24 พ.ค. 2020 เวลา 01:05 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
โอห์ม ชายผู้ค้นพบความต้านทานไฟฟ้า...
Cr. Wikipedia
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไฟฟ้ามีความสำคัญและจำเป็นกับชีวิตประจำวันของเรา ในปัจจุบันเราทราบกันดีว่าไฟฟ้าสามารถเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อน และ แสงสว่าง หรือ ใช้ประโยชน์กับเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วๆไป
ที่ใดที่มี "ความต้านทานไฟฟ้า" ที่นั้นจะสามารถสร้างความร้อนได้ ปรากฏการณ์นี้รู้จักกันมาหลายร้อยปีแล้ว แต่ในสมัยก่อนนั้นไม่มีใครที่สามารถอธิบายที่มาของมันได้ และผู้ที่ทำสำเร็จก็คือ เกออร์ค ซีม็อน โอห์ม (Georg Simon Ohm)
เกออร์ค ซีม็อน โอห์ม เกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1787 ที่เมืองแอร์ลังเงิน(ปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเยอรมนี) พ่อของเขาเป็นคนที่สนใจในด้านฟิสิกส์ และ คณิตศาสตร์ และได้ถ่ายทอดวิชาให้กับ โอห์ม ตั้งแต่ยังเด็ก
ในวัย 16 ปีเขาได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยประจำเมืองและได้ศึกษา คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และ ปรัชญา หลังจากเรียนได้ 1 ปี โอห์มก็มีปัญหาด้านการเงินทำให้ต้องยุติการเรียน และได้ไปสอนหนังสือที่สวิสเซอร์แลนด์ ผ่านไปหลายปีเขาก็กลับมาและเข้าเรียนจนถึงปริญญาเอกโดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยอนุมัติให้เขาจบการศึกษาโดยไม่ต้องเขียนวิทยานิพนธ์
ปี 1817 เขาได้ไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในเมืองโคโลญที่มีชื่อเสียงด้านห้องทดลองฟิสิกส์ที่มีเครื่องมือทันสมัยในขณะนั้น
ในปี 1800 อาเลสซานโดร โวลตา (Alessandro Volta) นักฟิสิกส์ชาวอิตาลีได้ประดิษฐ์ "แบทเตอรี่" ถือเป็นครั้งแรกที่เราสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาไฟฟ้า
ในปี 1820 โอฮ์มได้เริ่มการทดลองครั้งแรกในห้องทดลองฟิสิกส์ในมหาลัยที่เขาสอน นักวิทยาศาสตร์ตอนนั้นยังเชื่อว่าแรงเคลื่อนไฟฟ้าในแบทเตอรี่กับปริมาณไฟฟ้าที่ไหลผ่านลวดเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ตรงกันข้ามกัน โอฮ์มเชื่อว่าสองสิ่งนี้เชื่อมโยงกันตามหลักฟิสิกส์ข้อเดียวกัน
เพื่อทดสอบสมมุติฐานของเขา เขาปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านลวดโลหะหลายชนิด เขาวัดค่าการนำไฟฟ้าของโลหะเหล่านั้นโดยการใช้เครื่องวัดกระแสไฟฟ้าในยุคแรก (จะใช้เข็มแม่เหล็กเป็นตัววัด ถ้าความเข้มข้นกระแสไฟฟ้ามากเข็มก็จะกระดิกมาก)
เขาทดลองทั้งลวดหนาและบาง ทั้ง ทองแดง เงิน ทองเหลือง และโลหะอื่น ๆ ในตอนแรกเขาเขาไม่สามารถพิสูจน์หาความเชื่อมโยงสมุติฐานได้ เหตุผลก็คือแบตเตอรี่ในยุคแรกนั้นเมื่อต่อกับลวดที่หนาเกินไปจะไม่สามารถเห็นผลลัพธ์ได้
โอห์มได้พัฒนาอุปกรณ์ขึ้นมาใหม่ และครั้งนี้ก็บรรลุผล สิ่งที่เขาสันนิษฐานก็เป็นจริงเขาพบว่า "กระแสไฟฟ้าไหลผ่านลวดหนามากกว่าลวดบาง และ "ลวดสั้นจะนำไฟฟ้าได้มากกว่าลวดยาว" และเขาก็ได้ค้นพบว่าโ,หะแต่ละชนิดนำไฟฟ้าได้ต่างกัน
1
คุณสมบัติในการดูดซับไฟฟ้ามากกว่าการถ่ายโอน โอห์มเรียกมันว่า "ความต้านทาน" ความต้านทานนี้จะทำให้โลหะที่ถูกเหนี่ยวนำนั้นร้อนขึ้น ผลมาจากอิเล็กตรอนที่วิ่งผ่านโลหะไปชนกับอะตอมของโลหะ ยิ่งปะทะกันมากเท่าไร อะตอมก็ยิ่งผ่านไปได้น้อย (ถือว่าโลหะนั้นมีความต้านทานสูง) การปะทะแต่ละครั้งทำให้อิเล็กตรอนวิ่งช้าลง และเกิดการศูนย์เสียพลังงานในรูปแบบของความร้อน
3
การปะทะกันของอิเล็กตรอนและอะตอมของโลหะ
สูตรทางคณิตศาสตร์ โอห์มได้มาจากการจดข้อมูลทุกอย่างที่ได้ทดลองลงสมุดของเขา ไม่ว่าจะเป็น ความยาว เส้นผ่านศูนย์กลาง และชนิดโลหะที่ใช้ หลายปีที่เขาใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลจนสามารถสร้างความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์และสร้างเป็นสูตร
เขาพบว่าอัตราส่วนของปริมาณไฟฟ้ากับแรงเคลื่อนไฟฟ้า ในโลหะแต่ละชนิดจะมีค่าคงที่ และค่าคงที่นี้เองที่เรียกว่า "ความต้านทานไฟฟ้า" ทุกวันนี้สูตรที่เขาค้นพบเป็นที่คุ้นเคยของใครหลายคน เรียกว่า "กฎของโอห์ม" นั้นก็คือ แรงเคลื่อนไฟฟ้า (ศักย์ไฟฟ้า) เท่ากับ ปริมาณไฟฟ้า (กระแสไฟฟ้า) คูณด้วยความต้านทานไฟฟ้า (สูตรก็คือ : V=IR)
กฎของโอห์ม
เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ โดยให้ลวดเป็นท่อ กระแสไฟฟ้าเป็นน้ำในท่อ แรงดันน้ำคือความต่างศักย์ไฟฟ้า และ ตะกรันในท่อน้ำเป็นความต้านทาน
ท่อที่มีความกว้าง (ลวดหนา) น้ำไหลผ่านได้มากขึ้นอิเล็กตรอนก็เช่นกัน ในทางตรงข้าม แรงดันน้ำที่ต่ำ (ความต่างศักย์ไฟฟ้าต่ำ) ก็จะทำให้น้ำไหลช้าลงอิเล็กตรอนก็เป็นเช่นนั้น ส่งผลให้กระแสไฟฟ้าลดลง ในขณะเดียวกัน ความต้านทานไฟฟ้าจะเปรียบได้กับตะกรันในท่อซึ่งมันจะกันให้น้ำไหลช้าลง ถ้าตะกรันในท่อมีเยอะ ความต้านทางก็มีเยอะกระแสไฟฟ้าก็ผ่านได้น้อย
1
ปี 1826 โอห์ม ได้ตีพิมพ์ผลงานชื่อ "Bestimmung des Gesetzes nach Welohem die Metalle die Kontaktee" หรือ การทดสอบวงจรไฟฟ้าด้วยหลักการทางคณิตศาสตร์
1
ในช่วงแรกก็ไม่มีใครยอมรับในทฤษฎีของเขาและค่อยๆ ถูกลืม หลายปีต่อมาเขาก็ได้มีชื่อเสียงในเยอรมันนี อังกฤษ และฝรั่งเศส เนื่องจากได้ทราบความสำเร็จของเขา
ปี 1841 ราชสมาคมแห่งลอนดอนได้มอบเหรียญรางวัลค็อปลีย์ (Copley Medal) ให้แก่เขา ซึ่งเทียบได้กับรางวัลโนเบลในปัจจุบัน ในฐานะที่เขาเป็นคนแรกที่ค้นพบกฎซึ่งมีสาระสำคัญอย่างยิ่งต่อวิชาไฟฟ้ากระแส
การค้นพบของโอห์มไม่ได้จำกัดอยู่แต่เรื่องไฟฟ้า แต่ยังมีเรื่อง "เสียง" ที่เขาได้เขียนบทความชื่อ บทความของเสียง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อธิบายว่า เสียงดนตรีหนึ่งตัวโน๊ตจะมีลักษณะรูปคลื่นเป็นคลื่นไซน์ (Sine) และลักษณะของเสียงอื่นๆก็เกิดจากการรวมตัวกันของคลื่นไซน์นี้ ถือว่าโอห์มคือบิดาของระบบเสียงสมัยใหม่
ปี 1850 โอห์ม ได้ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยมิวนิก เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ และ 4 ปีต่อมาเขาได้เสียชีวิตในเกือนกรกฎาคม ปี 1854 ในวัย 67 ปี
หลายปีหลังการเสียชีวิต โอห์มได้รับการยกย่องในทางวิทยาศาสตร์ หน่วยของความต้านทานไฟฟ้าถูกใช้ชื่อว่า "โอห์ม" ซึ่งทำให้ชื่อของเขากลายเป็นอมตะ กฎของโอห์มนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการคำนวณในด้านวิศวกรรมไฟฟ้าซึ่งนำมาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายในปัจจุบัน ความสะดวกสบายในชีวิตประวันในชีวิตเรา จะไม่เกิดขึ้นได้เลยถ้าหากไม่มีชายที่ชื่อว่า เกออร์ค ซีม็อน โอห์ม
ติดตามความรุ้ดีๆ รู้ไว้ไม่เสียหายได้ที่
Reference

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา