24 พ.ค. 2020 เวลา 12:12
วัคซีนโควิด-19 : เข้าใจหมดและจบในตอนเดียว
จะกล่าวถึงความรู้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ในประเด็นสำคัญที่จะเพียงพอให้สามารถติดตามเรื่องวัคซีนโควิด19ได้อย่างง่ายๆและรู้เท่าทัน(Literacy) ต่อข่าวสารหรือการประกาศความก้าวหน้าของวัคซีนจากแหล่งข่าวต่างๆต่อไป ดังนี้
1) วัคซีนคืออะไร
2) วัคซีนแบ่งเป็นกี่ชนิด แตกต่างกันอย่างไร
3) วัคซีนต้องผ่านขั้นตอนต่างๆอะไรบ้าง
4) ณ ปัจจุบัน วัคซีนของแต่ละประเทศอยู่ที่ขั้นตอนใด
5) วัคซีนของประเทศไทยมีความหวังมากน้อยเพียงใด
ค่อยๆอ่านไปทีละประเด็นนะครับ เมื่อเข้าใจแล้วพวกเราจะมีความสามารถในการติดตามเรื่องวัคซีนโควิด19 ในระดับเดียวกับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่หนึ่งกันเลยทีเดียวลองอ่านกันดูนะครับ
2
1) วัคซีนคืออะไร
วัคซีนคืออะไรก็ได้ (ส่วนมากเป็นตัวเชื้อโรคทั้งตัวหรือบางส่วนของเชื้อโรค) ที่ส่งเข้าไปในร่างกายของมนุษย์แล้ว (ฉีด กิน พ่นจมูก) ทำให้มนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทานขึ้นมาโดยที่เราไม่เป็นโรคในขณะรับวัคซีนนั้น หลังจากนั้นเราก็จะไม่ติดโรคนั้นอีก แม้เราจะไปสัมผัสกับเชื้อโรค เพราะภูมิคุ้มกันจะช่วยปกป้องเราไว้ได้
1
2) วัคซีนแบ่งเป็นกี่ชนิด
มีวิธีการแบ่งวัคซีนได้หลายวิธี ในที่นี้จะกล่าวถึงวิธีการแบ่งที่เข้าใจง่ายที่สุดและนำไปใช้ติดตามความคืบหน้าของการวิจัยคิดค้นวัคซีนได้สะดวกที่สุดดังนี้
2.1) วัคซีนเชื้อเป็น (Live Vaccine) คือการนำเชื้อโรคทั้งตัวมาทำให้อ่อนกำลังลงแต่ยังไม่ตาย แล้วส่งเข้าไปในร่างกายมนุษย์ เมื่อร่างกายเราตรวจพบเชื้อโรคก็จะเข้ามาต่อสู้และทำลายเชื้อโรค (ซึ่งทำสำเร็จเพราะเชื้อโรคถูกเราจัดการให้อ่อนกำลังลงจนหมดความสามารถในการก่อโรคไว้แล้ว) พร้อมพร้อมกับที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้เมื่อเจอเชื้อโรคเดิมในอนาคต ตัวอย่างวัคซีนในกลุ่มนี้ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนป้องกันวัณโรค เป็นต้น
2.2) วัคซีนเชื้อตาย (Killed, Inactivated Vaccine) คือการนำเชื้อโรคมาทำให้ตายด้วยความร้อนหรือสารบางอย่าง (Formaldehyde) แล้วส่งเข้าไปในร่างกายมนุษย์ เราก็จะไม่เป็นโรคนั้นๆเพราะเชื้อโรคตายแล้ว แต่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อไว้ใช้สำหรับการป้องกันการติดเชื้อในอนาคตตัวอย่างของวัคซีนในกลุ่มนี้ได้แก่ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ วัคซีนป้องกันไอกรนชนิดทั้งเซลล์ วัคซีนไข้สมองอักเสบชนิดเชื้อตายเป็นต้น
5
2.3) วัคซีนที่ทำมาจากบางส่วนของเชื้อโรค (Subunit, Acellular Vaccine) หลักการของวัคซีนชนิดนี้คือสกัดหรือสร้างโปรตีนซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเชื้อโรคที่สามารถกระตุ้นร่างกายมนุษย์ให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ มีหลากหลายวิธีการที่จะทำให้ได้วัคซีนได้แก่
1) Subunit Vaccine คือวัคซีนที่ประกอบด้วยบางส่วนของตัวเชื้อโรคที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันได้ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนผิวของเชื้อโรคซึ่งเป็นโปรตีน เช่น ไวรัสตับอักเสบเราจะใช้ส่วนของผิวเรียกว่า Surface Antigen ไวรัสโควิด19 เราจะใช้ส่วนหนามแหลมที่ยื่นออกมา (Spike) เรียกว่า S-Protein
2) DNA Vaccine คือวัคซีนที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนเล็กๆของ DNA ซึ่งมีgeneเป็นองค์ประกอบและสามารถสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนหนึ่งของเชื้อโรคได้ แล้วโปรตีนนี้ก็จะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไป
3) mRNA Vaccine คือวัคซีนที่ประกอบด้วย messengerRNA ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดระหว่างกลางของ DNAกับโปรตีนหมายความว่าDNAจะสร้างโปรตีนได้ต้องผลิตmRNAออกมาก่อนแล้วmRNAจึงค่อยไปสร้างโปรตีน ซึ่งโปรตีนนั้นมีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของเชื้อโรคจึงทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้
4)Viral or Bacteria Vector Vaccine คือวัคซีนที่ประกอบด้วยบางส่วนของรหัสพันธุกรรม (gene) เมื่อเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์โดยผ่านการช่วยเหลือของไวรัสหรือแบคทีเรียที่ไม่ก่อโรคแล้วก็จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้
5) Non-Viral Vector Vaccine คือวัคซีนที่ใช้ Nanoparticle แทนไวรัสในการที่จะพารหัสพันธุกรรมที่จะสร้างโปรตีนเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ แล้วเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันในที่สุด
6) VLP Vaccine คือการสร้าง Virus Like Particles มีลักษณะภายนอกทุกอย่างเหมือนตัวไวรัสแต่ข้างในกลวง เอามาหลอกให้ร่างกายมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา
2.4) วัคซีนที่ทำมาจากพิษของเชื้อโรค (Toxoid Vaccine) ทำมาจากพิษของเชื้อโรค(Toxin) ที่ทำให้หมดอันตราย แต่ยังมีความสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ ตัวอย่างของวัคซีนในกลุ่มนี้ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ เป็นต้น
6
สรุปว่าวัคซีนทุกชนิด ก็คือตัวเชื้อโรคทั้งตัว อาจจะยังมีชีวิตอยู่ หรือตายแล้วก็ได้ หรืออาจเป็นบางส่วนของตัวเชื้อโรค (ผิวหรือหนามยื่นออกจากผิว) ซึ่งอาจจะเอามาทำเป็นวัคซีนตรงๆเลย หรืออาจใส่ตัวที่จะไปหลอกให้เซลล์ของเราสร้างโปรตีนซึ่งเป็นบางส่วนของตัวเชื้อโรคก็ได้ สุดท้ายแล้วก็จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้เหมือนกัน
วัคซีนแต่ละชนิดล้วนมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน สำหรับวัคซีนที่กำลังวิจัยเพื่อใช้ป้องกันโรคโควิด19 ขณะนี้ ใช้หลากหลายวิธีการผลิตที่ได้กล่าวมาแล้วยังไม่สามารถจะบอกได้ว่า วัคซีนที่ผลิตจากวิธีไหนจะได้ผลดีกว่า
4
ขั้นตอนการผลิตวัคซีน
3) วัคซีนต้องผ่านขั้นตอนต่างๆอะไรบ้าง
การวิจัยเพื่อผลิตวัคซีน ต้องผ่าน 3 ขั้นตอนหลัก ซึ่งประกอบด้วย 6 ขั้นตอนย่อย
ขั้นตอนการผลิตวัคซีน
ขั้นที่ 1 ดำเนินการในหลอดทดลอง
ขั้นที่ 2 ดำเนินการในสัตว์ทดลอง
2.1) ทดลองในสัตว์ขนาดเล็ก เช่น หนู
2.2) ทดลองในสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น สุนัข ลิง
ขั้นที่ 3 ดำเนินการทดลองในมนุษย์
3.1) ทดสอบความปลอดภัยเป็นหลัก (Safety) และดูระดับภูมิคุ้มกันประกอบ ต้องใช้อาสาสมัคร 50-100 คน
3.2) ทดสอบความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunogenicity) ว่าภูมิคุ้มกันชนิดใดดีขึ้นบ้าง (มีหลายชนิด ก็เลยยุ่ง จะรู้ได้ยังไงว่าตัวไหนป้องกันโรคกันแน่ จึงยุ่งยากเสียเวลามาก) และภูมิคุ้มกันนั้นต้องสูงระดับแค่ไหนถึงจะป้องกันโรคได้จริง (เดาๆเอาว่าถ้าสูงแค่นี้แล้วป้องกันได้ไม่ได้นะครับ) ใช้อาสาสมัคร 200-400 คน
3.3 ทดสอบประสิทธิผล คือ ความสามารถในการป้องกันโรคได้จริง จากความเชื่อในขั้นที่ 2 (3.2) ซึ่งหลายครั้งวัคซีนที่ทดลองได้ผลมาค่อนข้างดี หลอกให้เรามีความหวังว่าจะสำเร็จก็มาตกม้าตายในขั้นนี้ ต้องยุติโครงการไปมากมาย เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา วัคซีนจึงมีราคาแพง เพราะต้องบวกเงินที่วิจัยล้มเหลวเข้าไปด้วย ซึ่งวัคซีนที่วิจัยล้มเหลวมีจำนวนมากกว่าที่สำเร็จหลายเท่าตัว ในขั้นตอนนี้ต้องการอาสาสมัครอย่างน้อย 2,000-10,000 คน
3
การทดลองวัคซีนของแต่ละประเทศ
4) ณ ปัจจุบัน วัคซีนของแต่ละประเทศอยู่ที่ขั้นตอนใด
จากความรู้ที่ว่า การวิจัยเพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนได้นั้นมีขั้นตอนหลักถึง 3 ขั้นตอน โดยขั้นตอนที่สำคัญมากคือขั้นตอนที่ 3 (การทดลองในมนุษย์ที่เป็นอาสาสมัคร ซึ่งมีอีก 3 ขั้นตอนย่อย ขอเรียกว่าเป็น 3.1,3.2,3,3)
ณ ปัจจุบัน มีโครงการวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนกว่า 100 โครงการ ในหลายสิบประเทศทั่วโลก กระจายกันไปอยู่ทั้งใน 3 ขั้นตอนหลัก มีเพียงประมาณ 10 โครงการใน 5 ประเทศชั้นนำ ที่การวิจัยอยู่ในขั้นตอนที่ 3 เรียบร้อยแล้ว (แต่กว่าจะผ่านขั้นตอน 3.3 เพื่อผลิตใช้ฉีดให้กับประชาชนทั่วไปได้จริงก็ต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 6-18 เดือน) ได้แก่
1. ประเทศจีน บริษัท Cansino Biologics และ Sinovac Biotecn
2. ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท Moderna,Pfizer, Inovio และ Johnson&Johnson
3. ประเทศอังกฤษ บริษัท Glaxo (GSK), AstraZeneca
4. ประเทศฝรั่งเศส บริษัท Sanofi
5. ประเทศเยอรมนี บริษัท BNTech
โดยในแต่ละโครงการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป และบางโครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย หรือร่วมมือกันระหว่างบริษัทที่ข้ามประเทศด้วย ดังรายละเอียด แยกตามเทคโนโลยีการผลิตดังนี้
3
1. Subunit Vaccine มีข้อดีที่วิธีการนี้เชื้อถือได้ว่าปลอดภัย มีประสิทธิผลดี เพราะเราใช้เทคโนโลยีนี้ผลิตวัคซีนมาหลายชนิดแล้ว แต่มีข้อเสียคือผลิตได้จำนวนปานกลางและมีราคาแพง ขณะนี้มีบริษัท Sanofi ของฝรั่งเศสร่วมมือกับ GSK ของอังกฤษวิจัยเรื่องนี้ไปตามแผนที่คาดว่าจะผลิตได้ 600 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564
2. mRNA Vaccine ข้อดีคือเป็นวิธีการที่สามารถผลิตวัคซีนได้จำนวนมากและราคาไม่แพง ส่วนข้อด้อยคือเป็นเทคโนโลยีใหม่ยังไม่เคยมีวัคซีนตัวใดเลยที่ผลิตด้วยวิธีนี้ จึงต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยค่อนข้างมาก ขณะนี้มีบริษัทที่วิจัยวัคซีนนี้ได้แก่
2
2.1 บริษัท Moderna ของสหรัฐอเมริกา เรียกชื่อว่า mRNA1273 ทำการศึกษาวิจัยอยู่ที่เมือง Seattle เพิ่งเสร็จสิ้นการทดลองในมนุษย์เฟส 1 กำลังจะเข้าสู่เฟส 2 (มีทั้งหมด 3 เฟส ก่อนที่จะใช้ฉีดคนทั่วไปได้)
1
