26 พ.ค. 2020 เวลา 03:45 • ท่องเที่ยว
ตอนที่ ๓ แหนสีเหลืองที่สวยสุด : สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง สองนครา
 
การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว และการวิเคราะห์ศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในเส้นทางเชื่อมโยง เชียงคานและหลวงพระบางนั้น คณะจาก อพท. เลย จำเป็นต้องเดินทางไปตามเส้นทางนั้นๆ รวมทั้งพบปะศึกษาพูดคุยกับเจ้าถิ่นด้วย
ดังนั้น คณะจึงออกเดินทางออกจากหลวงพระบาง โดยไปรวมพลกันที่ท่าข้ามเรือไปเมืองจอมเพ็ชร ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นกับหลวงพระบาง อยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำโขง ต่อจากเมืองจอมเพ็ชรคือเมืองไชยะบุลีและต่อจากนั้นคือจังหวัดเลย
ไม่ได้ข้ามไปเมืองจอมเพ็ชรกันหรอกนะครับ ไปที่ท่าเรือนี้เพื่อลงเรือโดยสารเดินทางไปเมืองไชยะบุลี (ໄຊຍະບູລີ) แต่ก่อนลงเรือตามประสานักเที่ยวก็ชมทิวทัศน์และตลาดริมตลิ่งโขงกันก่อน
ลงเรือกันเรียบร้อยแล้วครับ เป็นเรือโดยสารธรรมดา โอเพ้นแอร์ แต่มีผ้าคลุมเบาะ ดูแล้วสวยงามดีครับ เมื่อทุกอย่างพร้อมก็ออกเดินทางสบายๆ เพราะเป็นการเดินทางขาล่องครับ
เห็นเรือลำหนึ่งในลำน้ำโขงดูแปลกดี ถามไถ่ได้ความว่าเป็นเรือหามท้าย เป็นเรือสินค้าที่แล่นอยู่ในแม่น้ำโขง หามเป็นภาษาลาวหมายถึงเพิงหรือกะต๊อบ เพราะมีที่อยู่ของเจ้าของอยู่ที่ท้ายเรือด้วย
เช้าวันนั้นออกเรือเมื่อเวลาประมาณ ๗.๕๐ น. และใช้เวลาในการล่องเรือช่วงนี้เป็นเวลา ๓ ชม. ๓๐ นาที เรือล่องผ่านเกาะแก่งมากมาย
ชื่นใจหลายอย่างครับ นอกจากนั่งเรือซึ่งได้รับอากาศดีและบริสุทธิ์แล้ว มองไปยังสองฝั่งแม่น้ำโขงเห็นป่าไม้เขียวชอุ่ม
มีบ้างครับที่ถางเพื่อทำการเกษตร แต่ไม่มากนัก เห็นแล้วน่าอิจฉานะครับ บ้านเรามีลูกช่างตัดอยู่เยอะ บางแห่งตอไม้ยังไม่เหลือ เป็นประเภทลูกช่างขุดอีกอย่างหนึ่ง
ชมบ้านเรือนและทิวทัศน์ริมโขงของลาวกันไปเรื่อยๆ นะครับ สบายกาย สบายตาและสบายใจ
ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงซึ่งเชื่อมระหว่างแขวงหลวงพระบางและแขวงไชยะบุลี หากเดินทางจากเลยไปหลวงพระบาง ต้องใช้สะพานแห่งนี้ครับ ระยะทางจากเลยถึงหลวงพระบาง ๔๐๐ กม. เป็นถนน ๒ เลน ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ ๘ ชม. อ้อ สะพานนี้ก่อสร้างโดยบริษัท ช. การช่าง ของไทยครับ
ฝั่งทางหลวงพระบางคือเมืองนาน ส่วนฝั่งทางไชยะบุลีคือเมืองท่าเดื่อ
 
เดินทางถึงบ้านท่าเดื่อ เมื่อเวลา ๑๑.๒๐ น. ที่จุดข้ามไปหลวงพระบาง มีเพิงขายของหลายอย่าง เช่น เครื่องดื่ม ส้มตำ ไก่ย่างและมีตัวตุ่นขายด้วย ตัวละ ๑๔๐ บาท ไม่ซื้อหรอกครับ ไปคุยกับแม่ค้าเพื่อได้ถ่ายภาพกับสาวลาวครับ
คราวนี้เดินทางโดยรถบ้างเพราะเดินทางไปยังเมืองไชยะบุลี ระยะทางจากบ้านท่าเดื่อ - เมืองไชยะบุลี ๓๐ กม. แต่ใช้เวลาในการเดินทาง ๑ ชม. เพราะถนนกว้างเพียง ๒ เลน และคดเคี้ยวพอควร
สองข้างทางส่วนใหญ่ที่อยู่ใกล้แม่น้ำเป็นป่าที่สมบูรณ์ มีต้นสักเป็นส่วนใหญ่ ต่อจากนั้นก็เริ่มมีคนอยู่อาศัย โดยมีอาชีพในการทำเกษตรกรรมบ้าง นานๆ ก็ผ่านหมู่บ้านสักครั้งหนึ่ง
เข้าเมืองไชยะบุลีแล้วครับ เมืองนี้เป็นเมืองที่มีไม้ประดู่และไม้พยุงเยอะครับ นอกจากนั้น ยังมีช้างเยอะด้วย เห็นไหมครับ มีช้างตั้ง ๙ เชือก คอยต้อนรับครับ
กินอาหารกลางวันกันที่ร้านอาหารสายน้ำหุ่ง รสชาติใช้ได้ครับ แต่กระดูกไก่เยอะมาก หาเนื้อไม่ค่อยเจอเลย สงสัยไก่ที่นั่นคงขาดอาหารเป็นแน่
ชมริมแม่น้ำสายน้ำหุ่ง เมืองไชยะบุรี ครับ
ค่ำคืนนั้นพักที่โรงแรมอุทุมพอน เป็นโรงแรมระดับ ๓.๕ ดาว ดีที่สุดในเมืองไชยะบุลีครับ
·
ไปเยี่ยมชมวัดศรีบุญเรือง เมืองไชยะบุลี ที่นั่นก็มีพิธีแห่ผีตาโขนด้วยนะครับ แต่ไม่ได้ศึกษาว่าผีตาโขนของที่นี่กับของอำเภอด่านซ้ายที่ไหนเริ่มต้นก่อนกัน ที่แน่ๆ คือที่นี่ เริ่ม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ แห่จากป่าช้ามาที่วัดศรีบุญเรือง มีพิธี ๓ วัน จนถึงวันเพ็ญเดือน ๓ มีความเชื่อว่าทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข
แนวโฮมคือคนแก่ที่ผลัดเวรกันมาดูแลวัดได้ทำพิธีถวายขันธ์ ๕ ให้กับคณะที่ไปนมัสการ ซึ่งประกอบด้วยธูป ๑ ห่อ เทียน ๑ ห่อ (๕ คู่) และดอกไม้ ๕ ดอก แล้วนำสวด หลังจากนั้น ก็ให้แต่ละคนอธิษฐานขอพรในสิ่งที่ต้องการ
ชมรอบๆ วัดศรีบุญเรืองกันครับ
จากวัดศรีบุญเรืองก็เดินทางต่อและตอนนี้ได้เข้ามาในเมืองไชยะบุลีแล้วครับ
ไปชมอนุสาวรีย์นักรบนิรนามซึ่งอยู่บนเนินเขาครับ
จากอนุสาวรีย์นักรบนิรนามมองเห็นเมืองไชยะบุลีชัดเจนครับ
หมู่บ้านในเมืองไชยะบุลีปลูกกล้วยกันมาก เพราะเยอรมันนำช้างมาเลี้ยงโดยไม่ใช้ตะขอ เป็นรูปแบบการสอนช้างให้เชื่องตามธรรมชาติ และจัดการแสดงของช้างปีละครั้งในเดือนกุมภาพันธ์
เมืองไชยะบุลีมีนโยบายให้ชาวบ้านปลูกกล้วยหน้าบ้านเพื่อให้ช้างกินปีละครั้งในงานแสดงของช้าง ผลการดำเนินการตามกุศโลบายนี้ ทำให้ประชาชนได้มีใบกล้วยใช้และมีกล้วยกินตลอดปี ที่แปลกอย่างหนึ่งคือหากช้างกินกล้วยบ้านไหน ก็สร้างความดีใจให้บ้านนั้นมากเพราะถือว่าได้บุญได้กุศล
 
ไปชมแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามแห่งหนึ่งของเมืองไชยะบุลี คืออ่างน้ำเตียน ในอ่างเก็บน้ำนี้มีแหนอยู่เป็นจำนวนมาก แหนเหล่านี้แผ่ขยายรวดเร็วมาก ผลิดอกสีเหลืองอร่าม อย่างไรก็ตาม เมื่อแหนแก่เข้าก็เน่าและจมลงในอ่าง ทำให้อ่างนี้มีโคลนตมมาก สัจธรรมนะครับแม้แต่แหน ว่าสังขารเป็นของไม่เที่ยง
มีสะพานไม้ทอดผ่านอ่างน้ำเตียน เพื่อไปพระพุทธบาทจำลอง เพราะเป็นสถานที่สามารถเก็บภาพสวยๆ ของอ่างน้ำเตียน
เส้นทางไปพระพุทธบาทจำลอง เป็นเส้นทางเดินธรรมชาติ โดยมีทางเข้าทางหนึ่งและกลับอีกทางหนึ่ง มีที่พักเหนื่อยให้ด้วยครับ
มีพระพุทธบาทจำลองเดิม และพระพุทธบาทที่ค้นพบใหม่ มีพระพุทธรูปไว้สักการะด้วย
มองไปทางร้านเรือนแพครับ
อาหารเย็นวันนั้นที่ร้านเรือนแพพร้อมๆ กับการเจรจาธุรกิจกัน เป็นการเจรจาธุรกิจที่ดีครับ กินกันไปคุยกันไป หลังจากนั้น ก็มอบของที่ระลึกให้แก่กันตามธรรมเนียม
แม้ว่าเมืองไชยะบุลีเป็นเมืองเล็กๆ แต่ยามราตรีก็ไม่เบา หนุ่มๆ สาวๆ ออกไปท่องราตรีกัน ดึ่มเบียร์กันตามบาร์และพับ
คนลาวร้องเพลงไทยได้ชัดแจ๋วมาก แม้ว่าพูดไทยไม่ชัด ทั้งนี้ เพราะหัดมาจากคาราโอเกะหรือเทปเพลงนั่นเอง
นอนเอาแรงก่อนครับ วันรุ่งขึ้นต้องเดินทางที่ยาวนานกันอีก
 
พุธทรัพย์ มณีศรี
 
อ่านชุด “สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง สองนครา” ตอนที่แล้วได้ที่
ตอนที่ ๑ เพียงแค่สัมผัส
ตอนที่ ๒ ชื่นชมทุกครั้งที่ได้ไปเยือน
โฆษณา