28 พ.ค. 2020 เวลา 10:19
เมื่อ "งานกลุ่มทำคุณกลุ้ม"
ทำไมคุณทำงานอยู่คนเดียวอีกแล้วนะ? แต่บางทีคุณก็อู้งาน
ขอเชิญเข้าสู่ "ทฤษฎีเกม" อีกครั้ง เผื่อจะตอบคำถามได้ว่า "ทำไมคนถึงชอบอู้งานกันนะ"
จากความเดิมตอนที่แล้ว เราพบว่ากรณี A สมเหตุสมผล พอจะยกเป็นข้ออ้างเพื่ออู้งานได้
แล้วจะมีกรณีอื่นอีกไหมนะ ที่จะมาเป็นข้ออ้างเพิ่มเติมได้ สำหรับคนขี้เกียจอย่างผม
มาหาคำตอบกันต่อเลย
ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels
เริ่มกันที่ข้อสรุปรายละเอียดสถานการณ์ของตอนที่แล้วกันก่อน
ถ้าใครเพิ่งมาเข้าอ่านครั้งแรก อาจจะงงนิดหน่อย ผมขอแนะนำให้ย้อนกลับไปอ่านตอนที่แล้วก่อนจะดีกว่า
ตามลิงค์ข้างล่างนี้เลยครับ
สรุปสถานการณ์
กรณี B : ทำงานมากกว่า 3 คน
งานเสร็จแน่นอน เพราะเข้าเงื่อนไขการทำงานอย่างน้อย 3 คน
สมมติคุณอยู่ในฝั่ง “ทำงาน” ก่อนนะครับ
คุณจะได้ “ความพึงพอใจ” 10 หัวใจ
หัก “ต้นทุนการทำงาน” 3 หัวใจ
ได้ “ผลตอบแทน” 7 หัวใจ ( 7 = 10 - 3 )
ถ้าคุณลองเปลี่ยนใจเป็น “ไม่ทำงาน” ดูบ้าง
งานก็ยังเสร็จเหมือนเดิม
คุณจะได้ “ความพึงพอใจ” 10 หัวใจ
ไม่มี “ต้นทุนการทำงาน”
ได้ “ผลตอบแทน” 10 หัวใจ ( 10 = 10 - 0 )
คุณพบว่า “ผลตอบแทน” จากทางเลือก “ทำงาน” น้อยกว่า การที่คุณเปลี่ยนใจเป็น “ไม่ทำงาน” ( 7 < 10 )
สมมติคุณอยู่ฝั่ง "ทำงาน"
เมื่อคุณลองเปลี่ยนการกระทำแล้วได้ผลตอบแทนสูงกว่าการกระทำเดิม
แสดงว่าการกระทำเดิมของคุณไม่สมเหตุสมผล
กรณี B จึงไม่สมเหตุสมผล
อย่าลืมว่าทั้งคุณและผมเป็นคนมีเหตุผลนะครับ แถมผมยังเป็นคนขี้เกียจอีกด้วย
เมื่อไม่สมเหตุสมผล ผมก็จะไม่พิจารณาต่อแล้ว
ข้อสรุปของกรณี B ก็คือ
คุณจะ “ทำงาน” ไปทำไมครับ!! อู้งานดีกว่า
กรณี C : ทำงาน 1 - 2 คน
งานไม่เสร็จแน่ ๆ เพราะมีคนทำงานไม่ถึง 3 คน
สมมติคุณอยู่ฝั่ง “ทำงาน”
คุณได้ “ความพึงพอใจ” 0 หัวใจ
และเสีย “ต้นทุนการทำงาน” 3 หัวใจ
คุณจึงได้ “ผลตอบแทน” - 3 หัวใจ ( - 3 = 0 - 3 )
ให้ถือซะว่าหัวใจติดลบได้ก็แล้วกันนะครับ
ทีนี้คุณลองเปลี่ยนใจเป็น “ไม่ทำงาน” บ้าง
งานก็ไม่เสร็จเหมือนเดิม แต่คุณก็ไม่เสีย “ต้นทุนการทำงาน”
คุณจะได้ “ผลตอบแทน” 0 หัวใจ ( 0 = 0 - 0 )
จะเห็นว่า “ผลตอบแทน” จากทางเลือก “ทำงาน” น้อยกว่า การที่คุณเปลี่ยนใจเป็น “ไม่ทำงาน” ( - 3 < 0 )
การที่คุณ “ทำงาน” มันช่างเป็นการกระทำที่ไร้เหตุผลสิ้นดี !!
