27 พ.ค. 2020 เวลา 10:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
EP.084 - บริษัทเเบบไหนที่น่าลงทุน
ในตลาดหุ้นไทย มีหุ้นที่เราสามารถเลือกลงทุนได้ประมาณ 600-700 ตัว แต่ว่าถ้าเราไปลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกาซึ่งมีตลาดหลักๆคือ NYSE และ Nasdaq มีหุ้นที่เทรดอยู่รวมกันถึงมากกว่า 6000 ตัว
แน่นอนว่าด้วยจำนวนมีมหาศาลแบบนี้ ทำให้เรามีโอกาสที่จะเลือกธุรกิจที่ดีเข้ามาอยู่ในพอร์ตเราได้มากกว่า แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ เราจะคัดเลือกหุ้นเข้ามาอยู่ในพอร์ตเรายังไงจากจำนวนที่มากขนาดนี้
วันนี้ผมจะว่าเล่าให้ฟังครับว่า ผมมีวิธีการคัดกรองหุ้นอย่างไร
คำถามแรกที่คนมักจะถามกันก็คือ หุ้นทั้งหลายที่มีอยู่เนี่ย ผมไปหามาจากไหน
อย่างที่เคยเล่าให้ฟังในตอนเก่าๆ ผมคิดว่า หุ้นส่วนใหญ่ที่จะลงทุนได้ มักจะอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว เป็นสินค้าที่เราคุ้นเคย หรือ อาจจะไม่ได้ใช้งานมันตรงๆแต่ผมก็ใช้งานสินค้าเหล่านั้นผ่านสินค้าอื่นๆซึ่งเราอาจจะไม่เคยได้สังเกตเลย
ผมยกตัวอย่างที่ง่ายที่สุด ก็คือ ตอนนี้ทุกๆคนอ่านบทความเหล่านี้อยู่ คุณอาจจะกำลังใช้สินค้าของ Amazon หรือ Microsoft โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากการใช้งานโลกอินเตอร์เน็ตในตอนนี้ มักจะใช้งานผ่านธุรกิจที่เรียกว่า Cloud โดยผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องมาตั้ง Server เองเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่ไปเช่าใช้บริการ Data Center จากผู้ให้บริการรายใหญ่อย่าง Amazon Web Service หรือ Microsoft Azure ได้
เพราะฉะนั้น สิ่งเเรกที่ทุกคนควรทำก็คือ การสังเกตสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเรา หรือ สำรวจกิจวัตรประจำวันของเราเองว่า เราทำอะไรบ้าง และ เกี่ยวข้องกับธุรกิจอะไรบ้าง
วิธีการต่อไปคือ อ่านข่าว หาความรู้ ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับหุ้นโดยตรงและเรื่องธุรกิจทั่วๆไป โดยเเหล่งข่าวที่ผมใช้บ่อยๆในทุกวันนี้ก็มีประมาณนี้
Website - SeekingAlpha, Motely Fool ใช้อ่านข่าว อ่านบทวิเคราะห์ต่างๆ
1
Youtube ใช้ดูพวกรีวิวผลิตภัณฑ์ที่เราสนใจ หรือ คนมารีวิวหุ้นให้เราดูเลยก็มี
Investor Relation ของบริษัทเอง วิธีหาง่ายๆก็ Google ชื่อหุ้นตามด้วย Investor Relation ได้เลย
โอเคครับ ก็พอจะเป็น Guideline ได้แล้วว่า เราจะหาหุ้นยังไง
ทีนี้ เราจะมาเข้าเรื่องหลักสำคัญของบทความนี้แล้วว่า เมื่อเราได้หุ้นมาแล้ว เราจะตัดสินใจอย่างไรว่า หุ้นตัวนี้น่าซื้อหรือน่าลงทุนหรือไม่
***** ขอออกตัวก่อนว่า ขั้นตอนนี้ ยังเป็นแค่การคัดกรองหุ้นที่น่าลงทุน แต่ว่ายังไม่สามารถลงทุนได้นะครับ จนกว่าเราจะ Valuation เพราะ หุ้นที่ดีอาจจะไม่ใช่หุ้นที่น่าลงทุนก็ได้ถ้าหากว่าเราลงทุนในราคาที่แพงเกินไป *****
จริงๆแล้ว ส่วนตัวผมเองตั้งแต่ลงทุนหุ้นในประเทศไทย ผมชอบลงทุนในหุ้น Mid/Small Cap เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากโอกาสที่มันจะเติบโตได้เป็นเท่าๆมีง่ายกว่าการลงทุนในหุ้น Big Cap
แต่ถ้าใครติดตามในตอนเก่าๆ จะเห็นว่า ผมเริ่มลงทุนหุ้นอเมริกา จากการลงทุนในหุ้น Big Cap ก่อน อย่างหุ้นกลุ่ม FAANG เป็นหลัก ซึ่งผมคิดว่า เป็นการเริ่มต้นที่ง่ายเพราะคุ้นเคยกับเรื่องราวของเค้าอยู่แล้ว และในระหว่างนั้น ผมก็ค่อยๆทำการศึกษาหุ้น Mid/Small Cap ไปเรื่อยๆ
จุดเปลี่ยนที่ได้ไอเดียในการวิเคราะห์หุ้นMid/Small Cap เกิดจากเมื่อต้นปี 2019 ผมได้เรียนวิชานึงในหลักสูตรปริญญาโท ชื่อวิชา Venture Capital ซึ่งวิชานี้ อาจารย์ Douglas Abrams Founder ของ Expara VC ชื่อดังใน South East Asia เป็นคนมาสอนเอง
จริงๆแล้ว ต้องบอกว่าอาจารย์เน้นสอนให้เราเป็น VC หรือ ให้มุมมอง VC แก่คนที่ทำ Startup มากกว่านักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วไป
แต่ว่าเมื่อผมเรียนเเละนำมาพิจารณาแล้วนั้น ผมก็เพิ่งจะสังเกตเห็นว่า บริษัทชั้นนำในตลาดหุ้นอเมริกาส่วนใหญ่ก็เริ่มต้นมาจากการเป็น Startup ทั้งนั้น แถมพวก Mid/Small Cap ทั้งหลายก็เป็น Startup ที่เพิ่งเข้าตลาดมา และก็ยังคงบริหารงานแบบ Startup อยู่ ทำให้ผมคิดได้ว่า เราสามารถเอาแนวคิดเหล่านี้มาใช้ได้
พูดง่ายๆคือ ผมใช้วิธีพิจารณาหุ้นเหล่านั้น เหมือนผมเป็น VC ที่ลงทุนใน Startup นั่นเอง
จากนี้ไป ผมจะมาเล่าและยกตัวอย่างว่า ในการลงทุนของ VC นั้น มีการพิจารณาอะไรบ้าง ซึ่งหลักๆจะมีอยู่ด้วยกัน 7 ข้อ
1. Innovation
บริษัทที่น่าลงทุน มักจะต้องมีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้น การสร้าง Innovation ขึ้นมาภายในองกรค์จึงเป็นสิ่งสำคัญ
 
คำว่า Innovation คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึง Product Innovation เป็นหลัก เช่น การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอย่าง Apple ทำ iPhone สามารถเปลี่ยนทิศทางของบริษัทและอุตสาหกรรมได้เลยทีเดียว เมื่อมีอะไรใหม่ๆเหล่านี้เกิดขึ้น มักจะเกิดเเรงกระเพื่อมในวงการอย่างมีนัยยะสำคัญ ผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
นอกเหนือจากในแง่ของ Product แล้ว Innovation ก็รวมไปถึง Process Innovation หรือ Business Model Innovation ด้วย
Process Innovation ที่ทุกคนน่าจะรู้จักในวงการรถยนต์ก็เช่น Just in time ของ Toyota หรือ การนำ Automation เข้ามาใช้ในการประกอบรถยนต์จำนวนมากของ Tesla สิ่งเหล่านี้ จะเน้นไปทางด้านของการประหยัดต้นทุนเป็นหลัก
ส่วน Business Model Innovation ก็เป็นการปรับกลยุทธ์หรือรูปแบบของการทำธุรกิจใหม่ๆ เช่น Airbnb ในเรื่องของการท่องเที่ยว หรือ Uber ในเรื่องของการเดินทาง ผู้คนยังนอนพักและเดินทางเหมือนเดิม แต่ Startup เหล่านี้ปรับวิธีการเสียใหม่ทำให้เกิดธุรกิจใหม่เข้ามาท้าทายกับธุรกิจเดิมๆอย่างโรงแรมและแทกซี่
สิ่งที่สำคัญของ Innovation นั้น จะทำให้เกิดความเเตกต่างจากคู่แข่ง และสามารถทำให้บริษัทหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคาได้
โดยเฉพาะ VC ถ้าเราจะลงทุนใน Startup เราต้องมองหา Startup ที่มี Innovation เพราะเรากำลังหาผู้ที่จะมา Disrupt วงการ หรือ เข้ามาท้าชิงกับเจ้าตลาดเดิม การที่จะทำอะไรเหมือนๆกับรายใหญ่ๆนั้น ไม่ได้ช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ท้าชิงอย่าง Startup เลย
เพราะฉะนั้น Checklist ข้อแรกของเราก็คือ ต้องมี Innovation
2. Value proposition
หนึ่งในเเนวคิดสำคัญในการสร้าง Product ใหม่ๆคือ ต้องเข้าไปแก้ปัญหาอะไรสักอย่างให้กับลูกค้า “Solving painpoint for customer”
เมื่อ Product ของเราสามารถแก้ปัญหาอะไรสักอย่างให้กับลูกค้าได้ จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Value proposition
บางครั้ง เราจะเห็นบ่อยมาก ที่บริษัทออก Product อะไรใหม่ออกมา บอกว่าดีอย่างนู้นอย่างนี้ แต่ว่า กลับมียอดขายที่ไม่เข้าเป้าเลย ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเกิดจากสินค้าเหล่านั้นไม่ได้ตอบโจทย์ของลูกค้า หรือไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้ลูกค้าเลย จึงทำให้ไม่มี Value proposition นั่นเอง
ถ้าหากผมสนใจหุ้นตัวไหน สิ่งแรกที่ผมจะทำในการดูเรื่องนี้คือ ผมจะลองใช้สินค้าเหล่านั้นดู หรือถ้าเราไม่สามารถใช้ได้ ก็จะพยายามปสัมภาษณ์หรือสอบถามจากคนที่เป็นลูกค้าหรือใช้งานสิ่งเหล่านั้น เพราะนี่จะช่วยให้เราเข้าใจ Value proposition ของสินค้าเหล่านั้นได้
นี่เป็นเหตุผลที่ผมแนะนำให้เพื่อนๆเริ่มลงทุนจากหุ้นที่เราคุ้นเคยก่อน พวกเราดู Netflix กันอยู่แล้ว เราก็จะรู้ได้เองทันทีว่า ด้วยราคาที่เราจ่ายไป 280 บาทต่อเดือน มันคุ้มค่ากับเราหรือไม่ แล้ว Willingness to pay (มูลค่าที่ลูกค้ายอมจ่าย) เป็นเท่าไหร่ บางคนอาจจะบอกว่า ถ้ามันขึ้นราคาไปถึง 500 บาท ชั้นก็ยังยอมจ่าย ส่วนต่างระหว่าง 500-280 นั่นแหละครับ คือ Value proposition ที่ลูกค้าได้รับจาก Netflix
1
ในแง่ของการลงทุนนั้น บางที เราคงจะไม่สามารถไปวิเคราะห์ขนาดตัวเลขได้ชัดๆหรอกว่า ควรจะเป็นเท่าไหร่เพราะเราไม่มีข้อมูลข้างใน แต่ผมว่าแค่เราสามารถที่จะรับรู้ได้ว่า Product นั้น มี Value proposition อยู่ แล้วตัวเลขต่างๆที่บริษัทให้มานั้น มีความน่าเชื่อถือหรือมีความเป็นไปได้ ก็ถือว่าผ่าน สามารถลงทุนได้แล้วครับ
3. Market identification
เมื่อเราเข้าใจ Product แล้ว เราควรใส่ใจกับขนาดของตลาดที่ Product นั้นอยู่ด้วย
พูดง่ายๆก็คือ การสำรวจความต้องการของ Product นั้นว่ามีมากน้อยแค่ไหน ภาษานักลงทุนจะเรียกมันว่า Total Addressible Market (TAM)
ถึงแม้ว่าสินค้าจะมีความเจ๋งแค่ไหน โดยเฉพาะ Startup ถ้าตลาดทั้งหมดที่เค้าอยู่มีขนาดเล็กเกินไปโอกาสที่จะโตหลายๆเท่าได้นั้นคงจะยาก ทำให้ VC ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน
1
และถ้าตลาดนั้นมีขนาดใหญ่ และมีการเติบโตที่สูงด้วย แบบนี้ ยิ่งเหมาะแก่การลงทุนเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์ตลาดจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเรารู้ว่าตลาดมีขนาดใหญ่แค่ไหน เราอาจจะนำสิ่งนี้ไปใช้ในการ Valuation ได้อีกด้วย (เรียกว่า Top-down approach Valuation)
โดยส่วนตัวเเล้ว ผมจะยิ่งชอบเป็นพิเศษ ถ้าหากว่า บริษัทนั้นสามารถก้าวข้ามจะ Market นึง ไปสู่อีก Market นึงได้ เพราะจะทำให้ TAM ของเค้านั้นใหญ่ขึ้นเป็นเท่าตัว และ มีโอกาสทำให้มูลค่าของเค้าเพิ่มขึ้นได้หลายเท่าตัวด้วย
ตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันเช่น Grab
Grab เกิดจากการให้บริการ Taxi หรือ Ride-Sharing โดยในช่วงแรก TAM ของ Grab ก็จะเป็นแค่มูลค่าตลาดของธุรกิจเเทกซี่ แต่เมื่อ Grab ใช้สิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วอย่าง Customer base หรือ App ที่ดี เข้าไปสู่บริการอย่าง Grab food หรือ Financing นั่นเท่ากับว่า TAM ของ Grab ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในธุรกิจเเทกซี่อีกต่อไป นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมมูลค่าของ Grab ในการ Raise fund แต่ละรอบถึงเติบโตอย่างมาก
4. Marketing Strategy
ถึงแม้บริษัทจะมีสินค้าที่ดี มีความต้องการสูง แต่ถ้าบริษัทไม่สามารถรู้วิธีในการนำสินค้าเหล่านั้นไปถึงมือลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สินค้าเหล่านั้นก็เปล่าประโยชน์
ดังนั้น บริษัทจะต้องมีการทำการตลาดที่ดีด้วย
คำถามที่เราต้องถามก็มีตัวอย่างเช่น
จะทำให้ลูกค้ารู้จักเราได้อย่างไร
จะทำให้ลูกค้าอยากซื้อสินค้าเราได้อย่างไร
ควรวาง Positioning ของสินค้าของเราอย่างไร
Product ของเราจะสร้างความแตกต่างกับคู่แข่งอย่างไร
ผมว่าเรื่องนี้คงไม่มีสูตรสำเร็จ คงจะต้องขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท หรือแต่ละสินค้า
นอกจากนี้ ตัวเเปรที่สำคัญในเรื่องนี้ที่ทุกๆบริษัทมักจะพูดถึงก็คือ Customer Acquisition Cost (CAC) และ Customer Lifetime Value (CLV)
CAC หรือค่าใช้จ่ายในการหาลูกค้า จะต้องน้อยกว่า CLV หรือ มูลค่าของลูกค้า
เราเห็นตัวอย่างง่ายๆอย่างในบ้านเรา ทำไมเวลาเราจะย้ายค่ายมือถือ เค้าถึงเสนอเงื่อนไขลดราคาค่าบริการให้เราถึง 50% เพราะเค้าคำนวณแล้วว่า สิ่งที่เค้าลดราคาลงให้นั่น(CAC) มีมูลค่าน้อยกว่าเงินที่เราจะจ่ายให้กับเค้าตลอดอายุสัญญา (CLV) นั่นเอง
บริษัทไหนที่มี CAC น้อยๆ และมี CLV สูงๆ นั้น สำหรับผมคิดว่า เป็นบริษัทที่น่าลงทุนมากครับ
5. Sustainable competitive advantage
สิ่งนี่น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากอันดับต้นๆเลย ถ้าเราจะลงทุนระยะยาว
มีคนถาม Warren Buffett ว่า ถ้าหากเค้าจะรู้ได้แค่สิ่งเดียวในบริษัทที่เค้าจะลงทุน เค้าจะอยากรู้อะไร Buffett เลือกที่จะรู้ Sustainable competitive advantage
เพราะสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทเติบโตได้ในระยะยาวอย่างมั่นคง
ประเด็นเรื่องนี้ มีรายละเอียดมาก และ ยากมากที่จะระบุได้ เพราะขึ้นอยู่กับบริษัทและอุตสาหกรรมนั้นๆ (ไว้ผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้แยกออกมาเป็นตอนเลยครับ)
ตัวอย่างของ Sustainable competitive advantage เช่น Brand, Network effect, Intellectual property(IP) หรือการเข้าถึงทรัพยากรย์ที่มีอย่างจำกัดได้
หุ้นบางตัวอาจจะมีการเติบโตที่สูงมากเพราะใส่เงินการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้าไปเยอะมาก แต่สุดท้ายสิ่งที่เค้ามี ไม่สามารถ Sustainable ได้ เพราะเมื่อเค้าหยุดใส่เงินลงไป ลูกค้าก็หนีไปใช้บริการคนอื่นแทน แบบนี้ก็อาจจะไม่เหมาะในการลงทุนระยะยาวได้ครับ
เคสตัวอย่างที่น่าสนใจ ก็อย่างเช่นยุคที่เป็นการต่อสู้กันระหว่าง Uber vs. Grab ในบ้านเรา(ก่อนที่ Uber จะถอยทัพกลับไป) หรือ การเติบโตแบบ WeWork ที่โตมหาศาลแต่สุดท้ายไม่สามารถจะทำกำไรได้ แบบนี้ก็ต้องระวังครับ
6. Business Model & Financial Plan
ในข้อนี้ เราได้เริ่มมาพิจารณาถึงตัวเลขทางการเงินของบริษัทว่าเป็นอย่างไร มีแผนการในการลงทุนอย่างไร
สิ่งที่เราต้องพิจารณานั้นมีหลายๆมุม ทั้งในเรื่องของรายได้ ค่าใช้จ่าย เช่น
Revenue model - เป็นแบบขายสินค้า, ระบบสมาชิก subscription, pay per user, transaction fee, licensing เป็นต้น
Revenue stream - บริษัทรับรายได้ครั้งเดียว หรือ ทยอยรับรู้ไปเรื่อยๆแบบ Recuring หรือการยอมขายขาดทุนในสินค้าประเภทนึงเพื่อที่จะทำให้มีโอกาสทำกำไรในสินค้าประเภทอื่น(โมเดลแบบเครื่อง printer & หมึกพิมพ์)
Pricing model - มีวิธีการตั้งราคาอย่างไร ราคาที่ขายสามารถแข่งขันหรือเป็นที่ต้องการในตลาดหรือไม่
Cost structure - บริษัทมี Cost อย่างไร ตัวอย่างเช่น Fixed cost vs. Valuable cost. ต้องลงทุน Inventory หรือ Marketing อย่างไร
ทั้งหมดนี้ เหมือนเป็นการพิจารณาในภาพรวมในแง่ของบริษัทว่า มีวิธีการทำธุรกิจอย่างไร
7. Team
ในมุมมองของ Venture Capital นั้น ข้อนี้มีความสำคัญมากที่สุด
ถึงแม้ว่า Product จะไม่ดี แต่มีถ้า Team ที่ดีจะสามารถแก้ปัญหาเเละพา Startup ให้เติบโตหรือคิดค้น Product ใหม่มาสู่ตลาดได้
ตรงกันข้าม ถึงแม้ว่าจะมี Product ที่ดี แต่ถ้าหากมี Team ที่ไม่ดี Startup ก็ไม่สามารถที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาวได้
วิธีการง่ายๆของผมก็คือ หาคลิปที่ Founder หรือ ผู้บริหารให้สัมภาษณ์แล้วดูการตอบคำถามของเค้า การพูดตามงานต่างๆ หาหนังสือประวัติของเค้ามาอ่าน
โดยเฉพาะ ผมชอบฟังเรื่องเกี่ยวกับ Vision ของ Founder เพราะ มันจะเหมือนเป็น Guideline ให้เราเห็นภาพคร่าวๆได้เลยว่า เค้ามีความต้องการที่จะพา Startup นี้ไปอยู่ที่จุดไหน
เรื่องนี้ ไม่มีสูตรสำเร็จเลยครับ เป็นเรื่องของความชอบหรือไม่ชอบส่วนตัวได้เลย เป็นความประทับใจส่วนตัวที่เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อในสิ่งที่เค้าพูดเลย
โดยปกติแล้ว ผมใช้ 7 ข้อนี้เป็น Checklist ในพิจารณาคัดแยกว่า หุ้นตัวนี้เป็นตัวที่ผมจะลงทุนได้ หรือว่า โยนทิ้งลงตะกร้าไป
ทั้งหมดนี้ เป็นในเเง่ของทฤษฏีครับ
บทความต่อไป ผมจะเอาหุ้นที่ผมลงทุนจริงๆ มาเล่าให้ฟังว่า หุ้นตัวนั้นผ่านเกณฑ์ในการลงทุนทั้ง 7 ข้อของผมอย่างไร
ติดตามอ่านบทความตอนเก่าๆได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา