Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Infinity
•
ติดตาม
28 พ.ค. 2020 เวลา 14:34 • ความคิดเห็น
ตู้ปันสุขกับแรงจูงใจในการบริจาค?
ผลกระทบจากพิษโควิด–19 ทำให้ประชาชนชาวไทยจำนวนหนึ่ง ดำรงชีพผ่านไปในแต่ละวันอย่างยากลำบาก ข้อมูลเชิงสถิติพบว่าในปี พ.ศ. 2560 ธนาคารในประเทศไทยมีจำนวนบัญชีเงินฝากกว่า 80.2 ล้านบัญชี โดยในจำนวนนี้เป็นบัญชีประเภทบัญชีเงินฝากส่วนบุคคล 37.9 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นร้อยละ 47.25 ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด แม้จะเป็นสัญญาณที่ดีว่าประชากรไทยจำนวนมากมีบัญชีเงินฝากเป็นของตัวเอง แต่เมื่อดูจากสถิติยอดเงินฝากพบว่าคนจำนวน 12.2 ล้านคนมีเงินติดอยู่ในบัญชีเงินฝากไม่ถึง 500 บาท โดยในจำนวนนี้ กว่า 4.7 ล้านบัญชีที่มีเงินอยู่ในธนาคารไม่ถึง 50 บาท! (สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 16 ธันวาคม 2562)
เมื่อเกิดอุบัติภัยที่ส่งผลให้ประชากรจำนวนหนึ่งไม่สามารถหางานทำได้ หรือไม่มีงานทำ จะส่งผลให้ผู้ที่มีเงินออมน้อยได้กลายมาเป็นกลุ่มเสี่ยงในทันที จากข้อมูลของกระทรวงการคลังพบว่า ในช่วงเวลาที่รัฐบาลเปิดมาตรการเยียวยาให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ประสบปัญหาในกรณีของโควิด–19 มีผู้ลงทะเบียนเพื่อรับความช่วยเหลือเป็นจำนวนถึง 22.3 ล้านราย (ไทยรัฐออนไลน์, 23 พฤษภาคม 2563) ถึงแม้ว่าในความเป็นจริง จะมีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์การรับเงินเยียวยาจากภาครัฐ แต่ปฏิเสธมิได้ว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยในประเทศคือผู้เปราะบางทางเศรษฐกิจ
จากผลกระทบของสถานการณ์โควิด–19 ได้ก่อให้เกิดนวัตกรรมทางสังคมโดยประชาชนทำการช่วยเหลือประชาชนด้วยกันผ่าน “ตู้ปันสุข” หลักการของตู้ปันสุข ไม่มีอะไรที่ซับซ้อน สามารถทำเลียนแบบกันได้ และใช้เงินทุนไม่สูงในการเริ่มต้น อุปกรณ์หลักสำหรับโครงการตู้ปันสุข ได้แก่ ตู้ที่ตั้งได้ในที่สาธารณะและอาหารหรือของอุปโภคเพื่อใช้ในการบริจาค พอมีตู้ซึ่งมีคุณสมบัติแห่งการเป็นพื้นที่ในการเก็บของ จึงเป็นความสะดวกแก่ผู้ที่อยากให้และผู้ที่ประสงค์จะรับสิ่งของ
ข้อแตกต่างในประเด็นของตู้ปันสุขเมื่อเปรียบเทียบกับการบริจาค คือสิทธิในการเลือกของผู้รับบริจาค
เปรียบเทียบอย่างง่าย เมื่อเราไปบริจาคสิ่งของ หน่วยงานหรือผู้รับบริจาคจะเป็นผู้รับสิ่งของบริจาคทั้งหมดนั้น และนำมาคัดแยกอีกทอดหนึ่ง ทำให้ในบางโอกาสผู้รับบริจาคไม่มีสิทธิที่จะเลือกของ รับของบริจาค ในทางตรงกันข้าม ตู้ปันสุขให้เอกสิทธิ์แก่ผู้รับบริจาคในการคัดเลือกรับสิ่งของ ณ จุดบริจาค ถือเป็นการรับแบบมีสิทธิในการเลือกภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด เอกสิทธิ์ในการเลือกขึ้นอยู่กับจำนวนของคนที่รอรับบริจาคและข้อตกลงร่วมกันของผู้รับบริจาค หากผู้รับบริจาคมีการตกลงกันในการคัดเลือกสิ่งของอย่างเป็นระเบียบ เช่น มีกฎร่วมกันว่าสามารถเลือกได้ไม่เกินคนละ 2 ชิ้น มีการต่อแถวเข้าคิวในการเลือกของบริจาค จะส่งผลให้จำนวนผู้ได้รับของบริจาคมีจำนวนมากกว่าในกรณีที่ไม่มีการตั้งกฎเกณฑ์ร่วมกัน
ในทางเศรษฐศาสตร์ เบื้องหลังการบริจาคมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันโดยแบ่งลักษณะของการบริจาคออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือการบริจาคแบบ impulsive - กลุ่มนี้มีแรงกระตุ้นในการที่จะบริจาคด้วยความรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อผลเชิงบวกแบบทันเหตุการณ์ ตัวอย่างเช่น เกิดเหตุแผ่นดินไหว มีผู้คนล้มตายจำนวนมากเกิดสภาวะการขาดแคลนอาหาร เสื้อผ้า การบริจาคในลักษณะที่ต้องตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างฉับพลันจะอยู่ในกลุ่ม impulsive ผู้บริจาคมีแนวโน้มที่จะไม่ได้คิดถึงผลของการบริจาคในระยะยาว เป็นเสมือนการบริจาคเฉพาะหน้า ผลที่ได้จากการบริจาคคือการตอบสนองทางอารมณ์ในเชิงบวกแบบ “ง่ายและเร็ว” ในทางตรงกันข้าม การบริจาคแบบกลุ่มที่สอง คือ deliberate เป็นการบริจาคแบบจงใจ มีความตระหนักก่อนที่จะบริจาคและมีการคิดถึงผลจากการบริจาคในระยะที่ยาวกว่าแบบ impulsive (Karlan, Tantia, and Welch, 2019)
ทีนี้ เราลองมาวิเคราะห์กันว่า การบริจาคผ่านตู้ปันสุข ถือเป็นการบริจาคแบบ impulsive หรือแบบ deliberate ในกรณีของประเทศไทยโครงการตู้ปันสุข ถูกจัดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากวิกฤตโควิด–19 โดยตรง
จะเห็นว่าตู้ปันสุขไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อโรคโควิด–19 ได้มีการแพร่ระบาดในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นหลังจากที่ภาครัฐมีการออกระเบียบในการงดเว้นการเปิดให้บริการของสถานที่สาธารณะ โรงเรียน ห้างร้าน และออกระเบียบมิให้ประชาชนเดินทางนอกเคหสถานในยามวิกาล ส่งผลให้ประชาชนจำนวนหนึ่งต้องถูกพักงานและกลายเป็นผู้ว่างงานชั่วคราว การเกิดขึ้นของตู้ปันสุขถือเป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์แบบเร่งด่วน จึงถูกนับว่าเป็นการบริจาคแบบ impulsive
ชีวิตของคนเรามีทางเลือกหลายทาง เราลองมาพิจารณากันดูว่า แท้จริงแล้วเราคือคนที่ชอบบริจาคเพื่อที่จะมีความสุขแบบทันทีทันใด หรือเราเป็นผู้บริจาคที่ตระหนักถึงผลกระทบในระยะยาวและชอบความสุขที่เกิดจากการพยายามมากกว่าความสุขที่บริโภคได้แบบฉีกซองต้มน้ำสามนาที
อ้างอิง:
1. Karlan, Dean, Piyush Tantia, and Sarah Welch. (2019).Behavioral Economics and Donor Nudges: Impulse or Deliberation?สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563, จาก
https://ssir.org/articles/entry/behavioral_economics_and_donor_nudges_impulse_or_deliberation
ไทยรัฐออนไลน์. (2563). ตรวจสอบสถานะเราไม่ทิ้งกัน งดโอนเงิน 2 วัน ผู้ผ่านเกณฑ์รอรับเงิน 25 พ.ค. 63. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563, จาก 2.
https://www.thairath.co.th/news/business/1851124
3. สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์. (2562). ส่องพฤติกรรมการออมของคนไทย ผ่านข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคารกว่า 80 ล้านบัญชีจากDPAการส่งเสริมการออมของคนไทยไปถึงไหน และควรทำอะไรเพิ่ม. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563, จากhttps://www.pier.or.th/?abridged=%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย