25 พ.ค. 2020 เวลา 03:10 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ป่าฝนเขตร้อนจะหยุดดูดซับ CO2 หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียสจากช่วงอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
ขอบคุณภาพจาก http://dragonflightchiangmai.com/
ป่าฝนเขตร้อนช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ (CO2) ในบรรยากาศโลก ต้นไม้จะเปลี่ยนก๊าซ CO2 ให้เป็นน้ำตาลในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (photosynthesis) ซึ่งอาศัยเพียงแค่ก๊าซ CO2 น้ำ และแสงแดด
น้ำตาลที่ผลิตได้ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโต คาร์บอนภายในโมเลกุลน้ำตาลจะถูกเปลี่ยนไปเป็นคาร์บอนในโมเลกุลเซลลูโลสของเนื้อไม้ ดังนั้นป่าไม้จึงเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนที่ใหญ่และมีประสิทธิภาพที่สุดของโลก โดยเฉพาะป่าฝนเขตร้อนในแถบแอฟริกาและเอเชีย พวกมันกักเก็บคาร์บอนเอาไว้มากกว่าคาร์บอนที่มนุษย์ปลดปล่อยออกสู่บรรยากาศโลกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
แต่ด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์จึงเป็นกังวลว่าต้นไม้อาจจะหยุดดูดซับและกักเก็บ CO2 และอาจจะเกิดเหตุการณ์กลับกัน นั่นคือคาร์บอนที่ต้นไม้กักเก็บไว้จะถูกปลดปล่อยกลับคืนสู่บรรยากาศโลก เร่งให้โลกร้อนยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ต้นไม้ปลดปล่อยคาร์บอนกลับคืนสู่บรรยากาศโลกได้หลายทาง ต้นไม้จะต้องหายใจเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพื่อเปลี่ยนโมเลกุลน้ำตาลให้เป็นพลังงาน และการหายใจของต้นไม้ก็จะปลดปล่อยก๊าซ CO2 ออกสู่บรรยากาศโลก นอกจากนี้ หากต้นไม้ตายแล้ว พวกมันก็อาจจะถูกย่อยสลายโดยจุลชีพหรือถูกเผาไม้จากไฟป่าซึ่งส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซ CO2 ออกสู่บรรยากาศโลกได้เช่นกัน ในปัจจุบันต้นไม้มีอัตราการดูดซับ CO2 สูงกว่าอัตราการปลดปล่อย CO2 ทำให้ต้นไม้ยังสามารถกักเก็บคาร์บอนเอาไว้ได้
ล่าสุดวารสาร Science ได้นำเสนอผลงานวิจัยของกลุ่มนักวิจัยกว่า 200 คนจากทั่วโลก [1] ที่ได้ทำการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนและเงื่อนไขในการเจริญเติบโตของต้นไม้กว่า 500,000 ต้นในพื้นที่ป่าฝนเขตร้อน (tropical rainforest)
โดยผลการศึกษาพบว่าต้นไม้ในป่าฝนเขตร้อนจะยังคงสามารถดูดซับและกักเก็บ CO2 เอาไว้ได้ถึงแม้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีข้อแม้ว่าป่าฝนเขตร้อนจะต้องยังคงอยู่ไม่ถูกทำลาย ในตอนนี้อุณหภูมิของโลกมีค่าสูงขึ้นเกิน 1 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม (ยุคอุตสาหกรรมคือยุคที่เริ่มมีการใช้เครื่องจักรผลิตสินค้าในปริมาณมากโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมมักจะหมายถึงช่วงก่อนปี ค.ศ. 1750 [2])
แต่อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่าจะมีจุดวิกฤตที่ต้นไม้จะไม่สามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้อีกต่อไป จุดวิกฤตนี้เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นจนถึง 2 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม ที่จุดวิกฤตนี้ ต้นไม้จะเริ่มปลดปล่อยก๊าซ CO2 ออกสู่บรรยากาศโลกมากกว่าปริมาณที่มันดูดซับได้
ถ้าวันนี้โลกยังคงร้อนขึ้นเรื่อยๆ ต้นไม้หลายชนิดอาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเอาชีวิตรอด เช่น เราอาจจะไม่ได้เห็นใบไม้สีเขียวชอุ่มอีกต่อไปแล้ว เพราะต้นไม้จะพยายามลดการดูดซับ CO2 ให้ได้มากที่สุดเพื่อเอาชีวิตรอด ในกรณีที่แย่กว่านั้นคือต้นไม้หลายสายพันธุ์อาจจะตายและคาร์บอนทั้งหมดที่มันเก็บสะสมไว้ก็จะถูกปลดปล่อยกลับคืนสู่บรรยากาศโลก
อ้างอิง
[1] E. Pennisi, “Tropical forests store carbon despite warming,” Science 368 (6493), 813 (2020).
โฆษณา