23 พ.ค. 2020 เวลา 13:40 • ประวัติศาสตร์
พระเจ้าเอกทัศน์ แพะรับบาปในประวัติศาสตร์อันน่าอับอายของอยุธยา
3
"พระเจ้าเอกทัศน์" ทรงอ่อนแอ โง่เขลา ลุ่มหลงในสุรา นารี ไม่สนใจการศึกสงครามที่ประชิดบ้านเมือง จึงทำ ให้กรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกจริงหรือ ?
“เมื่อเก้าค่ำข้างขึ้นในเดือนหน้า
แต่ทิวาฟ้าหม่นสับสนแสน
เหมือนปีกุนปีนั้นช่างขาดแคลน
อันเมืองแมนมลายลับลงอับจน
เสียงปืนใหญ่ระดมยิงอย่างบ้าคลั่ง
เลือดไหลหลั่งดั่งคล้ายเป็นสายฝน
ที่ต่อตีตายตกโศกสกล
ต้องทุกข์ทนอยู่เป็นทาสชาติรามัญ” [1]
เหตุการณ์ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ได้ถูกเล่าขานไปต่างๆนานาอย่างออกรส หลากหลายรูปแบบ หลายรสชาติคลุกเคล้าปนๆกันไป มีตั้งแต่การเสริมรสให้หวานละมุนลิ้นจนเคลิบเคลิ้มคล้อยตามไป บางครั้งเผ็ดร้อนซาบซ่านจนเลือดสูบฉีดไปทั่วร่างกาย และมีอีกหลายรสชาติซึ่งถูกปรุงแต่งไปตามปรกติวิสัยของมนุษย์ ซึ่งหนึ่งในเรื่องยอดนิยมที่พวกเรามักจะเคยได้ยินกันเป็นประจำก็คือ เรื่องพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของอยุธยา ราชธานีสีทองผ่องอำไพ บนเกาะกลางแม่น้ำสามสายแห่งนี้
1
พระมหากษัตริย์ผู้บ้ากาม ลุ่มหลงในอิสตรีจนไม่ยอมให้เหล่าทแกล้วทหารทั้งหลาย ยิงปืนใหญ่ต่อสู่กับพม่าข้าศึก เพราะเกรงว่าเสียงดังจากการยิงปืนใหญ่จะทำให้เหล่าสนม นางกำนัลของพระองค์นั้น ตกอกตกใจ ขวัญหนีดีฝ่อกันเสียหมด หรือการที่ทรงไม่ยอมส่งปืนใหญ่เพียงไม่กี่กระบอกไปช่วยชาวบ้านบางระจันเพื่อสู้รบข้าศึก จนทำให้ชาวบ้านผู้กล้าหาญบ้านแตกสาแหรกขาด ตายตกตามกันเป็นเบือ เรารู้จักกษัตริย์ผู้นั้นในนามของ พระเจ้าเอกทัศน์ หรือ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 หรือ ขุนหลวงขี้เลื้อน ตามแต่อัธยาศัย
พระมหากษัตริย์ที่ อ่อนแอ และไม่สนพระทัยใน ราชการแผ่นดิน จนทำให้ต้องเสียกรุงแต่พระมหากษัตริย์ที่ทรง อ่อนแอ หรือจะทรงสามารถรักษากรุงได้นานถึงสามปี”
ข้าพเจ้ามักจะได้ยินคำพูดจากอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งในสมัยที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยอยู่เสมอว่า เราต้องมองป่าทั้งผืน ไม่ใช่มองต้นไม้เพียงต้นเดียวแล้วตีความ ซึ่งประวัติศาสตร์ก็เช่นกัน โดยก่อนอื่น ท่านทั้งหลายจะมองว่าการเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นเพราะความอ่อนแอของพระเจ้าเอกทัศน์แต่เพียงผู้เดียว ความคิดนี้เห็นทีจะไม่ถูกต้องเสียเท่าไรนัก เราต้องมองตัวแปรอื่นๆร่วมด้วย
3
นับจากสงครามกับพระเจ้าหงสาวดีในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อาณาจักรอยุธยาก็เว้นว่างจากสงครามกับรัฐต่างชาติกว่าร้อยปี ในพุทธศตวรรษที่ 23 ซึ่งเป็นยุคที่ต้องเผชิญปัญหาการคุกคามอำนาจจากขุนนาง กษัตริย์พระองค์แรกๆของราชวงศ์บ้านพลูหลวงสามารถปราบปรามกบฏหัวเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ
3
มีการดำเนินนโยบายตั้งแต่การกีดกัน บั่นทอน ลดทอนอำนาจของหัวเมืองต่างๆลง เพื่อมิให้มีความเข้มแข็ง ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจหรือทางการเมือง ด้วยเหตุที่ระแวงว่าจะเป็นอันตรายต่ออำนาจของรัฐบาลกลาง
1
โดยจุดมุ่งหมายหลักของการปกครองในราชวงศ์บ้านพลูหลวงคือการจัดให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองภายใน ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด การรันตีโดยการเป็นราชวงศ์ที่ปกครองอยุธยายาวนานที่สุดนับตั้งแต่สิ้นราชวงศ์สุวรรณภูมิ เป็นต้นมา
1
แต่ผลจากความสำเร็จนี้ก็คือความอ่อนแอในระบบการป้องกันตัวเอง อย่าลืมว่าปัญหาที่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงต้องเผชิญเมื่อกาลก่อน ไม่ใช่การคุกคามจากต่างประเทศ แต่เป็นการคุกคามจากขุนนางในพระนครและหัวเมือง การแก้ปัญหาจึงกระทำให้ตรงจุดที่ต้องเผชิญอยู่
3
ภาพจำลองการเก่งแย่งอำนาจภายในราชสำนักอยุธยา
ในรัชกาลของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งเรียกกันว่า “ครั้นบ้านเมืองดี” ในสมัยนี้เองก็มีหลักฐานว่ามีเลกไพร่ที่ไม่มีมูลนายหลบหลีกอยู่ทั่วไป ในปี พ.ศ.2285 ทรงโปรดฯให้สมุหนายกออกไปเกลี้ยกล่อมเฉพาะในแขวงหัวเมืองใกล้กรุงศรีอยุธยา ได้แก่ วิเศษชัยชาญ สุพรรณบุรี นครชัยศรี พรหมบุรี อินทบุรี สิงคบุรี ชัยนาทบุรี มโนรมย์ อุทัยธานี นครสวรรค์ ก็ปรากฏว่าได้เลขสักมาหลายหมื่นคน
3
การปราศจากประสิทธิภาพในการควบคุมกำลังพลในหัวเมืองเช่นนี้ การเรียกเกณฑ์ทัพใหญ่ในเวลารวดเร็วพอสมควรแก่เหตุการณ์จึงเป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้ การป้องกันตนเองที่ต้องอาศัยระบบราชการที่มีประสิทธิภาพจึงพังสลายลง ในขณะที่หัวเมืองแตกแยกระส่ำระสาย การเกณฑ์ทัพไปตั้งรับข้าศึกอย่างได้มีประสิทธิภาพจึงทำไม่ได้ เพราะนโยบายที่กดขี่หัวเมืองมานานปี ย่อมทำให้ความอ่อนแอแก่หัวเมืองจนเกินกว่าจะเป็นกำลังอันแข็งแกร่งสำหรับป้องกันพระนครได้ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการไหลออกของไพร่หลวงไปเป็นไพร่สมซึ่งสังกัดไว้ไม่อยู่อีกด้วย
2
ความอ่อนแอของระบบป้องกันตัวเองจากรัฐต่างประเทศนี้มาแสดงให้เห็นชัดขึ้นเมื่อราชวงศ์อลองพญาได้รวบรวมรัฐเล็กรัฐน้อยในพม่าให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ถึงตอนนั้นก็นับว่าสายเกินไปเสียแล้วที่จะมีการปรับตัวในราชอาณาจักรอยุธยา
ยิ่งหลังจากศึกอลองพญาแล้ว ภาคกลางของประเทศยิ่งดูเหมือรอยู่ในสภาวะไร้ระเบียบมากขึ้น พวกมอญอพยพจากทวายจำนวน 1,000 คน ได้ก่อการกบฏ ยกกำลังเข้าตีเมืองนครนายกกรุงต้องส่งกำลังไปปราบปรามแต่พวกมอญก็พากันหนีไปทางเมืองหล่มสัก ซึ่งทางกรุงไม่สามารถติดตามตัวกลับมาได้ เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมหัวเมืองอย่างแท้จริงของรัฐบาลกลาง แม้ว่าจะสามารถตั้งคนของตนไปเป็นเจ้าเมืองของหัวเมืองได้ก็ตาม
1
พระเจ้าอลองพญาจากภาพยนตร์ซีรีส์ศรีอโยธยา แสดงโดย ทิน โชคกมลกิจ
ความล้มเหลวของรัฐบาลอยุธยาในการเผชิญกับการรุกรานของพม่าระหว่าง พ.ศ.2307-2310 มีหลักฐานกล่าวถึงไว้หลายแห่ง แต่ควรเข้าใจความล้มเหลวนี้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของความอ่อนแอจากระบบป้องกันตัวเองทั้งระบบมากกว่าความล้มเหลวหรือความอ่อนแอของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เพราะอันที่จริงแล้วคนที่มีส่วนในการสร้างวีรกรรมในภายหลังก็ล้วนเป็นผู้ที่มีชีวิตร่วมสมัย หรือแม้แต่มีบทบาทในการป้องกันพระนครศรีอยุธยาอย่างไร้ประสิทธิภาพมาด้วยกันทั้งสิ้น
การพิจารณาความอ่อนแอที่แฝงอยู่ในระบบป้องกันตนเองของราชอาณาจักรอยุธยาโดยศึกษาจากกรณีที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2307-2310 นี้ จะช่วยให้เข้าใจสภาพที่แท้จริงของความอ่อนแอนั้นและทำให้เข้าใจปัญหาที่ผู้นำใหม่จะต้องเผชิญอย่างแท้จริง จึงควรพิจารณาดูการสงครามนี้อย่างละเอียดมากขึ้น [2]
ในทัศนะของศาสตราจารย์ สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์ และเป็นอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นว่า ผู้ชำระพงศาวดารไทยไม่ได้ระบุพระราชกรณียกิจของพระเจ้าเอกทัศ ซ้ำยังกล่าวพาดพิงในแง่ร้ายอยู่บ่อยครั้ง หากแต่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ กลับมีการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์พระองค์นี้อย่างชื่นชม
ซากโบราณสถานวัดพระศรีสรรเพชญ์ ภายในพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหลงเหลือจากสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
คำให้การชาวกรุงเก่า ปรากฏความว่า "พระมหากษัตริย์พระองค์นี้” ทรงพระกรุณากับอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง แผ่เมตตาไปทั่วสารพัดสัตว์ทั้งปวง"
ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ปรากฏความว่า "พระองค์ตั้งอยู่ในธรรมสุจริต บพิตรเสด็จไปถวายนมัสการพระศรีสรรเพชทุกเพลามิได้ขาด พระบาทจงกรมอยู่เป็นนิจ บพิตรตั้งอยู่ในทศพิธสิบประการ แล้วครอบครองกรุงขันธสีมา ทั้งสมณพราหมณ์ก็ชื่นชมยินดีปรีเปนศุขนิราชทุกขไภย ด้วยเมตตาบารมีทั้งฝนก็ดีบริบูรณภูลความศุกมิได้ดาล ทั้งข้าวปลาอาหารและผลไม้มีรสโอชา ฝูงอาณาประชาราษฎร์และชาวนิคมชนบทก็อยู่เยนเกษมสานต์ มีแต่จะชักชวนกันทำบุญให้ทาน และการมโหรสพต่าง ๆ ทั้งนักปราชผู้ยากผู้ดีมีแต่ความศุกที่ทุกขอบขันธสีมา"
3
นอกจากนี้ จากหลักฐานทั้งสอง ยังได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระเจ้าเอกทัศ เช่น ทรงออกพระราชบัญญัติเครื่องชั่ง ตวง วัดต่าง ๆ, มาตราเงินบาท สลึง เฟื้องให้เที่ยงตรง และโปรดให้ยกเลิกภาษีอากรต่างๆ เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้ง "ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บ้านเมืองสงบ การค้าขายเจริญ ทรงบริจาคทรัพย์ให้แก่คนยากจนจำนวนมาก"
ในประวัติศาสตร์ไทย พระเจ้าเอกทัศเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกกล่าวถึงในแง่ร้ายเรื่อยมา และถูกจดจำในฐานะ "บุคคลที่ไม่มีใครอยากจะตกอยู่ในฐานะเดียวกัน" เหตุเพราะไม่สามารถป้องกันกรุงศรีอยุธยาให้พ้นจากข้าศึก ทั้งนี้ คนไทยที่เหลือรอดมาถึงสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นถือเอาว่า พระองค์ควรรับผิดชอบการเสียกรุงครั้งที่สองร่วมกับพระเจ้าอุทุมพร [3]
1
แนวกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา ริมแม่น้ำป่าสักในปัจจุบัน
ส่วนพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่มัก กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญๆ เท่านั้น และเรื่องราวการสงครามระหว่างอยุธยาและพม่าช่วงปลายรัชกาลถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ไม่ปรากฏเรื่องราวพระราชกรณียกิจของกษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่
