึ้นจากรถไฟใต้ดิน เดินอีกราว 500 เมตร ที่พักลึกลับมากๆ แต่ก็ไม่หลงเพราะถามคนรัสเซียเกือบตลอดทาง การช่วยเหลือดีมากๆ ถามปุ๊บพวกเขาจะหยิบมือถือแล้วเซิร์จจากGSPทันที บอกทางเสร็จสรรพ คนรัสเซียนี่น่ารักไม่ใช่ย่อยครับ เข้าเช็คอิน ก็เหมือนกันทุกที่ครับ ได้ที่นอนชั้น2 ทั้งคู่ ต้องปีนป่ายกันน่าดู ห้องครัวทันสมัยครบครัน พวกเรานอนกันแต่หัวค่ำ เพราะตอนเช้าต้องรีบไปตามแพลนที่วางไว้คือ พระราชวังเครมลิน
สรุปค่าใช่จ่าย (ค่าฝากกระเป๋า 570RUB + 328RUB(ค่ารถไฟไปกลับ Sergiyev Posad) 350RUB (ตั๋วเข้า Sergiyev Posad) + 650RUB (ค่าsubway,moscow)x0.55 =1,043.90 บาท
วันที่ 2 สิงหาคม 2559
ตื่นแต่เช้าเช่นเคย อาบน้ำ ทานอาหารเช้าแบบเรียบง่าย(ของที่ยังกินไม่หมด) เราเดินทางไปพระราชวังเครมลินกันแต่เช้า พอขึ้นจากรถไฟใต้ดินได้ หลุดเข้าไปจัตุรัสแดงกันเลย ปรากฏว่าผิดแผนครับ เราต้องย้อนกลับทางที่เข้าแล้วเลี้ยวซ้ายเดินตรงไปจุดจำหน่ายตั๋วเพื่อเข้าชมพระราชวัง คนละจุดกัน จุดจำหน่ายตั๋วดูให้ดีๆนะครับ ลักษณะชั้นเดียวรายรอบด้วยกระจกทั้งหมด มีป้ายจำหน่ายแบ่งเป็น ช่อง 1-10 ถ้าซื้อตั๋วเข้าพระราชวัง ต้องไปช่อง 6-7 ต้องวางแผนให้ดีว่า จะเข้าไปชมอะไรบ้างเพราะเค้าแยกออกจากกันแต่ละช่องจำหน่ายตั๋วครับ ผมซื้อคราวเดียวกัน ก็มี เข้าชมบริเวณพระราชวัง
เครมลินทั้งหมด ราคาตั๋ว 500 รูเบิล เข้าชมโบถส์บางจุดเท่านั้น ราคาตั๋ว 500 รูเบิล เข้าชมพิพิธภัณฑ์เช่นชุดนักรบ รถล้อเลื่อน ชาม ไห อลังการมาก ราคา 500 รูเบิล ทั้งหมดซื้อที่จุดจำหน่ายตั๋วได้เลยครับ ส่วนการเข้าชมเพชร ผมซื้อในคราเดียวไม่ทันครับ คิดว่าหมดหวังซะแล้ว แต่พอเราเข้าชมพิพิธภัณฑ์เสร็จ ออกประตูเดียวกับทางเข้า ส่วนห้องเครื่องเพชรทั้งหมดเขาเปิดจำหน่ายตั๋วพอดี ก็เลยถามเขาว่า เราสามารถซื้อตั๋วที่นี่ได้หรือไม่ พนักงานบอกว่า ซื้อได้ นี่แหละหนาโชคเข้าข้าง ซื้อเสร็จเข้าชม เสียงดังไม่ได้ เดินต้องเป็นระเบียบ เข้มงวดมากๆครับ ไม่เสียเที่ยวจริงๆ แต่ราคากระโดดไปที่ 700 รูเบิล บางเพจบอกว่า ให้ซื้อในคราวเดียวกัน อย่าลืมว่า นักท่องเที่ยวแยะ แถวยาวมาก จุดจำหน่ายเข้าชมเครื่องเพชร เปิดแป๊บเดียวเองครับ แล้วก็ปิด จะเปิดจำหน่ายอีกที 13.00 น.