24 พ.ค. 2020 เวลา 06:43 • การศึกษา
- ชีวิตสัมพันธ์ (5) -
ค่า pH ของดินคืออะไร?..
เชื่อว่าเกษตรกรทั้งมือใหม่ มือเก่า หรือว่าที่เกษตรกรหลายท่าน ที่เมื่อคิดจะทำเกษตรนั้น มักจะมีชุดคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นในใจ (โดยอัตโนมัติ) เป็นต้นว่า ผลการวิเคราะห์ดินเป็นอย่างไร? ค่า pH ของดินเท่าไหร่? แล้วจะใส่ปุ๋ยอะไรเพื่อปรับปรุงสภาพดินนั้นๆ
จริงๆ แล้วเป็นเรื่องดีนะครับหากว่าเริ่มต้นด้วยกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ และพยายามเข้าใจปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของพืชนั้นๆ ที่เราจะปลูก...
ถ้าถามนักเคมีว่า “ค่า pH ของดินคืออะไร?..” คำตอบ (ผมเดาเอา) ที่น่าจะได้ก็คือ...”ดินที่มีค่า pH น้อยกว่า 7 นั้น คือดินที่ “เป็นกรด” หรือดินเปรี้ยว อันเกิดจากมีไฮโดรเจนไอออนละลายอยู่ (H+) และในขณะเดียวกัน ดินที่มี pH มากกว่า 7 ก็คือดินที่มีสภาพเป็นด่าง (เบส) อันเนื่องมาจากมีไฮดรอกไซด์ไอออน (OH-) นั่นเอง ส่วนจะเป็นกรดหรือเบสมากน้อยขนาดไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของ H+ (กรณีเป็นกรด) หรือ OH- (กรณีเป็นเบส) ที่มีอยู่นั้นเอง”...
หลักทั่วไปที่ใช้ในการเก็บตัวอย่างดินเพื่อวัดคุณภาพดินนั้น จะทำการสุ่มกระจายเก็บตัวอย่างให้คลอบคลุมเต็มพื้นที่ ก่อนเก็บตัวอย่างให้ขุดลึกลงไป 15-20 ซม ถ้าจะปลูกพืชล้มลุก หรือพืชไร่ทั่วไป และ 25-30 ซม ถ้าจะปลูกไม้ยืนต้น จากนั้นก็นำดินที่เก็บได้มารวมกัน ตากในที่ร่มแล้วบด และแบ่งไปทำสารละลายเพื่อวัดค่า pH ของดิน วัดอย่างน้อย 3 ครั้งแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ย เพื่อเป็นตัวแทนของค่า pH ของดินพื้นที่นั้นๆ...และถ้านักวิชาการหรือนักส่งเสริมการเกษตร ได้เห็นข้อมูลนั้น ก็จะบอกได้ว่า...”การที่จะปลูกพืชในดินสภาพเป็นกรดได้นั้น จะต้องใส่ปูนขาว ยิปซั่ม หรือโดโลไมท์ปรับสภาพดินเสียก่อน ในปริมาณ...กก/ไร่ (คำนวณออกมาเป็นตัวเลขให้เสร็จสรรพ) และถ้าจะแก้ดินเป็นด่าง ก็ต้องหาสารที่เป็นกรดมาใส่ เพื่อปรับสภาพดินด่างให้เป็นกลาง...บางท่านก็อาจจะดึงเอากระดาษที่มีกราฟเป็นแถบๆ แนวนอน สีสันเยอะๆ หน่อยออกมา กำกับการอธิบายถึงความสำพันธ์ของช่วง pH กับปริมาณการปล่อยธาตุอาหารต่างๆ ของดิน...(ยิ่งจะได้ความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นไปอีก)” และถ้าหากว่าข้อมูลนั้นอยู่ในมือ “เซลล์ขายเคมีเกษตร” ด้วยแล้ว...ในขณะที่เกษตรกรกำลังจะทำความเข้าใจกับไอองไอออนอยู่นั้น ก็จะได้รับการประเคนผลิตภัณฑ์ สารปรับปรุงดิน ปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ พร้อมกับบรรยายสรรพคุณที่ประหนึ่งว่า ถ้าใช้แล้วคงหมดหนี้หมดสินกันก็ครานี้...สุดท้ายก็จบลงที่ เกษตรกรก็ต้องแบกหนี้ไว้บนบ่า ก่อนที่จะได้หว่านเมล็ด ปลูกพืชลงดินด้วยซ้ำ...
แล้วถ้าเพ่งพินิจพิจารณาดีๆ ว่า “ค่า pH ของดินคืออะไร?..” ถ้าเรายังไม่เข้าใจอย่างถูกต้อง สุดท้ายก็จะจบด้วยเราต้องซื้ออะไรบางอย่าง ที่ไม่จำเป็น แถมยัง (ซึ่งถ้าพิจารณาดีๆ) ยังเป็นพิษต่อจุลชีพเล็กๆ ในผืนดินของเราอีกด้วย...(นักโรคพืชรู้ดีว่าถ้าจะย่ำลงแปลงควบคุมโรคนั้น จะต้องย่ำถาดที่ใส่ปูนขาวก่อนเข้าแปลง เพื่อฆ่าเชื้อต่างๆ (ฆ่าได้ทั้งเชื้อดีและไม่ดี)...)
แล้วค่า pH ที่คนปลูกพืชแบบวิถีอินทรีย์ต้องเข้าใจหล่ะ จะอธิบายว่าอย่างไร?..ลองดูนะครับผมจะพยายยามฉายภาพให้ดู...
ค่า pH ของดินคือ...ผลพวงมาจากกิจกรรมของสิ่งมีชีวิต (biology) ในดิน ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย รา อะมีบา ไร หรือสิ่งอื่นๆ ที่อยู่ในดินนั้นๆ ดินที่มีสภาพเป็นกรดนั้นเกิดจากแบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์แบบที่ไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic microbial) ในการดำรงชีวิตอาศัยอยู่ และปล่อยสารที่เป็นกรดออกมา...ทำไมเราใช้ปุ๋ยเคมี ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการปลูกพืชไปนานๆ ดินบริเวณนั้นจึงกลายเป็นกรด?.. ทั้งที่สารที่ใส่ ที่พ่นลงไปบางอย่างเป็นกลาง หรือเป็นด่างด้วยซ้ำ ดังที่อธิบายไว้ในโพสต์ก่อนหน้านี้แล้วนั้น (ชีวิตสัมพันธ์ (4)) สิ่งเหล่านั้นจะไปทำลายสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในดิน และทำให้โครงสร้างดินเสีย เกิดการแพ็คตัวของหน้าดิน หน้าดินแข็ง และขาดออกซิเจน ซึ่งก็จะเป็นสภาพแวดล้อมที่จุลินทรีย์แบบไม่ใช้ออกซิเจนเจริญเติบโตได้ดีนั่นเอง
หากว่าเรารักษาภาวะทีมีออกซิเจนอย่างเพียงพอ (aerobic conditions) ให้กับดิน จะไม่มีทางที่ดินตรงนั้นจะมี pH ต่ำกว่า 5.5 ไปได้เลย...
ลองจินตนาการใหม่นะครับ...สมมุติว่าเรามีไมโคร pH มิเตอร์ ที่สามารถจับทุกจุดของรากพืชได้ แล้วส่งข้อมูลให้ทุกๆ วินาที ทุกนาที จะพอเป็นไปได้ไหมครับว่า...ถ้าหากว่าตอนนั้นพืชต้องการธาตุโมลิดินัม (Mo) พืชต้นนั้นก็จะส่งเค้กและคุกกี้สูตรเฉพาะเจาจง ลงไปยังระบบรากของมัน เพื่อจะไปเรียกหรือเลี้ยงแบคทีเรีย เชื้อรา หรือจุลินทรีย์ที่เฉพาะเจาะจงที่ชอบเค้กหรือคุกกี้สูตรนี้เท่านั้นมาใช้งาน (อธิบายไว้ในโพสต์ ชีวิตสัมพันธุ์ที่ (2) – (4)) แล้วหลังจากนั้นแบคทีเรีย หรือราเหล่านั้นก็จะทำการสร้างเอ็นไซม์เพื่อย่อยและดึงธาตุ Mo ในผลึกของอนุภาคดิน (ไม่ว่าจะเป็นดินทราย ดินร่วน ดินเหนียว หิด กรวด) ที่อยู่รอบๆ ชิดรากพืช และอยู่ในรูปฟอร์มที่พืชต้องการและใช้ได้ทันที...ซึ่งการดึงธาตุ Mo นี้ค่า pH อาจจะจำเป็นต้องอยู่ที่ 5.8 ก็เป็นได้?.. หรือการสกัดไนโตเจน ของกลุ่มไรโซเบียม หรือแอคติโนไรซอล แบคทีเรียอาจจะจำเป็นต้องใช้ pH ที่ค่าอื่นหรือเปล่า หรือพืชก็ทำเช่นนี้เมื่อต้องการธาตุอาหารอื่นๆ (ซึ่งมีมากกว่า 42 ธาตุ) เช่น P, K, I, S, Mg, B, Zn, Ca,…หล่ะ ผมว่า pH ที่บริเวณรากพืชนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ ตามแต่ว่าพืชนั้นต้องการธาตุอาหารอะไร...จำเป็นไหมว่าพืชจะเจริญเติบโตได้ดีเฉพาะที่ pH ของดินอยู่ที่ 6.5 เท่านั้น?...
ไม่มีสิ่งไหนผิด หรือถูกนะครับ มันคือสิ่งเดียวกัน มันขึ้นอยู่กับความเข้าใจ และเหตุผลที่เรามี ว่าทำไมเราจึงเลือกทำแบบนั้น? หรือทำไมเราเลือกที่จะไม่ทำแบบนี้?...เกษตรคือชีวิต คือวิทยาศาสตร์ครับ และถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง และฝึกคิดถึงเหตุและผลก่อนที่จะทำตามที่ “เขาว่าดีนั้น” นานวันเข้าเราจะมีภูมิคุ้มกันกับตัวเราเองครับ...
คราวนี้เราก็มีพื้นฐานพร้อมแล้วสำหรับการปรับปรุงดิน...ดินอุดมสมบูรณ์นั้นสร้างได้ครับ...เจอกันในตอนหน้าครับ
โฆษณา