แม้แต่เพลงเพลงยาวนิราศเสด็จไปตีเมืองพม่า พระนิพนธ์ในสมเด็จฯกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อครั้งเสด็จไป ตีเมืองพม่า เมื่อ พ.ศ.2336 ทรงพระราชนิพนธ์เพลงยาวนิราศนี้ขึ้นแทนที่นิราศนั้นจะรำพึงถึงหญิงอันเป็นที่รักที่ต้องห่างจากกัน แต่กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาททรงหวนรำลึกถึง
พระนครศรีอยุธยาอันรุ่งเรืองและในนิราศเพลงยาวนี้ยังทรงกล่าวถึงความประมาทการที่ทรงมีพระเมตตามากล้นเกินพอดีของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์สุดท้ายของพระนครแห่งนี้ไว้ด้วย ความว่า
“ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลเหตุ จะอาเพศกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่
มิได้พิจารณาข้าไท เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา
ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา
สุภาษิตท่านกล่าวเป็นราวมา จะตั้งแต่งเสนาธิบดี
ไม่ควรจะให้อัครฐาน จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา”
ภาพนี้คือ พระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์อยุธยา (เดิมเข้าใจคาดเคลื่อนว่าเป็นภาพสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) ในสมุดพม่าชื่อ “นั้นเตวั้งรุปซุงประบุท” แปลว่า “เอกสารการบันทึกราชสำนัก พร้อมด้วยภาพเขียน” ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ British Library กรุงลอนดอน
นิราศดังกล่าว ถึงไม่ใช่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ทางการที่ชัดเจนแต่เพลงยาวนิราศเรื่องนี้ก็ทำให้ผู้อ่านเข้าใจสภาพการณ์ในช่วงการเสียกรุงฯ ได้เป็นอย่างดีจากมุมมองของผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์
ทางด้านการปฏิบัติของอาณาจักรอยุธยา พระเจ้าเอกทัศทรงระดมทหารครั้งใหญ่ในราชอาณาจักรตั้งแต่มังมหานรธายกกองทัพลงใต้มายึดทวายเป็นการถาวรเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2307 การป้องกันด้านทิศใต้ประกอบด้วยทหารมากกว่า 60,000 นาย ซึ่งพระเจ้าเอกทัศทรงวาง "กำลังที่ดีที่สุด" ไว้ตลอดทางตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ด่านเจดีย์สามองค์มาจนถึงกาญจนบุรี ผ่านทวาย ไปจนถึงอ่าวไทยที่อยู่ทางใต้สุดเพื่อรับมือกับมังมหานรธา ส่วนทางด้านทิศเหนือ แนวป้องกันหลักของอยุธยาเริ่มตั้งแต่สุโขทัยและพิษณุโลก ส่วนการป้องกันที่อยู่เหนือไปกว่านี้มีการจัดตั้งเป็นค่ายทหารขนาดเล็กโดยผู้นำท้องถิ่น
ฝ่ายอยุธยายังคงเน้นการตั้งรับในพระนคร โดยใช้แผนตั้งรับจนถึงฤดูน้ำหลากแล้วรอจนกองทัพข้าศึกถอยทัพกลับไปเอง ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้เอาชนะข้าศึกมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ฝ่ายอยุธยายังมีเงินพอจะซื้อปืนคาบศิลาและปืนใหญ่ด้วย ปืนใหญ่บางกระบอกยาวถึง 9 เมตร และยิงลูกปืนใหญ่น้ำหนักกว่า 45 กิโลกรัม และครั้งเมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตก ทหารพม่าได้ไปพบปืนคาบศิลาใหม่กว่า 10,000 กระบอก และเครื่องกระสุนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ใช้ แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างการล้อมนาน 14 เดือนก็ตาม นอกจากนี้ ฝ่ายอยุธยายังได้มีการใช้ทหารรับจ้างต่างด้าวเพื่อเสริมทัพด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปและชาวจีน
พระเจ้าเอกทัศน์ ฉบับละครฟ้าใหม่
นอกจากนี้สภาพของพระนครศรีอยุธยาในขณะนั้น “มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า” หลักฐานฝ่ายพม่าบันทึกว่า
“ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาพระองค์ได้จัดให้ออกมารบครั้งใดก็มิได้ชนะ มีแต่พ่ายแพ้แตกหนีล้มตายไปทุกที ถึงกระนั้นก็ดีพระองค์มิได้ทรงย่อท้อหย่อนพระหัดถ์เลย พระองค์ทรงรับสั่งให้ช่างก่อสร้างทำเรือรบแลเรือกำปั่นเปนอันมาก
ครั้นช่างทำเรือเหล่านั้นเสร็จแล้ว พระองค์ทรงรับสั่งให้พลทหารทั้งปวงเอาปืนใหญ่น้อยบรรทุกเรือ นั้นทุกๆ ลำแล้วทรงรับสั่งให้พลทหารถอยเอาเรือเหล่านั้นไปรักษาทางน้ำไว้โดยแน่นหนา เมื่อพระองค์จัดทางน้ำเสร็จแล้วพระองค์ทรงรับสั่งให้พลทหารก่อสร้างทำป้อมอิฐสำหรับสู้รบให้ล้อมพระนคร 50 ป้อม แต่ป้อมที่ทำนั้นห่างจากคูเมืองไป 500 เส้น รับสั่งให้ทำทั้งกลางวันกลางคืน
ครั้นทำเสร็จแล้วรับสั่งให้เอาเสบียงอาหารทั้งปวงเข้าไว้ในป้อมนั้น แล้วรับสั่งให้พลทหารเอาปืนใหญ่น้อยสาสตราอาวุธทั้งปวงขึ้นรักษาอยู่ที่ป้อมนั้นโดยกวดขัน แล้วทรงรับสั่งให้ลงขวากช้างขวากม้า ขวากคนแลหนามเสี้ยน แลขุดลวงดักไว้ให้ข้าศึกตกทุกหนทุกแห่ง ฝ่ายทางน้ำเล่าพระองค์ก็ทรงรับสั่งให้ลงขวากหนามแลตอไม้ทั้งปวงไว้ มิให้ข้าศึกเข้ามาได้ ครั้นทรงจัดเสร็จแล้วก็ให้รักษาเมืองตั้งมั่นอยู่”
ข้อมูลจากเอกสารพม่าข้างต้น พระเจ้าเอกทัศน์และราชสำนักอยุธยาไม่ได้หวั่นไหว หรือย่อท้อในการศึก แต่ทรงยืนหยัดต่อสู้กับศัตรูอย่างหนักแน่น และมีการเตรียมพร้อมป้องกันเรื่องป้อมค่ายต่างๆ [4]
"ป้อมเพชร" ถือเป็นป้อมที่สำคัญ และใหญ่ที่สุดป้อมหนึ่ง ตัวป้อมถูกก่อด้วยอิฐสลับกับศิลาแลง ลักษณะรูปทรงป้อม เป็นแบบ 6 เหลี่ยม ยื่นออกไปจากแนวกำแพงเมือง มีเชิงเทินหรือช่องคูหา 8 ช่อง ที่ก่อเป็นรูปโค้งมนครึ่งวงกลม
อย่างไรก็ตาม แนวคิดซึ่งปรากฏในงานเขียนทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่ได้พยายามมองประเด็นที่ต่างออกไปว่า พระองค์มิใช่กษัตริย์ที่อ่อนแอ หากแต่เป็นกษัตริย์ชาตินักรบพระองค์หนึ่ง และมองว่าประวัติศาสตร์ซึ่งยึดถือกันมานี้ถูกครอบงำจากเงื่อนไขทางการเมืองของชนชั้นผู้ปกครองในภายหลัง
แต่ก็มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ปกครองในสมัยอยุธยาตอนปลายต่างก็แย่งชิงความเป็นใหญ่กันเอง บ้านเมืองสูญเสียกำลังพลและขุนนางเป็นจำนวนมากในสงครามกลางเมือง ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสรุปว่า
1
"ไทยอ่อนกำลังลงด้วยการจลาจลในประเทศ ไทยด้วยกันมุ่งหมายกำจัดพวกเดียวกันเอง เนื่องจากการชิงราชสมบัติมาหลายซับซ้อนนับตั้งแต่สิ้นสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นต้นมา กรุงศรีอยุธยาจึงทรุดโทรมลงเป็นลำดับ"
ภาพจำลอง 3D วัดพระศรีสรรเพชญ์