ใครจะไปรอหล่ะครับ ต้องเดินย้อนกลับมา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเมื่อเข้าชมในพระราชวังทุกจุดเสร็จเรียบร้อย เราจะต้องเดินผ่านสวนในพระราชวัง นักท่องเที่ยวหลายคนนั่งพักผ่อน ต่อจากนั้น นักท่องเที่ยวแทบทั้งหมดจะเดินไปออกประตูเดียวกัน ซึ่งบรรจบจตุรัสแดงครับ วกกลับมาไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นใครซื้อได้ก็ซื้อไปเถอะครับ รับรองว่าคุ้มจริงๆ ไม่ใช่เพชรธรรมดา แต่เป็นโคตรเพชร หาชมไม่ได้ง่ายๆครับ เมื่อชมภายในพระราชวังเครมลินเป็นที่เรียบร้อย ผมเดินทางออกซึ่งจะไปสู่จัตุรัสแดง ถือว่าเป็นใจกลางของมอสโคว์ พอเดินออกจากประตู ด้านขวาจะพบกับโบสถ์เซนต์บาเซิล ตรงข้ามคือห้าง GUM ราคาสินค้าแพงมาก แต่ก็อดไม่ได้ที่จะซื้อของฝาก เช่นน้ำหอม LEADER ที่ใช้ปธน.ปูตินเป็นPresenter ราคาสูงมาก แต่อยากได้นิครับ เสื้อยืดธรรมดาที่ด้านหน้าสกีนรูปปธน.ปูติน ตกตัวละเกือบพันบาท ห้างนี้ระบบการจำหน่ายไอศกรีมรวดเร็วและมีระบบ Packaging ดีมากๆครับ ไทยเราน่าจะศึกษาแล้วนำมาใช้บ้างก็ดีนะ ราคาไอศกรีมตกโคนละ 28 บาท ออกจากห้างเลี้ยวซ้ายเดินไปเรื่อยๆ จะมองเห็นสะพาน ระยะทางประมาณ 100 เมตร เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวใช้ถ่ายรูป หรือวิว ซึ่งก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ด้านล่างคือแม่น้ำมอสควา ดูไปแล้วคล้ายกับแม่น้ำเจ้าพระยาบ้านเรานะ ขนาดและสีน้ำ แต่ผมว่าเจ้าพระยาของเราใสกว่าแยะครับ เดินขึ้นสะพานจะมีจุดให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป ซึ่งด้านหลังที่เป็นพระราชวังเครมลิม จะใช้เป็นวิวของนักท่องเที่ยวมานักต่อนักแล้วครับ ลงสะพานเลี้ยวขวาเดินตามฟุตบาทเลียบแม่น้ำมอสควา ไปเรื่อยๆ ประมาณกิโลเมตรเศษ แล้วข้ามขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำมอสควา จะเข้าสู่ St. Saviour Cathedral เดินหน้าเข้าหาโบสถ์ ถ้ามองด้านซ้ายคือ Peter the Great Statue ด้านขวาคือพระราชวังเครมลิน จุดนี้ถือว่าแลนด์
มาร์กสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะถ่ายรูป ยิ่งถ้าพระอาทิตย์กำลังจะลาลับ ผมว่า เป็นมุมที่สวยที่สุดก็ได้ครับ St. Saviour Cathedral การเข้าชมด้านในไม่ต้องซื้อตั๋ว แต่ต้องเช็คให้ละเอียดว่า เปิดให้เข้าชมด้านในหรือไม่ หลังจากชมพร้อมกับเก็บภาพเป็นที่เรียบร้อย พวกเราเดินไปนั่งรถไฟใต้ดิน ซึ่งอยู่ห่างจาก
St. Saviour Cathedral ประมาณ 30 เมตร ถือว่าสะดวกมาก ใช้เวลาไม่นานก็ถึงที่พัก แวะซื้ออาหารไปรับประทานมื้อค่ำ ของผมซื้อข้าวกะเพรา(มีจำหน่ายครับ) ไข่เจียวยัดเนื้อไก่ ส่วนเพื่อนแดงเลือกสปาเกตตี้ กับองุ่นเป็นมื้อค่ำ เราเลือกทานกันแบบง่าย พยายามเดินหาร้านทานอาหารแต่ว่า อยู่ห่างจากที่พัก จึงไม่ได้ไปทานกัน อีกอย่างหนึ่ง เหนื่อยมาพอสมควรครับ