2.2 บริษัท Pfizer ของสหรัฐอเมริกา ร่วมมือกับบริษัท BNTech ของเยอรมัน เรียกชื่อว่า BNT-162 กำลังเตรียมเข้าสู่เฟส 2
2.3 คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ทำการศึกษาวิจัยอยู่ที่จังหวัดสระบุรี เพิ่งเสร็จสิ้นการทดลองในสัตว์ขั้นที่ 1 (หนูทดลอง) และเริ่มทดลองในสัตว์ขั้นที่ 2 คือลิงแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 เดือนก็จะเข้าสู่การทดลองในมนุษย์เฟส 1 ได้
3. Viral Vector Vaccine เป็นวิธีที่ดีและเหมาะสมอีกวิธีหนึ่งในการผลิตวัคซีน มีบริษัทที่กำลังวิจัยอยู่ได้แก่
3.1 CanSino Biologics ของประเทศจีน เรียกชื่อว่า Ad5-nCoV ใช้ไวรัส Adenovirus Type 5 มาเป็นส่วนสำคัญให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน เข้าสู่การทดลองในมนุษย์เฟส 2 แล้ว
1
3.2 AstraZeneca ของอังกฤษ ร่วมมือกับ University of Oxford ใช้ไวรัส Adenovirus เป็นตัวพาเข้าเซลล์ เสร็จการทดลองในเฟส 1 กำลังเข้าสู่เฟส 2
3.3Johnson&Johnson ของสหรัฐอเมริกา ใช้Adenovirus เช่นกัน
จะเริ่มทดลองในมนุษย์เฟส1ในเดือนกันยายน 63 นี้ และคาดว่าปลายปี 2564 จะผลิตวัคซีนได้ 1,000 ล้านโดส
4. DNA Vaccine
บริษัท Inovio ของสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาวิจัยอยู่ที่ San Diego ผ่านการทดลองในมนุษย์เฟส1แล้ว
5. Nanopaticle Vector Vaccine
บริษัท Novavax ของสหรัฐกำลังวิจัยวัคซีนด้วยเทคโนโลยีนี้อยู่
6. Inactivated Vaccine
แม้เป็นเทคโนโลยีแบบเก่าแต่เป็นการผลิตวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูงเนื่องจากวงการแพทย์คุ้นเคยกับเทคโนโลยีนี้มานาน และได้มีการผลิตวัคซีนออกมาใช้หลายชนิดแล้ว บริษัท Sinovac Biotech ของจีน(เมืองปักกิ่ง) กำลังศึกษาวิจัยวัคซีนด้วยเทคโนโลยีนี้อยู่
กลุ่มวิจัยที่ก้าวหน้ามากที่สุดในโลกขณะนี้ อยู่ในระหว่างรอยต่อของการทดลองในอาสาสมัครขั้นที่ 3.1 และ 3.2 ยังไม่มีประเทศใดเลยที่เข้าสู่การทดลองสำคัญ (ขั้นที่ 3.3) คือ ดูการป้องกันโรคได้ในชีวิตจริง ซึ่งจะใช้อาสาสมัครประมาณ 2,000-10,000 คน และต้องติดตามดูไปนานพอสมควร (หลายเดือนหรือปี) ถ้าเราเร่งสรุปเพราะอยากได้วัคซีนเร็ว เกิดพบในภายหลังว่า ฉีดวัคซีนไประยะหนึ่งแล้วระดับภูมิคุ้มกันตกลงจนป้องกันโรคไม่ได้ จะเกิดอันตรายอย่างมาก เพราะทุกคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วจะสบายใจ ไม่ระมัดระวังตนเอง อาจเกิดการระบาดครั้งยิ่งใหญ่หลังมีการฉีดวัคซีนทั่วโลกได้
สำหรับประเทศไทยเราขณะนี้ได้เริ่มมีการวิจัยในขั้น 2.2 (ทดลองในลิง) แล้วนับว่ามีความคืบหน้าในระดับที่น่าพอใจ ห่างจากประเทศชั้นนำดังกล่าวไม่มากนัก คืออีก 3-6 เดือน เราน่าจะเริ่มฉีดทดลองในอาสาสมัครชุดแรกได้ (ขั้น 3.1) ซึ่งจะทำให้เราเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศชั้นนำที่จะผลิตวัคซีนสำเร็จต่อไป ที่สำคัญมากคือ เราทดลองวิจัยโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย (mRNA) ซึ่งถ้าทำสำเร็จจะผลิตวัคซีนได้จำนวนมากและราคาไม่แพง เป็นความหวังของไทยเราที่จะยืนบนขาของตนเอง ไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ ไม่ต้องคอยง้อประเทศยักษ์ใหญ่ในเรื่องวัคซีนโควิด19อีกต่อไป ติดตามความคืบหน้ากันต่อไปครับ
2
โฆษณา