23 พ.ค. 2020 เวลา 14:51 • ธุรกิจ
E-Donation สำหรับคริสตจักรในประเทศไทย
เชื่อว่าหลายๆท่านคงยังมีความสงสัยในระบบ E-Donation ของกรมสรรพากรกันอยู่ บทความนี้จะอธิบายระบบการหักภาษีในรูปแบบของ E-Donation วิธีการสมัครใช้ระบบทั้งในส่วนของสรรพากรและธนาคาร รวมไปถึงระบบการจัดการภายในคริสตจักร บทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคริสตจักรในประเทศไทยที่ต้องการให้สมาชิกสามารถหักภาษีได้จากเงินถวาย หรือที่เรียกในภาษากฎหมายว่าเงินบริจาค บทความนี้จะพูดถึงหน่วยรับบริจาคในภาพของคริสตจักรเป็นหลัก แต่เนื้อหาส่วนมากสามารถนำไปปรับใช้กับองค์กรอื่นๆ เช่น โรงเรียน หรือ มูลนิธิ ได้เช่นกัน
E-Donation คืออะไร?
ระบบ E-Donation คือระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับข้อมูลการรับบริจาค และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริจาคให้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้โดยไม่ต้องนำหลักฐานมาแสดงต่อกรมสรรพากร หน่วยงานที่สามารถรับบริจาคได้มีดังต่อไปนี้
หน่วยงานที่สามารถรับบริจาคผ่านระบบ E-Donation
โดยสถานศึกษา และโรงพยาบาลบางแห่งสามารถหักภาษีได้ 2 เท่า สามารถเช็ครายชื่อสถานประกอบการได้จาก Website ของกรมสรรพากร
สำหรับระบบเดิมนั้น เมื่อสมาชิกได้ถวายเงินให้กับคริสจักรแล้ว คริสตจักรจะออกใบเสร็จให้ เพื่อให้สมาชิกท่านนั้นเก็บไว้และนำไปเป็นหลักฐานการหักภาษีเมื่อสิ้นสุดปีปฎิทิน เมื่อมองจากมุมของสรรพากร ระบบนี้มีช่องว่างมากและสามารถตรวจสอบได้ยากเนื่องจากหลักฐานทุกอย่างเป็นกระดาษซึ่งไม่สามารถเชื่อมโยงไปยังผู้ออกใบเสร็จได้ มีข่าวเรื่องการขายใบเสร็จเกิดขึ้นมากมาย คือการที่คนบริจาคเงินจำนวนน้อย เพื่อซื้อใบเสร็จที่มีมูลค่ามาก เช่น จ่ายเงิน 1,000 บาทเพื่อซื้อใบเสร็จที่มีมูลค่า 100,000 บาทแล้วนำไปหักภาษี ด้วยเหตุนี้ ระบบ E-Donation จึงเกิดขึ้นเพื่อยับยั้งช่องว่างเหล่านี้ หากมองจากมุมของผู้ที่ไม่เคยทุจริตเช่นเราๆแล้ว ระบบนี้ก็มีข้อดีอย่างมากตรงที่จะช่วยให้การทำงานของคริสตจักรง่ายขึ้น เราไม่จำเป็นต้องออกใบเสร็จกระดาษอีกต่อไป และสมาชิกก็ไม่จำเป็นต้องกลัวใบเสร็จหายอีกต่อไป เนื่องจากข้อมูลทุกอย่างถูกบันทึกไว้กับสรรพากรเรียบร้อยแล้ว
ติดต่อสรรพากร
ในการจะเริ่มใช้ระบบ E-Donation นั้น มี 2 หน่วยงานหลักที่คริสตจักรจะต้องไปติดต่อ คือกรมสรรพากร และธนาคาร โดยขั้นตอนแรก คริสตจักรจะต้องติดต่อกรมสรรพากรก่อน เพื่อดำเนินการทั้งหมด 2 เรื่อง คือจดทะเบียนนิติบุคคล และ สมัครเป็นผู้รับบริจาคในระบบ E-Donation
1. จดทะเบียนนิติบุคคล
ในขั้นตอนแรก คริสตจักรจะต้องจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อให้ได้รับเลขประจำตัวนิติบุคคล 13 หลัก (หากคริสตจักรใดมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอยู่แล้ว สามารถข้ามขั้นตอนนี้ได้เลย)
ในการจดทะเบียนนั้นคริสตจักรจะต้องติดต่อที่สรรพากรอำเภอในท้องที่ที่คริสตจักรของท่านตั้งอยู่ เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนจากประสบการณ์ของผู้เขียนบทความ คือ
หนังสือรับรองคริสตจักร (หากเป็นคริสจักรในสังกัดสภาคริสตจักรในประเทศไทย สามารถใช้หนังสือรับรองจากสภาได้)
หนังสือแต่งตั้งผู้มีอำนาจ (อาจเป็นอาจารย์ประจำคริสตจักรหรือประธานธรรมกิจ สามารถใช้รายงานการประชุมที่มีมติแต่งตั้งแทนได้)
สำเนาบัตรประชาชนของผู้มีอำนาจ
หนังสือมอบอำนาจ
ใบคำขอจดทะเบียนนิติบุคคล (สามารถขอได้ที่สรรพากรอำเภอ)
ทั้งนี้ รายการเอกสารและความเข้มงวดในข้อกำหนดของเอกสารแต่ละประเภทอาจแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ท่านสามารถสอบถามกรมสรรพากรในท้องที่ของท่านเกี่ยวกับเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนเพื่อความมั่นใจ
เมื่อจดทะเบียนสำเร็จแล้ว ท่านจะได้รับกระดาษใบเล็กๆรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสสีเหลือง เขียนว่าบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก ถือเป็นการสำเร็จเรียบร้อยสำหรับขั้นตอนแรก
2. ลงทะเบียนเพื่อเป็นหน่วยรับบริจาคในระบบ E-Donation
เมื่อได้รับเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลักแล้ว คริสตจักรนำเลขนั้นมาลงทะเบียนออนไลน์ในระบบ E-Donation ได้ที่เว็บไซต์นี้ https://edonation.rd.go.th/donate/Index_MDonate.jsp เมื่อลงทะเบียนสำเร็จแล้ว พิมพ์ใบลงทะเบียนจากเว็บไซต์ พร้อมเอกสารดังต่อไปนี้
สำเนาหนังสือจัดตั้งหน่วยรับบริจาค หรือ หนังสือรับรองคริสตจักร (หากเป็นคริสจักรในสังกัดสภาคริสตจักรในประเทศไทย สามารถใช้หนังสือรับรองจากสภาได้)
หนังสือแต่งตั้งผู้มีอำนาจ (อาจเป็นอาจารย์ประจำคริสตจักรหรือประธานธรรมกิจ สามารถใช้รายงานการประชุมที่มีมติแต่งตั้งแทนได้)
สำเนาบัตรประชาชนของผู้มีอำนาจ
หนังสือมอบอำนาจ
นำเอกสารทั้งหมดไปยื่นที่สรรพากรท้องที่อีกครั้ง ภายใน 7 วันหลังจากยื่นเอกสาร คริสตจักรจะได้รับอีเมลจากกรมสรรพากร (คริสตจักรระบุอีเมลที่ต้องการใช้ตอนลงทะเบียนออนไลน์) ในอีเมลจะระบุพาสเวิร์ดสำหรับการใช้งานระบบครั้งแรก สามารถเข้าระบบได้ที่เว็บไซต์นี้ https://edonation.rd.go.th/donate/Login_M.jsp
ติดต่อธนาคาร
หลังจากจบขั้นตอนการติดต่อกรมสรรพากร คริสตจักรสามารถใช้งานระบบได้เลยหากต้องการรับเงินถวายเป็นเงินสดเท่านั้น แต่หากคริสตจักรต้องการรับเงินถวายผ่านทางช่องทางออนไลน์ด้วย คริสตจักรต้องติดต่อธนาคารใน 3 เรื่อง คือการเปิดบัญชี การเปิดใช้บริการ Internet Banking และ การขอใช้ QR Code สำหรับการรับบริจาค
1. เปิดบัญชี
เชื่อว่าคริสตจักรส่วนมากน่าจะมีบัญชีของคริสตจักรอยู่แล้ว สามารถข้ามขั้นตอนนี้ได้เลย แต่หากบัญชีที่ใช้ในคริสตจักรเป็นบัญชีชื่อบุคคลธรรมดา คริสตจักรต้องเปิดบัญชีใหม่ที่เป็นชื่อคริสตจักร ซึ่งชื่อที่เปิดบัญชีนั้นจะต้องตรงกับชื่อที่ใช้จดทะเบียนนิติบุคคล คริสตจักรสามารถนำเลขที่ผู้เสียภาษี 13 หลักที่ได้รับในขั้นตอนแรกมาเปิดบัญชีกับธนาคาร 1 ใน 8 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทีเอ็มบี ธนาคารธนชาต ธนาคารมิซูโฮ และธนาคารออมสิน (ข้อมูลล่าสุดจากสรรพากรเมื่อมกราคม 2562 ปัจจุบันอาจมีธนาคารรองรับมากกว่าที่กล่าว)
2. เปิดใช้บริการ Internet Banking
หากคริสตจักรมีการใช้ Internet Banking อยู่แล้ว สามารถข้ามขั้นตอนนี้ได้เลย คริสตจักรควรสมัคร Internet Banking เนื่องจากข้อมูลการถวายผ่านช่องทาง QR Code จะสามารถเรียกดูเป็นรายการย่อยได้ผ่านช่องทาง Internet Banking รายการย่อยอาจถูกรวบเป็นก้อนใหญ่ในสมุดบัญชีหรือ Bank Statement ทำให้ไม่สามารถมองเห็นรายการย่อยได้ในช่องทางเดิมๆ คริสตจักรสามารถขอสมัครใช้บริการ Internet Banking ได้ที่สาขาของธนาคารที่ท่านเปิดบัญชี โดยเอกสารที่ต้องใช้จะแตกต่างกันไปในแต่ละธนาคาร จากประสบการณ์ สิ่งที่ต้องใช้จะมี หนังสือรับรองคริสตจักร (เช่นเดียวกับขั้นตอนการติดต่อกรมสรรพากร คริสตจักรอาจขอหนังสือรับรองไว้เผื่อสำหรับติดต่อธนาคารด้วยเลยในขั้นตอนแรก) รายงานการประชุมที่มีมติให้สมัคร Internet Banking และ บัตรประจำตัวผู้มีอำนาจ รายละเอียดอื่นๆอาจแตกต่างกันไปในแต่ละธนาคาร
3. ขอใช้ QR Code สำหรับการรับบริจาค
คริสตจักรต้องติดต่อสาขาธนาคารที่ท่านเปิดบัญชี เพื่อสมัครใช้บริการ QR Code “สำหรับการรับบริจาค” เอกสารที่ใช้ในการสมัครบริการจะแตกต่างกันไปในแต่ละธนาคารแต่โดยรวมแล้วอาจคล้ายคลึงกับเอกสารที่ใช้ในการเปิดบัญชีในข้อที่ 2
QR Code ที่ออกโดยธนาคารนั้นจะสามารถระบุเลข Reference ได้ โดยคริสตจักรอาจขอเลข Reference เผื่อไว้จำนวนมาก เพื่อนำมาใช้ในหัวข้อการถวายที่แตกต่างกัน เช่น กำหนดเลข Reference เป็นเลข 01 - 10 และคริสตจักรนำมาบริหารภายในคริสตจักรว่า เลข 01 จะใช้สำหรับเงินถวายสำหรับพันธกิจทั่วไป เลข 02 ใช้สำหรับกุศลสงเคราะห์ เลข 03 ใช้สำหรับคณะสตรี และอื่นๆแล้วแต่การบริหารภายในของแต่ละคริสตจักร คริสตจักรสามารถกำหนดหัวข้อการถวายได้อย่างอิสระ
เมื่อทำการสมัครเรียบร้อยแล้ว ทางธนาคารจะมีรูปแบบการส่งตัว QR Code ให้ลูกค้าแตกต่างกัน บางธนาคารอาจส่งให้เป็นกระดาษ บางธนาคารอาจส่งให้เป็นอีเมล บางธนาคารอาจจัดพิมพ์และใส่แทนพลาสติกให้ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อคริสตจักรได้รับ QR Code แล้ว ให้ทำการตรวจสอบโดยดูที่หัวข้อของ QR Code ว่าต้องมีคำว่า E-Donation อยู่เหนือ QR Code จึงจะเป็น QR Code ที่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้
หลังจากตรวจสอบบนตัว QR Code แล้ว คริสตจักรสามารถตรวจสอบอีกขั้นหนึ่งด้วยการทดลองถวาย เมื่อแสกน QR Code แล้ว ระบบจะมีแจ้งเตือนว่า “ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ให้แก่สรรพากร และ/หรือหน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี” การแจ้งเตือนอาจเป็นหน้าต่างแสดงขึ้นมาเพื่อให้กดตกลง หรืออาจเป็นข้อความแสดงอยู่ด้านล่างให้กดเครื่องหมายถูกในกล่องด้านหน้า หากมีข้อความนี้ขึ้น แสดงว่าข้อมูลสามารถหักภาษีได้อย่างอัตโนมัติอย่างถูกต้อง หากไม่มีข้อความนี้ อาจเป็นไปได้ว่าธนาคารได้ออก QR Code ให้ผิดประเภท
การทำงานภายในคริสตจักร
เมื่อคริสตจักรทำการเปิดใช้บริการในทุกส่วนเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการบริหารงานภายใน ซึ่งคริสตจักรจะต้องจัดระบบการบัญชีภายในคริสตจักรให้รองรับการถวายในรูปแบบใหม่ รวมถึงรองรับระบบ E-Donation และต้องประชาสัมพันธ์การถวายในรูปแบบใหม่ให้สมาชิกรับทราบ หัวข้อนี้จะอธิบายใน 2 ส่วน คือวิธีการใช้งานระบบ E-Donation สำหรับคริสตจักร และ วิธีการถวายเงินสำหรับสมาชิก
วิธีการใช้งานระบบสำหรับคริสตจักร
ในระบบ E-Donation นั้น คริสตจักรสามารถรับเงินถวายได้ 2 ช่องทาง คือช่องทาง QR Code และ ช่องทางอื่นๆนอกเหนือจาก QR Code ไม่ว่าจะเป็นเงินสด เช็ค หรือ เงินโอน ผู้เขียนแบ่งช่องทางการถวายเป็น 2 ช่องทางตามที่กล่าวเนื่องจากการรับเงินผ่าน QR Code นั้นคริสตจักรไม่ต้องมีหน้าที่ติดต่อสรรพากรเพื่อแจ้งข้อมูลเงินบริจาค เนื่องจากข้อมูลของการบริจาคจะถูกส่งจากธนาคารไปยังกรมสรรพากรโดยอัตโนมัติผ่านระบบของธนาคาร ดังแผนผังด้านล่าง
การถวายผ่าน E-Donation
แต่หากสมาชิกถวายผ่านช่องทางอื่นๆ ทางคริสตจักรจำเป็นต้องนำส่งข้อมูลให้กับสรรพากรเอง ดังแผนผังด้านล่าง
การถวายผ่านช่องทางอื่นๆ
โดยในขั้นตอนของการส่งข้อมูลให้สรรพากร คริสตจักรต้องเตรียมข้อมูลดังต่อไปนี้
- วันที่ถวาย
- จำนวนเงิน
- ชื่อผู้ถวาย
- เลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ถวาย (เลขประจำตัวผู้เสัยภาษี 13 หลักกรณีเป็นชาวต่างชาติ)
ขั้นตอนการส่งข้อมูลเงินถวายไปยังสรรพากร สามารถดูรายละเอียดได้ที่ลิ้งค์นี้
โดยการบันทึกข้อมูลนั้นต้องไม่เกินวันที่ 5 ของเดือนถัดไป
วิธีการใช้งานระบบสำหรับสมาชิก
คริสตจักรอาจทำ QR Code ที่มีคำอธิบายด้านล่างไว้เป็นภาพหลายๆภาพเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานของสมาชิก เมื่อสมาชิกกดเขา Mobile banking application แล้ว สามารถเลือก อัพโหลดรูปได้เลย ไม่ต้อง Scan ใหม่ทุกๆครั้ง
ส่วนวิธีการอื่นๆ สมาชิกสามาถถวายด้วยรูปแบบเดิมได้ทั้งหมด เช่นโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรง เงินสด หรือเช็ค เพียงแต่ต้องแจ้งเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนให้คริสตจักรรับทราบ เพื่อจะสามาระนำส่งข้อมูลไปยังสรรพากรได้
หลังจากการถวาย สมาชิกคริสตจักรสามารถตรวจสอบรายการถวายของตนเองว่าได้ปรากฎในเว็บไซต์ของสรรพากรแล้วหรือยัง ผ่านลิ้งค์ https://edonation.rd.go.th/donate/Index_InfoS.jsp
คำถามที่พบบ่อย
ทำ E-Donation ผ่านมูลนิธิได้หรือไม่?
การที่มูลนิธิจะสามารถจดทะเบียนเป็นมูลนิธิที่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้นั้น เป็นขั้นตอนที่ค่อยข้างซับซ้อน ต้องมีการตรวจสอบจากสรรพากรอย่างละเอียด หากจะให้แนะนำคือทำ E-Donation ผ่านตัวคริสตจักรจะเป็นการง่ายกว่ามาก รายละเอียดเงื่อนไขของการจดมูลนิธิเพื่อให้สามารถเป็นมูลนิธิที่หักลดหย่อนภาษีได้ สามารถศึกษาได้ที่เว็บไซต์ของสรรพากรในลิ้งค์นี้https://www.rd.go.th/publish/44188.0.html
จะโดนตรวจสอบหรือไม่?
องค์กรทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นวัด คริสตจักร สุเหร่า ล้วนเป็นองค์กรที่ได้รับการยกเว้นภาษีเนื่องจากเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร รายรับที่ได้มาไม่ได้ถูกนำมาให้กับใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นการแจกจ่ายออกไปในการทำพันธกิจต่างๆ หากเราทำรายการอย่างถูกต้อง ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว
รายการที่ถวายเข้ามาตั้งแต่ต้นปี ทำอย่างไร?
ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ของสรรพากรระบุว่าใบอนุโมทนาบัตรของปี 2562 ยังสามารถใช้หักภาษีได้อยู่ แต่ไม่มีการพูดถึงปี 2563 จึงยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ จากการโทรศัพท์ไปสอบถามที่สรรพากร พบหากลงทะเบียนเข้าระบบ E-Donation ในกลางปี 2563 นี้ ช่วงเวลาก่อนที่จะลงทะเบียนก็สามารถใช้ใบเสร็จกระดาษได้ แต่อย่างไรก็ตาม ควรรอประกาศอย่างเป็นทางการจากสรรพากรเพื่อความชัดเจน
โฆษณา