สรุปค่าใช่จ่าย (ค่าเข้าชมพระราชวังเครมลินและส่วนอื่น 2,200 + ค่าอาหาร184x0.55 =1,311.20 บาท
วันที่ 3 สิงหาคม 2559
เช้านี้พวกเราตื่นสายหน่อย เพราะเหลือเพียง 1 สถานที่เท่านั้นที่จะไปชม คือ พระราชวังฤดูร้อนซาริซินนา ซึ่งต้องนั่งรถไฟใต้ดินไป ต่อจากนั้นพวกเราเดิน และถามคนรัสเซีย ไปง่าย จุดรถไฟใต้ดินกับทางเดินไปพระราชวังฯ ไม่ถือว่าไกลมาก อยู่ด้านนอก เราไม่สามารถมองเห็นตัวพระราชวังได้นะครับ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อตั๋วได้จากจุดจำหน่ายติดรั้วทางเข้าขวามือ จะมีป้ายบอกไว้ ราคาตั๋ว 350 รูเบิล นักท่องเที่ยวจะต้องเดินลานน้ำพุ แล้วข้ามสะพาน ต่อจากนั้นจะเป็นทางเดินขึ้นเนิน บางอาคารปิดปรับปรุง ไม่สามารถเข้าชมได้ ต่อจากนั้นอีกไม่ถึง 100 ก็จะถึงประตูทางเข้าตัวพระราชวังด้านนอกและสวน ทางเข้าชมที่นี่แปลกนะครับ เพราะเค้าสร้างทางเข้า แล้วต้องลงไปเดินใต้ดิน คิดว่าทำเช่นนั้น จะมิทำให้บดบังทัศนียภาพของตัวอาคารพระราชวัง สุดยอดครับ เราเดินชมภายในอาคารปีกซ้าย จะเป็นเครื่องใช้ในสมัยนั้น ส่วนมากจะเน้นไปทางเซรามิกออกแนวจีนบางชิ้น การเดิมชม จะเป็นลักษณะเดินทางและเมื่อสิ้นสุดห้องนั้นๆ จะต้องเดินขึ้นบันไดต่อไปชมอีกชั้น มีทั้งหมด 3 ชั้น แต่แปลกตรงที่พวกเราไม่สามารถหาชมเช่น ห้องบรรทม ห้องทรงงาน ได้นะ พวกเครื่องใช้ต่างๆ จะถูกนำมาจัดแสดง ณ ห้องต่างๆ มากกว่าชมจากจุดที่เกิดขึ้นจริง ใช้เวลาชมที่นี่ไม่นานเท่าใด เพราะพวกเราผ่านสิ่งที่เรียกว่า อลังการงานสร้างมาก่อนหน้านี้แล้ว พระราชวังแห่งนี้จึงดูธรรมดาไปเลยครับ หลังจากที่พวกเราชมพระราชวังฯเสร็จเรียบร้อย พวกเราสรุปกันว่า ขอกลับไปพักผ่อน เพราะต้องเดินทางไปสนามบินแต่เช้า
สรุปค่าใช่จ่าย (ค่าเข้าชม พระราชวังฤดูร้อนซาริซินนา 350 + ค่าอาหารกลางวัน 195 x0.55 =299.75 บาท
วันที่ 4 สิงหาคม 2559
พวกเราตื่นแต่เช้า กินกาแฟกับขนมปังง่ายๆ เพราะต้องรีบไปไม่เช่นนั้นรถจะติด ระยะทางไกลพอสมควร จ้างแท็กซี่ร่วมกับ Mr.Martin เป็นชาวเยอรมันนี ค่ารถรวม 900 แต่เรา 2 คนช่วยแชร์ค่ารถไป 500 รูเบิล จะว่าไปขาเข้ารัสเซีย ไม่มีพิธีรีตองใดๆ ง่ายมาก แต่ขาออกยากกว่านะ สาวแดงถูกซักถามจ้าละหวั่น เนื่องจากพวกเราต้องไปต่อเครื่องที่คาซัคสถาน จึงทำให้การตรวจตราเข้มงวดมากๆ หน้าตาเจ้าหน้าที่ ไม่มีครับเรื่องยิ้ม ผมงี้สบตากะเธอตลอด ถามหาตั๋วจากคาซัคสถานไปกรุงเทพ และแค่ดูเท่านั้น จบ แต่สาวแดงบ่นเป็นหมีกินผึ้ง บอกว่า ถามเยอะ ถามแยะเกิ๊น555
สรุปค่าใช่จ่ายทั้งหมด 33,985.90 บาท
โฆษณา