28 พ.ค. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
สรุปเรื่อง Japan Airlines ฟื้นหลังล้มละลาย ได้อย่างไร? แบบเข้าใจง่ายๆ
ถ้าบริษัทเรามีหนี้สินกว่า 690,000 ล้านบาท และกำลังจะล้มละลาย
เราคงถูกมองว่าบ้า ถ้าไปเอาคนที่ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจนั้นมาแก้ปัญหา
แต่เมื่อ 10 ปีก่อน ตอนที่สายการบิน Japan Airlines ใกล้จะล้มละลาย
รัฐบาลญี่ปุ่นกลับเชิญคนที่ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจการบินมาเป็น CEO
ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่น จึงกล้าตัดสินใจแบบนั้น
และคนที่เข้ามาแก้ปัญหาให้ Japan Airlines ในวันนั้นคือใคร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่น เรามารู้จักกับ Japan Airlines กันก่อน
Japan Airlines ก่อตั้งขึ้นในปี 1951 โดยรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อสร้างเครือข่ายการเดินทางด้วยเครื่องบินของญี่ปุ่น หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
3 ปีแรกหลังก่อตั้ง Japan Airlines ให้บริการเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น
ก่อนที่ในปี 1954 Japan Airlines จะเริ่มให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศเที่ยวแรกในเส้นทาง โตเกียว - ฮอนโนลูลู - ซานฟรานซิสโก
ปี 1961 Japan Airlines เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่น
ปี 1987 Japan Airlines ถูกแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชนเพื่อให้การบริหารงานมีความคล่องตัวและความสามารถทำกำไรมากขึ้น
Cr. JAL
Japan Airlines ถือว่าได้เปรียบสายการบินคู่แข่งหลายแห่ง เนื่องจากบริษัทมีต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำกว่าสายการบินอื่นๆ ทำให้บริษัทไม่เพียงแต่กู้ยืมเงินมาขยายธุรกิจได้ง่าย แต่ยังรวมไปถึง สามารถขายตั๋วได้ต่ำกว่าสายการบินหลายแห่งเพื่อดึงดูดผู้โดยสารมาใช้บริการ
แต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายของ Japan Airlines เปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะบริษัทเริ่มนำเงินทุนจำนวนมากไปลงทุนในกิจการโรงแรม รีสอร์ต หรือแม่แต่บริษัททัวร์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับธุรกิจหลักของบริษัท
ถึงขนาดที่ว่า พนักงานของ Japan Airlines ออกมาบอกว่า โรงแรมแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ที่บริษัทไปซื้อมานั้น ต่อให้มีลูกค้าเข้าพักเต็มจำนวนทุกปี ตลอด 30 ปี โรงแรมแห่งนี้ก็ยังไม่สามารถทำกำไรให้ Japan Airlines ได้เลย..
และก็ดูเหมือนว่า การกระจายความเสี่ยงของธุรกิจจะใช้ไม่ได้ผลกับสายการบินแห่งนี้
เมื่อปริมาณผู้โดยสารเริ่มลดลง จากภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจสายการบินค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้เกิดหายนะกับบริษัท
ปี 2009 บริษัทประสบกับวิกฤติการเงินอย่างหนัก จนต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูจากการล้มละลาย ในตอนนั้น สายการบินแห่งนี้มีหนี้สินทั้งหมดกว่า 690,000 ล้านบาท มากกว่าหนี้สินของการบินไทย ณ ตอนนี้เกือบ 3 เท่า จนหุ้นของบริษัทถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นในปี 2010
แน่นอนว่า ด้วยภาระหนี้สินขนาดนี้ คงไม่มีหน่วยงานไหนนอกจากภาครัฐ ที่จะเข้ามาช่วยไม่ให้สายการบินแห่งนี้ล้มไปต่อหน้าต่อตา อย่างไรก็ตาม หนึ่งในข้อแม้ของรัฐบาลญี่ปุ่นหลังจากใส่เงินไปแล้วก็คือ ผู้บริหารสูงสุดที่จะมาบริหาร Japan Airlines ต้องเป็นคนที่รัฐบาลเลือกมาเองเท่านั้น
4
ด้วยเหตุผลของรัฐบาลที่กล่าวไว้ในตอนนั้นคือ “เราต้องเลือกคนที่ใช่ก่อน เพราะมันจำเป็นมากในการแก้ไขปัญหาของสายการบินแห่งนี้”
หลายฝ่ายต่างคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่า คนที่จะมาแก้วิกฤติในครั้งนี้ คือ ใคร?
สุดท้ายคนที่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นสมัยนั้นไปเชิญมาก็คือ คุณ Kazuo Inamori ผู้ชายวัย 78 ปี ในตอนนั้น
Cr. Financial Times
แล้วชายผู้นี้คือใคร?
คุณ Kazuo Inamori คือ ผู้ก่อตั้งบริษัท Kyocera ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจหลากหลายไม่ว่าจะเป็น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ที่ใช้ในสำนักงาน ชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า
ที่น่าสนใจ นี่คือบริษัทที่มีกำไรทุกปีนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1959 จึงไม่แปลกที่ชายคนนี้จะได้รับการยอมรับในฐานะ “บิดาแห่งการบริหารองค์กร”
อย่างไรก็ตาม
กลับเกิดคำถามมากมายจากการตัดสินใจในครั้งนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่น และน้อยคนที่จะเชื่อว่าชายที่ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจสายการบิน จะสามารถแก้ปัญหาที่หนักหน่วงของสายการบินแห่งนี้ได้
นอกจากนั้น คนรอบตัวของคุณ Kazuo Inamori บอกเขาว่า อย่าเอาชื่อเสียงไปทิ้งกับ Japan Airlines เลยและในวัยขนาดนี้ตัวเขาเองควรจะไปพักผ่อนแบบสบายๆ ดีกว่า
แต่สำหรับตัวของคุณ Kazuo Inamori เองนั้น เขาคิดว่าต้องมาช่วยสายการบินแห่งนี้ เพราะถ้าปล่อยให้ Japan Airlines ล้มไป มันจะไม่เพียงแต่กระทบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังรวมไปถึงภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่น รวมทั้งพนักงานของบริษัทเกือบ 5 หมื่นคนที่ต้องตกงาน
หลายคนอาจคิดว่า คุณ Kazuo Inamori ต้องได้รับเงินเดือนสูงมาก ในการเข้ามาทำงานในฐานะ CEO เพื่อแก้ปัญหาที่วิกฤติของสายการบินนี้
แต่จริงๆ แล้ว เงื่อนไขของเขาในการมารับงานนี้คือ เขาไม่ขอรับเงินเดือนจาก Japan Airlines แม้แต่บาทเดียว..
ปัญหาที่เขาพบเจอหลังเข้ามาคือ มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกภายในองค์กร มีระบบการเมืองภายใน
ที่สำคัญพอเขามาพูดคุยกับผู้บริหาร ที่น่าตกใจคือ หลายคนยังไม่รู้เลยว่า แต่ละแผนก แต่ละเที่ยวบิน สร้างรายได้เท่าไรให้กับบริษัท
ดังนั้น สิ่งแรกที่เขาทำคือ ต้องทำให้ทุกคนในบริษัทรับรู้ว่า อีกไม่เกิน 1 ปี Japan Airlines จะล้มละลายถ้าทุกคนไม่ช่วยกัน รวมทั้งต้องปรับความคิดทุกคนก็คือ Japan Airlines นั้นคือธุรกิจบริการขั้นสูงสุด ไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจการบิน
1
ซึ่งคนที่จะสร้างการบริการให้ประทับใจแก่ลูกค้าก็คือ พนักงานบริษัท
ดังนั้น เขาจึงต้องทำให้พนักงานทุกระดับเข้าใจในสิ่งที่เขาคิด ด้วยการไปพูดคุยกับพนักงานด้วยตัวเอง ตั้งแต่พนักงานขายตั๋ว พนักงานยกกระเป๋า ไม่ใช่เพียงแค่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเท่านั้น
1
เขายังใช้ระบบบริหารแบบ Amoeba นั่นคือ เป็นระบบที่มาช่วยตรวจสอบว่า แต่ละแผนกทำรายได้เท่าไร และก่อให้เกิดต้นทุนแค่ไหน ในการทำงานของแต่ละแผนก
Cr. Kyocera
เมื่อเขารู้อะไรที่ไม่จำเป็นเขาจะตัดค่าใช้จ่ายเหล่านั้นลงหมด รวมไปถึงเส้นทางการบินที่ไม่ทำกำไร
นอกจากนั้นยังมีการติดป้ายราคาสินค้าทุกชิ้นที่บริษัทซื้อเข้ามา เพื่อให้คนที่นำไปใช้จะได้รู้ว่า ต้นทุนของบริษัทแต่ละชิ้นราคาเท่าไร
จากการทำงานอย่างหนักของคุณ Kazuo Inamori ทำให้สายการบินแห่งนี้ จากที่ขาดทุนกว่า 19,000 ล้านบาท ในปี 2009 Japan Airlines เริ่มกลับมามีกำไรในปี 2012 และทำให้หุ้นของบริษัทกลับมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นอีกครั้งในปีดังกล่าว
แล้วผลประกอบการของ Japan Airlines ล่าสุดเป็นอย่างไร
ปี 2017 รายได้ 415,000 ล้านบาท กำไร 40,600 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 446,100 ล้านบาท กำไร 45,200 ล้านบาท
1
ถึงแม้ว่าในปีนี้ Japan Airlines ก็น่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 เช่นกัน
แต่การฝ่าฟันอุปสรรค และฟื้นฟูองค์กรในอดีต ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้บริษัทฝ่าฟันวิกฤตินี้ไปได้อีกครั้ง
และในวันนี้ Japan Airlines มีกำไรสะสมกว่า 247,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน มูลค่ากิจการของ Japan Airlines เท่ากับ 191,000 ล้านบาท ใหญ่การบินไทยของเราประมาณ 19 เท่า..
โฆษณา