27 พ.ค. 2020 เวลา 10:44
เรื่องเล่ารอบโลก : “กะเหรี่ยงเลี้ยงช้าง” แห่งบ้านปูเต้อ
ความแน่นแฟ้นของ คน ช้าง ป่า ที่ไม่ใช่แค่เลี้ยงเพื่อไว้โชว์
คน ช้าง ป่า นับเป็นความผูกพันที่แน่นแฟ้นจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ของชุมชนชาวกระเหรี่ยงปกาเกอะญอ หมู่บ้านปูเต้อ ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก ชุมชนกะเหรี่ยงเลี้ยงช้างเขตชายแดนไทย - เมียนมาร์ ที่ผมมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 3 วัน
ชุมชนแห่งนี้ไม่ใช่ชุมชนชาวกะเหรี่ยงเพื่อการท่องเที่ยว แต่เป็นชุมชนที่ชาวกะเหรี่ยงใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิมมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ฉะนั้นมันจึงค่อนข้างเงียบสงบเหมือนชีวิตชนบทอย่างแท้จริงโดยปราศจากการเติมแต่งของแสงสี
ที่นี่เป็นหมู่บ้านคนเลี้ยงช้างที่มีช้างอยู่กว่า 50 เชือก ที่ดูแลกันเหมือนดุจญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว ซึ่งช้างถือว่าเป็นมรดกของครอบครัว ที่ตกทอดแด่ลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น ผู้ชายในหมู่บ้านไม่ว่าจะเป็น เด็ก วัยรุ่น หรือคนสูงอายุ จะมีความสามารถในการบังคับช้างได้เกือบทุกคน ซึ่งความผูกพันระหว่างคนกับช้างเป็นมากกว่าเพียงแค่สัตว์เลี้ยงเอาไว้เพื่อใช้งาน
ในทุกๆ เดือนเมษายนของทุกปี ที่นี่จะมีประเพณีมัดมือช้างเรียกขวัญช้าง หรือที่เรียกว่า “กิ๊เก่อซอจือ” เพื่อให้คนในชุมชนได้ขอขมาลาโทษช้างที่ในตลอดหนึ่งปีอาจจะได้ล่วงเกินใดๆ ไปบ้างหลัง ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้าง อีกทั้งภูมิปัญญาในการฝึกช้างโดยใช้ทั้งภาษากะเหรี่ยงและภาษาไทยเป็นหลักในการศึกษาเพื่อฟังคำสั่งของควาญช้างอีกด้วยชาวบ้านปูเต้อจะไม่ยอมปล่อยให้ช้างไปอยู่ปางช้าง ไม่มีการขายช้าง ไม่มีการเอาช้างไปเดินเร่ตามถนน หรือไปโชว์เพื่อเรี่ยรายเงิน เพราะคนที่นี่ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับดวงชะตาที่ผูกติดกับช้าง เพราะถ้ามีการขายช้างหรืออยู่ห่างจากช้าง เจ้าของช้างช้างอาจจะป่วยหรือมีอันเป็นไปได้ และช้างทุกตัวในบ้าน คือพี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา หรือ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่คนที่นี่ให้ความเคารพเหมือนคนๆ หนึ่ง โดยวิถีคนเลี้ยงช้างที่ดีหรือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษของชาวปกากะญอ ที่ของคนในชุมชนมีความภาคภูมิใจในการเลี้ยงช้าง แม้ว่าตนจะใช่หรือไม่ใช่เจ้าของช้างก็ต่าง
แต่ความเป็นไปในสังคมโลกที่กำลังคืบคลานเข้ามาสู่ชุมชนชายขอบ เงินทองมีบทบาทต่อการดำรงชีวิต บวกกับความเข้มงวดในการเข้าไปใช้พื้นที่ป่าของทางการ ทำให้ชุมชนคนเลี้ยงช้างแห่งนี้กำลังลำบาก ผมพูดคุยกับ อาจารย์ ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อาจารย์และศิลปินพื้นบ้านชาวปะกาเกอะญอเล่าให้ฟังว่า “ช้างหนึ่งเชือก ก็เหมือนกับคนหนึ่งคนที่เราต้องดูแลเขาตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อก่อนป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เราพาช้างเข้าป่าให้เขาหาอาหารได้อย่างง่ายได้ นอนในป่ากันสองคืนก็มีความสุข เผลอเดินหลุดข้ามไปฝั่งพม่าก็บ่อย แต่ก็ไม่มีอะไร เพราะคนสองฝั่งต่างคุ้นเคยกันดี แต่มาวันนี้ป่าไม้ลดลง ความสมบูรณ์หายไป อาหารช้างเริ่มหายากขึ้น
“บางครั้งพื้นที่เคยเป็นป่า ก็กลายมาเป็นพื้นที่สวน ไร่ นา ช้างมันก็คือสัตว์ สัตว์ก็ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณ บางทีก็เข้าไปในพื้นที่สวน ไร่ของชาวบ้าน กลายเป็นปัญหาระหว่างคนกับช้าง ทั้งๆ ที่ตรงนั้น ช้างเขาอยู่มาก่อน ทำให้บางครอบครัวต้องขายหรือให้เช่าช้างไปที่อื่น เพื่อแลกกับค่าจ้างหรือค่าเช่า ถูกไปใช้แรงงาน ถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ พูดง่ายๆ ก็เป็นขี้ข้านายจ้างนั่นแหละ ทำไงได้ล่ะ เมื่อการเลี้ยงสัตว์ใหญ่มันมีค่าใช้จ่ายเดือนนึงหลักหมื่นบาท”
“ถ้าช้างมันพูดได้มันคงบอกว่า ไม่ไปได้มั้ย แต่สุดท้ายเงินก็คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้มันต้องไป”
อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ การที่หน่วยงานภาครัฐทำงานโดยปราศจากความเข้าใจในบริบทของพื้นที่ รัฐมองช้างทุกตัวเหมือนๆ กัน เหมือนมองชาวตะวันตกคือฝรั่ง แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นฝรั่งประเทศไหน เชื้อสายอะไร
เจ้าหน้าที่เข้ามาในชุมชนเพื่อมาตรวจช้าง ว่ามีการลักลอบเลี้ยงหรือไม่ เจ้าหน้าที่บางคนไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าช้างไม่ได้มีแค่ที่ลำปาง เชียงใหม่ หรือสุรินทร์ แต่มันมีอยู่ทุกที่ และหมู่บ้านคนเลี้ยงช้างก็ไม่จำเป็นว่าต้องมีที่สุรินทร์ที่เดียว หรือไปปางช้างต้องไปที่แม่สา กับมูลนิธิช้างที่ลำปาง
ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านี้ สมัยที่เขาเป็นเด็กเวลาเจ้าหน้าที่มาตรวจช้างในหมู่บ้าน เขายึดช้างไปต่อหน้าต่อตา ทั้งที่ช้างสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ แล้วช้างบ้านปูเต้อปัจจุบันก็ยังมีปัญหา ช้างเกิดได้ประมาณ 2 ขวบ 3 ขวบ ไปขอขึ้นทะเบียนยังไม่ได้ เขาก็ตรวจโน่นตรวจนี่ ชาวบ้านพร้อมที่จะให้ตรวจนะ แต่ตรวจครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยังไม่ได้
พอช้างโตขึ้นโตขึ้น ความเชื่อมั่นว่าเป็นช้างในเมืองไทยก็จะลดลงๆ คือเราเคยเจอแต่ปัญหาคนไร้สัญชาติ แต่ตอนนี้เราเจอปัญหาใหม่ว่าช้างไร้สัญชาติ ช้างเกิดในประเทศไทย แต่ไม่มีสัญชาติ พอเราจัดงานวันช้างไทยก็มาสงสัยว่าเอาช้างจากพม่ามา เพราะเขาไม่เชื่อว่าที่อำเภอแม่สอดจะมีหมู่บ้านช้างที่มีช้างมากกว่า 20 เชือก ซึ่งตอนนี้มีไปถึง 50 เชือกแล้วด้วยซ้ำ
“เหมือนเจ้าหน้าที่ไม่เคยรับรู้เลยว่าคนไทยเลี้ยงช้างในบ้านมาเป็นเวลาพันๆ ปีแล้ว แต่เจ้าหน้าที่มักมองอะไรแคบๆ จากกระดาษแค่ไม่กี่แผ่น หรือจากคำสั่งของหัวหน้าที่อาจไม่มีความเข้าใจในงานพื้นที่”
อีกปัญหาก็คือกลุ่มทุนที่เข้ามาสร้างปางช้าง หรือชาวต่างชาติที่มาบริหารปางช้าง ที่มีแต่เงินและความรู้จากโลกตะวันตก ที่เอาช้างมาเลี้ยงล่ามโซ่ไว้ในคอก ถึงเวลาก็เอาอาหารมาโยนโครมๆๆ ให้ช้างกิน ให้ช้างมาโชว์ยกแข้งยกขาให้นักท่องเที่ยวดู แล้วก็จ้างชาวบ้าน จ้างต่างด้าวที่ไม่รู้การดูแลช้าง มาขี่ช้างมาเลี้ยงช้าง ทั้งๆ ที่การดูแลช้างตามแบบวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่มีมาเนิ่นนาน การฝึกช้าง ควาญช้าง หมอช้าง พิธีกรรมเกี่ยวกับช้าง ล้วนเป็นภูมิปัญญาที่เชื่อมโยงสายสัมพันธ์คน ช้าง ป่า ทว่าในห้วงเวลาที่การท่องเที่ยวเข้ามามีบทบาทสำคัญ ช้างกลับถูกพรากออกจากชุมชน สวนทางกับธุรกิจปางช้างที่ขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง เพียงแค่เพื่อเรียกคนเข้ามาทัวร์ และถอนทุนคืนจากการลงทุนเพียงเท่านั้น
แต่ช้างที่บ้านปูเต้อเราไม่ทำ เพราะช้างก็เหมือนกับคน เขาไม่ควรถูกพาไปทำอะไรที่เป็นการฝืนธรรมชาติ ฝืนสรีระร่างกายอย่างการยืนโชว์สองขาหน้า เขาควรมีความสุขกับการเดินไปเดินมา นี่คือสิ่งที่เราอยากให้คนต่างถิ่นเห็นว่า ช้างเขามีความสุขในชีวิตแบบของเขา
“บางทีชาวบ้านเขาต้องการขายวัฒนธรรม ขายประเพณี ขายความรักระหว่างคนกับช้าง อย่าไปรบกวนเขา อย่าให้เขาอยู่อย่างลำบาก คนเราถ้าให้เขาลำบาก ความรักมันก็ไม่เกิด จะเลี้ยงต่อไปอย่างไรให้ช้างอยู่กับคนได้ ต้องมาช่วยกันวางแผน กำหนดนโยบายให้ดี ทำซะตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย ในจังหวะที่ปัญหายังไม่ลุกลามบานปลายมากมายนัก”
“ที่สำคัญ ถ้ามีช้าง คนจะไม่กล้าเข้ามาทำลายป่า มีช้างก็ต้องมีป่า ถ้าไม่มีป่าช้างก็ไม่มี เพราะฉะนั้นถ้าจะรักช้างก็ต้องรักป่า”
โฆษณา