3 มิ.ย. 2020 เวลา 14:55 • ธุรกิจ
TQM หุ้นธุรกิจประกันภัย Super Stock ที่กำลังทำ All Time High !!! 💸📈
ตั้งแต่ IPO เข้ามาในตลาดหุ้น ปัจจุบัน TQM ราคาพุ่งขึ้นมาแล้วกว่า 370% 😲😲😲 ซึ่งถ้าหากคุณลงทุนในหุ้นตัวนี้เมื่อสองปีก่อนด้วยเงิน 1 ล้านบาท ตอนนี้คุณจะทำกำไรไปกว่า 3,700,000 บาท 💸
กราฟเปรียบเทียบราคาหุ้น TQM ดัชชีกลุ่มประกันภัย และดัชนี SET
TQM หรือ บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันภัย ทั้งในรูปแบบประกันวินาศภัยและประกันชีวิต
ที่มาของภาพ: https://www.kaohoon.com/content/360354
❌หมายเหตุ❌
โพสต์นี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อนำเสนอความรู้เกี่ยวกับบริษัทและธุรกิจต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีจุดประสงค์ในการชี้นำการลงทุนๆใดทั้งสิ้น
บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม 2554 โดยครอบครัวพรรณนิภา เพื่อประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ (Holding Company)
ซึ่ง TQM ได้ถือหุ้นในบริษัทย่อย 5 บริษัท ที่ทำธุรกิจด้านนายหน้าประกันภัย ได้แก่ บริษัท TQM Broker, TJN, TQM Life, Casmatt, และ TQLD
ปัจจุบัน TQM มีพนักงานทุกระดับรวมประมาณ 4,100 คน สำนักงานกว่า 79 สาขา และ ศูนย์บริการอีก 16 แห่งทั่วประเทศ
ธุรกิจของ TQM สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่
1. ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย อาวุธชิ้นสำคัญในการทำเงินของบริษัท!!! ดำเนินการภายใต้บริษัทย่อย TQM Broker และ TJN
ธุรกิจประเภทนี้ของ TQM สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มย่อย
1.1 การประกันภัยรถยนต์
TQM เป็นนายหน้าประกันรถยนต์ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ
- ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ คือประกันที่ผู้ขับขี่ทุกคนต้องทำตามกฏหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือที่ทุกคนรู้จักกันว่า การทำ พ.ร.บ. นั่นเอง!!!
ซึ่งปัจจุบัน TQM เป็นนายหน้าขาย พ.ร.บ. สำหรับรถยนต์ไม่เกิน 7 ที่นั่ง ได้แก่ รถเก๋ง รถกระบะ และรถตู้ ซึ่งมีอัตราเบี้ยประกันอยู่ที่ 600-1200 บาทต่อปี (ไม่รวมภาษี)
ที่มาของภาพ: https://headtopics.com/th/359536393657362159840-12019374
- ส่วนประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ก็คือประกันภัยที่ผู้ขับขี่สามารถทำได้เองโดยไม่ได้มีกฏหมายบังคับ เพื่อคุ้มครองความรับผิดชอบต่อชีวิตรวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหรืออุบัติเหตุ
นอกจากประกันภัยรถยนต์ รายได้หลักของบริษัทแล้ว TQM ยังได้ให้บริการขายประภัยประเภทอื่นๆอย่างหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า 😁
1.2 การประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-motor) ประกอบไปด้วย การประกันอัคคีภัย (Fire Insurance) และประกันทางทะเลและขนส่ง (Marine Insurance)
ที่มาของภาพ: https://www.tqm.co.th/promotion/Home_Tipsmile
1.3 การประกันวินาศภัยเบ็ดเตล็ด ประกอบไปด้วย
- ประกันภัยทรัพย์สิน (Property Insurance)
- ประกันภัยความรับผิดทางกฎหมายต่อสาธารณชน (Liability Insurance)
- การประกันภัยวิศวกรรม (Engineering Insurance)
- การประกันภัยความเสี่ยงภัยด้านการเงิน และการค้าประกัน (Financial Insurance)
- ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident: PA)
- ประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคล
- ประกันภัยการเดินทาง
- การประกันภัยเบ็ดเตล็ดอื่นๆ (Miscellaneous)
2. ธุรกิจนายหน้าประกันชีวิต (Life Insurance) ดำเนินการภายใต้บริษัทย่อย TQM Life ปัจจุบันธุรกิจประเภทนี้ของบริษัทสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทย่อยได้แก่ ประกันชีวิตประเภทรายบุคคลและประกันชีวิตประเภทรายกลุ่ม
2.1 ในส่วนของการประกันชีวิตรายบุคคล ได้แก่
- การประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ (Endowment Insurance)
เป็นการผสมกันระหว่างประกันชีวิตและการออมทรัพย์ ซึ่งบริษัทจะจ่ายเงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือเมื่อเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาของการประกันภัย ส่วนของการออมทรัพย์คือส่วนที่ผู้เอาประกันภัยได้รับคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด
- การประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance)
เป็นประกันชีวิตที่คุ้มครองยาวตลอดชีพ โดยเน้นการให้ผลประโยชน์ด้านความคุ้มครองชีวิตเป็นหลัก ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์แทน หรือในกรณที่ผู้เอาประกันภัยมีชีวิตครบตามกำหนดสัญญากรมธรรม์ ก็สามารถรับทุนประกันภัยคืนได้เช่นกัน
- การประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Insurance)
เป็นประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์แทน เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาของการประกันภัย ซึ่งจะไม่มีส่วนของการออมทรัพย์เข้ามาเกี่ยวข้อง เบี้ยประกันจึงต่ำกว่าแบบอื่นๆ และไม่มีการคืนเงินให้หากผู้เอาประกันภัยอยู่จนครบกำหนดสัญญา
2.2) ประกันชีวิตประเภทกลุ่ม
ประกันชีวิตที่มีผู้เอาประกันชีวิตร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยทั่วไปจะเป็นสวัสดิการที่นายจ้างซื้อความคุ้มครองให้กับลูกจ้างหรือพนักงานบริษัทนั่นเอง ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยให้ครึ่งหนึ่งหรือทั้งหมด
3. ธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์ ภายใต้บริษัท Casmatt ซึ่งให้บริการให้คำปรึกษาด้านการจัดการระบบกระบวนการทางธุรกิจ (Business Solution) คำปรึกษาด้านงานวิจัยตลาดดิจิตอล และคำปรึกษาด้านการพัฒนาด้านการติดตั้งระบบปฏิบัติงานและการติดตั้งระบบศูนย์ข้อมูล
4. ธุรกิจให้บริการด้านคำแนะนำเกี่ยวกับประกันภัย ผ่านรูปแบบของการกรอกข้อมูลโดยลูกค้า และการให้บริการพัฒนาระบบผู้ช่วยค้นหาประกันชีวิตอัจฉริยะชื่อ TQM Life Insurance Platform และ www.noon.in.th แพลตฟอร์มแรกเปรียบเทียบเบี้ยประกันตามความต้องการ
เว็บไซต์ www.noon.in.th
💸 รายได้และกำไรย้อนหลังสามปีของ TQM 💸
ปี 2560 บริษัทมีรายได้ 2281.67 ล้านบาท และกำไร 268.31 ล้านบาท
ปี 2561 บริษัทมีรายได้ 2525.04 ล้านบาท และกำไร 404.27 ล้านบาท
ปี 2562 บริษัทมีรายได้ 2783.83 ล้านบาท และกำไร 507.23 ล้านบาท
เห็นได้ว่าทั้งรายได้และกำไรของ TQM เติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดสามปีที่ผ่าน โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ช่วยดันรายได้ไตรมาสที่ 1/63 ไปจนถึง 814.05 ล้านบาท และทำกำไรไปกว่า 179.35 ล้านบาท หรือเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/62 (YoY) TQM ทำกำไรเพิ่มขึ้นไปกว่า 68%
ถึงแม้วิกฤตครั้งนี้จะทำให้ราคาหุ้น TQM ร่วงลงไปเยอะเหมือนกับหุ้นบริษัทอื่นๆ แต่การที่ผู้คนหันมาซื้อประกันภัยไวรัสโคโรน่าก็ช่วยทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้นกว่าเดิมอย่างต่อเนื่อง และยังส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งไปสูงมากจนทำ All Time High ในที่สุด 📈
ที่มาของรูปภาพ: https://www.tqm.co.th/promotion/coronavirus_all/
ในส่วนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ประกอบไปด้วย
1.บริษัท อีเทอนอล โกรท คอร์ปอเรชั่น จำกัด 50.90%
2.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 5.69%
3.ดร. อัญชลิน พรรณนิภา 4.73%
4.บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) 4.00%
5.บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 3.25%
6.บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) 3.25%
7.นาง นภัสนันท์ พรรณนิภา 2.94%
8.THE HONGKONG AND SHANGHAI BANKING CORPORATION LIMITED 2.77%
9.STATE STREET EUROPE LIMITED 1.94%
10.บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 1.43%
หุ้น TQM ยังถือเป็นหุ้นอีกตัวหนึ่งที่ราคาหุ้นกลับขึ้นมาแล้วกว่า 100% ตั้งแต่เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามน้ำมัน
ซึ่ง ณ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2563 ราคาของหุ้น TQM ร่วงไปจนถึง 42.75 บาทต่อหุ้น แต่ไม่นานมานี้ราคาหุ้น TQM ได้พุ่งขึ้นมาจนสูงที่สุดที่ราคา 109 บาท (26 มีนาคม พ.ศ. 2563) หรือประมาณ 150% ในระยะเวลา 2 เดือนกว่าๆเท่านั้นเอง
...ก่อนจะจากกัน ขอให้คำนึงไว้เสมอว่า การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาให้ดีก่อนตัดสินทำการลงทุนนะครับ 😁👍...
😁😁😁 ขอขอบคุณสำหรับการติดตามครับ หากผู้อ่านท่านใดสนใจบทความเกี่ยวกับโลกธุรกิจน่ารู้ หุ้น ข้อมูลบริษัท หรือความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ต่างๆ ท่านสามารถติดตามได้ทางเพจ "StonkBoy - โลกธุรกิจน่ารู้" ผ่านทางแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ Blockdit ซึ่งหากมีข้อผิดพลาดประการใดผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ และพร้อมรับฟังคำแนะนำต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงงานเขียนในลำดับต่อไปครับ 😁😁😁
โฆษณา