กรณี C จึงไม่สมเหตุสมผล
และขอข้ามกรณีไม่สมเหตุสมผลไปอีกเช่นเคย
สรุปก็คือคุณจะ “ทำงาน” ไปทำไมครับ
ในเมื่อทำให้ตายงานก็ไม่เสร็จ
คุณควรทิ้งทุกอย่าง แล้วไปเตะบอลดีกว่า
กรณี D : ไม่มีใครทำงาน
คุณคงคิดว่ากรณีนี้ฟังดูประหลาดจัง แต่ผมขอให้คุณลองดูสักนิดก่อนครับ
ซึ่งกรณีนี้พิจารณาง่ายเลยครับ เพราะงานไม่เสร็จแน่ยิ่งกว่าแน่อีก
คุณจะได้ “ผลตอบแทน” 0 หัวใจ ( 0 = 0 - 0 )
แล้วถ้าคุณเปลี่ยนใจเป็น “ทำงาน”
คนอื่นอาจมองคุณว่า “บ้าไหม ทำงานคนเดียวเนี่ย” เพราะงานไม่มีวันเสร็จแน่นอน
แต่ยอมบ้าต่ออีกนิดนะครับ เราใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว
คุณเสีย “ต้นทุนการทำงาน” 3 หัวใจ
แต่งานไม่เสร็จ คุณจึงได้ “ความพึงพอใจ” 0 หัวใจ
คุณได้ “ผลตอบแทน” - 3 หัวใจ ( - 3 = 0 - 3 )
คุณพบว่า “ผลตอบแทน” จากทางเลือก “ไม่ทำงาน” มากกว่า การที่คุณเปลี่ยนใจเป็น “ทำงาน” ( 0 > - 3 )
กรณี D อะไรจะขี้เกียจกันขนาดนั้น
คุณพยามทำให้ได้ “ผลตอบแทน” หรือ “หัวใจ” มากที่สุด
คุณลองเปลี่ยน “การกระทำ” ดูแล้ว แต่ก็ไม่ได้หัวใจเพิ่มขึ้น
ดูเหมือนว่าคุณจะทำดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว คุณไม่มีวันได้หัวใจมากไปกว่านี้แล้ว
พล็อตคุ้น ๆ ไหมครับ
ใช่ครับ จะเห็นว่าลอกบทกรณี A มาเลย
ดังนั้นการที่ไม่มีคนทำงานเลยสักคนเดียว จึงสมเหตุสมผล
ซึ่งข้อสรุปของกรณี D ก็คือ คุณต้อง “ไม่ทำงาน” ต่อไป เพราะถ้าคุณเปลี่ยนเป็น “ทำงาน” คุณจะกลายเป็นคนไร้เหตุผลทันที !!
มันอาจจะฟังดูประหลาดนิดหน่อย แต่ก็สมเหตุสมผลดี
จบแล้วครับ เราพิจารณาครบทุกกรณีแล้ว
คุณอาจจะแย้งว่า “ครบทุกกรณี แต่ยังไม่ครบทุกคนเลย”
ใช่ครับ แต่อย่าลืมว่าทุกคนในกลุ่มเป็นคนมีเหตุผล ดังนั้นแต่ละคนก็ต้องคิดแบบเดียวกับคุณ และได้ข้อสรุปออกมาเหมือนกัน
ไม่เชื่อก็ลองเปลี่ยนสรรพนาม “คุณ” ในแต่ละกรณี ให้เป็น “นายแดง” แล้วก็ลองเปลี่ยนเป็น “นายเขียว” ไปเรื่อย ๆ วนให้ครบ 5 คน
แล้วคุณจะพบว่าทุกคนคิดเหมือนกันเป๊ะ !!
สถานการณ์ “งานกลุ่ม” ดังเช่นที่ยกมานี้ ตามตำราจะเรียกว่า “เกม”
คนที่อยู่ในสถานการณ์คอยตัดสินใจทำทางเลือกต่าง ๆ จะเรียกว่า “ผู้เล่น”
คุณพบว่า มีแค่กรณี A และ กรณี D เท่านั้นที่สมเหตุสมผล
ความสมเหตุสมผลมาจากการที่ “ผู้เล่น” แต่ละคนไม่สามารถสร้าง “ผลตอบแทน” ให้ได้มากกว่าหรือเท่ากับ "ผลตอบแทน" เดิม ไม่ว่า "ผู้เล่น" จะเปลี่ยน “การกระทำ” ไปเป็นแบบใดก็ตาม
“ผู้เล่น” แต่ละคนทำดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว
ถึงตรงนี้กรณี A และ D มีชื่อเรียกให้ดูเท่แล้วครับ
ก็คือ “Nash equilibrium” นั่นเอง !! ตั้งตามนักคณิตศาสตร์คนดัง “John Nash”
ซึ่งชีวิตของ “John Nash” ถูกนำไปทำภาพยนต์เรื่อง “A beautiful mind” ด้วยนะครับ
แต่เดี๋ยวก่อนสถานการณ์ที่เราดูกันมา รู้สึกจะคล้ายกับ “public goods” เลยนี่
อะไรคือ “public goods” ?
แล้ว “Nash equilibrium” ก็ฟังดูดีนะ แต่มันจะเป็นแบบนี้ได้จริง ๆ เหรอ?
สุดท้ายมาดูกันว่า “John Nash” จะช่วยคุณครูจูงใจให้นักเรียนไม่อู้งานได้ไหม
ในตอนถัดไปคุณจะพบกับ “เกม” ที่ประหลาดกว่านี้
และคุณอาจจะสงสัยยิ่งกว่านี้ว่า “มันใช่เหรอ (วะ)”
ไว้ติดตามคำตอบในตอนถัดไปนะครับ
ตอนที่ 3 (จบ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา