24 พ.ค. 2020 เวลา 13:26 • ธุรกิจ
#เรื่องมหัศจรรย์ของคำว่าฟรี ใครเคยซื้อของที่ตัวเองไม่อยากได้เพราะคำว่า “ก็มันฟรี” มาแล้วบ้าง? วันนี้แอดมินจะพาไปพบกับเบื้องหลังของคำว่า “ฟรี” เรื่องราวมันเป็นยังไง #เดี๋ยวสรุปให้ฟัง
1) สมมติว่าคุณอยู่ที่ห้าง ตั้งใจจะไปซื้อเสื้อยืดเนื้อดีๆ สักตัวเอาไว้ใส่นานๆ กำลังจะจ่ายเงินแต่ดันเหลือบไปเห็นเสื้อยืดยี่ห้ออะไรก็ไม่รู้ ซื้อ 1 แถม 1… เอาล่ะสิ เอาไงดีเนี่ย แถมฟรีอีกตัวเลยนะ… เอาก็เอา แล้วก็หยิบตัวนั้นมาแทน แล้วบอกแคชเชียร์ว่า “น้องๆ พี่ฝากคืนตัวนี้หน่อยนะ”
2) ครับ… ยินดีด้วย คุณคือคนส่วนใหญ่ของโลกใบนี้ที่พ่ายแพ้ต่อคำว่า “ฟรี” อ้าว! แล้วมันไม่ดียังไง? บางทีมันก็ดีจริงๆ นั่นแหละ แต่หลายครั้งเราก็พบว่าคุณภาพของยี่ห้อที่แถมฟรีมันไม่ดีเอาซะเลย อย่าลืมนะครับ โจทย์ของเราคือตั้งใจไปซื้อ “เสื้อยืดคุณภาพดีๆ จะได้ใส่นานๆ” แต่ของแถมนั้นมันใส่ได้แปปเดียวแล้วพัง…
3) นี่ป็นอีกบทความในเรื่อง Behavioral Economics ที่มีลุงแดน (Dan Ariely) เจ้าเก่าเจ้าเดิมเขียนไว้ในหนังสือ (บอกเลยว่าเรื่องนี้เราคุยกันได้อีกยาว) วันนี้แอดมินจะพาไปสำรวจกับกับดักของฟรีที่เราเจอในชีวิตประจำวัน ใครตกหลุม ใครไม่ตกหลุม อ่านจบแล้วมาแชร์กันนะครับ
4) มีการทดลองนึงน่าสนใจครับ เรื่องมีอยู่ว่า ลุงแดนแกอยากจะรู้ว่าคนเราเนี่ยชอบของฟรีกันแค่ไหน เลยทดลองทำกับนักศึกษา MIT โดยการตั้งโต๊ะขาย “ช็อกโกแลต” ของโปรดของใครหลายๆ คน
5) ช็อกโกแลตที่ขายมีอยู่ 2 ยี่ห้อ คือ “Lindt Truffle” และ “Hershey’s kisses” ถ้าใครชอบกินช็อกโกแลตจะรู้ว่า 2 แบรนด์นี้ราคาต่างกันมาก ใครคิดไม่ออกว่ามันต่างกันยังไง ลองเปลี่ยนเป็นสินค้าอื่นในใจเอาเองนะครับ เช่น กาแฟ Starbucks กับ กาแฟรถเข็น ก็ได้นะ (ถ้าใครชอบกาแฟรถเข็นมากกว่าแอดมินต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า 555)
Lindt
Hershey's
6) โอเค เอาล่ะ การทดลองมีอยู่ว่า ช็อกโกแลต Lindt (อันแพง) ตั้งราคาขายอยู่ 15 cent และช็อกโกแลต Hershey’s (อันถูก) ตั้งราคาอยู่ที่ 1 cent ต่อชิ้น (จำง่ายๆ 15 กับ 1) ไม่ต้องสนใจค่าเงินแล้วกันเนอะ แปลงไปแปลงมาเดี๋ยวงงกว่าเดิม
7) ปกติแล้วช็อกโกแลต Lindt ถ้าไปซื้อที่อื่นจะอยู่ที่ 30 cent ต่อชิ้น แต่ลุงแดนแกลดราคาเหลือแค่ 15 cent ต่อชิ้น ใช่ครับ! ปรากฏว่าเหล่านักศึกษาเดินเข้ามาเลือกซื้อช็อกโกแลต Lindt กันอย่างถล่มทลาย เพราะราคานี้หาซื้อที่อื่นไม่ได้! ได้กินของอร่อยในราคาถูกสุดๆ โดยพบว่า กว่า 73% เลือก Lindt และมีเพียง 27% ที่เลือก Hershey’s
8) ทีนี้เอาใหม่ ลองลดราคาทั้งคู่ลง 1 cent เท่ากันทั้ง 2 ยี่ห้อ เท่ากับว่าตอนนี้ Lindt ราคาเหลือ 14 cent ในขณะที่ Hershey’s ราคาใหม่อยู่ที่ 0 cent ใช่ครับ… Hershey’s ตอนนี้ ฟรีนั่นเอง!!
9) ว่ากันด้วยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ทั่วไปแล้ว ถ้าเราลดราคาของสินค้า 2 ชนิดในอัตราที่เท่ากัน ก็ควรจะขายได้เท่าเดิม แต่เปล่าเลย! คราวนี้นักศึกษากลุ่มใหม่ลองมาซื้อ พบว่า กว่า 70% เลือก Hershey’s และเพียง 30% เลือก Lindt !!! อ้าว ตัวเลขแทบจะกลับด้านกันเลย…
10) ทีนี้ลองมาดูในธุรกิจจริงๆ ที่เค้าเคยทำกันบ้าง Amazon.com เว็บไซต์ซื้อของออนไลน์จัดแคมเปญ ซื้อหนังสือเล่มทื่ 2 จะจัดส่งทั้งออเดอร์ฟรี! (ปกติค่าส่งอยู่ที่ประมาณ 4 เหรียญ หรือ 120 บาท) ปรากฏว่าคนยอมซื้อหนังสือเล่มที่ 2 เพื่อแลกกับการส่งฟรีเป็นจำนวนมาก บางคนก็อาจจะคุ้มเพราะตั้งใจจะซื้ออยู่แล้ว แต่ก็มีหลายคนที่ซื้อเพราะอยากได้การส่ง “ฟรี” อันนี้ ซึ่งจะเพราะอะไรก็ตาม Amazon ก็ได้ประโยชน์อยู่ดี…
แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จทั่วโลก ยกเว้นประเทศเดียว คือ “ฝรั่งเศส” เพราะอะไรล่ะ?
11) ก็คือ ตอนนั้นฝรั่งเศสจัดแคมเปญต่างกับประเทศอื่นนิดเดียว (นิดเดียวจริงๆ) แทนที่จะให้ส่งฟรี แต่ฝรั่งเศสดันกลับเปลี่ยนเป็น “เมื่อซื้อเล่มที่ 2 ลดค่าส่งให้เหลือเพียง 1 ฟรังก์” ปรากฏว่าแคมเปญนี้ไม่เวิร์คเลย ทั้งๆ ที่ค่าส่งมันแทบจะฟรีอยู่แล้ว… แต่พอฝรั่งเศสเปลี่ยนไปจัดแคมเปญส่งฟรีเหมือนที่อื่น ก็ปรากฏว่าได้ผลตอบรับที่ดีมาก เหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกนั่นเอง
12) นี่แหละ ที่เรียกว่าเรื่องมหัศจรรย์ของคำว่า “ฟรี” มันสามารถเปลี่ยนวิธีคิดของลูกค้าได้อย่างเหลือเชื่อ จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายๆ ครั้งที่เราไปซื้อของ เรามักกลับบ้านมาแล้วรู้สึกว่าซื้อของที่ไม่ได้ต้องการ… และก็คิดย้อนกลับไปว่า รู้งี้น่าจะซื้ออันแรกที่ตั้งใจจะไปซื้อ
13) ทีนี้ ลองมองดูรอบๆ บ้านเรา ตอนนี้เรามีของฟรีอะไรที่ได้มาแบบไม่ได้ตั้งใจแล้วรู้สึกเสียดายบ้าง ถ้าถามแอดมิน ก็คงเป็น ตะกร้าพลาสติก กระเป๋าอเนกประสงค์(?) หรือแม้แต่ขันน้ำ ที่ได้มากับแบรนด์ผงซักฟอกชื่อดัง ที่บอกว่าซื้อเพิ่มอีกอย่างนึงสิ แล้วเราจะให้ของฟรีนะ (ก็ยังวางอยู่ที่เดิม ไม่ได้ใช้) อ้าว…แล้วมันไม่ดียังไง ก็มันฟรี…?
14) มันก็ดีครับ ถ้าเราต้องซื้อสินค้านั้นอยู่แล้วจริงๆ หรือเป็นของที่เก็บไว้ใช้งานได้ แต่บางครั้งพบว่า ของฟรีมันมาพร้อมกับ “เงื่อนไข” เช่น ซื้อ 2 ชิ้นรับของแถมฟรี! แต่ชิ้นที่ 2 ต้องเป็นสินค้าตัวใหม่ที่พึ่งเปิดตัวเท่านั้นนะ… ใช่ครับ ในมุมของแบรนด์นี่คือการทำโปรโมชันให้ลูกค้าทดลองใช้ของใหม่ แต่ในมุมของลูกค้า เราจะรู้ได้ยังไงว่าเราจะชอบของชิ้นนั้น แล้วสุดท้ายมันจะไม่กลายเป็นขยะที่ไม่ได้ใช้วางอยู่บ้าน ซึ่งมาพร้อมกับของแถมที่ไม่ได้ใช้ซะยิ่งกว่าสินค้าที่ซื้อมาซะอีก…
#สรุปแล้ว ของฟรี ไม่ใช่ไม่ดี แต่เราคงต้องคิดดีๆ ว่าเราอยากได้มันจริงๆ รึเปล่า และเงื่อนไขอะไรที่เราต้องทำถึงจะได้มันมา เราจะกลับบ้านมาแล้วรู้สึกเสียดายที่ซื้อของที่ไม่อยากได้ แล้วสุดท้าย ของฟรีพวกนั้นมันอาจจะราคา “แพง” กว่าของที่เราตั้งใจซื้อจริงๆ ก็ได้ถ้าเราคำนวนเรื่องความคุ้มค่าเปรียบเทียบกับราคา…
#ทิ้งท้าย ลองช่วยกันคอมเมนต์ว่าอะไรบ้างที่ซื้อมาเพราะมันฟรี หรือเป็นของแถม แล้วสุดท้ายไม่เคยใช้งานกันบ้าง…
อ้างอิง : Predictably Irrational by Dan Ariely
โฆษณา