25 พ.ค. 2020 เวลา 05:54 • ประวัติศาสตร์
ความเป็นมาของหนังสือเดินทาง
หนังสือเดินทางของประเทศต่างๆในปัจจุบัน
หลายคนอาจรู้จักหนังสือเดินทางในฐานะที่เป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศหรือต่างรัฐในบางประเทศ แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่า หนังสือเดินทางนั้นมีประวัติความเป็นมาอย่างไร วันนี้ผมจะนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของหนังสือเดินทางว่ามีที่มาอย่างไรและเริ่มมีการใช้หนังสือเดินทางในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด
หนังสือเดินทางหรือในภาษาอังกฤษคือคำว่า "passport" คำว่า "passport" เกิดจากการนำคำสองคำมาสมาสกัน คือคำว่า pass แปลว่า ผ่านหรือใบผ่าน และคำว่า port แปลว่า ท่าเรือ จึงแปลได้ว่า ใบผ่านท่าเรือ ซึ่งมีการสันนิษฐานถึงการใช้คำๆนี้ว่า เนื่องจากในสมัยที่ยังไม่มีเครื่องบินนั้นการเดินทางไปยังต่างแดนหรือต่างเมืองจะใช้เรือเป็นหลัก คำว่า passport จึงใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายๆประเทศจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการเดินทางโดยเครื่องบินจะเข้ามาแทนที่เรือแล้ว แต่ก็ยังใช้คำว่า passport ในการเรียกหนังสือเดินทางตามเดิม
หนังสือเดินทางฉบับแรกของญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 1866
หนังสือเดินทางฉบับแรกของโลกเกิดขึ้นในจักรวรรดิเปอร์เซีย
หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดคือคัมภีร์ไบเบิลของชาวฮิบรู ชื่อว่า เนเฮไมอาห์ บทที่ 2 วรรค 7 ถึง 9 ได้มีการบันทึกเกี่ยวกับการใช้เอกสารชนิดหนึ่งที่ใกล้เคียงกับหนังสือเดินทางในปัจจุบันเมื่อประมาณ 450 ปีก่อนคริสตกาล โดยในคัมภีร์ได้บันทึกไว้ว่า กษัตริย์อาร์ตาเซอร์ซีสที่ 1 แห่งอาณาจักรเปอร์เซีย ได้พระราชทานพระราชสาส์นฉบับหนึ่งให้แก่ขุนนางนามว่า เนเฮไมอาห์ เพื่อใช้ในการเดินทางไปยังดินแดนยูดาย (ปัจจุบันคือประเทศอิสราเอลและปาเลสไตน์) โดยเนื้อความในพระราชสาส์นนั้นมีอยู่ว่า "ถึงเจ้าผู้ครองดินแดนทางอีกฝากของแม่น้ำ โปรดอนุญาตให้ผู้ถือสาส์นฉบับนี้เดินทางในดินแดนของท่านโดยสวัสดิภาพด้วยเถิด" เพราะฉะนั้นพระราชสาส์นฉบับนี้จึงถือว่าเป็นหลักฐานการใช้หนังสือเดินทางเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งในปัจจุบันนี้หนังสือเดินทางของหลายๆประเทศจะมีการระบุข้อความในทำนองดังกล่าวนี้ลงในหน้าหนึ่งของหนังสือเดินทางอีกด้วย
หนังสือเดินทางในประเทศไทย
หนังสือเดินทางในประเทศไทยนั้นริเริ่มใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เริ่มมีการออกหนังสือเดินทางโดยออกเป็นหนังสือราชการที่เขียนด้วยลายมือ มีการกำหนดตราประทับคือ ตราพระคชสีห์น้อย ตราพระราชสีห์น้อยหรือตราสุครีพ มีกำหนดอายุ 1 ปี ซึ่งในระยะแรกนั้นทางราชการได้ออกหนังสือให้เพื่อใช้เดินทางข้ามเขต เมืองและมณฑลภายในประเทศเท่านั้น ในเวลาต่อมาทางราชการได้กำหนดกฏหมายให้ชาวสยามที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ต้องมีหนังสือรับรองจากเจ้าเมืองทางการจึงจะออกหนังสือเดินทางให้ได้ จึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือเดินทางประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
จากนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนให้ใช้หนังสือเดินทางที่พิมพ์ด้วยภาษาฝรั่งเศส 2 หน้า โดยหน้าแรกเป็นหนังสือราชการที่มีข้อความขออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทาง ส่วนหน้าที่สองจะระบุข้อมูลส่วนตัวและรูปพรรณสันธานของผู้ถือหนังสือเดินทาง ซึ่งประกอบไปด้วย รูปถ่าย อายุ ความสูง สีผม สีตา ใบหน้า ตำหนิและลายมือชื่อของผู้ถือหนังสือเดินทาง มีอายุการใช้งาน 1 ปี
หนังสือเดินทางของประเทศสยามช่วงปี พ.ศ. 2482
หนังสือเดินทางชนิดต่างๆของไทย
ทั้งหมดนี้คือเกร็ดความรู้ต่างๆเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหนังสือเดินทางทั้งของไทยและต่างประเทศ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความสนใจและใฝ่หาความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น หากมีข้อผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
 
🙏ขอบคุณครับ🙏
โฆษณา