28 พ.ค. 2020 เวลา 03:20 • ท่องเที่ยว
ตอนที่ ๔ เขื่อนลาวที่ยิ่งใหญ่ แต่คนไทยสร้าง : สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง สองนครา
 
ที่อื่นมีวิธีการปลุกโดยใช้โทรศัพท์ (Morning call) กันครับ แต่ที่โรงแรมอุทุมพอน เมืองไชยะบุลี ใช้วิธีการเคาะ จากมอร์นิ่งคอลก็จึงกลายเป็นมอร์นิ่งเคาะ
 
เนื่องจากในวันนั้นต้องกินอาหารในเรือซึ่งเจ้าหน้าที่เรือจัดไว้ให้ ดังนั้น ก่อนลงเรือจึงแวะที่บ้านท่าเดื่อเพื่อซื้ออาหารเสริมตอนกลางวัน มีของย่างหลายอย่างครับ คือ ตัวอ้น ไก่ นก ปลามางและปลาโจก แน่นอน ต้องมีส้มตำด้วย อย่างไรก็ตาม ซื้อแต่เพียงปลาโจกและไก่ย่างเท่านั้น
  · 
ก่อนลงเรือ (ลำเดิม) ที่บ้านท่าเดื่อ ก็ถ่ายรูปกันก่อน ไว้เป็นหลักฐานว่าได้ไปกันจริงๆ ครับ
เช้าวันนั้นล่องเรือจากท่าเดื่อเพื่อไปเขื่อนไชยะบุลีกันครับ
เห็นทิวทัศน์ทั้งสองฝั่งโขงแล้วอิจฉาจริงๆ ครับ ผู้เขียนเป็นคนที่รักและชอบต้นไม้มาก เห็นป่าที่สมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่แล้ว จึงอดอิจฉาไม่ได้
เกือบถึงเขื่อนไชยะบุลีแล้วครับ เขื่อนนี้เป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของลาว แต่ก่อสร้างโดยบริษัท ช. การช่าง ของไทย คณะผ่านเขื่อนนี้ด้วยความตื่นเต้นครับ เดี๋ยวเขียนต่อนะครับว่าทำไมต้องตื่นเต้นด้วย
 
ก่อนตื่นเต้นชมแค้มป์และถนนที่บริษัท ช. การช่าง สร้างขึ้น เพื่อให้คนงานได้พักและเป็นถนนเข้าเขื่อนไชยะบุลี
เตรียมตัวผ่านเขื่อนไชยะบุลีกันแล้วครับ ต้องเตรียมตัว เพราะเป็นเรื่องที่ตื่นเต้น ไม่เคยพบมาก่อน การนั่งเรือผ่านเขื่อนนั้น มีกฎกติกาหลายอย่าง ที่สำคัญเพื่อป้องกันอันตราย ทุกคนต้องใส่เสื้อชูชีพ
เนื่องจากระดับน้ำหน้าเขื่อนสูงกว่าท้ายเขื่อนถึง ๑๗ เมตร สูงเท่ากับตึก ๗-๘ ชั้น นั่นแหละครับ ดังนั้น เมื่อเรือเข้าซองที่หน้าเขื่อนเรียบร้อยแล้ว โดยที่ประตูน้ำท้ายเขื่อนปิดอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ปิดประตูน้ำเหนือเขื่อนเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มค่อยๆ ลดระดับน้ำ
แต่ก่อนอื่นใดต้องใช้เชือกผูกเรือกับลูกเลื่อนที่ติดกับตัวเขื่อนหัวเรือซ้ายขวา รวมทั้งท้ายเรือก่อนด้วย

การลดน้ำในซองที่เรืออยู่กระทำโดยการสูบน้ำออกจากซองซึ่งปิดหัวปิดท้ายไว้แล้ว โดยสูบน้ำออกจนกว่าระดับน้ำในซองเท่ากับระดับน้ำท้ายเขื่อนแล้ว จึงเปิดประตูน้ำท้ายเขื่อนให้เรือออกจากช่องไปได้
มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการคณะของเราจำนวนมากครับ ทั้งที่ลงมาดูแลบนเรือและอยู่บนตัวเขื่อน
ชมคลิปการพร่องน้ำให้เท่ากันก่อนครับ https://www.facebook.com/puthsup.maneesri.9/videos/10203081485518164/
 
หลังจากพร่องน้ำในซองจนได้ระดับเท่ากันแล้ว ประตูกั้นน้ำด้านหลังเขื่อนไชยะบุลีก็เปิดออกเพื่อให้เรือเล่นผ่านออกไปได้
ดูน้ำจากช่องอื่นที่ยังไม่ได้ปิดไหลทะลักลงมาครับ
ผ่านเขื่อนไชยะบุลีไปแล้ว จึงกินอาหารกลางวันกันบนเรือ
 
กินอาหารกลางวันกันไปชมทิวทัศน์ไปนะครับ หายากครับ สำหรับการท่องเที่ยวแบบนี้
แล้วก็จอดเรือที่หมู่บ้านดอนทรายงาม เพื่อเดินทางไปถ้ำปลาบึก ตลิ่งสูงครับ แค่ขึ้นจากตลิ่งก็หอบไปตามๆ กันแล้ว น้องๆ ไม่ค่อยเท่าไรหรอกครับ ผู้สูงอายุอย่างผู้เขียนก็ต้องยืนสูดหายใจลึกๆ หน่อย
ตอนแรกคาดว่าเดินไปครับ แต่ก็โชคดีที่ได้ขึ้นรถอีแต๋นเดินทางจากหมู่บ้านไปถ้ำปลาบึก ซึ่งใช้เวลาเดินทางถึง ๑๕ นาที นี่ถ้าเดินก็คงหนักหนาสาหัสเอาการทีเดียวละครับ
· 
ถึงทางขึ้นถ้ำปลาบึกแล้วครับ หากไม่สังเกตคงไม่เห็นทางเข้าถ้ำปลาบึกหรอก เช่นเคยครับ ทางขึ้นสูงชันคล้ายๆ กับที่ขึ้นจากแม่น้ำโขงนั่นแหละ
ที่จริงภายในถ้ำปลาบึกนี้ไม่มีปลาบึกอยู่อาศัยหรอกครับ แต่เป็นที่อยู่ของคนล่าปลาบึกมากกว่า มีเรื่องเล่าว่านักล่าปลาบึกมาอาศัยในถ้ำนี้ ๖ คู่ ๑๒ คน หนุ่มสาวคู่หนึ่งได้ร่วมรักกันในถ้ำนี้และตกเหวตายไปโดยไร้ร่องรอย เชื่อกันว่าการตายของหนุ่มสาวคู่นี้ทำให้นักล่าปลาบึกที่เหลือสามารถจับปลาบึกได้
หลังจากการผจญภัยเข้าออกถ้ำ เราก็ออกมาจากถ้ำปลาบึก เราก็เดินทางออกจากถ้ำปลาบึกด้วยความปลอดภัย ทางออกซึ่งเป็นคนละทางกับทางเข้าสวยงามกว่าทางเข้ามากนัก หากสังเกตในภาพก็คงเห็นรอยโคลนที่ศีรษะ กางเกงและรองเท้าครับ มอบแมมกันเชียว
นอกจากรอยโคลนแล้ว บางคนก็ได้แผลและได้เลือดติดตัวกันมาคนละนิดคนละหน่อย นับเป็นประสบการณ์ชีวิตการท่องเที่ยวที่ยากจะลืมเลือน
 
ตั้งแต่เดินทางมาแล้ว ๒ วัน พบแต่เรือหาปลาของชาวบ้านในแม่น้ำโขงครับ ไม่มีเรือท่องเที่ยวแม้แต่ลำเดียว วันนั้นได้เห็นเรือสำราญ ๑ ลำ แล่นทวนน้ำขึ้นมา เข้าใจว่าเป็นเรือสำราญที่เดินทางมาจากเวียงจันทร์เพื่อไปหลวงพระบางครับ
เดินทางผ่านผาเลียบครับ เป็นความงดงามตามธรรมชาติอีกแห่งหนึ่ง เป็นผาที่เรียบ แต่เนื่องจากภาษาลาวไม่มีตัว "ร" จึงต้องเขียนว่าผาเลียบ เห็นแล้วนึกถึงกุ้ยหลินของจีนครับ
ชมทิวทัศน์ ๒ ฝั่งโขงกันต่อครับ สำหรับผู้ที่รักธรรมชาติ เส้นทางนี้ควรไปชมเป็นอย่างยิ่ง เพราะสองฝั่งส่วนใหญ่เป็นป่าบริสุทธิ์ มองไปทางไหนก็สบายตา สบายใจ แม้ว่าอากาศร้อน แต่การนั่งเรือที่มีลมอ่อนๆ พัด ก็ช่วยให้คลายร้อนไปได้
ขึ้นฝั่งที่เมืองปากลาย ใช้เวลาในการเดินทางวันนี้โดยทางเรือ ไม่น้อยกว่า ๘  ชม.
กินอาหารเย็น ณ ร้านโดนัด วันนั้นหมดแรงไม่ได้ถ่ายภาพเลยครับ แต่ภาพสำคัญคือตอนที่คุณประเสริฐ ได้มอบของที่ระลึกให้ประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมเมืองปากลายนั้นไม่พลาดหรอกครับ
ที่พักที่เมืองปากลายคืนนั้น มี ๔๐ ห้อง แต่ที่นั่นไม่เรียกว่าเป็นโรงแรมนะครับ เพราะภาษีการจดทะเบียนเป็นโรงแรมแพงกว่าการจดทะเบียนเป็นเรือนพักถึง ๔ เท่า อิอิ แบบนี้ก็มีด้วย
ขอนอนพักผ่อนก่อนนะครับ วันรุ่งขึ้นค่อยเดินท่างต่อไป
 
พุธทรัพย์ มณีศรี
 
อ่านชุด “สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง สองนครา” ตอนที่แล้วได้ที่
ตอนที่ ๑ เพียงแค่สัมผัส
ตอนที่ ๒ ชื่นชมทุกครั้งที่ได้ไปเยือน
ตอนที่ ๓ ความสวยงามของแหนสีเหลือง
โฆษณา