29 พ.ค. 2020 เวลา 02:24 • ประวัติศาสตร์
เรื่องเล่าริมเลสาบ(๔)
เรื่อง/ภาพ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๔ เดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๑
🏺ปั้นหม้อที่สทิงหม้อ 🏺
ฟังเรื่องข้าวปลาอาหาร ปืนผาหน้าไม้จากฝั่งพัทลุงมามาก เช้าวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๒ อ.เขมานันทะก็ได้พาทีมงานไปสำรวจฝั่งสทิงพระ สทิงหม้อ ไปดูการทำหม้อดินเผาพื้นเมืองที่ยังเหลืออยู่ไม่กี่บ้าน และในครั้งนั้นตาเกลี้ยง สังฆะโร อายุ ๘๒ ปี คนบ้านสทิงหม้อ ได้กล่าวถ้อยคำลึกซึ้งนักว่า
 
“เมื่อผมนั่งลงปั้นหม้อ ใจผมสงบสบายอยู่ตรงนั้น”
 
ในเรื่องของการปั้นหม้อ จากสมุดบันทึกของดิฉัน มีเรื่องเล่าจากป้าปลื้มใจ เกษตรสุนทร อายุ ๕๘ ปี คนบ้านสทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา เล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตคนบ้านนี้ไว้ว่า
สนธยากาลที่ริมทะเลสาบสงขลา ภาพถ่ายจากเกาะยอ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘
“คนสทิงหม้อปั้นหม้อเอาดินปากรอ แต่เดิมย่านนี้ปั้นหม้อทุกบ้าน ปั้นทั้งหม้อ อ่าง สวด(ไว้นึ่งข้าวเหนียว) เมื่อก่อนไม่มีกระถาง เราไม่ได้ทำกระถาง
ผู้หญิงทำหม้อเป็นช่างปั้น ช่างตี ผู้ชายขนดิน ดินเอาจากริมตลิ่ง ริมเลแถวปากรอ เนื้อดี ดินเป็นมัน เหนียว นิ่มไม่มีกรวดทราย ดินจากที่อื่นจะกรอบ เป็นเม็ด กรวดปนมาก ปั้นแล้วแตกร้าว ทำหม้อไม่ได้ คนสทิงหม้อจะเอาเรือใบเสาเดียวไปขนดินปากรอ บ้านใครบ้านมันไปหามาเอง ถ้าจะเอามาขาย ก็ใช้เรือใบ ๒ เสาไปขนมา หลายปีก่อนอบต.ปากรอไม่ให้เอาดิน ชาวสทิงหม้อไม่ยอม ประชุมกัน จนอบต.ปากรอต้องยอม ก็เราทำหม้อมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่านี่นะ
การปั้นหม้อนี้คนชายขี้เกียจ คนหญิงขยันกว่า คนหญิงทำหมดทั้งเหยียบดิน ปั้นหม้อ ตีหม้อ ตากหม้อ คนชายช่วยแค่ไปเอาดิน ดูตอนเผา เสร็จแล้วไปขาย คนชายสทิงหม้อขี้เกียจทั้งเพ คนชายที่นี่ขี้เกียจถึงเลิกทำหม้อกันหมด ทั้งที่ไม่พอขายตลาด คนหากันมาก แต่ไม่มีคนทำ บ้านอื่นคนชายยังช่วยปั้นหม้อ แต่สทิงหม้อนี้คนชายขี้เกียจมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า มีแต่คนหญิงเหยียบดิน ที่นี่คนหญิงเป็นหัวหน้าครอบครัว มีน้อยที่คนชายช่วยเหยียบดิน เขาคอยแต่จะพาเรือไปขายหม้อ
อ.ล้อม เพ็งแก้ว กับหม้อดินหลากหลายแบบ ที่ล้วนมาจากบ้านสทิงหม้อ จ.สงขลา และเคยใช้อยู่ในชีวิตประจำวันครั้งวัยเด็ก
สมัยก่อนใช้แป้นหมุนมือ ต้องทำกัน ๒ คน ทำได้ช้า ทำหม้อได้ ๑ เจิง ๑๐๐ กว่าลูก ลูกละ ๑๐ สตางค์ สมัยนี้มีแป้นหมุนไฟฟ้า ทำทีได้ ๔-๕ เจิง ทำสบายกว่าเมื่อก่อนเยอะ แต่ก่อนพัดลมไม่มี ร้อนมาก ผู้หญิงทำเยอะ เป็นทั้งช่างปั้น ช่างตบแต่ง ช่างขัดหม้อ หม้อที่นี่เมื่อก่อนไปขายในทุกจังหวัดภาคใต้ เพราะเดิมมีแต่หม้อสทิงหม้อเป็นหลัก พาเรือไปขายไกลถึงเมืองลุง ปากพนัง เมืองคอน สุราษฎร์ ชุมพร ประจวบ ลงใต้ไปปัตตานี ยะลา ไปทั้งเลนอก(ทะเลหลวงฝั่งอ่าวไทย) เลใน(ทะเลสาบสงขลา) ไปใต้ไกลสุดก็นราธิวาส ผู้ชาย ๒-๓ คนพาเรือไปขาย ไปนาน เดือนหนึ่งกว่าจะกลับ ไปตายก็มี ไม่ได้กลับมาบ้านก็มี เรือขายหม้อไปถูกปล้นแถวปากรอบ่อยๆ โจรเยอะ
ไม้ที่เผาหม้อใช้ไม้เสม็ดเป็นฟืน บรรทุกเรือมาจากปากรอ เครื่องมือปั้นหม้อแต่ก่อนใช้แป้นหมุนมือ มาเปลี่ยนเป็นแป้นหมุนไฟฟ้าเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๑ พอไฟฟ้าเข้ามาจะปั้นหม้อได้ไวกว่าเดิม ๔-๕ เท่า อุปกรณ์ใช้ปั้นหม้อมีไม้ตัดหม้อ เชือกตัดหม้อ ลูกเถอ-(ลูกกะเท่อ) ลูกตุ้มดินเผาใช้ดุนในหม้อ, ไม้ตาม-ไม้แผ่นใหญ่ใช้ตีหม้อ, ไม้ใหม่-มีทั้งมีดอกและไม่มีดอกไว้ตีหม้อขึ้นลาย ไม้ลบ-ไม้ผิวเรียบใช้ลบหม้อให้ผิวเรียบ คนทำหม้อที่อื่นเขาจะปั้นหม้อให้ก้นไม่มีรู แต่ที่นี่จะปั้นหม้อให้มีรูแล้วตีปิด ขั้นตอนการทำมันใช้แรงเยอะ เหยียบดิน ปั้นขึ้นรูป ตกแต่ง ผึ่งแดด ตีเสร็จต้องผึ่งแดดขัดมันอีกด้วย
ลายหม้อบ้านสทิงหม้อมีลายคิ้วนาง ลายยักษ์(ดอกโต) ลายดอกจิก ลายขนมก้อ
 
การเผา จะทำหม้ออยู่ ๑๕ วันเข้าเตาครั้งหนึ่ง ใช้เวลาเผา ๑ อาทิตย์ แล้วออกขาย
 
ทุกวันนี้ดินปากรอเอามาเผาหม้อ ยังมีคุณภาพเหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยน ถ้าเป็นกระเบื้องเกาะยอจะดินขาว แต่ที่นี่ดินเหนียวดำปั้นหม้อได้สีแดง เราเอาทรายทะเลจากแหลมทรายใส่เติมไปด้วย ไม่ให้ราน เผาไม่ร้าว
สวดนึ่งข้าวเหนียวของคนใต้ ที่คนภาคกลางเรียกว่า “หวด” สวดดินเผาใบนี้ก็มาจากบ้านสทิงหม้อ จ.สงขลา
แบบหม้อที่สทิงหม้อมีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีคนมาจ้างทำพิเศษแบบอื่นบ้างแต่ป้าทำไม่ได้ เดี๋ยวนี้หม้อขายไม่ค่อยดี ไม่เหมือนก่อน เพราะที่ไหนๆก็ทำหม้อกัน เมืองคอนเขาก็ทำ นานๆครั้งถึงเอาไปขายกรุงเทพ ที่ปัตตานีกับสุไหงโกลกต้องมีงานจังหวัดเราถึงไปขาย คนโกลกเมื่อก่อนก็ใช้หม้อจากบ้านเรา ตอนป้าเด็กๆสทิงหม้อปั้นหม้อกันตั้ง ๒๐๐ บ้าน เดี๋ยวนี้หมู่บ้านมีแค่ ๘๐ ครัวเรือน ลูกๆก็ไม่ค่อยเอา เหลือทำกันอยู่แค่ ๓ เจ้า เมื่อก่อนยังมีคนมาหามารับหม้อถึงในหมู่บ้าน เดี๋ยวนี้ไม่มี เพราะเมืองอื่นๆที่ทำหม้อ ทั้งตรัง นครฯ ราชบุรี พาหม้อมาขายถึงขลา เมื่อก่อนไม่มีหรอก เดินทางลำบากมาไม่ถึง คนทางใต้ต้องใช้หม้อจากสทิงหม้อทั้งนั้น เดี๋ยวนี้เราขายดีน้อยลง ทำได้แค่พอกิน พออยู่ได้ คนในหมู่บ้านก็เลิกไปมาก หลายสิบปีก่อนตอนป้าเล็กๆก็เลิกไปเกือบหมดแล้ว”
อิงอรกับทะเลสาบสงขลา🌊
คุยเรื่องหม้อกับคนสทิงหม้อ เขตอ.สิงหนครแล้ว เราก็ได้วางแผนเดินทางลงใต้เรื่อยมา ถึงปลายสุดของแหลมสทิงพระ ไปดูหัวเขาแดง เที่ยวเกาะยอ และเก็บข้อมูลภาคสนามที่เกาะยออีกหลายครั้ง
เมื่อไปถึงเกาะยอแล้ว มีหรือที่จะพลาดเรื่องราวของ “อิงอร” คุณศักดิ์เกษม หุตาคม(๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ - ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๙) นักเขียนมีชื่อชาวสงขลาผู้มีบรรพชนอยู่ที่เกาะยอ และโตมากลางสวนเกาะยอ ปากอ่าวทะเลสาบสงขลา อิงอรได้รับฉายาว่า เป็นนักเขียนปลายปากกาจุ่มน้ำผึ้ง เขียนนิยายได้โรแมนติก หวานซึ้งอย่างที่สุด ดังเช่นนิทรา-สายัณห์, ดรรชนีนาง ฯลฯ ทั้งยังแต่งเพลงดรรชนีไฉไล,เดือนต่ำดาวตก, หนาวตัก ไว้ได้หวานเชี้ยบ ให้ดิฉันฮึมฮัมร้องอยู่เรื่อยตลอดช่วงทำงานเก็บข้อมูลที่ริมทะเลสาบสงขลา
...ทะเล งาม ยามดึกดื่นเมื่อคลื่นหลับ แสงเดือนจับเจิดนภาเวหาหาว นั่งเรือน้อยเคลื่อนคล้อยใต้แสงดาว พร่างน้ำพราวผ่องเพชรเกล็ดนที ดูซิดู ใครสอนให้นอนหนุนตัก ซุกซนนัก ไม่กลัวน้องจะหมองศรี หนาวตักหนักจิตดรรชนี หากนาวีอรุโณทัยไม่กลับคืน
หม้อดินเผาจากบ้านสทิงหม้อ จ.สงขลา เคยใช้กันทั่วในแถบทุกพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา และล่องเรือขายเครื่องดินเผานี้ไกลไปถึงปัตตานี ยะลา ไทรบุรี
ในช่วงที่ดิฉันลงเก็บข้อมูลริมทะเลสาบสงขลาคุณอิงอรจากไป ๑๐ กว่าปีแล้ว แต่เครือญาติของท่านยังตั้งบ้านอยู่กันที่เกาะยอ ปากอ่าวทะเลสาบสงขลา หนึ่งในนั้นคือญาติผู้น้องของคุณอิงอร ชื่อลุงลีลวุฒิ วิสมิตะนันทน์ อายุ ๖๘ ปี ที่ดิฉันได้พบปะสืบถามเรื่องของคุณอิงอรไว้เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๒ และลุงลีลวุฒิได้ย้อนเล่าถึงความหลังที่ยังสว่างไสวแจ่มชัดอยู่ในใจของลุงว่า
“พี่อิงอรแกมีชื่อไทยคือศักดิ์เกษม หุตาคม ชื่อจีนคือ “เข้งเฉี้ยง” ผมเรียกแกพี่เข้งเฉี้ยง พี่เขาเกิดในเมืองสงขลา ยายเป็นคนเกาะยอไปแต่งงานกับจีนสงขลา บ้านอยู่หน้าวัดกลาง ซอยโรงตีเหล็ก ส่วนบ้านที่เกาะยอ จะอยู่ที่บ้านสวนใหม่
ยายพี่เข้งเฉี้ยงชื่อยกลั่น แกขายเปรี้ยวหวาน-เต้าคั่วที่ ซ.โรงตีเหล็ก ในเมืองสงขลา ช่วงก่อนสงครามญี่ปุ่น พี่เข้งเฉี้ยงโตขึ้นสักหน่อยเขากำพร้าพ่อ กลับมาอยู่กับแม่กับญาติๆทางแม่ ที่บ้านสวนใหม่ ตอนนั้นยังเรียนหนังสืออยู่ แม่พี่เข้งเฉี้ยงชื่อ กิมเชี่ยว หุตาคม
ตั้งแต่ช่วงพี่เข้งเฉี้ยงเรียนที่รร.มหาวชิราวุธแล้ว แกชอบเขียนหนังสือ เวลามาเกาะยอจะมาเขียนหนังสือ โตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังมาเขียนหนังสือที่เกาะยอ นิยายดังของพี่เข้งเฉี้ยงเรื่องดรรชนีนาง แกก็ใช้ฉากเกาะยอ ใช้ฉากเรือแจว ผมเป็นคนแจวเรือให้แกถ่ายรูป ออกไปนอกเล ดูเล ดูน้ำดูฟ้า ดูภูเขา กลางคืนแกนอนบ้านบนเกาะ เช้าก็พากันแจวเรือออกไปดูทิวทัศน์ ไปดูวิว ฉากที่แกเขียนไว้ในดรรชนีนางก็เป็นแถวหัวเขาแดง มีบ้านมีลูกสาว มีถ้ำเขาแดง มีเจดีย์บนยอดเขา คำบรรยายฉากนี้คนสงขลาอ่านแล้วรู้เลยว่าเป็นแถวหัวเขาแดง
พี่เข้งเฉี้ยงเป็นคนโอบอ้อมอารี สูบบุหรี่จัด กินเหล้าใช้ได้ ปกติแกทำงานราชการ และเขียนหนังสือไปด้วย เวลาเขียนหนังสือจะมีบุหรี่ติดมือ พอนึกเรื่องจะเขียนต่อได้ แกถึงวางบุหรี่ เมียแกชื่อพี่น้อย มีหน้าที่จุดบุหรี่ให้ แกบอกดูดบุหรี่แล้วสมองแล่น เขียนได้ทันใจ แล้วยังบอกอีกว่าถ้าเลิกสูบบุหรี่ แกจะเขียนหนังสือไม่ออก
อ.โกวิท เขมานันทะ จ.สงขลา สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๒
พี่เข้งเฉี้ยงเป็นคนหล่อ หน้าตาหล่อแบบจีน หน้ากลม ตาชั้นเดียว อ้วน ไว้จอนยาวผมไม่ตัด จอนยาวถึงติ่งหู พี่เข้งเฉี้ยงปากหวาน เขียนหนังสือหวานหยดย้อย เป็นคนไม่เจ้าชู้ รักความสะอาดมาก อย่างสบู่เนี่ยแกใช้ของแกคนเดียว ไม่ยอมใช้ร่วมกับใคร เป็นคนมีระเบียบของตัวเอง ไม่จุ้นจ้านกับใคร อยู่ของแก ไม่ค่อยยุ่งกับใคร มืดๆแกชอบนั่งเรือแจว ไปในเลสาบ นั่งกินเหล้า สูบบุหรี่ในเรือ ตอนเป็นนักเรียนแกมาเกาะยอบ่อย แต่พอเป็นผู้ใหญ่ เขียนหนังสือ เป็นคุณอิงอรแล้ว แกไม่ค่อยได้มา หลายๆปีถึงจะมีเวลา มีโอกาสมาเกาะยอสักที
สักปีกว่าๆก่อนตาย ครั้งสุดท้ายที่พี่เข้งเฉี้ยงมาเยี่ยม รร.มหาวชิราวุธ ในเมืองสงขลา แกบอกผม ลีลวุฒิ พี่อยากเขียนหนังสือไว้เป็นอนุสรณ์เกาะยอสักเรื่อง จะให้พระเอกเป็นคนเกาะยอ แกบอก-น้องช่วยถ่ายรูปเกาะยอส่งให้พี่หน่อย พอพี่มีวัตถุดิบพร้อมเขียนเสร็จจะส่งมาให้น้องอ่าน แต่พี่เข้งเฉี้ยงไม่ทันได้เขียนก็ตายก่อน ผมเองยังไม่ทันรู้เลยว่าแกจะเขียนนิยายเรื่องอะไร
ทะเลสาบสงขลาเต็มไปด้วยเครื่องมือหาปลาอยู่ทั่วปากอ่าวรอบเกาะยอ วันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘
เวลามาเกาะยอพี่เข้งเฉี้ยงมาเรือหางยาว กลางคืนข้างขึ้นเดือนแจ้ง ถ้าไม่ไปเรือแจว แกจะชอบออกเรือหางยาวไปดูทะเล แถวหน้าบ้านสวนใหม่ ตรงนั้นวิวสวยมาก มีครั้งหนึ่งออกเรือแล้วใบพัดเรือหางยาวไปติดกัด ติดอวนลอยของประมงชาวบ้าน เจ้าของอวนด่า แกบอกออกมาดูน้ำ จะเขียนหนังสือให้ชาวเกาะยอ เจ้าของอวนไม่สน ด่าแกหนักเรื่องทำอวนแหก พี่เข้งเฉี้ยงโกรธมาก แกโมโห พับโครงการณ์นี้ไป ไม่เขียนเลย ทั้งที่ตอนแรกแกอยากเขียนนิยายเกี่ยวกับประวัติเกาะยอ บ้านเกิดแม่แก และแกโตมากับเกาะยอ
พี่เข้งเฉี้ยงบอกว่า ธรรมชาติทิวทัศน์ของทะเลสองน้ำ ทั้งทะเลสาบสงขลาและทะเลหลวง มันวิเศษมาก มีอยู่ที่เกาะยอนี้แหละ ที่อื่นไม่มีสวยอย่างนี้อีกแล้ว และคนเกาะยอก็มีวัฒนธรรมของเขาเอง คนเกาะยอส่วนมากเป็นคนจีน อพยพมาจากต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จาก ต.ทุ่งหวัง อ.เมือง จ.สงขลาก็ด้วย แต่เดิมพวกจีนฮกเกี้ยนแล่นเรือมาเห็นเกาะยอร่มรื่นน่าอยู่ เลยมายึดครอง มาเห็นต้นยอ เลยเรียกเกาะยอมาแต่ดั้งเดิมแล้ว”
เรื่องเล่ารอบทะเลสาบสงขลา ที่ดิฉันบันทึกไว้ครั้งลงทำงานภาคสยามเก็บข้อมูลชาวบ้านพัทลุง-สงขลา กับท่านอาจารย์เขมานันทะตั้งแต่ประมาณ ๒๐ ปีก่อน ยังมีรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับวิถีชีวิต-ความเชื่อ-วัฒนธรรม ของคนย่าน “เลนอก-เลใน” อยู่อีกมาก เรื่องราวเหล่านี้เป็นทั้งประวัติศาสตร์และความเป็นจริงอันเลยลับ คนเฒ่าหลายต่อหลายคนที่ดิฉันสืบถามไว้ ล้วนจากไกล ชีวิตจบสิ้น อ.เขมานันทะเองก็ป่วยไข้ อายุถึง ๘๐ ปีไปแล้ว ตัวดิฉันเองก็เริ่มเข้าสู่ขาลงของชีวิต อาการเฒ่าชรามาเยี่ยมเยือนมากขึ้นเรื่อยๆ และอีกไม่นานก็คงลงหลุมตามผู้เฒ่าเมื่อวันวานนั้นไป แต่เรื่องราวของท่านๆ คำบอกเล่าจากผู้เฒ่าริมเลสาบ-ยังมีชีวิต รุ่งโรจน์ฉายฉานในความทรงจำของคนที่ได้ผ่าน ได้พบ
และวันหนึ่งเรื่องเล่าที่ดิฉันบันทึกมาจากริมทะเลสาบสงขลา ก็จะกลายเป็น “ตำนาน” อันสว่างไสวอยู่ในความทรงจำของผู้คน เหมือนกับตำนานเรื่องเล่าต่างๆที่ดิฉันและคนรุ่นเรา ได้เรียนรู้สืบเนื่องมาจากบรรพชน
สัมภาษณ์
 
๑. คุณมนูญ เอนกชัย อายุ ๖๖ ปี อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าวพัทลุง จ.พัทลุง สัมภาษณ์วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
๒. คุณสอ นิยมเดชา อายุ ๗๑ ปี บ้านเลขที่ ๑๓๐/๑ ม.1 ต.นาปะขอ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง สัมภาษณ์วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
๓. ลุงยกเอี่ยม ขวัญเซ่ง อายุ ๕๙ ปี (เกิด พ.ศ.๒๔๘๓) บ้านเลขที่ ๙๘ หมู่ ๑ บ้านแหลมจองถนน ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง สัมภาษณ์วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
๔.ลุงยกยิ้ม ขวัญเซ่ง อายุ ๖๕ ปี บ้านเลขที่ ๙๘ หมู่ ๑ บ้านแหลมจองถนน ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง สัมภาษณ์วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
๕.ลุงพร้อม เพ็งแก้ว อายุ ๖๘ ปี บ้านเลขที่ ๔ หมู่ ๓ ต.ควนขนุน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง สัมภาษณ์วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
๖.ป้าปลื้มใจ เกษตรสุนทร อายุ ๕๘ ปี บ้านเลขที่ ๒๖ หมู่ ๔ ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา สัมภาษณ์วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๒
๗.ลุงลีลวุฒิ วิสมิตะนันทน์ อายุ ๖๘ ปี บ้านสวนใหม่ ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา สัมภาษณ์วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๒

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา