24 พ.ค. 2020 เวลา 14:29 • ปรัชญา
อะไรทำให้ชีวิตยังคงเป็นชีวิต
คนไข้หนุ่มคนหนึ่งเดินทางไปพบคุณหมอจิตเวช
คนไข้:
.
.
"อาการซึมเศร้าของผมไม่ดีขึ้น
เท่าไหร่ครับคุณหมอ ทุกวันในชีวิต
ผมมีแต่เรื่องซ้ำๆน่าเบื่อหน่าย และ
ผมยังรู้สึกอยากหายไปจากโลกนี้บ่อยๆ
แต่ที่ยังไปไม่ได้ เพราะติดว่ายังต้อง
ให้อาหารแมวที่บ้านอยู่แค่นั้นเอง
ผมไม่อยู่ใครจะให้อาหารมัน ผมเลย
ยังต้องมีชีวิตอยู่ไปก่อนครับ"
หมอ:"....."
บทสนทนาข้างต้น เป็นเรื่องเล่าที่ได้ยิน
มาจากรายการวิทยุออนไลน์คลื่นที่ฟัง
เป็นประจำ เปิดเป็นเพื่อนทุกครั้งเวลา
รู้สึกว่าอยากให้เสียงเพลงช่วยกลบความเงียบเหงารอบตัว
ฟังแล้วก็นึกตั้งคำถามกับตัวเอง
จริงสินะ!! ขนาดไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า
แบบนั้น แต่นึกๆดูชีวิตเรามีแค่
.
.
ตื่นนอน อาบน้ำ ออกไปทำงาน
กินข้าว ดูโน่นนี่ อาบน้ำ นอนหลับ
แล้วก็ตื่นนอน
วนเวียนอยู่เพียงเท่านี้จริงๆ
แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้ยังอยาก
ให้ชีวิตเป็นชีวิต อะไรคือสิ่งที่ยังคง
ขับเคลื่อนทำเราใช้ชีวิตต่อไปได้
เพราะนั่นย่อมต้องหมายถึงสิ่งที่
ทำให้อยากมีชีวิตอยู่ และต้องเป็น
การมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขอีกด้วย
ทำให้นึกออกถึงศัพท์ภาษาอังกฤษคำหนึ่ง
คือ "Groundhog Day" ซึ่งตรงกับวัน
ที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นประเพณี
ดั้งเดิม ของผู้คนในเมือง Punxsatawney
ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา
ที่จะรวมตัวกันมาเฉลิมฉลองและ
ดูคำทำนายเกี่ยวกับฤดูกาลจากตัว
Groundhog ซึ่งเป็นสัตว์ที่คล้ายกับบีเวอร์
หรือคล้ายกับตัวนาคบ้านเรามาก
และเจ้า Groundhog ที่มีชื่อเสียงที่สุด
มีชื่อว่า "Punxsutawney Phil" หรือ
เรียกสั้นๆว่า "Punxy Phil" ซึ่งอาศัย
อยู่ในเมืองนี้นี่เอง
"Punxsutawney Phil" หรือ "Punxy Phil"
ปีไหนที่ Punxy Phil ออกมาจากที่อยู่
ในตอนเช้าของวันที่ 2 กุมภาพันธ์
ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการจำศีล และเห็นเงา
ของตัวเอง จนมันกลัวและกลับเข้าโพรง
แสดงให้เห็นว่า วันนั้นมีแสงแดดสดใส
ซึ่งจะถูกตีเป็นคำทำนายว่า หน้าหนาว
ในปีนั้นจะยาวนานต่อไปอีกอย่างน้อย
6 สัปดาห์ แต่หากปีไหนเจ้า Punxy Phil
โผล่ขึ้นมาแต่ไม่เห็นเงา ซึ่งเป็นวันที่มี
เมฆครึ้มไม่มีแสงแดด จะถูกตีเป็น
คำทำนายว่า ปีนั้นฤดูใบไม้ผลิจะมาเร็วขึ้น
Groundhog Day
นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 1993 เคยมีหนัง
เรื่อง Groundhog Day ที่ตัวละคร
ซึ่งเป็นนักข่าวนำแสดงโดย Bill Murray
ต้องตื่นขึ้นมาในวันนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เหตุการณ์ทุกอย่างดำเนินไปแบบเดิม
แต่เขาก็แก้ไขอะไรไม่ได้
จึงเป็นที่มาของการเข้าใจความหมายที่ 2
ของคำว่า Groundhog Day ว่า คือ
สถานการณ์ที่สิ่งต่างๆเกิดขึ้นซ้ำๆ
เหมือนเดิมในทุกๆวันนั่นเอง
Groundhog Day (1993)
หากมองในมุมกว้าง และนำไปเชื่อมโยง
กับหลักของพุทธศาสนา คงเทียบได้กับ
การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
ด้วยการเกิดตายไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่หนซ้ำๆ
เป็นทุกข์ด้วยการเกิดดับและพลัดพราก
จากสิ่งที่รักที่ชอบใจไม่รู้กี่หนต่อกี่หน
ซึ่งถือเป็น Groundhog Day อย่างใหญ่
ในระดับมหภาคที่เต็มไปด้วยทุกข์ หาก
เดินถูกต้องตรงทาง ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
กระทั่งรู้เห็นแจ้งตามจริง ตามหลักธรรม
คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็คง
หลุดพ้นจาก Groundhog Day
ระดับมหภาคนี้ไปได้ในภพชาติหนึ่ง
แต่เมื่อชีวิตยังมองเห็นภาพใหญ่
ขนาดนั้นไม่ได้ ทั้งคงยังเป็นเรื่องไกลตัว
ดังนั้น เมื่อปรับมุมมองให้เล็กลงและ
ใกล้ตัวเข้ามา บ่อยครั้งที่ผู้เขียนเจอกับ Groundhog Day แล้วพบกับความ
เบื่อหน่ายจำเจ ผู้เขียนจะพยายามนึกถึง
สิ่งที่ยังอยากให้ชีวิตยังคงเป็นชีวิตอยู่ต่อไป
ซึ่งผู้เขียนพบว่า นอกจากจะเป็นเรื่องง่ายๆ
อย่างเช่น
▪️ในแต่ละวันได้ใช้เวลาพูดคุยทักทาย
กับคนรักหรือพ่อแม่ที่อยู่ไกลกันบ้าง
▪️สัปดาห์นี้อยากทานอาหารอะไรแล้ว
ได้ทานอย่างเต็มที่
▪️เดือนนี้เก็บเงินให้ได้ตามจำนวน
ตัวเลขที่ตั้งใจแล้ว
▪️ปีนี้ได้ไปเที่ยวในสถานที่ที่อยากไป
ก็คงเป็นการพยายามทำทุกวันให้มี
ประโยชน์ที่สุดในการยังได้มีชีวิตนี้
โดยเฉพาะวันไหนที่นึกออกว่า ได้ให้
ทานด้วยกำลังทรัพย์ กำลังความรู้
หรือด้วยกำลังใจจากคำพูดหรือรอยยิ้ม
กับคนอื่น หรืออะไรก็ตามที่ชื่อว่า
ก่อให้เกิดสิ่งดีๆแม้เพียงเล็กน้อยขึ้น
ไม่ว่าในฝั่งเราหรือเขาแล้ว วันนั้นๆ
ก็น่าจะไม่ถือว่า เป็น Groundhog Day
สำหรับผู้เขียนอีกแล้ว
เพราะอย่างน้อยก็เป็นวันที่ได้ใช้ชีวิต
แตกต่างออกไปจากวันอื่นๆ อย่างน้อย
ก็ได้เพิ่มสะสมความสุขจากการให้ที่
แตกต่างไปจากเดิมหรือเพิ่มเติมขึ้น
อีกหนึ่งวัน
เอาจริงๆชีวิตย่อมจะเป็นชีวิตที่มีคุณค่า
และมีความหมายมากขึ้น ถ้าเป็นชีวิตที่
ได้เป็นประโยชน์เพื่อตัวเองและเพื่อผู้อื่น
อย่างแท้จริง
แล้วคุณนึกออกไหมคะว่า อะไรทำให้
คุณยังอยากใช้ชีวิตให้เป็นชีวิตอยู่
และไม่ใช่เพียงการใช้ชีวิตแต่ละวัน
ใน Groundhog Day เท่านั้น😊
ขอบคุณแหล่งข้อมูลและภาพจาก:
โฆษณา