27 พ.ค. 2020 เวลา 08:52 • สุขภาพ
ฉลอง 180 ปี แสตมป์ดวงแรกของโลก
ย้อนไปเมื่อ 180 ปีที่แล้ว ด้วยแนวคิดของครูใหญ่วัย 40 ต้น ๆ ผู้หนึ่งที่แนะนำให้มีการใช้ระบบชำระเงินล่วงหน้าในการส่งไปรษณีย์ของประเทศอังกฤษ แทนที่จะเป็นการส่งก่อนเก็บทีหลังแบบเดิม จึงได้แจ้งเกิด “แสตมป์ดวงแรกของโลก” ที่รู้จักกันในนาม Penny Black หนุ่มใหญ่ผู้นั้นได้รับฐานันดรเป็น “เซอร์” (โรแลนด์ ฮิลล์) ในเวลาต่อมา ส่วนแสตมป์กลายมาเป็นบรรทัดฐานเดียวกันในการส่งไปรษณีย์ทั่วโลก และมีการสะสมกันจนเป็นงานอดิเรกยอดนิยมมานานหลายทศวรรษ
พระสาทิสลักษณ์พระพักตร์ข้างซ้ายของเจ้าหญิงวิกตอเรียในขณะนั้นได้รับเลือกมาเป็นภาพบนแสตมป์ดวงดังกล่าว ก่อนเริ่มใช้เป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 6 พฤษภาคม 1840 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระองค์เป็นราชินีวิกตอเรียแล้ว วันเวลาล่วงผ่านจนถึง ค.ศ.นี้ แสตมป์ภาพเดียวกันนั้นพิมพ์ออกมาใช้งานกันอีกครั้ง เพื่อเฉลิมฉลองวาระ 180 ปี ของเพนนี แบล็กนั่นเอง
การไปรษณีย์สหราชอาณาจักร หรือรอยัลเมล์ ออกแสตมป์ชุดนี้ในรูปแบบ “แสตมป์บนแสตมป์” ชนิดราคา First Class จำหน่ายในราคา 76 เพนซ์ เต็มแผ่น 25 ดวง ราคา 19 ปอนด์ วันแรกจำหน่าย 6 พฤษภาคม 2020
แสตมป์ดังกล่าวว่าที่จริงเคยออกมาก่อนหน้านี้ในปี 2015 และ 2016 ในโอกาสครบรอบ 175 ปี เพนนีแบล็ก ซึ่งรอยัลเมล์ ได้เลือกมาจัดทำคอลเลกชันพิเศษอีกครั้ง เพื่อเป็นที่ระลึกในงานแสตมป์ระหว่างประเทศ London 2020 ซึ่งเดิมกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 - 9 พฤษภาคม 2020 ณ กรุงลอนดอน
แต่ด้วยวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนการจัดงานไปเป็นปี 2022 รวมถึงสมุดแสตมป์สติกเกอร์ที่มีทั้งแสตมป์เพนนีสีดำ เพนนีน้ำเงิน และเพนนีแดงอยู่ในเล่มเดียวกัน พร้อมโลโก้งาน London 2020 ที่มีแผนจะออกมาก่อนจัดงานราว 2 เดือน และแผ่นชีตที่ระลึกของงานซึ่งจะมีแสตมป์เพนนีทั้ง 3 สี ล้อมรอบภาพเพลตพิมพ์ ต่างก็พลอยงดออกไปด้วย เหลือแต่เพียงแสตมป์เต็มแผ่นที่ออกมาในโอกาส 180 ปี แสตมป์ดวงแรกของโลกเท่านั้น
นอกจากความเป็นแสตมป์ดวงแรกของโลกที่มาพร้อมกับแผนปฏิรูประบบไปรษณีย์ครั้งใหญ่ในประเทศอังกฤษ เมื่อเกือบสองศตวรรษที่แล้ว รายละเอียดบนแสตมป์ก็มีเกร็ดน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะตัวอักษรกำกับบนเพนนีแบล็กที่ไม่เพียงระบุคำว่า POSTAGE (ค่าส่ง) และ ONE PENNY (หนึ่งเพนนี) เท่านั้น หากยังมีตัวอักษรมุมล่างซ้าย-ขวา เพื่อบ่งบอกตำแหน่งของแสตมป์แต่ละดวงในหนึ่งแผ่น โดยแต่ละแผ่นมีจำนวน 240 ดวง แนวตั้ง 20 ดวง แนวนอน 12 ดวง ตัวอักษรด้านซ้ายบอกลำดับในแนวตั้ง เริ่มจาก A จนถึง T ส่วนด้านขวาเป็นลำดับในแนวนอน จาก A จนถึง L นั่นเอง
และอาจเป็นด้วยแสตมป์ดวงแรกมีขึ้นเพื่อใช้เฉพาะในบริเตนใหญ่ หรือประเทศอังกฤษในระยะเริ่มต้น จึงไม่มีการระบุชื่อประเทศไว้บนแสตมป์แต่อย่างใด จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของแสตมป์อังกฤษที่ประเทศอื่น ๆ ให้การยอมรับต่อมาภายหลัง โดยไม่จำเป็นต้องมีชื่อประเทศ หากมีเพียงสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็คือ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 มาจนถึงทุกวันนี้
แสตมป์เพนนีแบล็ก ก็เหมือนแสตมป์อื่น ๆ ในยุคแรกเริ่มที่ยังไม่มีการปรุรูเพื่อให้ฉีกดวงได้ง่าย เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์และลูกค้าต้องใช้กรรไกรตัดดวงแสตมป์ออกจากกันเวลานำมาใช้งาน ในช่วงปีแรกว่ากันว่ามีการใช้เพนนีแบล็กมากถึง 68 ล้านดวง หรือ 286,700 แผ่น ในปัจจุบันแม้จะไม่ใช่แสตมป์หายากที่สุด แต่ราคาซื้อขายกันในตลาดก็จัดว่าแพงพอสมควร
เมื่อ 5 ปีก่อน นอกจากสหราชอาณาจักรแล้วยังมีประเทศอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญออก “แสตมป์บนแสตมป์” ในโอกาสครบรอบ 175 ปีแสตมป์ดวงแรกของโลกด้วย เช่น เยอรมนี เลือกแบล็กเพนนีในตำแหน่ง L และ E มาทำแสตมป์ที่ระลึกประเภทการกุศล (Semi-postal) ชนิดราคา €0.62+€0.30 โดยเป็นอัตราส่งพิกัดแรกในประเทศ 0.62 ยูโร ส่วนอีก 0.30 ยูโร บริจาคเข้ามูลนิธิส่งเสริมตราไปรษณียากรและประวัติไปรษณีย์ของประเทศ
ขณะที่การไปรษณีย์มาเลเซีย ออกแสตมป์ที่ระลึกในโอกาสเดียวกันในรูปแผ่นชีตที่ระลึก เป็นภาพแสตมป์เพนนีสีดำกับเพนนีน้ำเงินอยู่บนแสตมป์ดวงเดียวกัน ชนิดราคา 3 ริงกิต พร้อมภาพวาดเซอร์ โรแลนด์ ฮิลล์ ผู้ให้กำหนดแสตมป์เป็นครั้งแรกของโลก
โฆษณา