การที่รัฐบาลกลางของอยุธยามีการควบคุมอำนาจท้องถิ่นอย่างหละหลวม ทำให้กรุงศรีอยุธยามีอำนาจและความสามารถในการป้องกันตนเองที่จำกัด เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทัพหัวเมือง ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลกลาง ซึ่งแนวคิดดังกล่าว นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เน้นเป็นพิเศษ และกล่าวว่าการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง "เป็นความล้มเหลวของระบบป้องกันตนเองของอาณาจักรมากกว่าความผิดของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งเท่านั้น" ความเสื่อมโทรมของระบบการป้องกันตนเองของอาณาจักรอยุธยาอีกประการหนึ่ง คือ จำนวนไพร่ที่สามารถเรียกเกณฑ์เข้าสู่กองทัพมีน้อย เพราะรัฐบาลได้สูญเสียไพร่ให้กับเจ้านายและขุนนางไปเป็นอันมาก และอีกจำนวนหนึ่งก็หลีกเลี่ยงการขึ้นทะเบียน เช่น ชาวบ้านบางระจัน
ความซวยของพระเจ้าเอกทัศน์ประการแรกคือ ทรงต้องเผชิญหน้ากับกองทัพของกษัตริย์ผู้เก่งฉกาจ แม้พระเจ้ามังระจะไม่ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เอง แต่มีการวางแผนตระเตรียมการมาอย่างรอบครอบ ทรงปิดจุดอ่อนเมื่อคราวศึกอลองพญาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทรงทำได้ก่อนเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา ประกอบกับความซวยประการที่สองของพระเจ้าเอกทัศน์คือ ระบบป้องกันตนเองที่อ่อนแอและระบบการควบคุมกำลังคนที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่พระเจ้าเอกทัศน์ก็ทรงต้านทานแสนยานุภาพของกองทัพพม่าไว้ได้เป็นปี (ประมาณ 14 เดือน) สุดท้ายก็ต้องพ่ายให้แก่ศัตรูและตกเป็นแพะให้อนุชนรุ่นหลังก่นด่าอย่างน่าสงสาร
3
ปีเตอร์ สามารถแสดงให้เห็นถึงพระราชภารกิจอัน หนักอึ้ง ในฐานะที่ทรงเป็น พ่อเมือง และทรงเป็น พระราชบิดา ของพระราชโอรส และพระราชธิดา ในขณะที่ มหาสงคราม กำลังถาโถมเข้ามาสู่ กรุงศรีฯได้อย่าง ยอดเยี่ยม และ ลึกซึ้ง ทำให้ ตัวละคร ใน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศ มี มิติ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” หม่อมน้อยกล่าว
เหรียญมีสองด้านเปรียบกับคนเราย่อมมีดีและเลวปะปนกันไป อย่าตัดสินคนเพียงเพราะเชื่อหรือเห็นความจริงเพียงด้านเดียวควรดูพินิจพิจารณาให้รอบคอบแล้วย้อนกลับมามองตัวเองว่าดีหรือไม่ดีเช่นเดียวกันกับที่ตัวเรามองเขาหรือไม่ และประวัติศาสตร์ก็เป็นเช่นนี้ ทุกครั้งที่มีการค้นพบข้อมูลใหม่ๆ ที่น่าเชื่อถือขึ้น ก็จะมีการพลิกโฉมหน้าที่ต่างจากเดิมในอดีต
แหล่งอ้างอิง
[1] ไชยกร. (2010, May 20). เสียกรุง. Thaipoem (Online) สืบค้นจาก
[2] นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2019) การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด. สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 1-78
[3] ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา. (2016, January 18). สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ (Online) สืบค้นจาก
[4] วิภา จิรภาไพศาล. (2017, September 17). หลักฐานต่างชาติกับเหตุการณ์ใกล้เสียกรุง พระยาตากสินตีฝ่าวงล้อมตาม ‘รับสั่ง’. มติชนออนไลน์ (Online) สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_731394
[5] Wikipedia. การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง (Online) สืบค้นจาก
โฆษณา