26 พ.ค. 2020 เวลา 12:59 • ความคิดเห็น
สิงคโปร์เดี้ยงที่สุดตั้งแต่ตั้งประเทศ
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
สมัยก่อนตอนโน้น ประเทศเล็กที่มีประชากรน้อยจะบริหารง่าย ถ้าทำตัวเป็นคนกลาง เป็นแหล่งซื้อมาขายไปก็สามารถนำเม็ดเงินเข้ามาพัฒนาประเทศได้ไม่ยาก อย่างสาธารณรัฐสิงคโปร์ที่มีพื้นที่เพียง 710 ตร.กม. เล็กกว่าไทย 722.5 เท่า แต่มีจีดีพีเกือบเท่าไทย มีจีดีพีต่อหัวสูงกว่าไทยเกือบ 10 เท่า ทรัพยากรสำคัญของสิงคโปร์คือมนุษย์และเทคโนโลยี
ทว่า วันนี้สิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศที่จะอยู่ได้อย่างสบายเหมือนเดิม ประเทศที่มีประชากรมากอย่างจีนและอินเดียกลับได้เปรียบ แม้ว่าการค้าระหว่างประเทศจะเดี้ยง แต่ก็ยังมีการบริโภคภายในที่มากพอที่จะทำให้ประเทศอยู่ได้อย่างไม่ขัดสน
ความที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากเหมือนประเทศอื่น สิงคโปร์จึงเน้นงานภาคบริการ ตั้งตัวเป็นฮับของสายการบินระหว่างประเทศ
เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนหยุดการเดินทางระหว่างประเทศ สิงคโปร์แอร์ไลน์ก็เดี้ยง
1
บางประเทศยังมีการบินภายใน แต่สิงคโปร์ซึ่งมีขนาดเล็กเท่ากับอำเภอหนึ่งของไทย ไม่รู้จะบินภายในไปไหน
พ.ศ. 2563 จึงเป็นปีแรกของสายการบินแห่งชาติสิงคโปร์ที่ขาดทุนสุทธิเกือบ 5 พันล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์แอร์ไลน์มีกำไรติดต่อกันทุกปี
สิงคโปร์ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2362
มีการปกครองตนเองเมื่อ พ.ศ. 2502
รับเอกราชจากอังกฤษและอยู่รวมกับมาเลเซียเมื่อ พ.ศ. 2506
ถูกขับออกจากการเป็นรัฐหนึ่งของมาเลเซียเมื่อ พ.ศ. 2508
https://hrmasia.com/singapore-budget-2020-what-to-expect/
ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา สิงคโปร์เป็นสาธารณรัฐที่มีเศรษฐกิจพุ่งกระฉูดส่งตูดจัมโบ้ เคยติดลบอยู่เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น คือ พ.ศ.2507 (-3.2%) พ.ศ. 2541 (-2.2%) และพ.ศ. 2544 (-1.1%) สำหรับ พ.ศ. 2563 การคำนวณอย่างเลวร้ายน้อยที่สุด จีดีพีของสิงคโปร์จะหดตัวท่ี -4% ถ้าเลวร้ายมากที่สุด จะหดตัวถึง -7% ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์
ประเทศขนาดเล็กและประชากรเพียง 6 ล้านคนอย่างสิงคโปร์ แต่มีเศรษฐกิจมูลค่ามากถึง 3.54 แสนล้านดอลลาร์ (11.3 ล้านล้านบาท)
ถ้าเศรษฐกิจหดตัวขนาดนี้ ก็ไม่มีทางอื่นไปแล้วครับ อีกไม่นานอาจจะมีเสียงโอดโอยโหยหวนดังไปทั้งประเทศ
สิงคโปร์มีแรงงานในระบบ 2.4 ล้าน มีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศดีที่ทำให้คนส่วนใหญ่ทำงานจากบ้านได้ มีเพียงร้อยละ 15 ที่จำเป็นต้องเดินทางจากบ้านไปทำงาน ถึงแม้ว่ามีมาตรการล็อกดาวน์ก็ไม่กระทบอะไรมาก
https://www.todayonline.com/singapore/jobless-rate-singaporeans-q1-grows-slightly-32-mom
แต่เพราะเศรษฐกิจของสิงคโปร์ที่ไปอิงกับเศรษฐกิจโลก เมื่อเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ก็ทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์ล้มคว่ำคะมำหงายตามไปด้วย
นักธุรกิจจีนหลายคน ทำมาหากินในประเทศจีนที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีประชากรนับพันล้านคน เมื่อรวยแล้วก็กระโจนออกไปถือสัญชาติอื่น
จำนวนหนึ่งมาขอถือสัญชาติสิงคโปร์ เช่น จางหย่ง ผู้ก่อตั้งร้านหม้อไฟไห่ตี้เหลา ซึ่งภายหลังกลายเป็นกิจการร้านหม้อไฟที่เจริญรุ่งเรืองถึงขนาดแต่ละปีมีรายได้ถึงแสนล้านบาท มีกำไรถึงหมื่นล้านบาท
หลังจากเป็นเศรษฐีที่มีเงินและทรัพย์สินหลายแสนล้านบาทแล้ว จางหย่งก็ย้ายไปถือสัญชาติสิงคโปร์ และกลายเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของสิงคโปร์
https://www.forbes.com/sites/pamelaambler/2018/09/12/meet-chinas-richest-restauranteur-a-high-school-dropout-who-became-a-hotpot-billionaire-2/#5e42251468e8
จางหย่งคงอยากใช้สิงคโปร์เป็นฐานในการขยายไห่ตี้เหลาไปทั่วโลก แต่พอเกิดวิกฤติโควิด-19 ร้านอาหารไห่ตี้เหลาในประเทศอื่นเดี้ยงหมด เพราะมีมาตรการระยะห่างทางสังคม ห้ามไปนั่งทานอาหารอย่างใกล้ชิดกัน
มีเพียงประเทศจีนที่อนุญาตให้ภัตตาคารร้านอาหารเปิดได้ แต่การที่จางหย่ง ออกจากการถือสัญชาติจีนทำให้รัฐบาลจีนไม่ค่อยแฮปปี้มีความสุขกับแกเหมือนเมื่อก่อน
คนจีนไม่น้อยที่มีความเป็นชาตินิยมสูงก็ไม่สนับสนุนธุรกิจร้านอาหารของแกเหมือนเดิม
เศรษฐกิจของบ้านใหม่ของจางหย่งไม่ดีเหมือนดั่งคิด ธุรกิจต่างๆ ซบเซาเหงาหงอย สำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติหลายแห่งที่เคยลงหลักปักฐานในสิงคโปร์ ทยอยย้ายออกไปประเทศอื่น
แม้แต่อูเบอร์ บริษัทแอพลิเคชั่นเรียกรถยอดนิยม ตอนนี้ก็กำลังพิจารณาย้ายสำนักงานใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกจากสิงคโปร์ไปฮ่องกง โดยจะย้ายให้เสร็จภายในเวลา 1 ปี
ทุกคนกำลังสนใจว่าสิงคโปร์จะแก้วิกฤติครั้งนี้อย่างไร
โฆษณา