25 พ.ค. 2020 เวลา 04:37 • การศึกษา
ลมอื่นๆ...กับวิธีการนวด
เล่าเรื่องเดิม ที่เขียนไว้ใน หนังสือ หมอไทยยาไทยที่คัดมาจากแผนนวดร.๕ กล่าวถึงวิธีการแก้อาการลมต่างๆ ดังนี้
๑) ลมชื่อสังขิ บางทีก็เรียกว่าลมสิกขิณี
มีอาการเสียดยอกสีข้างทั้งสอง และลมสังขิณีนี้ เมื่อเกิดจะมีลมราทยักษ์เขาแทรก ถ้าเกิดในองคชาติ ก็เนื่องจากกามราคะแรง ถ้าเป็นสตรีก็เนื่องจากโลหิตหรือมดลูกพิการ อาการจะเจ็บไปที่สีข้างแล่นไปท้อง เลยไปที่หัวเข่าทั้งสอง การแก้ให้แก้ที่ลำลึงค์ที่เจ็บจึงจะคลาย
๒) ลมชื่อสันนิบาต
มีอาการเจ็บปวดศีรษะเป็นกำลัง ให้แก้ที่รากขวัญ เกลียวคอทั้งสอง แถวกระดูกสันหลังทั้งสอง ที่ราวคางทั้งสอง
๓) ลมคัณภาหะ
มีอาการหูทั้งสองข้างตึง ฟังอะไรไม่ได้ยินถนัด ให้แก้ที่บนหูซ้าย บริเวณทัดดอกไม้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการง่วงเหงาหาวนอนด้วย ชื่อว่าลมธาระตฤณ ให้แก้ที่ บนหูขวา
๔) ลมราทยักษ์
มีอาการไอ ถ้าไอไม่ออกก็กลายแปรไป ให้แก้เส้นเกลียวคอทั้งสองข้าง แก้ ตามบั้นเอว ท้อง ชายโครง
๕) ลมปัตคาต
เวลามีอาการ ทำให้ไหล่ซ้ายตาย แก้ที่ต้นแขนทั้งสอง บ่า ราวสีข้าง ข้อศอกทั้งสองข้าง
๖ ) ลมชิวหาสดมภ์
เวลามีอาการทำให้ไหล่ขวาตาย แก้ที่ต้นแขนทั้งสองบ่า ราวข้าง ข้อศอกทั้งสองข้าง ถ้าสะอึก นวดซอกคอข้างหน้า
๗) ลมอัมพฤกษ์
มีอาการสะบักยอก บางครั้งข้างขวา บางครั้งข้างซ้ายหรือทั้ง ๒ ข้าง แก้ที่หัวแม่มือหัวแม่เท้าทั้งสองข้าง แก้ที่เส้นเท้าทั้งสองข้าง ต้นเท้าและริมเท้า
๘) ลมอันตคุณ
คนไข้มีอาการตัวร้อน เจ็บปวดทั้งสรรพางค์กาย หน้าท้อง- แข็งเป็นดาน แก้ที่เกลียวมือและหลังมือต่อกันทั้งสองข้าง ริมบริเวณสะดือ
๙ ) ลมจับโปงหรือลมสะคิว มีอาการเสียดยอกในหัวเข่า
๑๐) ลมสะคิว หรือตะคิว
มักเกิดที่แขนหรือขา แก้ที่สันหน้าแข้งทั้งสองข้าง
๑๑) ลมกล่อน
มีอาการเมื่อย กระดุกกระดิกไม่ได้เป็นสะคิว ลมอัมพฤกษ์ แก้ที่ตาตุ่มทั้ง ๒ ข้างถึงหัวเข่า ลำแขนทั้ง ๒ ข้าง
๑๒) ลมบาดทะยักษ์
มีอาการคอแข็ง แก้ที่ต้นคอและเกลียวเอ็นคอทั้งสองข้าง
๑๓) ลมปัตคาต
มีอาการเจ็บขัดยอกตามสะบักข้างใดข้างหนึ่ง/ทั้งสองข้างพร้อมกัน เคลื่อน ไหวไม่สะดวก เวลาแก้ให้คลายที่ส้นเท้าและสันหลังตามแนวกระดูกทั้งสองข้าง เส้นบั้นเอวบริเวณชายโครง
๑๔) ลมแถกกระออน
มีอาการหน้าท้องแข็งเป็นดาน ในลำไส้เป็นลูกกลมกลิ้ง เคลื่อนที่ไปมาได้ แก้ที่หัวเหน่า ท้อง บริเวณรอบสะดือ บั้นเอว สันหลัง
๑๕) ลมชื่อเนตร
คนไข้มีอาการบิดตัวเหมือนถูกพิษงูเห่า แก้ที่บริเวณสันหลัง และขาทั้งสอง ข้าง
๑๖) ลมปะกัง
มีอาการปวดศีรษะเวลาเช้า นวดแก้ที่โขนงคิ้วทั้งสองข้าง
๑๗) คนไข้มีอาการอาเจียนธรรมดา ให้นวดตามบริเวณ อก คอ
๑๘) คนไข้เมื่อยขบตามเนื้อตัว
และอาการไข้สันนิบาต ปากเบี้ยว ให้นวดตามศอกข้างขวา
๑๙) คนไข้มวนท้อง
ที่เรียกว่าลมอตวุสดมภ์ นวดบริเวณริมสีข้างและตัวบริเวณสะดือ
๒๐) อาการนอนไม่หลับ แก้ที่แข้งซ้าย
๒๑) ลิ้นกระด้าง
นวดบริเวณฝ่าเท้า ตาตุ่มกลางฝ่าเท้าตลอดถึงหัวเข่า
๒๒) อาการจุกเสียด
กินอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ นวดราวนมลงไปตามบริเวณหน้าท้องและสีข้างข้างขวา
๒๓) ท้องขึ้นท้องเฟ้อ ปวดท้องน้อย
นวดบริเวณตะคากข้างขวาและซ้าย เอาปลายนิ้วมือลากไปมาเบาๆ ตามบริเวณหน้าท้อง ทำให้ลำไส้ทำงานเป็นปกติ
๒๔) ลมที่เกิดขึ้นมีอาการทำให้มืดหน้าตามัว
ให้แก้เส้นที่ริมกระดูกสันหลัง และที่ต้นคอทั้งสองข้าง
๒๕ ) ลมที่ทำให้ลิ้นแข็งพูดไม่ได้ พูดไม่ชัด
ให้แก้ที่ปลายคาง และที่ใต้ปลายคาง เข้าไปหนึ่งนิ้ว ลมชนิดนี้มักเป็นลมชิวหาสดมภ์
๒๖) ลมที่ทำให้นอนนิ่งแน่ไป เรียกโทสันทะฆาต
ให้แก้ที่หัวแม่เท้าทั้งสองข้าง ข้อตีนทั้งสองข้าง ต้นขาทั้งสองข้าง แก้ต้นคดด้วย
๒๗) ลมที่ทำให้นอนเซา แน่นิ่งอยู่
ให้แก้ที่เท้าและบ่าทั้งสองข้าง
๒๘ ) ลมที่ทำให้นอนไม่หลับ แก้ที่หัวเข่าทั้งสองข้าง มือทั้งสองข้าง หัวไหล่ทั้งสองข้าง และหัวอก
๒๙) ลมตาม ๒๔ ๒๕ ๒๖ ๒๗ ๒๘ ถ้ามีอาการทำให้นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ได้ ให้แก้เช่นเดียวกัน
๓๐) ลมทำให้ตีนมือตาย
แก้หัวไหล่ บั้นเอว ส้นเท้าทั้ง ๒ ข้าง ให้ยอกขัดอยู่ทั้งตัว ให้แก้ที่เกลียวปัตคาตทั้งสองข้าง
๓๑) ลมทำให้หัวไหล่ตายทั้ง ๒ ข้าง
หัวเข่าตายทั้งสองข้าง ให้เจรจาไม่ได้ แก้ที่ลิ้น กดให้แรง
๓๒ ) ลมที่ทำให้มันจุกอก และลิ้นตาย
ให้แก้ที่ข้อตีน และซอกคอทั้ง ๒ ข้าง
๓๓) ลมทำให้ชักปากเบี้ยว ตาแหก ให้แก้ที่ท้องน้อย
๓๔) ลมทำให้จุกอก และลิ้นคาย
ให้แก้ที่หัวไหล่ทั้งสองข้าง และมือทั้งสองข้าง
๓๕) ลมทำให้ขัดหัวใจ
ให้แก้ที่เท้ากับต้นคอและหัวไหล่ทั้งสอง ถ้าหายใจขัด ให้ขัดตะหมาดนอนหงาย หายใจออกได้ ถ้าเจ็บท้อง ให้ขัดตะหมาดนอนคว่ำ
๓๖) ถ้าลมเกิดขึ้นในไส้ ให้แก้ที่สะบักทั้งสองข้าง
๓๗) ถ้าลมเกิดขึ้นในอก ให้แก้ที่สะดือ
๓๘) ถ้าจะแก้ลมกระษัยกล่อน
ให้แก้ที่ตาตุ่มและหัวแม่เท้าทั้งสองข้างหาย
๓๙) ถ้าจะแก้ลมทำให้ตัวเย็น
ให้แก้ที่ท้อง เหตุเพราะเส้นสูญมันพาดไปที่เท้าและหน้า แล่นไปถึงศีรษะ
๔๐) ถ้าลมเป็นที่ท้อง ให้แก้ที่ตีนทั้งสองข้าง
๔๑) ถ้าลมปะทะขึ้นหน้าอก ให้แก้ที่ต้นขาทั้งสองข้าง
๔๒) ลมทำให้มือตีนเย็นเป็นเหน็บชา แก้ที่กลางใจมือกลางใจเท้า
๔๓) ลมทำให้เกิดเสลด ให้แก้ที่แขนและสีข้างทั้งสองข้าง
๔๔) ถ้าเป็นลมพรรดึก ให้แก้ที่ไหล่ทั้งสองข้าง ถ้าไม่ฟังเอาน้ำ
มะนาวให้กินเสียก่อน จึงค่อยแก้
.
ที่มา:พ.ต.ต. ปราโมทย์ ศรีกิรมย์ นายเจือ ขจรมาลี
โครงการเผยแพร่เอกลักษณ์ของไทย
โฆษณา