25 พ.ค. 2020 เวลา 17:14 • การศึกษา
"เงินกับกฎหมายครอบครัว"
ตอน สินส่วนตัว/สินสมรส
ผู้เขียนเคยเป็นทนายความในคดีฟ้องหย่าและขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร และยังมีคนโทรมาปรึกษาเรื่องฟ้องหย่าหลายราย ทำให้นึกถึงว่าในการวางแผนการเงินของครอบครัว สิ่งที่ต้องรู้ก็คือกฎหมายครอบครัวเพื่อจะได้วางแผนได้ครอบคลุมตามเป้าหมายการเงินที่ตั้งไว้
โดยกฎหมายครอบครัวที่เกี่ยวข้องก็คือ
1. เรื่องการสมรสซึ่งจะเกี่ยวพันไปถึงเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา
2. เรื่องบิดามารดากับบุตรซึ่งจะเกี่ยวพันไปเรื่องหน้าที่อุปการะกันและกัน การจัดการทรัพย์สินกรณีบุตรเป็นผู้เยาว์
ขอเริ่มต้นเขียนถึงการจัดการทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาก่อน
การสมรสที่จะก่อให้เกิดสิทธิในการจัดการทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาหมายถึงการสมรสระหว่างชายหญิงโดยการจดทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นแม้ว่าจะจัดงานแต่งงานใหญ่โตออกสื่อมีแขกมาร่วมงานเป็นพันคนแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็ถือไม่ได้ว่าเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย
การจดทะเบียนสมรสหลอก ๆ แบบในภาพยนตร์โดยมิได้มีความประสงค์ที่จะอยู่กินฉันสามีภรรยาถือว่าเป็นการแสดงเจตนาลวงทำให้นิติกรรมสมรสเป็นโมฆะได้
การจดทะเบียนสมรสซ้อนก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการจัดการทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาเช่นกัน
กฎหมายกำหนดว่าทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินสมรส
สินส่วนตัว ได้แก่ (ปพพ.มาตรา 1471)
1. ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
2. ที่เป็นของใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
3. ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
4. ที่เป็นของหมั้น
สินสมรส ได้แก่ทรัพย์สิน (ปพพ.มาตรา 1474)
1. ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
2. ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือการให้เป็นหนังสือ และพินัยกรรมหรือหนังสือระบุว่า เป็นสินสมรส
3. ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 1053/2637 วินิจฉัยว่า
จำเลยใช้เงินของจำเลยซื้อสลากกินแบ่งฯก่อนสมรสกับโจทก์ สลากกินแบ่งฯออกรางวัลหลังจากที่โจทก์จำเลยสมรสกันแล้ว และถูกรางวัล เงินรางวัลที่จำเลยได้รับมาจากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างสมรสถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรส
ดังนั้นถ้าซื้อสลากกินแบ่งฯไว้ก่อนสมรสแล้วงวดออกรางวัลเป็นหลังสมรส หากกลัวจะต้องแบ่งรางวัลให้คู่สมรสก็ให้ทำสัญญาก่อนสมรสตกลงกันว่าจะไม่แบ่งให้ก็ได้ แต่สัญญาก่อนสมรสที่จะมีผลตามกฎหมายต้องจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสด้วย (ปพพ.มาตรา 1466)
กรณีเงินเดือนเยอะดอกเบี้ยก็เยอะตามไปด้วย หากไม่อยากให้ดอกเบี้ยเป็นสินสมรส ก็จดแจ้งข้อตกลงนี้ไว้ในสัญญาก่อนสมรสได้ ดังนั้นอยากตกลงเรื่องทรัพย์สินอะไรให้แตกต่างจากที่กฎหมายกำหนดก็ทำสัญญาก่อนสมรสให้เรียบร้อย
หลายคนอาจเห็นว่าก็ไม่ต้องจดทะเบียนสมรสไปเลยสะดวกดี เงินกระเป๋าใครกระเป๋ามัน ก่อนแต่งงานเงินเดือนเคยเป็นของเราคนเดียวหลังแต่งงานก็ยังเป็นของเราคนเดียวไม่ต้องแบ่งให้ใคร ก็เอาที่สบายใจ แต่มีข้อควรระวังหากมีลูกด้วยกัน ลูกจะเป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาซึ่งจะขาดสิทธิทางกฎหมายหลายเรื่อง ดังนั้นหากแต่งงานโดยไม่จดทะเบียนสมรส เมื่อมีลูก บิดาต้องไปจดทะเบียนรับรองบุตรที่อำเภอด้วย
เมื่อทราบว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสแล้ว สามีภรรยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายในบางกรณีด้วยซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป
ทนายน้อยหน่า
26 พฤษภาคม 2563
โฆษณา