29 พ.ค. 2020 เวลา 04:42 • กีฬา
บทวิเคราะห์: สามก๊กแห่งโลกฟุตบอล
ช่วงต้นทศวรรษ 2010 เป็นช่วงเวลาที่ปรัชญาเก่าแก่มากมายได้ถูกนำกลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Tiki Taka (ที่เป็นร่างวิวัฒนาการของ Total Football), Counter Pressing (หรือเรียกอีกชื่อว่า Shadow Play) และ Park the Bus (ที่เป็นร่างวิวัฒนาการของ Catenaccio) ซึ่งทั้งสามปรัชญาได้ถูกพัฒนาขึ้นจนถึงขีดสุดด้วยฝีมือของกุนซือสามคนได้แก่คนแรกโชเซ่ มูรินโญ่ ผู้สืบทอดแห่งปรัชญา Catenaccio, คนที่สอง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ผู้สืบทอดแห่งปรัชญา Total Football และคนที่สาม เจอร์เก้น คล็อปป์ ผู้สืบทอดแห่งปรัชญา Shadow Play
ด้วยอิทธิพลจากทั้งสามคนทำให้กุนซือหลายต่อหลายคนหันมาเลือกใช้ตามกันอย่างมากมายโดยเลือกไปตามเหตุผลส่วนบุคคลของแต่ละคนจึงส่งผลให้ในยุคนั้นกลายเป็นยุคที่มีสามมหาปรัชญาที่ต่างคานอำนาจซึ่งกันและกันจนก่อให้เกิดเป็นสงครามสามก๊กแห่งโลกฟุตบอลขึ้นในที่สุด
(สามารถอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวก่อนสงครามสามก๊กแห่งโลกฟุตบอลจะปะทุขึ้นได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5eaf8454e94e060ca7f72bba/# )
(หมายเหตุ - บทความนี้เป็นบทวิเคราะห์ส่วนตัวที่จัดทำขึ้นเพื่อเจาะลึกทั้งสามปรัชญายอดนิยมแห่งยุคนั้น ผิดพลาดประการใดต้องขออภัยนะครับ ถ้าหากมีความคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างไรเชิญแสดงความคิดเห็นได้เลยนะครับ)
ปรัชญาทั้งสามล้วนมีเอกลักษณ์ที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนซึ่งคำอธิบายของแต่ละปรัชญามีดังต่อไปนี้
1.เอกลักษณ์ของปรัชญา Park the Bus นั้นจะเน้นไปที่การตั้งรับลึกด้วยผู้เล่นจำนวนมากเป็นหลักดังนั้นผู้เล่นที่เหมาะสมกับปรัชญานี้จะต้องเป็นผู้เล่นที่มีระเบียบวินัยในการเล่นเกมรับสูงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการตั้งรับลึกหน้าประตู
ตัวอย่าง การตั้งรับลึกของปรัชญา Park the Bus
นอกจากนี้เพื่อที่จะคว้าชัยชนะการตั้งรับลึกเพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจเพียงพอได้จึงทำให้ปรัชญานี้จำเป็นจะต้องพึ่งพาการสวนกลับด้วยความเร็วสูงเพื่อทำประตูจากโอกาสเพียงไม่กี่ครั้งให้จงได้โดยอาศัยจากการโยนบอลยาวด้วยความแม่นยำไปให้กองหน้าตัวใหญ่โหม่งทำประตูหรือโยนไปให้ตัวรุกที่มีความเร็วสูงหลุดเข้าไปทำประตู, การใช้ปีกกระชากบอลไปทำประตูด้วยความเร็วสูงและการยิงประตูจากระยะไกลเหมือนดั่งผีจับยัด
1.1 การโยนบอลยาวด้วยความแม่นยำ
1.2 ไปให้กองหน้าตัวใหญ่โหม่งทำประตู
1.3 ไปให้ตัวรุกที่มีความเร็วสูงหลุดเข้าไปทำประตู
2. การใช้ปีกกระชากบอลไปทำประตูด้วยความเร็วสูง
3. การยิงประตูจากระยะไกลเหมือนดั่งผีจับยัด
2.เอกลักษณ์ของปรัชญา Counter Pressing นั้นจะเน้นไปที่การดันไลน์กองหลังขึ้นสูงเพื่อไล่เพรซซิ่งกดดันตั้งแต่ในแดนคู่ต่อสู้เป็นหลักดังนั้นผู้เล่นที่เหมาะสมกับปรัชญานี้จะต้องเป็นผู้เล่นที่มีความอึดและความเร็วสูงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการไล่เพรซซิ่งในแดนคู่ต่อสู้
ตัวอย่าง การไล่เพรซซิ่งในแดนคู่ต่อสู้ของปรัชญา Counter Pressing
นอกจากนี้เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำประตูหลังจากได้ลูกคืนกลับมาแล้ว เทคนิคการจ่ายบอลก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากและเมื่อนำมารวมกับความอึดและความเร็วจึงก่อให้เกิดเกมสมดุลที่เต็มไปด้วยความเข้มข้นที่ผู้เล่นทุกคนจะตระเวนไล่ล่าบอลด้วยความดุดันและเมื่อได้บอลคืนมาก็สามารถจู่โจมสายฟ้าแลบได้ในทันทีด้วยการจ่ายบอลที่ผนวกกับการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง
1. หลังจากมิลเนอร์แย่งลูกคืนมา
2. มาเน่ส่งบอลให้ฟีร์มีโน่ทันที
3. มาเน่และซาล่าห์วิ่งหาพื้นที่ทันทีเพื่อเพิ่มทางเลือกในการจ่ายบอลให้ฟีร์มีโน่
4. ฟีร์มีโน่จ่ายบอลให้ซาล่าห์ทำประตู
3.เอกลักษณ์ของปรัชญา Tiki Taka นั้นจะเน้นไปที่การครอบครองบอลต่อบอลไปมาเป็นรูปสามเหลี่ยมเป็นหลักดังนั้นผู้เล่นที่เหมาะสมกับปรัชญานี้จะต้องมีความคิดสร้างสรรค์และมีทักษะพรสวรรค์สูงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการครอบครองบอล
ตัวอย่าง การยืนกันเป็นรูปสามเหลี่ยมของปรัชญา Tiki Taka
นอกจากนี้เพื่อที่จะสามารถครอบครองบอลได้ตลอดทั้งเกมนั้นปรัชญานี้ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการวิ่งไล่เพรซซิ่งกดดันเหมือนกับปรัชญา Counter Pressing
แต่อย่างไรก็ตามการเพรซซิ่งของปรัชญา Tiki Taka ก็มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันอยู่ตรงที่ปรัชญานี้จะวิ่งไล่กดดันจริงแต่จะเน้นไปที่การดักช่องส่งบอลของอีกฝ่ายเพื่อแย่งบอลกลับมาโดยให้เปลืองแรงน้อยที่สุดเนื่องจากผู้เล่นในปรัชญานี้เป็นผู้เล่นสายเทคนิคที่ไม่ได้มีความอึดมากนัก
แต่ในขณะเดียวกันการเพรซซิ่งของปรัชญา Counter Pressing นั้นจะเน้นไปที่การรุมแย่งลูกจากเท้าของอีกฝ่ายโดยตรงซะมากกว่าซึ่งทำให้ผู้เล่นจะต้องใช้พลังงานความอึดที่สูงมาก
1.การเพรซซิ่งของปรัชญา Tiki Taka
ผู้เล่นจะวิ่งปิดช่องส่งเป็นหลัก (เส้นปะคือการจ่ายบอล)
2.การเพรซซิ่งของปรัชญา Counter Pressing
ผู้เล่นจะวิ่งเข้าไปรุมแย่งบอลโดยตรง
อย่างไรก็ตามกลับพบว่าเอกลักษณ์ของทั้งสามปรัชญานั้นดันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหักล้างซึ่งกันและกันซะอย่างงั้น ซึ่งเปรียบได้ดั่งกงล้อแห่งดุลอำนาจที่ไม่มีใครสามารถเหนือกว่าใครได้
กงล้อแห่งดุลอำนาจ (ปรัชญาที่เหนือกว่าจะอยู่ปลายลูกศร)
เริ่มที่ปรัชญา Tiki Taka ที่ชื่นชอบในการครอบครองบอลโดยการค่อยๆต่อบอลจากหลังขึ้นหน้าเพื่อหาหนทางในการทำประตูแบบใจเย็น
แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับปรัชญา Counter Pressing ที่ชื่นชอบในการไล่เพรซซิ่งกดดันในแดนคู่ต่อสู้เพื่อหาโอกาสจู่โจมเอาประตูในทันทีตั้งแต่ในแดนของอีกฝ่าย
ดังนั้นจึงทำให้พวกเขานั้นแพ้ทางต่อปรัชญา Counter Pressing ที่ไม่ยอมให้พวกเขาสามารถครองบอลได้ง่ายๆเลยและมันสุ่มเสี่ยงที่พวกเขาจะโดนแย่งบอลตั้งแต่ในแดนตัวเองแล้วจบลงด้วยการเสียประตูในที่สุด
ลิเวอร์พูล(Counter Pressing)ชิงกดดันไล่บี้ไม่ให้แมนซิตี้(Tiki Taka)ขึ้นเกมได้ง่ายๆ
ในขณะที่เมื่อปรัชญา Counter Pressing ต้องเผชิญหน้ากับปรัชญา Park the Bus ที่ชื่นชอบในการตั้งรับลึกหน้าประตูด้วยผู้เล่นจำนวนมากเพื่อรอหาจังหวะในการสวนกลับทำประตูในไม่กี่ครั้ง
ดังนั้นจึงทำให้พวกเขานั้นแพ้ทางต่อปรัชญา Park the Bus ที่บีบให้พวกเขาต้องเล่นในเกมที่ไม่ถนัดอย่างการครองบอลนานๆและบีบให้พวกเขาแทบจะไม่มีโอกาสในการเพรซซิ่งเลยซึ่งทำให้พวกเขาสุ่มเสี่ยงต่อการเสียบอลแล้วโดนสวนกลับเร็วได้อย่างง่ายดาย
ลิเวอร์พูล(Counter Pressing)ถึงกับหืดขึ้นคอเมื่อต้องเจาะแนวรับของแอด มาดริด(Park the Bus)
อย่างไรก็ตามเมื่อปรัชญา Park the Bus ต้องเผชิญหน้ากับปรัชญา Tiki Taka พวกเขาก็ต้องแพ้ทางต่อปรัชญา Tiki Taka อยู่ดี
เนื่องจากปรัชญา Tiki Taka นั้นเชี่ยวชาญในการครอบครองบอลอย่างเหนียวแน่นจึงทำให้พวกเขาทำได้แต่เพียงตั้งรับไปเรื่อยๆเหมือนกับการโดนยิงบอลอัดกำแพงซ้ำไปซ้ำมาจนเสียประตูในที่สุดและนี่คือกงล้อแห่งดุลอำนาจของทั้งสามปรัชญาที่ต่างคานอำนาจซึ่งกันและกันอยู่เสมอไม่มีวันจบสิ้น
1. บาร์ซ่า(Tiki Taka)ขึงเกมใส่ยูเวนตุส(Park the Bus)ด้วยการครองบอลต่อบอลไปทั่วสนาม
จนกระทั่ง
2.1 เนย์มาร์จ่ายทะลุช่องให้อินเนียสต้าหลุดเข้าไปในกรอบเขตโทษ
2.2 อินเนียสต้าหลุดเข้าไปจ่ายบอลให้ราคิติช
2.3 ราคิติซซัดเข้าไปโล่งๆหน้าประตู
จากเรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทั้งสามปรัชญามีจุดแข็งจุดอ่อนที่ถ่วงดุลซึ่งกันและกันจนทำให้ไม่มีใครเหนือใครได้อย่างชัดเจน แต่ทว่าก็มีปัจจัยอื่นๆมากมายที่ทำให้ปรัชญาที่แพ้ทางสามารถพลิกกลับมาเอาชนะได้เช่นกันอาทิเช่น ความผิดพลาดส่วนบุคคล, ผลงานโดยรวมของผู้เล่นทั้งทีม, ความได้เปรียบของทีมเหย้า, ดุลพินิจของผู้ตัดสิน, สภาพของพื้นสนามหญ้า, คุณภาพของผู้เล่นที่ไม่เท่ากัน, ความฟิตของสภาพร่างกาย และ อาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ที่เพิ่มเข้ามานั้นถือเป็นอีกตัวแปรสำคัญในการชี้เกมซึ่งมันได้ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนมากขึ้นต่อเกมฟุตบอลเป็นอย่างมากและถึงแม้ในทางทฤษฎีปรัชญาที่แพ้ทางจะเสียเปรียบมากซักเพียงไรแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในทางปฏิบัติพวกเขาจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสมอไป เมื่อเสียงนกหวีดดังขึ้นชัยชนะมักจะตกอยู่ในมือของผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดไม่พอแต่จะต้องมีโชคเข้าข้างด้วยเสมอ
ดังนั้นผมจึงอยากให้ผู้อ่านทุกท่านลองคิดพิจารณาดูว่าถ้าหากตัดปัจจัยเหล่านี้ออกไปแล้วนำทีมที่รวบรวมผู้เล่นที่ดีที่สุดของแต่ละปรัชญามาดวลกันโดยที่ไม่มีใครบาดเจ็บและฟิตพร้อมลงเตะในสนามกลางที่มีสภาพสนามดีที่สุดโดยมีกรรมการที่ตัดสินได้อย่างยุติธรรมที่สุดคอยตัดสินเกมแล้วทุกท่านคิดว่าผลลัพธ์จะยังคงออกมาเป็นอย่างที่ทฤษฎีกงล้อแห่งดุลอำนาจว่าไว้หรือไม่
(สามารถอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับบทสรุปของสงครามสามก๊กแห่งโลกฟุตบอลได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5eb4c2b80e7a90145f4e8509/# )
โฆษณา