28 พ.ค. 2020 เวลา 14:08 • ประวัติศาสตร์
สวนสัตว์สมัยใหม่ (modern zoo) ในฐานะสวนสัตว์สาธารณะได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ 18 สวนสัตว์ดังกล่าวขยายตัวพร้อมกับความเฟื่องฟูของความคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่สมาทานความเป็นเหตุเป็นผลในเชิงประจักษ์ การเก็บรวบรวมและสร้างความรู้อย่างเป็นระบบเกี่ยวกับสัตว์ก็เป็นส่วนหนึ่งของการขยายตัวของความคิดนี้ ดังนั้น สวนสัตว์จึงเป็นพื้นที่ที่เผยแสดงให้เห็นรูปแบบของการจัดระบบระเบียบความรู้เกี่ยวกับสัตว์ที่ปรากฏออกมาผ่านการจัดแสดงสัตว์ที่มีการแยกประเภทของสัตว์ ชนิดของสัตว์ รวมถึงสายพันธุ์ของสัตว์ สวนสัตว์จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าสัตว์ได้กลายมาเป็นประจักษ์พยานให้แก่อำนาจของมนุษย์
สวนสัตว์ที่มักตั้งอยู่ใจกลางของเมืองสมัยใหม่เป็นกลไกหนึ่งของการควบคุมสัตว์ สัตว์ถูกตัดขาดจากโลกธรรมชาติดั้งเดิมและถูกแทนที่ด้วยกรงขังที่ห้อมล้อมไปด้วยสภาวะธรรมชาติที่ถูกจำลองขึ้น ภายในกรงถูกประดับประดาด้วยปูนปั้นเป็นรูปทรงต้นไม้ รวมถึงอาจมีการวาดภาพพื้นหลังเป็นฉากธรรมชาติตามถิ่นที่อยู่เดิม อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ และมีกระจกหรือกรงคั่นระหว่างผู้ชมกับสัตว์
สภาวะแวดล้อมเหล่านี้ถูกเนรมิตขึ้นใหม่และจัดจำแนกตามความรู้แบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ สัตว์ภายในสวนสัตว์ถูกตัดขาดจากสัตว์ประเภทอื่นด้วยกรงขังและกินอาหารที่ได้รับการตระเตรียมไว้ตามประเภทของสัตว์ ชีวิตของสัตว์ถูกอธิบายผ่านข้อความเพียงไม่กี่บรรทัดที่อยู่หน้ากรงเท่านั้น หน้าที่ของสวนสัตว์ก็คือ การจัดแสดงวัตถุของความรู้และความบันเทิงโดยมีกรงที่คั่นกลางเพื่อรับรองความปลอดภัยให้กับผู้ชม ขณะเดียวกันก็จัดฉากให้ผู้ชมรู้สึกเสมือนว่าการศึกษาสัตว์ภายในสวนสัตว์มีความหมายเท่ากับการศึกษาชีวิตในธรรมชาติทั้งหมดของสัตว์
สวนสัตว์ถูกทำให้ดูเหมือนเป็นโลกธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนภายในเมืองยากจะเข้าถึงได้ในชีวิตจริง โดยเฉพาะภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในอังกฤษและขยายไปยังยุโรปและอเมริกา เมืองใหญ่ ๆ ของโลกในขณะนั้นต่างเต็มไปด้วยแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เคลื่อนย้ายและหลั่งไหลเข้าสู่เมืองเพื่อทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม การใช้เวลาในช่วงวันหยุดจึงเป็นการหลบหนีออกจากความวุ่นวายของความเป็นเมืองอุตสาหกรรมและผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงานได้บ้าง รวมถึงอาจเป็นการใช้เวลากับครอบครัวด้วย สถานที่ที่ใกล้ตัวและมีความใกล้เคียงกับธรรมชาติก็คงหนีไม่พ้น “สวนสัตว์” นั่นเอง
Reference
Anderson, Kay. (1998). Animals, Science and Spectacle in the City. in Jennifer R. Wolch and Jody Emel (eds.), Animal Geographies: Place, Politics and Identity in the Nature-Culture Borderlands. (pp.27-50). London and New York: Verso.
Berger, John. (2009). Why Look at Animals?. London: Penguin Books.
Cowie, Helen. (2014). Exhibiting Animals in Nineteenth-Century Britain: Empathy, Education, Entertainment. London: Palgrave Macmillan.
Ritvo, Harriet. (1987). The Animal Estate: The English and Other Creatures in the Victorian Age.
Cambridge: Harvard University Press.
โฆษณา